4 ฉากทัศน์การเมืองไทย/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

4 ฉากทัศน์การเมืองไทย

 

หนังสือเล่มล่าสุดของ Duncan McCargo ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยแห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และผู้อำนวยการ Nordic Institute of Asian Studies (NIAS) ที่เขียนร่วมกับ ดร. Anyarat Chattharakul นักวิจัยสังกัด NIAS เรื่อง Future Forward : The Rise and Fall of a Thai Political Party (2020, อนาคตใหม่ : การผงาดขึ้นและล้มลงของพรรคการเมืองไทยพรรคหนึ่ง) นั้นออกมาเร็วทันกาลยิ่งหลังพรรคอนาคตใหม่เพิ่งถูกยุบไม่ถึงปี ด้วยวิธีการศึกษาใหม่แหวกแนวน่าทึ่งที่เรียกว่า digital ethnography (ชาติพันธุ์วรรณาดิจิตอล)

ในตอนสุดท้ายของหนังสือภายใต้หัวเรื่อง Scenarios (ฉากทัศน์ต่างๆ pp. 165-168) ผู้เขียนได้นำเสนอฉากทัศน์สถานการณ์การเมืองไทยที่เป็นไปได้ 4 ฉากไว้อย่างยั่วให้คิดพินิจพิเคราะห์ โดยผมขออนุญาตแปลเรียบเรียงคำบรรยายฉากทัศน์เหล่านี้แบบ “ลากเข้าบาลี/ลากเข้าความ” ให้คุ้นหูไทยๆ เรา

ดังต่อไปนี้ :

แผนภูมิ 4 ฉากทัศน์การเมืองไทยในหนังสือเล่มล่าสุดของดันแคน แม็กคาร์โก กับอัญญารัตน์ ฉัตรธารากุล

1) ฉากทัศน์ “ก้าวไปข้างหน้า”

พรรคก้าวไกลผสานกับคณะก้าวหน้าระดมขับเคลื่อนคนรุ่นเยาว์ส่วนมากของไทยให้หันไปต่อต้านโครงสร้างอำนาจของประเทศดังที่เป็นอยู่ได้สำเร็จ เมื่อเวลาล่วงเลยไป โดยผ่านการผสมผสานผลสำเร็จในการเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวออนไลน์ การรณรงค์ทางสื่อและการประท้วงบนท้องถนนเป็นระยะๆ ก็ปรากฏฉันทามติทางการเมืองว่าทหารต้องกลับเข้ากรมกองและสถาบันหลักตามประเพณีของไทยพึงยินยอมอย่างเปิดเผยที่จะขึ้นต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเน้นย้ำอำนาจอธิปไตยของประชาชน

ศาลรัฐธรรมนูญที่ปรับเปลี่ยนใหม่ สั่งยุบพรรคซึ่งฝักใฝ่ทหารบนพื้นฐานว่าการที่พรรคดังกล่าวสัมพันธ์แบบสมคบคิดกับผู้กระทำการของรัฐนั้นพัวพันกับการบิดเบือนฉวยใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

นายพลที่ฉ้อฉลอย่างหนักบางนายรวมทั้งพวกพ้อง พลเรือนถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่ออาชญากรรม สัมปทานธุรกิจอภิสิทธิ์ทั้งหลายถูกยกเลิกและมีการตรากฎหมายต่อต้านการผูกขาดใหม่ๆ ออกมา

ณ จุดใดจุดหนึ่ง บรรดาอดีตผู้นำพรรคอนาคตใหม่พากันหวนคืน สู่การเมืองและเข้ารับตำแหน่งสาธารณะโดดเด่นของประเทศ

 

2) ฉากทัศน์ “ย่ำอยู่กับที่”

การแยกขั้วเข้าประจันกันทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ยังคงเดินหน้าต่อไป เวลาผ่านไปนานปีขึ้นโดยไม่มีข้อยุติแจ้งชัดในขณะที่รอยร้าวของคนต่างรุ่นและต่างความใฝ่ฝัน ระหว่างสองฝ่ายแยกห่างกันออกไปยิ่งขึ้น ด้วยการทุ่มทรัพยากรทั้งหมดที่มีออกใช้ รัฐซึ่งอำนาจนิยมขึ้นเรื่อยๆ ยังรักษาความสงบไว้ได้โดยผสมผสาน “นิติสงคราม” ที่เล็งใส่เป้าหมายได้เหมาะเจาะเข้ากับการกดปราบบรรดาเสียงที่เห็นต่างในโซเชียลมีเดีย

ท้ายที่สุดแล้วพรรคก้าวไกลอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบหรือไม่ก็ได้ ทว่าเหล่านักกิจกรรมหัวก้าวหน้ายังคงเคลื่อนไหวต่อไปโดยได้แรงสนับสนุนมากขึ้นตามลำดับ

ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินและอำนาจถูกทำให้ยั่งยืนสถาพรและก่อให้เกิดความอุกอั่งคั่งแค้นเพิ่มทวีขึ้นโดยเฉพาะในหมู่ชาวบ้านกึ่งเมืองกึ่งชนบทและประชากรต่างจังหวัดซึ่งพบว่าพวกตนไม่อาจต่อต้านอำนาจหน้าที่ของรัฐอย่างได้ผล

แต่ก็หาสยบยอมไม่ ไม่มีฝ่ายใดเอาชนะอีกฝ่ายได้ ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันอันอึกอักอิหลักอิเหลื่ออยู่หลายปี อย่างไรก็ตาม ไม่มีการชุมนุมประท้วงใหญ่และก็ไม่มีความรุนแรงในหมู่มวลชน

 

3)ฉากทัศน์ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” (อิงคำแปลเข้าทีของผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุทธิกานต์ มีจั่น แห่งวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม https://www.academia.edu/45687253/ปริทัศน_หนังสือ_Future_Forward_The_Rise_and_Fall_of_a_Thai_Political_Party)

ยิ่งนานวันการแยกขั้วก็ยิ่งเข้มข้น ประดาพรรคนิยมทหารทั้งหลายพากันแตกแยกเนื่องจากมุ้งต่างๆ สู้กันเอง ซึ่งสะท้อนถ่ายความตึงเครียดสูงขึ้นระหว่างกองทัพไทยกับสถาบันหลักอื่นๆ ของรัฐ

เกิดพรรคใหม่ๆ ขึ้นมาทั้งทางฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาพที่ผลประโยชน์ของชนชั้นนำที่ประชันขันแข่งกันแตกเป็นเสี่ยงๆ

ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ส่งผลให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวทั้งหลายซึ่งบ้างก็เชื่อมโยงกับคณะก้าวหน้าพากัน จัดแฟลชม็อบและการประท้วงแบบอื่นๆ ขึ้นโดยไม่จำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยอีกต่อไปซึ่งทำให้ระบอบโกรธเกรี้ยวยิ่ง

บรรดาอดีตผู้นำพรรคอนาคตใหม่ตกเป็นเป้าการปราบปรามต่อกันเป็นชุดในสภาพที่สถาบันอำนาจพยายามกลับมาคุมสถานการณ์ให้อยู่มือต่อไป

คนไทยรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาท้าทายผู้หลักผู้ใหญ่อย่างเปิดเผยขณะที่การสัมมาคารวะและรู้จักที่ต่ำที่สูงล่มสลายลง

ประเทศมุ่งหน้าไปสู่สภาพเสมือนพังทลายทั้งในแง่ความเป็นอารยะและความสงบเรียบร้อย

 

4) ฉากทัศน์ “ถอยหลังเข้าคลอง”

สถาบันอำนาจไทยสถาปนาการยึดกุมอำนาจครอบจักรวาลไว้ได้อย่างมั่นคง รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติบางรูปแบบถูกก่อตั้งขึ้น ส่งผลให้รัฐสภากลายเป็นแค่ตรายางในทางเป็นจริง หลังจากพรรคก้าวไกลปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมวง มันก็ถูกยุบในเวลาไม่ช้า พรรคการเมืองทั้งหลายหลอมรวมเข้าเป็นคณะรวมหมู่ในทางเป็นจริง และเหล่านักการเมืองฝ่ายค้านที่หลงเหลืออยู่ก็ถูกซื้อตัวไปด้วยเงินจูงใจก้อนโตที่ประกันว่าพวกเขาจะยินดีขายทักษิณ ชินวัตร เลิกสู้รบตบมือกับอำนาจสถาปนา ยังมีการจัดเลือกตั้งอยู่เป็นระยะๆ แต่ไม่สลักสำคัญอะไรนัก ในทางปฏิบัติเนื่องจากบัดนี้พันธมิตรของทหารกับสถาบันหลักตามประเพณีเข้าควบคุมระบบราชการ รวมทั้งการตัดสินใจเรื่องสำคัญทางนิติบัญญัติและงบประมาณไว้หมดแล้ว

ระบอบอำนาจนิยมพันทางค้นพบวิธีการที่ประณีตพิสดารยิ่งขึ้นทุกทีในการจำกัดเหนี่ยวรั้งการถกเถียงและเห็นต่างออนไลน์และการควบคุมโซเชียลมีเดีย ในสภาพที่ชนชาวดิจิตอลรุ่นใหม่ไม่อาจแปรอุดมคตินิยมของตนไปเป็นการเข้าต่อกรทางการเมืองเชิงปฏิบัติหรือปฏิบัติการซึ่งหน้าใดๆ ได้

พวกเขาก็เลือกที่จะยอมตามสภาวะเดิมต่อไปอย่างขัดเคืองใจ

บรรดาแกนนำเก่าของพรรคอนาคตใหม่ถูกเนรเทศจากชีวิตสาธารณะของไทยอย่างน้อยในแผ่นดินร่วมสมัย มีแต่หลังจากนั้นนั่นแหละที่การเจรจาต่อรองเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจกันใหม่จะเป็นไปได้อีกครั้ง

 

หากพิจารณาดูสถานการณ์บ้านเมืองในรอบปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบกับคำพยากรณ์ของหมอดูวิชาการแม่นๆ ดันแคนกับอัญญารัตน์ ก็อาจกล่าวได้ว่ามันใกล้เคียงกับฉากทัศน์ที่ 2 คือ “ย่ำเท้าอยู่กับที่” โดยมีแนวโน้มบางประการในฉากทัศน์ที่ 3 “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” เริ่มเผยตัวออกมาให้เห็นบ้าง เช่น ความแตกแยกในบรรดามุ้งต่างๆ ของพรรคนิยมทหาร, การเกิดพรรคใหม่ๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทีทรรศน์ของคนรุ่นใหม่ที่ลดความยำเกรงผู้หลักผู้ใหญ่นิยมอำนาจในบ้านเมือง สถานศึกษาและครัวเรือนลง

ขณะโอกาสที่ฉากทัศน์ 1 “ก้าวไปข้างหน้า” และ 4 “ถอยหลังเข้าคลอง” จะกลายเป็นจริงยังดูห่างไกลโขอยู่

การพยายามประคองสถานการณ์ที่เป็นอยู่เอาไว้ รักษาพื้นที่สาธารณะในสังคมไทยเพื่อให้ผู้คนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพเห็นต่างและขัดแย้งทะเลาะกันได้โดยสันติตามแบบวิถีการเมืองอารยะ น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะที่สุด