จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (31) การปกครองในสมัยซ่ง (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (31)

การปกครองในสมัยซ่ง (ต่อ)

 

ระบบเสนามาตย์ในยุคซ่งจากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปจากเดิมไปมาก สิ่งที่โดดเด่นจนเห็นได้ชัดก็คือ การให้ความสำคัญกับข้าราชการพลเรือน

นโยบายนี้ออกจะแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก และทำให้ราชสำนักจีนในยุคนี้ฟังเสียงของขุนนางมากกว่าขุนศึก จนส่งผลให้นโยบายต่อชนชาติอื่นมีความโน้มเอียงไปในทางประนีประนอมค่อนข้างสูง

ถึงแม้จะต้องแลกกับการส่งบรรณาการให้ชนชาติอื่นที่จีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ทั้งที่ในหลายกรณีไม่จำเป็นต้องแลกกันเช่นนั้นก็ตาม

 

สังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยซ่ง

แม้ราชวงศ์ซ่งจะมีความอ่อนแอจนต้องมีการอพยพหนีภัยศัตรูมาอยู่ที่แดนใต้ จนทำให้ราชวงศ์นี้ถูกแบ่งเป็นสองยุคก็ตาม แต่การที่มีอายุราชวงศ์มากกว่า 300 ปีไม่เพียงจะสะท้อนถึงความมั่นคงในระดับหนึ่งเท่านั้น

หากอายุที่ยาวนานเช่นนี้ย่อมหมายถึงการที่ซ่งได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในยุคสมัยของตนขึ้นด้วย

แน่นอนว่า การที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ดังกล่าวส่วนหนึ่งย่อมมาจากเสถียรภาพของซ่งเองด้วย หาไม่แล้วก็ยากที่จะทำเช่นนั้นได้ การสร้างสรรค์ของซ่งจึงมีประเด็นที่พึงกล่าวถึงตามสมควร

 

เศรษฐกิจกับวิทยาการ

โดยหลักแล้วเศรษฐกิจของจีนในยุคนี้ยังคงมาจากการเกษตร โดยแรกเริ่มที่ตั้งวงศ์อยู่ที่ทางเหนือนั้น จักรวรรดิซ่งมีดินแดนของตนราว 2.6 ล้านตารางกิโลเมตร ดินแดนนี้ “ล้วนอยู่ใต้สวรรค์ชั้นฟ้า” (all under Heaven)

ภายใต้การสร้างสรรค์โดยอุดมการณ์ที่ว่า จักรพรรดิเป็นเจ้าแผ่นดินและเป็นผู้กระทำการทั้งปวงเพื่อราษฎร เสมือนหนึ่งเป็นผู้เฝ้าระวังปกป้องผลประโยชน์และสวัสดิภาพของราษฎร

ในทางทฤษฎีแล้วจักรพรรดิทรงเป็นผู้ให้ ผู้ขาย ผู้ยึด และผู้เวนคืนที่ดินตามพระประสงค์

โดยที่ในทางปฏิบัติแล้วก็คือ การที่ต้องทำศึกมากครั้งจนงบประมาณด้านการทหารสูงขึ้นนั้น ได้ทำให้ราชสำนักจำต้องหารายได้มาชดเชยรายจ่ายที่ว่าไปด้วย

ประเด็นปัญหาจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือหนทางที่จะให้ได้มาซึ่งรายได้อันมหาศาลนั้น

ค.ศ.959 หรือหนึ่งปีก่อนตั้งราชวงศ์ซ่งนั้น จีนมีพื้นที่การเกษตรโดยรวม 62,000 ตารางกิโลเมตร ภาษีที่ได้จากการเกษตรบนพื้นที่ขนาดนี้ยังถือว่าน้อย แต่พอถึง ค.ศ.1021 พื้นที่ทางการเกษตรก็ขยายขึ้นเป็นห้าเท่า

และทำให้รายของจักรวรรดิเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ตรงนี้เองที่ทำให้เห็นถึงวิธีบริหารจัดการที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งภาษีได้เป็นอย่างดี นั่นคือ ที่ดินประมาณ 10,994 ตารางกิโลเมตรจะบริหารและใช้โดยหน่วยงานราชการของรัฐ ที่ดินประมาณ 6,457 ตารางกิโลเมตรจะเป็นของจักรพรรดิและวงศานุวงศ์

และอีกประมาณ 61,000 ตารางกิโลเมตรจะถือครองโดยวัดวาอารามของศาสนาต่างๆ ที่ดินที่เหลือ นอกจากนั้นก็คือที่ดินที่ใช้ในการเกษตรโดยตรง ซึ่งจะตกอยู่ในราว 330,000 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของที่ดินทั้งหมดในสมัยซ่งเหนือ

แต่ในปัจจุบันเมื่อ ค.ศ.2004 จีนมีที่ดินการเกษตรอยู่ที่ร้อยละ 10

 

เมื่อจัดแบ่งที่ดินดังกล่าวไปแล้ว การปฏิรูปที่ดินก็เกิดตามมาใน ค.ศ.1022 ด้วยการลดประเภทที่ดินครัวเรือนที่แบ่งเป็นเก้าประเภทในสมัยถังให้เหลือห้าประเภท

หลักการแบ่งที่ดินของครัวเรือนทั้งห้าประเภทนี้หมายถึง การให้ครัวเรือนบริหารจัดการที่ดินของตนกับที่ดินของรัฐที่ตนเข้าไปช่วยทำการผลิตควบคู่กันไป เพื่อให้การลงทะเบียนเพื่อจัดเก็บภาษีครัวเรือนเป็นไปด้วยดี

ภาษีที่เก็บจากครัวเรือนนี้อาจมาจากการซื้อขายที่ดิน การเช่าที่ดิน และการได้ที่ดินมรดก ที่ล้วนมีการลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น

ส่วนที่ดินครัวเรือนห้าประเภทนั้นก็คือ การจัดเก็บภาษีตามขนาดที่ดินกับผลผลิตที่ผลิตได้ เช่น ที่ดินขนาด 300 ถึง 10,000 หมู่ (หนึ่งหมู่เท่ากับ 573 ตารางเมตร) เก็บภาษีผ่านผลผลิต 20 กิโลกรัมจากที่ผลิตได้ทุกๆ 200 กิโลกรัม เป็นต้น

การคำนวณเช่นนี้จึงไม่เพียงจะคิดจากขนาดที่ดินเท่านั้น หากยังคิดจากคุณภาพที่ดินอีกด้วยว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด

จากเกณฑ์ดังกล่าวหากคิดค่าเฉลี่ยว่าเก็บภาษีอยู่ที่ร้อยละ 10 จากผลผลิตใน ค.ศ.1085 ที่ผลิตได้ราว 18.7 ล้านตันแล้วก็จะเท่ากับว่า แต่ละคนจะสามารถผลิตได้อย่างน้อย 0.5 กิโลกรัมต่อวัน

ผลผลิตเพียงเท่านี้สามารถเลี้ยงดูประชากรในยุคนี้ที่มีอยู่ราว 70 ล้านคนได้อย่างเพียงพอแล้ว

โดยมีลูกเดือย ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลีที่เติบโตท่ามกลางความหนาวทางภาคเหนือของจีนเป็นผลผลิตหลักที่ถูกเก็บเกี่ยว ในขณะที่ข้าวฟ่างซื่อชวน (Sichuan millet) ที่รู้จักกันดีจะถูกแปรรูปไปเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ข้าวสาลีจะถูกแปรรูปเป็นอาหารจำพวกเส้นกับขนมปัง และข้าวบาร์เลย์นิยมนำมาหุงเป็นข้าวต้ม

 

แต่ผลผลิตก็ดี เกณฑ์จัดเก็บภาษีก็ดี หรือการแปรรูปผลผลิตก็ดี ย่อมเป็นคนละเรื่องกับการซื้อขายผลผลิตระหว่างเกษตรกรกับพ่อค้านายวาณิช ที่โดยทั่วไปจะเป็นไปตามปกติของราคาในท้องตลาด

จะมีก็แต่เกษตรกรรายย่อยที่มักจะถูกพ่อค้ากดราคาผลผลิต

ภาวะอันสิ้นหวังนี้มีสาเหตุมาจากความต้องการเงินสดของเกษตรกรเหล่านี้ จนต้องขายผลผลิตตามราคาที่ถูกกดเพื่อแลกกับเงินสด หรือแม้กระทั่งจำต้องกู้ยืมเงินจากพ่อค้าเพื่อนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์พืช เครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตร สัตว์ลากจูง เกลือ และใบชา

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นทั้งในอาชีพและการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น