สิ้นยุคตุลาชัย! ข้อคิด-บทเรียน/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

สิ้นยุคตุลาชัย!

ข้อคิด-บทเรียน

 

“บรรดาสิ่งที่เป็นปฏิกิริยาทั้งปวง ท่านไม่โค่น มันก็ไม่ล้ม”

ประธานเหมาเจ๋อตง

 

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เวียนมาสู่วาระครบรอบ 45 ปีในปีปัจจุบัน และทุกครั้งที่จัดงานรำลึกความสูญเสียจากการล้อมปราบของฝ่ายขวาจัด จะตามมาด้วยคำถามว่ารัฐและสังคมไทยเรียนรู้อะไรจากการสังหารในวันดังกล่าว ในปีที่ 45 ของเหตุการณ์นี้

คำถามจึงมีนัยสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการใช้ความรุนแรงเช่นในปี 2519 กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในปี 2564

และยังเห็น “สงครามบนถนน” ที่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง “คนต่างเจน” ไม่ต่างจากอดีตเมื่อ 45 ปีก่อน

 

การป้ายสีเพื่อสร้างความเกลียดชัง

หากย้อนอดีตแล้ว เราจะพบว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงทศวรรษของปี พ.ศ.2510 นั้น เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของชีวิตทางการเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน ยาวนานจนผู้คนหลายส่วนเริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบธรรมของระบอบทหาร

ขณะเดียวกันการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมในเวทีโลกเริ่มไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทย จนอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตในเบื้องต้นได้ว่า ขบวนปัญญาชนและคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตในสังคมไทยในขณะนั้น ไม่ยอมรับการปกครองของระบอบทหาร ที่มีการสืบทอดอำนาจในหมู่ผู้นำกองทัพตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในอีกด้านก็ไม่มีประเด็นอะไรจะตอบโต้การเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาได้ดีเท่ากับการป้ายสีเรื่องคอมมิวนิสต์

การใส่ร้ายป้ายสีเพื่อหวังผลทางการเมืองเป็นหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในการต่อสู้ทางการเมืองเสมอ และการสร้างความเป็นศัตรูผ่าน “วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง” เช่นนี้เป็นปัจจัยที่นำไปสู่สังหารใหญ่

จนถือเป็นบทเรียนสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และการสร้างความเกลียดชังยังนำไปสู่การแบ่งฝ่ายอีกด้วย

 

กระแสขวาจัด-ขวาสุดโต่ง

การกำเนิดของสงครามเย็นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มหาอำนาจตะวันตกเชื่อว่า รัฐบาลทหารเป็นพลังที่เข้มแข็งในการหยุดยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศโลกที่สาม ซึ่งรวมทั้งในไทยด้วย และรัฐบาลพลเรือนถูกมองว่าอ่อนแอเกินไปในการรับมือกับภัยดังกล่าว

ความเชื่อของยุคสงครามเย็นเช่นนี้ สอดรับกับอุดมการณ์ของชนชั้นนำและผู้นำปีกขวาไทย ที่มองคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามหลัก การมี “ความกลัวร่วม” ระหว่างรัฐมหาอำนาจภายนอกกับกลุ่มอำนาจในสังคมไทย ส่งผลให้เกิด “การเมืองของทหาร” และนำไปสู่การกำเนิดรัฐบาลทหารนับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา

จากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สู่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงจอมพลถนอม กิตติขจร ล้วนมีข้ออ้างเพื่อการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์เป็นพื้นฐานอยู่ในนโยบายของทุกรัฐบาล อีกทั้งแทบจะกลายเป็นสูตรสำเร็จทางการเมืองทุกครั้งว่า รัฐประหารจากปี 2490 เป็นต้นมา จะต้องหยิบเอาประเด็นเรื่องคอมมิวนิสต์มาใช้เป็นข้ออ้าง และทั้งยังใช้เป็นข้ออ้างในการทำลายฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมาโดยตลอดอีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่าคอมมิวนิสต์ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองสำหรับรัฐบาลฝ่ายขวาเสมอ

นอกจากนี้ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการใช้ข้ออ้างเรื่องคอมมิวนิสต์มาเป็นประเด็นเช่นกันด้วย

วันที่ 14 ตุลาคม ข้ออ้างเรื่องคอมมิวนิสต์ใช้ในการจับกุมนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่วันที่ 6 ตุลาคม ข้ออ้างนี้ใช้ในการสังหารหมู่นักศึกษา

แม้ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการนำเอาประเด็นคอมมิวนิสต์มาป้ายสีเช่นกัน การปลุกพลังของกลุ่มปีกขวาไทยต้องอาศัยการปลุกผีคอมมิวนิสต์ จนทำให้ “ผีคอมมิวนิสต์” มีอายุยาวนานในการเมืองไทย แม้ปัจจุบันจะไม่มีผีคอมมิวนิสต์ให้ปลุก แต่ฝ่ายขวาจัดก็นำเอาประเด็นการเมืองอื่นที่มีความละเอียดอ่อนมาใช้ในการป้ายสีแทน

การสร้างความเกลียดชังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง “พลังขวาจัด” ทุกยุค

 

ปฏิบัติการสงครามจิตวิทยา

ปฏิบัติการจิตวิทยา-งาน ปจว. (psychological operations หรือ “psyop”) ในสงครามจิตวิทยาการเมือง สร้างให้เกิดความ “เกลียดและกลัว” ลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ประชาชน และหวังว่างาน ปจว.จะทำให้ประชาชนหันมาสนับสนุนฝ่ายรัฐ หรือในบริบทของสงครามการเมืองคือทำให้ประชาชนมาเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐ เพื่อเป็นเงื่อนไขของ “การเอาชนะทางการเมือง”

งาน ปจว.เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกองทัพในยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นพื้นฐานของ “ปฏิบัติการข่าวสาร” ในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า “ไอโอ” (Information Operations) แต่ก็เกิดคำถามเสมอว่า ไอโอต้องสร้างข่าวปลอมหรือไม่?

งาน ปจว.เป็นภารกิจด้านความมั่นคงที่สำคัญของรัฐและกองทัพไทย จนในที่สุดสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงในสังคมไทยในปี 2526 และสงครามเย็นจบลงในเวทีโลกที่มีสัญลักษณ์จากการประกาศรวมชาติของเยอรมนีและการทุบกำแพงเบอร์ลินในเดือนพฤศจิกายน 2532…

โลกของสงครามเย็นและยุคสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงแล้ว แต่มรดกของประสบการณ์ที่ตกทอดมาจากยุคสงครามเย็นในงาน ปจว.ยังคงอยู่กับฝ่ายรัฐและกองทัพ และถูกนำมาใช้ในการต่อสู้กับผู้เห็นต่างทางการเมือง

แต่มีคำถามว่า งาน ปจว. (ไอโอ) ของกองทัพจะเป็นปัจจัยของชัยชนะในสงครามการเมืองได้จริงเพียงใด และจำเป็นต้องทำ ปจว.ด้วยการใส่ร้ายป้ายสีหรือไม่

 

บทบาทสายเหยี่ยวและความสุดโต่ง

เหตุการณ์ปี 2519 เห็นได้ชัดถึงการโหมโฆษณาชวนเชื่อในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ การสร้างความกลัวคอมมิวนิสต์ถูกขยายไปสู่ส่วนต่างๆ ในสังคมไทย การสร้างวาทกรรมต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสุดโต่ง ทำให้เกิดความแตกแยก และการแบ่ง “ขั้วทางการเมือง” (political polarization) สงครามยังทำให้เกิด “สายเหยี่ยว” คือ กลุ่มที่เชื่อในการใช้กำลังแก้ปัญหาความขัดแย้ง สุดท้ายแล้วการขับเคลื่อนของสายเหยี่ยวจบลงด้วยการล้อมปราบและสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

บทบาทของสายเหยี่ยวที่สำคัญคือ การให้น้ำหนักกับนโยบายการทหาร และมองว่าอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ชนะสงครามคอมมิวนิสต์ หรือข้อสรุปของสายเหยี่ยวในเชิงนโยบายคือ “การทหารนำการเมือง” ซึ่งเป็น “กระแสหลัก” ของชุดความคิดทางทหารในการทำสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ (COIN) ทั้งยังนำไปสู่การใช้กำลังเป็นเครื่องมือหลักของการทำสงครามในชนบท ภายใต้ชุดความคิดแบบสงครามเวียดนามคือ “ค้นหาและทำลาย” ที่ยืนบนหลักการว่าความสูญเสียของข้าศึกเป็นตัวชี้วัดชัยชนะ

หรืออาจกล่าวได้ว่าชัยชนะนับจากจำนวน “ศพข้าศึก”… ยิ่งสังหารได้มาก ยิ่งชนะเร็ว!

แนวคิดแบบสายเหยี่ยวที่เน้นการปราบปรามและการใช้กำลังอย่างสุดขั้ว จึงเป็นพื้นฐานที่ดีที่ฝ่ายขวาจัดจะใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้กับการขยายตัวของขบวนการนิสิตนักศึกษาในปี 2519

ทั้งยังเชื่อว่าการล้อมปราบใหญ่จะทำให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาสิ้นสุดลง

แต่สายเหยี่ยวดูจะละเลยหลักการสำคัญว่า พวกเขากำลังต่อสู้ใน “สงครามการเมือง” ที่ความเหนือกว่าของกำลังไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะแต่อย่างใด ดังเช่นความพ่ายแพ้ของสหรัฐ และรัฐบาลในอินโดจีนในปี 2518

ซึ่งการล้มลงของรัฐบาลฝ่ายขวาทั้งสามประเทศเป็นโจทย์ทางยุทธศาสตร์ที่ท้าทายต่อสายเหยี่ยวในไทยอย่างมาก

 

สงครามการเมืองและปรับยุทธศาสตร์ของรัฐ

การดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสุดโต่ง และละเลยต่อ “ปัจจัยการเมือง” ในสงคราม ทำให้เกิดคำถามหลังจากการล้อมปราบในปี 2519 ว่า รัฐไทยกำลังเดินไปบนเส้นทางเดียวกับรัฐทั้งสามในอินโดจีนหรือไม่ และถ้าสหรัฐและรัฐบาลฝ่ายขวาทั้งสามแพ้มาแล้วด้วยชุดความคิดแบบ “การทหารนำการเมือง” แล้ว รัฐไทยจะยังยึดมั่นในแนวทางดังกล่าวต่อไปอีกหรือไม่

แม้ในปี 2512 รัฐบาลทหารในยุคจอมพลถนอมเคยพยายามที่จะปรับทิศทางยุทธศาสตร์ในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบด้วยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยชุดความคิดใหม่ แต่แนวคิดใหม่ดังกล่าวไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางการทำสงครามด้วยการปราบปรามได้ เพราะชุดความคิดที่เน้นการใช้มาตรการทหารเป็นกระแสหลักที่ดำรงอยู่ในกองทัพมาอย่างยาวนาน ที่เชื่อเป็นพื้นฐานว่า การทุ่มกำลังปราบฝ่ายต่อต้านรัฐในชนบทอย่างเต็มที่แล้ว รัฐจะชนะในระยะเวลาที่ไม่นานนัก

แต่ในสถานการณ์จริง สงครามดำเนินไปนานกว่าที่ฝ่ายรัฐคิดเสมอ… การปะทะเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2508 รัฐไทยตัดสินใจเปิดการตอบโต้ด้วยกำลังทหารในเวลาต่อมา และเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะเป็นฝ่ายชนะในปลายปีดังกล่าว แต่สงครามกลับขยายตัวมากขึ้น จนทำให้กองทัพบกพยายามที่จะเข้ามาเป็นผู้ควบคุมในปี 2510

จนอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า แนวคิดในการสงครามของกองทัพบกไทยมีทิศทางไปในแบบของสหรัฐในสงครามเวียดนาม โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “อำนาจการยิงที่เหนือกว่า” ถูกมองว่าเป็นปัจจัยแห่งชัยชนะ

แต่ต่อมา “นักคิด” ในกองทัพไทยเริ่มมีความเห็นต่างว่า แนวคิดของการใช้กำลังแบบสายเหยี่ยวอาจจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ และเริ่มคิดที่จะปรับยุทธศาสตร์ อันส่งผลให้การล้มรัฐบาลธานินทร์ และตามมาด้วยการประกาศนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาฯ ในเดือนกันยายน 2521 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดชนวนสงคราม

ต่อมาเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี การปลดชนวนสงครามดำเนินไปอีกขั้นด้วยการออกยุทธศาสตร์ใหม่คือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/2523 และตามมาด้วยคำสั่ง 65/2525 อันส่งผลโดยตรงให้เกิดการปรับยุทธศาสตร์ในการทำสงครามการเมืองทั้งกระบวน จนนำไปสู่การปิดฉากสงครามในเดือนตุลาคม 2526

การปรับยุทธศาสตร์เช่นนี้คือชัยชนะของ “สายพิราบ” ที่มุ่งเน้นในการเอาชนะทางการเมือง มากกว่าที่จะยึดอยู่กับกระแสหลักของ “สายเหยี่ยว” ที่ต้องการใช้กำลังกวาดล้าง

ซึ่งชัยชนะนี้เป็นบทเรียนสำคัญว่า สงครามการเมืองชนะด้วยนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ไม่ใช่ด้วยกำลังที่เหนือกว่า

 

ท้ายบท

สงครามคอมมิวนิสต์ที่เป็นแกนกลางของยุคสงครามเย็นไทยสิ้นสุดไปนานแล้ว

แต่น่าสนใจว่าผู้นำทหารและบรรดากลุ่มการเมืองปีกขวาจัดดูจะอยู่ในโลกเก่า ที่เป็นโลกของสายเหยี่ยว

ซึ่งเชื่อในการใช้กำลัง และละเลยมาตรการการเมือง จนเสมือนหนึ่ง “เหยี่ยวไทย” กลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง และถูกท้าทายอย่างมากว่า พวกเขาจะเอาชนะสงครามการเมืองยุคปัจจุบันได้อย่างไร

สังคมไทยก้าวสู่โลกของศตวรรษที่ 21 แต่สายเหยี่ยวยังคิดภายใต้วาทกรรมขวาจัดแบบเดิม ด้วยความเชื่อว่ากำลังจะเอาชนะผู้เห็นต่างได้

โดยลืมบทเรียนเมื่อ 45 ปีไปแล้วอย่างสิ้นเชิง!