ใช้ทุนนิยมดับอุดมการณ์/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

ใช้ทุนนิยมดับอุดมการณ์

 

การต่อสู้คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ สงขลา ของชาวบ้านในนามกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่บุกมาประท้วงถึง กทม. ทำให้รัฐบาลต้องยอมถอย ยอมรับข้อเรียกร้อง ยอมเริ่มกระบวนการศึกษาผลกระทบต่างๆ กันใหม่อีกครั้ง ทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตดั้งเดิม อาชีพประมง

ผลของการต่อสู้ดังกล่าว ทำให้เรื่องราวของโครงการใหญ่ยักษ์มุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของภาคใต้ ได้รับการพูดถึงกันในหลายๆ แง่มุมอีกครั้ง

ที่ว่าจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตนั้นคืออะไร

จุดเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นในยุครัฐบาล คสช.

โดยมีข่าวทำนองว่า รัฐบาลทหารที่ไม่ยอมรับแผนการพูดคุยเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดใต้ เพราะเชื่อตามแนวคิดแบบอนุรักษนิยมและชาตินิยมสุดโต่งว่า แผ่นดินไทยต้องมีความเป็นไทยเต็มรูปแบบ จะไม่ยอมปล่อยให้กลายเป็นเมืองที่เปิดกว้างให้กับอัตลักษณ์พิเศษเฉพาะของ 3 จังหวัดดังกล่าวไม่ได้

นอกจากจะเน้นใช้กำลังทหารและตำรวจเข้าปฏิบัติการกวาดจับปราบปราม โดยใช้อำนาจรัฐเข้าไปจุดการกลุ่มก่อความไม่สงบให้หมดสิ้น

ยังเกิดแนวคิดที่ว่า หากทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมา ทำให้คนหนุ่มสาวในพื้นที่เข้าสู่สังคมแนวทันสมัย มีเงินทองมีรายได้ สามารถจับจ่ายช้อปปิ้ง เสพสุข ก็จะเป็นการหยุดแนวคิดในการต่อสู้ของขบวนการในพื้นที่ได้

จึงเริ่มผลักดันโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยพื้นที่เป้าหมายคือ อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ ด้วยการตั้งเป้าว่าจะขยายรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่นั้นๆ

แต่ต่อมา แผนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว งอกเงยออกมายังพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เกิดโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พลิกโฉมเศรษฐกิจชายแดนใต้

โครงการนิคมอุตสาหกรรมนี้ ครอบคลุมพื้นที่กว่าหมื่นไร่ มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า รวมทั้งมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่

นั่นเองจึงเกิดการต่อต้านจากชาวจะนะ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ตั้งแต่สมัยต่อสู้โครงการท่อก๊าซ ปตท.

การต่อสู้ของชาวบ้านเกิดขึ้นหลายรอบ มาจนรอบล่าสุดที่บุกมาถึงบริเวณหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วถูกสลายการชุมนุม จึงมีการระดมมวลชนขึ้นมาปักหลักบริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาลอีก

จนสุดท้ายรัฐบาลยอมเจรจา และยอมถอยในระดับหนึ่ง

แต่ดูเหมือนชาวบ้านยังไม่ไว้วางใจมากนัก จะต้องติดตามกระบวนการศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่อีกรอบ พร้อมคำเตือนว่าถ้ารัฐบาลเบี้ยวอีก โดยทำอย่างรวบรัด ไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม ก็จะกลับมาต่อสู้ใหม่อีก

 

จากแนวคิด เอาเศรษฐกิจยุคใหม่เข้าไปปรับโฉมสังคมใน 3 จังหวัดใต้ เอาทุนนิยมเข้าไปหยุดกระแสขบวนการต่อสู้เรียกร้องก่อความไม่สงบ แล้วขยายตัวกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยักษ์ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นการร่วมมือกันด้านผลประโยชน์ ของกลุ่มการเมืองในพื้นที่ กลุ่มทุนระดับชาติ กลุ่มข้าราชการ

ทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจทั้งยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ ผสมผสานกัน จึงทำให้ความมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการนี้จึงมีอยู่สูงมาก

แต่เพราะการต่อต้านอย่างเข้มแข็งของชาวจะนะ ทำให้โครงการต้องชะงักชั่วคราว ต้องมารื้อฟื้นกระบวนการศึกษาด้านต่างๆ ใหม่ โดยต้องเปิดให้ชาวบ้านฝ่ายคัดค้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวข้อมูลประกอบ

ประเด็นสำคัญก็คือ เมืองจะนะที่มีพื้นที่ชายทะเล มีสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม รวมไปถึงวิถีชีวิตการทำประมง

จะต้องเปลี่ยนแปลงด้วยผลกระทบจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว

โครงการท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่มาก คงเป็นการปิดฉากวิถีประมงพื้นบ้านอย่างหมดสิ้น รวมไปถึงหมู่บ้านเล็กๆ สงบๆ ชายหาดชายทะเล คงเปลี่ยนแปลงไปหมด

จากนี้ไปยังต้องจับตากันต่อไป ว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

เพราะเบื้องหลังของโครงการนี้คือ ผลประโยชน์มหึมาของกลุ่มทุนระดับชาติ กลุ่มการเมืองในพื้นที่ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

ผสมผสานกับแนวทางดับไฟใต้ ด้วยเศรษฐกิจขนาดใหญ่

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่ง คือทำให้คนหนุ่มสาวในพื้นที่ 3-4 จังหวัด ได้เข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนชีวิตไปสู่ความร่ำรวยสุขสบาย

จะได้เลิกคิดเรื่องเข้าร่วมการต่อสู้กับขบวนการต่างๆ

 

ถ้าย้อนกลับไปยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเป้าหมายชัดเจนในแผนดับไฟใต้ คือการพูดคุยเจรจา โดยรัฐบาลยุคนั้นพร้อมรับข้อเสนอ การปรับเปลี่ยนสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้ยอมรับในลักษณะพิเศษของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่

เป็นสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับเชื้อชาติศาสนาของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อาจจะนำไปสู่การปรับโฉมสังคมในพื้นที่ดังกล่าว กึ่งๆ เขตปกครองพิเศษ

แต่สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินการดังกล่าว ไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายทหาร และกลุ่มอำนาจขุนศึกขุนนาง

โดยแนวคิดของฝ่ายกองทัพและอำนาจอนุรักษนิยม มีความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง จะต้องทำให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย มีแต่ความเป็นไทยเท่านั้น

แนวคิดฝ่ายขวาจัดอนุรักษนิยมการเมือง จะไม่ยอมให้เปิดกว้างให้กับเชื้อชาติภาษาอื่น

เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนรัฐประหาร แนวทางแก้ปัญหาไฟใต้ จึงเลี้ยวกลับ ไม่เอาอีกแล้วการเมืองนำการทหาร แต่เอาการทหารกลับมานำ

ทั้งที่บทเรียนจากทั่วโลกบอกชัดอยู่แล้วว่า สงครามภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดอุดมการณ์ เป็นเรื่องยากที่จะใช้การปราบปรามอย่างเดียวไปแก้ปัญหา

เพราะยิ่งปราบยิ่งสร้างความเจ็บแค้น จะมีคนเข้าร่วมการต่อสู้นั้นไม่สิ้นสุด

แต่รัฐในยุคที่กำหนดโดยอำนาจกองทัพและอำนาจอนุรักษนิยม ก็ยังเดินหน้าใช้อำนาจใช้การทหารเข้าไปจัดการ

ก่อนจะเพิ่มแนวทาง สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ เอาเงินทองเอาความร่ำรวย การเสพสุขเข้าไปสลายอุดมการณ์

เอาคนหนุ่มสาวมาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเข้าสู่สังคมทันสมัย ไม่ต้องไปสนใจเรื่องอัตลักษณ์ท้องถิ่น วัฒนธรรมดั้งเดิม ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของรัฐปัตตานีในอดีต

แต่แนวคิดในทุนนิยมเข้าไปดับไฟใต้ ก็ยังต้องชะงัก

เพราะไปขัดแย้งกับวิถีชีวิตธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวจะนะ

จึงเป็นปัญหาที่จะต้องจับตาติดตามกันต่อไป!