ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 ธันวาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
อาชญา ข่าวสด
พลิกคดียานรกส่งออก
เฮโรอีนซุกยันต์ไอ้ไข่
ไต้หวัน-ฮ่องกงจับอื้อ
จับตา รบ.ไทยล้อมคอก
ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศอย่างรุนแรง
สำหรับข่าวการจับยาเสพติดที่ลักลอบจนส่งจากไทยไปยังต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังมีเทคนิคสารพัดให้ได้ติดตาม
ไม่ว่าจะเป็นการเจาะไปในเนื้อไม้ ซุกซ่อนไว้ในซองเครื่องปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือซุกไว้ในสีทาบ้าน รวมทั้งอาหารทะเลสด
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ ไม่ให้สามารถตรวจสอบพบได้ แต่ก็ไม่หลุดรอดสายตาของประเทศเป้าหมายที่เพิ่มความเข้มข้นกับสินค้าจากประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียง และตั้งคำถามถึงปริมาณยาเสพติดมหาศาลเหล่านี้ ไม่ว่าจะมาจากประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง หรือเป็นทางผ่าน
แล้วศุลกากร หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล มีประสิทธิภาพระดับใดในการตรวจสอบสิ่งของสินค้าเหล่านี้
ซึ่งยังไม่รวมกับการทำงานของหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด อาทิ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ต้องตอบคำถามว่าได้สอดส่องดูแล หรือมีมาตรการควบคุมอย่างไร
ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นในอนาคต การถูกกล่าวหาว่ายาเสพติดคือสินค้าส่งออกสำคัญของไทย
คงไม่สร้างความภาคภูมิใจให้คนในชาติอย่างแน่นอน

เฮโรอีนส่งไต้หวัน-ผ้ายันต์ไอ้ไข่
สําหรับการจับกุมยาเสพติดที่ส่งจากไทยไปต่างประเทศนั้นเกิดขึ้นหลายกรณี แต่ดูเหมือนจะมีปริมาณมากขึ้นตลอดปี 2564
ซึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดสนใจ คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์จับกุมเฮโรอีนบริสุทธิ์ น้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท ที่ซุกในแผ่นไม้แปรรูป ส่งจากไทยไปไต้หวัน ซึ่งถือเป็นการจับเฮโรอีนล็อตมหึมาที่สุดของไต้หวันเลยทีเดียว
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 โดยสื่อไต้หวันรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน กรมตำรวจนครนิวไทเปของไต้หวันแถลงข่าวการยึดเฮโรอีนบริสุทธิ์ น้ำหนัก 446.8 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือราว 6,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการจับยานรกครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ไต้หวันเคยมีมา โดยปริมาณดังกล่าวใช้สำหรับผู้เสพยาได้มากถึง 5 ล้านคน
นายเฉิน สวี้ หัว หัวหน้าอัยการแห่งสำนักงานอัยการนครนิวไทเป แถลงข่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ตำรวจได้รับแจ้งเบาะแสว่าในโกดังแห่งหนึ่งในเขตไท่ซานถูกใช้เป็นที่เก็บยาเสพติด จึงบุกไปตรวจสอบ พร้อมบุกสถานที่ต่างๆ ในกรุงไทเป นครจีหลง และนครอี๋หลานด้วย
ที่โกดังแห่งดังกล่าว ตำรวจพบไม้แปรรูป 2,500 ท่อนที่ส่งมาจากประเทศไทย ตรวจสอบด้วยเครื่องเอ็กซเรย์และผ่าออก พบเฮโรอีนอัดแท่งสี่เหลี่ยม 1,172 แท่ง ประทับด้วยเครื่องหมายสิงโตคู่เหยียบลูกโลก ทั้งเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน พร้อมข้อความที่อ้างว่าผลิตภัณฑ์บริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ซ่อนอยู่ข้างในไม้แปรรูป 118 ท่อนที่เซาะร่องตรงกลาง
จากนั้นตำรวจไต้หวันติดตามตัวและจับกุมผู้ต้องสงสัยอื่นๆ 13 คน เป็นพลเมืองออสเตรเลีย 1 คน โดยผู้ต้องสงสัย 7 คนจาก 13 คน เริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดียาเสพติดและถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรม ซึ่งจะได้รับโทษจำคุกและยังถูกใช้แรงงานบังคับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า ผู้อยู่เบื้องหลังแก๊งยาเสพติดนี้ เป็นสมาชิกของ “สหภาพไม้ไผ่” หนึ่งในกลุ่มอาชญากรจัดตั้งที่ทรงอิทธิพลที่สุดของไต้หวัน และออกจากไต้หวันไปประเทศจีนแล้ว และพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มพ่อค้ายาเสพติดชาวไต้หวันกับชายที่รู้จักในชื่อว่า “หลงเกอ” หัวหน้าแก๊งค้ายาเสพติดที่ค้าเฮโรอีนออกจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และเมียนมา
ขณะที่รายงานพบว่าขบวนการยาเสพติดนี้เกี่ยวพันกับกองพล 93 ของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มาพำนักอยู่ในไทยอย่างเนิ่นนาน และพยายามลักลอบยาเสพติดจากชายแดนไทยเข้ามาในไทยเพื่อส่งไปยังไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม ในการจับกุม พบผ้ายันต์ “ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์” ที่สื่อไต้หวันเชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลังของแก๊งยาเสพติด ที่ใช้เพื่อหวังจะปัดเป่าไม่ให้ถูกจับได้
สะท้อนให้เห็นว่าเกี่ยวพันกับไทยมากพอสมควร

ซุกบะหมี่-กุ้งสด-เครื่องกรองน้ำ
ไม่ใช่แค่ไต้หวัน ยังมีฮ่องกง ที่กลายเป็นเป้าหมายใหญ่ของขบวนการยาเสพติด โดยในรอบปี 2564 พบข้อมูลว่ามีการลักลอบขนยาเสพติดจากไทยเข้าไปฮ่องกงแล้วถึง 8 ครั้ง
โดยที่สำคัญๆ และตกเป็นข่าวครึกโครม อาทิ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ศุลกากรฮ่องกงยึดเฮโรอีนต้องสงสัยราว 23.5 กิโลกรัม ด้วยมูลค่าตลาดราว 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 900 ล้านบาท จากด่านศุลกากรไควชุง โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบสินค้าที่ส่งมาจากประเทศไทย เมื่อตรวจสอบสินค้าที่สำแดงเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า พบเฮโรอีนต้องสงสัยซุกซ่อนภายในช่องทำขึ้นปลอมของเครื่องกรองน้ำ 13 เครื่อง และเครื่องชงกาแฟ 9 เครื่อง
จับกุมชายได้ 2 คน วัย 27 ปี และ 47 ปี ต้องสงสัยมีความเชื่อมโยงกับคดีดังกล่าวในละแวกเหยาหม่าเต๋ และละแวกซึนวาน ตามลำดับ
ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ศุลกากรตรวจสอบสินค้าที่สำแดงเป็น “ขนม” จากประเทศไทย ขนส่งมาทางเรือและขึ้นฝั่งที่สถานีคอนเทนเนอร์ไควชุง และพบเฮโรอีน 61 กิโลกรัม ซุกซ่อนในซองเครื่องปรุงรสของเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป พร้อมจับกุมชาย 2 คน และหญิง 1 คน ซึ่งนับเป็นการบุกทลายเฮโรอีนครั้งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี ประเมินมูลค่าตลาดราว 65 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 275 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทางการฮ่องกงระบุว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ผู้ค้ายาเสพติดเสี่ยงและพยายามจัดส่งยาเสพติดจำนวนมากในครั้งเดียว วิธีการที่ใช้ลักลอบนำเข้ายาเสพติดก็ลึกล้ำอย่างยิ่ง แต่การจับกุมได้ เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคดียาเสพติดของศุลกากรฮ่องกงสามารถตรวจสอบได้อย่างดี
วันที่ 11 พฤศจิกายน ว่า ศุลกากรฮ่องกงยึดเฮโรอีนต้องสงสัยน้ำหนักราว 2.2 กิโลกรัม ที่มีมูลค่าตลาดโดยประมาณราว 3.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 14.7 ล้านบาท ที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบสินค้าที่ส่งมาทางอากาศ ซึ่งสำแดงเป็น “เครื่องครัว” ส่งจากประเทศไทยมาฮ่องกง พบเฮโรอีนจำนวนหนึ่งซ่อนในกระป๋องแป้งทาตัว 6 กระป๋อง
วันที่ 24 พฤศจิกายน ศุลกากรฮ่องกงตรวจยึดเมทแอมเฟตามีน หรือยาไอซ์ ในรูปของเหลวที่ถูกบรรจุซอง น้ำหนักรวม 12 กิโลกรัม มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 43 ล้านบาท สำแดงว่า เป็นกุ้งแช่แข็งที่ขนส่งมาจากประเทศไทย ตรวจสอบพบยาไอซ์แบบเหลวยัดอยู่ในซองน้ำแข็งแช่มากับกุ้งสดในกล่องโฟม 6 กล่อง ที่ขนมากับบริการขนส่งสินค้าทางอากาศหรือแอร์ คาร์โก เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นชาย 3 คน อายุระหว่าง 23-47 ปี
จับกุมกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว

ป.ป.ส.ขยายผลแก๊งยาส่งออสซี่
และไม่ใช่แค่ต่างประเทศที่สามารถจับกุมยาเสพติดที่ส่งไปจากประเทศไทย ในส่วนของเจ้าหน้าที่ไทยเองก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่รับผิดชอบได้เช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพติดระหว่างท่าเรือสากลของอาเซียน ร่วมจับกุมนายกรวิก (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี พร้อมยาไอซ์ 10 กิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ในที่นอน ณ บริษัทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ขณะเตรียมจัดส่งไปฮ่องกงทางเรือ
นอกจากนี้ ขยายผลจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 ราย ได้แก่ น.ส.ณัชรี (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี และนายคริสเตียน ชิบูไอกี เอ็มมานูเอล (MR.Christian Chibuike Emmauel) อายุ 31 ปี สัญชาติไนจีเรีย ภายในบ้านเช่าหลังหนึ่ง ต.บางนางร้า อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นจุดแพ็กยาเสพติด พบที่นอนลักษณะเดียวกันซุกซ่อนยาเสพติด และอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพ็ก จากการสอบปากคำผู้ต้องหาชาวไนจีเรีย เบื้องต้นทราบว่ายาเสพติดถูกส่งมาจาก สปป.ลาว
ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เร่งขยายผลสืบสวนถึงผู้สั่งการในการลักลอบส่งออกยาเสพติดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะคดีเฮโรอีน 314 กิโลกรัม ที่ซุกซ่อนในถังสีเตรียมส่งออกไปยังออสเตรเลีย ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ขณะที่ผู้สั่งการคือ นายเอก หรือเก่ง อ่อนเอี่ยม อายุ 38 ปี รับแจ้งว่าหลบหนีไปอาศัยยัง สปป.ลาวแล้ว
ผลของการประสานออสเตรเลีย ทำให้ตำรวจเครือรัฐออสเตรเลียจับกุมชายชาวซิดนีย์ 2 คน ได้แก่ นายอีแวน อิชเชก วัย 38 ปี และชายผู้ไม่เปิดเผยชื่อวัย 41 ปี หลังทั้งสองวางแผนนำเข้าเฮโรอีน 314 กิโลกรัม มูลค่า 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ราว 3,800 ล้านบาท จากไทย ได้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564
หลังจากใช้เวลา 4 เดือนกลั่นกรองข้อความของสองผู้ต้องสงสัย ซึ่งเชื่อมโยงนามแฝงออนไลน์กับชื่อจริง นำมาสู่การจับกุม จากการค้นบ้านสองหลังอีกครั้ง
ถือเป็นผลงานที่ประสานข้อมูลร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยของการส่งออกยาเสพติดในเวลานี้ กลายเป็นคำถามว่าพ่อค้ายาเหล่านี้เก่ง หรือมีอิทธิพลมากเกินกว่ารัฐหรืออย่างไร
ถึงเวลาต้องเอาจริงเอาจัง ไม่ให้สังคมโลกมองว่ายาเสพติดเป็นสิ่งส่งออกหลักของไทย
เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องรักษาชื่อเสียงประเทศเอาไว้ให้ได้!!