บทเรียนรัฐบาลประยุทธ์ บทเรียน ม็อบจะนะ กับคำสัญญาครั้งใหม่ จริงใจ หรือแค่ซื้อเวลา?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

บทเรียนรัฐบาลประยุทธ์

บทเรียน ม็อบจะนะ

กับคำสัญญาครั้งใหม่

จริงใจ หรือแค่ซื้อเวลา?

“ตอนนี้รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ที่ข้อเรียกร้องและการต่อสู้ในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ แม้จะใช้เวลาไปถึง 10 วันก็ตาม ยอมรับตอนนี้อยากกลับบ้าน แต่หากหลังจากนี้รัฐบาลไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ ทางกลุ่มก็จะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง”

นางไซหนับ ยะหมัดยะ หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งมาปักหลักชุมนุมคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา กล่าวระหว่างเก็บข้าวของสัมภาระขึ้นรถ บ.ข.ส. ที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้ เพื่อกลับบ้านเกิด อ.จะนะ จ.สงขลา

การที่กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยอมยุติการชุมหลังต่อสู้นานถึง 10 วัน เป็นผลจากการที่รัฐบาลโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ธันวาคม รับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 330/2564

มอบหมายนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มต่างๆ ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่

รวมทั้งรับข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และผลดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มาพิจารณา โดยยึดหลักความโปร่งใสและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

“การต่อสู้ครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุด ต้องรอดูว่าในคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นนั้นต้องมีชาวบ้านร่วมด้วย อย่าให้ชาวบ้านต้องสู้เยอะ อย่าให้ต้องไฟต์เยอะ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลรู้ว่าจะไม่สามารถทำอย่างนี้กับใครได้อีก”

น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวทะเลจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ระบุ

 

การกลับมาของชาวจะนะรอบใหม่นี้ มีจุดเริ่มจากการที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ที่ทำไว้ร่วมกับชาวจะนะเมื่อธันวาคม 2563

1 ปีที่ผ่านมา พบความพยายามจากกลุ่มนายทุนในการเดินหน้าโครงการ โดยไม่จัดทำผลประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ตามที่ตกลงกันไว้ว่าจะยุติโครงการทั้งหมดไว้ก่อน เพื่อรอผลการจัดทำ SEA

เหตุการณ์สลายการชุมนุมค่ำวันที่ 6 ธันวาคม ยังถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาล

ในการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับประชาชนที่มาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แต่รัฐบาลกลับมองเป็นการมั่วสุม ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทบความมั่นคง เสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด และต้องการจบปัญหาโดยเร็ว

ทำให้พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ประณามการใช้อำนาจไม่สมเหตุสมผลของรัฐบาล

167 นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร่วมออกแถลงการณ์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ขอให้หยุดดำเนินคดีกับชาวบ้านทันที และไม่นำเรื่องคดีมาต่อรองเพื่อยุติปัญหา

พร้อมเสนอทางออก ให้สั่งระงับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อน เพื่อรอ SEA แบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความเห็นต่อการสลายการชุมนุมครั้งนั้นว่า ตำรวจจำเป็นต้องทำเพราะได้ข่าวจะมีคนมามั่วสุมเพิ่มเติม

ส่วนเรื่องเอ็มโอยูที่เคยทำร่วมกันเมื่อเดือนธันวาคม 2563 โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ข้อตกลงที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

“กฎหมายอะไรก็ตาม บางทีการไปพบปะเจรจาของใคร เวลาไปพูด ไปตกลงกับเขา อย่าลืมว่าไม่ได้ผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งผมได้เตือนแล้ว”

คำตอบดังกล่าวไม่เพียงเป็นการ “ฉีก” เอ็มโอยู ต่อหน้าชาวจะนะ แต่ยังทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกสังคมมองว่า นำความขัดแย้งส่วนตัวกับอดีตรัฐมนตรีมาเป็นเงื่อนไขสร้างปัญหาให้กับประชาชนหรือไม่

 

ภาพชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ถูกตำรวจควบคุมตัวจำนวน 37 ราย เป็นตัวจุดชนวนลุกลามบานปลาย

จากการกลับมาลุกฮือของชาวจะนะ ผนึกรวมกลุ่มภาคีเครือข่ายสนับสนุน ทั้งเครือข่ายประชาชนภาคีเซฟนาบอน จ.นครศรีธรรมราช เครือข่ายประชาชนภาคีเซฟบางกลอย จ.เพชรบุรี เครือข่ายประชาชนสลัม 4 ภาค

ชาวจะนะเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามบันทึกเอ็มโอยู ฉบับธันวาคม 2563

หลังถูกสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ผู้ชุมนุมจะนะรักษ์ถิ่น และภาคีเครือข่าย ได้ย้ายมาปักหลักหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีการจัดกิจกรรมทุกวันต่อเนื่อง เพื่อรอชาวภาคใต้และชาวจะนะเดินทางขึ้นมาสมทบ

นายเรือง สีแก้ว ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เผยว่า ชาวบ้านที่มาร่วมสนับสนุนจากภาคใต้ ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งด่านสกัดถึง 12 จุดตลอดเส้นทางเข้ากรุง แต่ทั้งหมดไม่เป็นอุปสรรคกับการมาร่วมต่อสู้เรียกร้อง

ถึงวันนัดหมาย 13 ธันวาคม ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาปักหลักค้างคืนหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อรอฟังผลประชุม ครม.ในวันรุ่งขึ้น 14 ธันวาคม ที่ได้นำปัญหาของชาวจะนะเข้าหารือ

รายงานข่าวเผยว่า ระหว่างประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า เกรงว่าเรื่องนี้อาจมีคนอยู่เบื้องหลังและถูกโยงเป็นเรื่องการเมือง จึงต้องมีกระบวนการศึกษาให้ครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติรับทราบข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มอบหมายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA

โดยให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน เป็นประธานแก้ไขปัญหาโครงการ ซึ่งเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ภาครัฐจะรอผลศึกษา SEA ว่ามีความชัดเจนอย่างไร

จากนั้นได้ส่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนำทีมไปแจ้งผลประชุม ครม.ให้ผู้ชุมนุมรับทราบ ว่ารัฐบาลรับปากยืนยันจะยุติการดำเนินโครงการทั้งหมดจนกว่าจะมีผล SEA ที่จัดทำโดยหน่วยงานกลางออกมา

คำตอบจากรัฐบาล สร้างความพอใจให้ชาวจะนะรักษ์ถิ่น ตัวแทนกลุ่มแถลงว่า ได้ข้อสรุปจากมติคณะรัฐมนตรีเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เป็นไปตามที่เรียกร้อง ถือเป็นมิติใหม่การต่อสู้ของภาคประชาชน

นิคมอุตสาหกรรมจะนะต้องยุติลง จะนะจะพัฒนาแบบไหนให้รอการประเมิน SEA ถือเป็นไปตามข้อเรียกร้องของประชาชน ชาวจะนะพร้อมกลับไปเฝ้าติดตามการดำเนินการของรัฐบาลที่บ้านเกิด

แต่หากไม่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้เป็นครั้งที่สอง ชาวจะนะก็พร้อมกลับมาทวงสัญญาอีกครั้ง

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น รวมทั้งภาคีเครือข่ายอื่นๆ ประกาศยุติการชุมนุมและเดินทางกลับภูมิลำเนาว่า ขอบคุณทุกคนและขอบคุณชาวจะนะทั้งกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็คือคนไทย ขอฝากไว้ด้วยว่า ขอให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และโปร่งใส ตามหลักข้อกฎหมายทุกประการ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล กล่าวย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ขอบคุณพี่น้องชาวจะนะ รวมทั้งตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล เห็นถึงความจริงใจของนายกรัฐมนตรี ที่เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

โดย ครม.รับทราบการแก้ไขเพิ่มเติม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 330/2564 มอบหมายนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ

มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ SEA ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนกลุ่มต่างๆ ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งให้รับข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และผลการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มาพิจารณา

โดยยึดหลักความโปร่งใสและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

ขณะที่ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวทะเลเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวถึงการยุติการชุมนุมรอบนี้ว่า วันนี้เราได้สะพานที่จะเดินไปสู่ชัยชนะในวันหน้า แต่การต่อสู้ครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุด

เรื่องจะนะยังไม่จบแน่นอน วันนี้เราจะเห็นว่ายังมีการรุกคืบ ยังมีทีมสนับสนุนที่พยายามให้โครงการนี้เดินต่อไปได้

วันนี้อาจเป็นชัยชนะเบื้องต้นของพี่น้องจะนะ แต่ถ้าไม่ได้ภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ออกมาช่วย ไม่ได้ชาวกรุงเทพฯ ที่ช่วยออกกันมา เราทุกคนได้เรียนรู้ระหว่างกันในการเคลื่อนไหว ขอบคุณทุกกลุ่มทุกเครือข่ายที่มีชะตากรรมร่วมกัน ไม่ว่าเรื่องที่ดิน ประมงพื้นบ้าน ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย เรื่องป่า เรื่องน้ำ

เราต้องช่วยกันเรียนรู้ว่าประเด็นปัญหาชาวบ้านเหล่านี้จะหมดไปจากแผ่นดินได้อย่างไร

การเคลื่อนไหวที่จะสร้างความเชื่อมโยงหลังจากนี้ไม่ว่าวิถีทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ต้องจับมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ และยอมรับสภาพของประชาชน เหล่านี้เป็นประเด็นที่จะต้องพูดคุยร่วมกัน

 

เช้าตรู่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 ผู้ชุมนุมชาวจะนะ และแนวร่วมภาคีเครือข่ายต่างๆ สลายตัว เดินทางกลับบ้านเกิดภูมิลำเนา

แต่ช่วงระยะเวลา 10 วันก่อนหน้านั้น ได้ทิ้งบทเรียนสำคัญไว้ให้กับทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ชุมนุม ตลอดจนประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศ ให้ได้นำกลับไปศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมกัน ว่าการต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิด

ก็คือสิทธิของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย