ปริศนาโบราณคดี : “ดอกไม้กับมนุษย์” ฟื้นตำนาน(ก่อนปิด) “ปากคลองตลาด” (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปัญหาเรื่องการยกเลิกหาบเร่แผงลอยของพ่อค้าแม่ค้าที่เคยขายดอกไม้ บริเวณปากคลองตลาดนานกว่า 60 ปี ได้ปิดฉากลงด้วยความเศร้าสร้อย เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา เมื่อมีการสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา “ยอดพิมานริเวอร์วอล์ค” อันเลิศหรู

โดยทิ้งเสียงครวญสุดท้ายของพ่อค้าแม่ขาย กู่ร้องตะโกนขึ้น เมื่อต้องพ่ายแพ้ต่อการไม่ยืดหยุ่นให้ขยายเวลาการทำมาหากินแบบเก่าๆ อีกต่อไป ท่ามกลางน้ำตาเจิ่งนองบนกองดอกไม้ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559

เป็นอันปิดฉากการต่อสู้ชนิดหลังพิงฝาของสามัญชนอีกหน้าหนึ่ง ต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยปรานีปราศรัย ของภาครัฐที่จ้องแต่จะ “จัดระเบียบ” พื้นที่ของ “ย่าน” และ “ชุมชน” ดั้งเดิม ที่ถูกดูแคลนว่าเป็นพื้นที่สลัม พื้นที่รกรุงรัง พื้นที่ขยะ โสโครก

ทั้งๆ ที่พื้นที่เหล่านั้นเป็นช่องทางเดียวของบรรดารากหญ้าหาเช้ากินค่ำ ที่พอจะดิ้นรนขายของหล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดไปวันๆ ได้บ้าง

ย้อนกลับไปมอง “ย่านปากคลองตลาด” อันขมขื่น ว่าในอดีตเคย “ถูกจัดระเบียบ” มาแล้วกี่ครั้ง อย่างไรบ้าง

 

Agora Forum Bazar ตลาดปสาน

ในอดีตซีกโลกตะวันตก มีจุดรวมตัวของคนในเมืองเพื่อนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายกัน กรีกเรียกสถานที่นั้นว่า Agora ส่วนโรมันเรียก Forum

ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง นอกจากจะเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ ท้าดีเบต หรือแสดงสุนทรพจน์ของพวกนักการเมืองอีกด้วย

ส่วนเปอร์เซียหรืออิหร่าน มีตลาดระดับนานาชาติ เกิดจากการค้าของเส้นทางสายไหม เรียก “บาซาร์” (Bazar) ตั้งอยู่สองข้างถนน และเปิดขายสินค้าเฉพาะตอนกลางวัน ก่อนจะพัฒนามาเป็น Night Bazar ในยุคนี้

“บาซาร์” เป็นต้นกำเนิดของคำศัพท์ว่า “พาชาร์” ในประเทศมาเลเซีย

เช่นเดียวกับรากศัพท์ของคำว่า “ตลาดปสาน” ซึ่งปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คำว่า “ปสาน” ก็มีที่มาจาก “บาซาร์”

แต่เชื่อได้ว่า ตลาดในกรุงสุโขทัยส่วนใหญ่ย่อมเป็นตลาดบก เพราะกรุงสุโขทัยตั้งห่างจากริมแม่น้ำยมถึง 10 กิโลเมตร ตามศิลาจารึกระบุว่า ผู้ปกครองสุโขทัยมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนจากเมืองต่างๆ เข้ามาค้าขายกันในนครสุโขทัยได้อย่างเสรี เนื่องจากมีนโยบายที่ไม่เก็บภาษีจังกอบ (ภาษีผ่านด่าน)

สมัยกรุงศรีอยุธยา เหลือเพียงคำว่า “ตลาด” ส่วนคำว่า “ปสาน” ได้หายไป ภาษาไทยออกเสียงคำว่าตลาดแตกต่างไปตามแต่ละท้องถิ่น ภาคเหนือเรียก “กาด” ภาคใต้เรียก “หลาด”

ตลาดสมัยอยุธยามีความคึกคัก เหตุเพราะทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาอยู่ติดแม่น้ำสามสาย คือเจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี ตลาดในยุคนั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ตลาดในเมือง และตลาดนอกเมือง ทั้งสองกลุ่มยังแบ่งย่อยเป็นทั้งตลาดน้ำและตลาดบก รวมทั้งสิ้นมากถึง 61 ตำบล

เฉพาะตลาดน้ำ จาก “คำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ระบุว่ามีเรือนแพมากถึง 20,000 กว่าแพ มีทั้งตลาดของชำและตลาดของสด

สมัยกรุงธนบุรี ตลาดเด่นๆ มีอยู่แค่เพียงริมคลองบางหลวง และคลองบางกอกน้อย ไม่จอกแจกจอแจเหมือนสมัยอยุธยา เป็นยุคข้าวยากหมากแพง เพราะยังอยู่ในสถานการณ์กอบกู้เอกราช


ตลาด ย่าน ชุมชน ทั้งไทย-เทศ

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น “ตลาด” เติบโตขึ้นมาคู่กับคำว่า “ย่าน” และ “ชุมชน”

“ปากคลองตลาด” ถือเป็น “ย่าน” แห่งหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงในเขตพระนคร เหมือนกับย่านวังบูรพา ย่านพาหุรัด ย่านวรจักร ย่านเวิ้งนาครเขษม ย่านบางลำพู ย่านท่าพระจันทร์ ฯลฯ อันเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์

ซึ่งคำว่า “ย่าน” มีความแตกต่างจาก “ชุมชน” เช่น ชุมชนมหากาฬ ชุมชนจักรพงษ์ ชุมชนแพร่งนรา ชุมชนสามยอด ฯลฯ กล่าวคือ ย่าน เป็นชุมชนที่นอกจากจะมีประชากรอาศัยแล้ว ยังมีลักษณะเป็นเขตพื้นที่ทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ตลาดสมัยรัตนโกสินทร์ กระจายตัวอยู่ท่ามกลางย่านและชุมชนของประชากรทั้งไทยและเทศ เช่น ตลาดสำเพ็ง ตลาดสะพานหัน ตลาดน้อย ตลาดเก่า ตั้งอยู่ในย่านชาวจีน ในขณะที่ร้านค้าถนนตะนาว เฟื่องนคร สี่กั๊กพระยาศรี สี่กั๊กเสาชิงช้า เป็นร้านค้าของชาวยุโรป

 

ปากคลองตลาด ชื่อคลองว่าอะไร?

ปากคลองตลาด อดีตตำนานตลาดขายดอกไม้สดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร คำว่า “ย่านปากคลองตลาด” เป็นคำที่ครอบคลุมพื้นที่ตลาดย่อยๆ 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดยอดพิมาน จากถนนจักรเพชรถึงวังบูรพาภิรมย์ ตลาดองค์การปกครองตลาด และตลาดส่งเสริมเกษตรไทย

“คลองตลาด” มีระยะทางตั้งแต่จากปากคลองหลอดวัดราชบพิธ (เดิมเรียกคลองโรงไหม) จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชประสงค์จะขยายราชธานีออกไปทางด้านทิศใต้ของฝั่งตะวันออก สมัยกรุงธนบุรีเรียกคลองตลาดว่า “คลองใน” หรือ “คลองคูเมือง”

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 เรียกคลองขุดนั้นว่า “คลองคูเมืองเดิม” (เดิม หมายถึงว่าคลองนี้เคยขุดไว้ตั้งแต่สมัยราชธานีเก่ากรุงธนบุรี)

สมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนชื่อคลองทางด้านใต้มาเป็น “คลองตลาด” เพราะที่ปากคลองมีตลาดใหญ่ทั้งทางบกและทางน้ำตั้งอยู่ ส่วนทางด้านเหนือเรียก “คลองโรงไหม” เพราะมีโรงไหมหลวงตั้งอยู่ ปัจจุบันคือที่ตั้งของสะพานพระปิ่นเกล้า

บ่อยครั้งที่มีการสับสนในการเรียกชื่อคลองสายดังกล่าว จึงมีประกาศในราชกิจนานุเบกษา ให้เรียกชื่อ “คลองคูเมืองเดิม” ออกเป็น 3 ตอนดังนี้

หนึ่ง ระยะระหว่างปากคลองที่ท่าช้างวังหน้าถึงปากคลองหลอดวัดราชนัดดา เรียก “คลองโรงไหมวังหน้า”

สอง ระยะระหว่างปากคลองหลอดวัดราชนัดดาถึงปากคลองหลอดวัดราชบพิธ เรียก “คลองหลอด”

สาม ระยะระหว่างปากคลองหลอดวัดราชบพิธถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เรียก “คลองตลาด”

เหตุที่เรียกคลองตลาด เพราะตั้งเป็นตลาดแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ขายดอกไม้ เน้นการขายอาหารประเภทปลา กะปิ เกลือ พริก หอม กระเทียม ที่รับมาจากเรือขนส่งแม่น้ำท่าจีน เรียกตลาดนั้นว่า “ตะพานปลา” ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหลอดตลาดใหม่ (ชื่อนี้ระบุชัดว่าย่านปากคลองตลาดในสมัยรัชกาลที่ 5 เพิ่งจะเป็นตลาดใหม่ ไม่ใช่ตลาดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-4)

มีหลักฐานยืนยันว่าครั้งหนึ่ง “ปากคลองตลาด” เคยเป็นตลาดปลาจริง ปรากฏอยู่ใน “นิราศปากลัด” นิพนธ์โดยคุณหญิงเขื่อนเพชรเสนา (ส้มจีน อุณหะนันท์) แต่งเมื่อ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) กลางสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า

“มาถึงคลองตลาดตามราษฎร์เรียก กลิ่นปลาเปียกฉุนล้นทนไม่ไหว”

ต่อมามีประกาศยกเลิกตลาดปลาไปรวมกันที่ตำบลวัวลำพอง (หัวลำโพง) ด้วยเหตุผลกลใดมิอาจทราบได้

ในเมื่อปากคลองตลาดในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังมิได้ขายดอกไม้ แต่ขายพวกกะปิ น้ำปลา และปลาสด คำถามที่ตามมาคือ ย่านที่ขายดอกไม้ในสมัยนั้นตั้งอยู่ที่ไหนกันเล่า?

พบว่าดอกไม้มีขายที่ “ตลาดยอด” เป็นส่วนหนึ่งของตลาดบางลำพู ด้านหนึ่งเข้าทางถนนสามเสน อีกด้านเข้าทางถนนพระสุเมรุ เน้นการขายดอกไม้ อุบะ มาลัย ธูป เทียน แป้งกระแจะ น้ำอบไทย เครื่องหอม ปัจจุบันร้านค้าที่ยังคงขายสิ่งเหล่านี้เหลือเพียงบริเวณย่านถนนบ้านดินสอ

 

ความเจริญรายรอบปากคลองตลาด

ต่อมามีการตัดถนนจักรเพชร เลียบกำแพงเมืองด้านใต้ เริ่มจากปากคลองตลาดไปจนถึงป้อมจักรเพชร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังมีการตั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข เมื่อ พ.ศ.2426 ขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามวัดเลียบ ต่อมาการไฟฟ้าและการรถรางของไทยก็เริ่มก่อตั้งใกล้บริเวณวัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) อีกด้วย

ความเจริญด้านการคมนาคมขนส่งย่านปากคลองตลาดเริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้กรมสุขาภิบาลสร้างสะพานเจริญรัช 31 ข้ามคลองคูเมืองด้านใต้ตรงส่วนที่เรียกว่าปากคลองตลาด เมื่อ พ.ศ.2453 ในปีแรกที่เสด็จขึ้นเสวยราชย์

สมัยรัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า (ชาวบ้านเรียกย่อๆ ว่า “สะพานพุทธ”) เพื่อเชื่อมพระนครฟากตะวันออกกับกรุงธนบุรีฟากตะวันตก ในวาระฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ใน พ.ศ.2475 พร้อมประดิษฐานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 1 ณ ลานเชิงสะพานพุทธฝั่งตะวันออก

การสร้างถนน สะพาน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้ปากคลองตลาดเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

และกลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในเขตพระนครตราบจนถึงปัจจุบัน

 

จากตะพานปลาสู่ตลาดดอกไม้

ภาพปากคลองตลาดในฐานะศูนย์รวมของการขายดอกไม้ มีขึ้นเมื่อ พ.ศ.2496ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ในยุคนั้นประชากรขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ความต้องการสินค้าต่างๆ จึงทวีเติบโตตามไปด้วยโดยปริยาย ตลาดที่มีอยู่เดิมคือ ตลาดท่าเตียน ตลาดนางเลิ้ง ตลาดบางลำพู ฯลฯ เริ่มเกิดความแออัด พื้นที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับความต้องการทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย จึงมีพวกพ่อค้าแม่ค้าจำนวนหนึ่งค่อยๆ ลามไหลหันมายึดพื้นที่รายรอบกำแพงวัดโพธิ์ (เพราะใกล้ตลาดท่าเตียน) ปลูกเพิงพักอาศัยทั้งภายในและภายนอกวัด ยังชีพด้วยการจำหน่ายสินค้าอยู่ริมกำแพงวัด

รัฐบาลสมัยนั้นพิจารณาเห็นว่า วัดพระเชตุพนเป็นพระอารามหลวง ไม่เหมาะแก่การให้พ่อค้าแม่ค้านำผักผลไม้ต่างๆ มาขายรายรอบวัด จึงได้จัดหาที่ดินสำหรับจัดตั้งตลาดขึ้นใหม่ โดยเลือกใช้พื้นที่บริเวณปากคลองตลาด ด้วยเป็นทำเลที่เหมาะสมเพราะอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา

นอกจากจะย้ายตลาด (ที่ถูกมองว่ารกรุงรัง) บริเวณข้างวัดโพธิ์แล้ว ยังย้ายตลาดกรมภูธเรศธำรงศักดิ์อีกแห่งหนึ่ง ให้มารวมอยู่ด้วยกัน ณ ที่แห่งนี้

ถือเป็น “การจัดระเบียบ” ตลาดอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยมีกฎหมายมารองรับ เห็นได้จากปี 2496 ได้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การตลาด สังกัดกระทรวงมหาดไทย