เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (2) ฤๅเผ่าศากยะมิใช่อารยัน…?

ย้อนอ่าน ตอนที่ 1 

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงวันเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุติสุขหลังตรัสรู้ ในบาลีพระไตรปิฎกบอกว่า 4 สัปดาห์ แต่อรรถกถาเพิ่มเข้ามาอีกรวมเป็น 7 สัปดาห์

ได้พยายามเดาใจพระอรรถกถาจารย์ว่าท่านเพิ่มด้วยเหตุผลอะไร ก็เดาไปแล้วละครับ ถูกผิดอย่างไรไม่ทราบ เพราะได้บอกแล้วว่า เดา เมื่อเดามันก็ย่อมมีส่วนผิดมากกว่าถูกเป็นของธรรมดา

ตอนนี้ขอเสนอข้อมูลอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับพุทธองค์ ขอให้อ่านเพื่อ “รู้ไว้ใช่ว่า” เท่านั้นนะครับ อย่าได้เคร่งเครียดจริงจังถึงขนาด “ใส่บ่าแบกหาม” ก็แล้วกัน

เบื้องแรกขอพูดถึงสถานภาพของพวกศากยะ ตระกูลวงศ์ของพระพุทธองค์

พุทธประวัติโดยทั่วไปกล่าวว่า พวกศากยะปกครองตัวเองเป็นเอกราช สืบทอดสันตติวงศ์กันมา ตั้งแต่พระเจ้าโอกกากราช จนถึงพระเจ้าสุทโธทนะ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสโดยไม่แน่พระทัยว่า “นครเหล่านี้ (กบิลพัสดุ์ เทวทหะ รามคาม) มีวิธีปกครองอย่างไรไม่ได้กล่าวไว้ชัด แต่สันนิษฐานตามประเพณี ชนบทเหล่านี้ปกครองโดยสามัคคีธรรม…”

แต่เรื่องเชื้อชาติ ทรงยืนยันว่าเป็นอารยัน (ฝรั่ง) พระผู้มีพระภาคเจ้าพระศาสดาของเราทั้งหลาย ได้เสด็จอุบัติขึ้นในพวกอริยกชาติ ในจังหวัดมัชฌิมชนบท ชมพูทวีป แคว้นสักกะ

ข้อน่าพิจารณาคือ พวกศากยะปกครองแบบใด เท่าที่ปรากฏชมพูทวีปสมัยนั้นมีการปกครองอยู่ 2 ระบอบ คือ ราชาธิปไตย กับ สามัคคีธรรม

แบบแรกเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว

ส่วนแบบที่สองนั้นสภา “สังฆะ” จะเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมขึ้นปกครองประเทศเรียกว่า “กษัตริย์” บ้าง “ราชา” บ้าง อยู่เป็นวาระ กษัตริย์หรือราชาบริหารประเทศผ่านรัฐสภา (ศากยสภา, สัณฐาคาร)

รัฐที่ปกครองด้วยระบอบนี้ที่ระบุชัดเจนมีแคว้นวัชชีของเหล่ากษัตริย์ ลิจฉวี และแคว้นมัลละ ของมัลลกษัตริย์

แคว้นสักกะ (ศากยะ) ของพวกศากยะ เข้าใจว่าปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรมเช่นเดียวกัน มีหลักฐานบ่งชี้หลายแห่งดังนี้

1. ในทีฆนิกาย กล่าวถึงพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งเดินทางผ่านไปยังรัฐสภา (สัณฐาคาร) ของพวกศากยะไม่มีใครเอาใจใส่เพราะกำลังทำกิจของตนอยู่ ผูกใจเจ็บว่าพวกศากยะไม่เห็นความสำคัญของตน จึงดูถูกกว่า พวกศากยะเป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีการศึกษา

2. พระไตรปิฎกและอรรถกถา เล่าเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงขอนางขัตติยานีศากยะไปอภิเษก เพื่อเป็น “พระญาติทางสายเลือด” กับพระพุทธเจ้า พวกศากยะประชุมรัฐสภาตัดสินส่งนางวาสภขัตติยา พระธิดาของเจ้ามหานาม อันเกิดจากนางทาสีไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล อันเป็นสาเหตุให้เกิดสงคราม “ล้างโคตร” พวกศากยะในเวลาต่อมา

3. หลักฐานชั้นอรรถกถา เช่น ธัมมปทัฏฐกถา เล่าเรื่องพวกศากยะกับโกลิยะทำสงครามแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี เพื่อมาทำการเกษตร พวกศากยะประชุมรัฐสภาตัดสินโดยเสียงข้างมาก ก่อนยกทัพไปรบกับพวกศากยะ เดชะบุญ พระพุทธองค์เสด็จมาห้ามไว้ ไม่เช่นนั้นสงครามเลือดระหว่างหมู่ญาติคงจะเกิดขึ้น

4. พวกศากยะมิได้เป็นเอกราช แต่อยู่ภายใต้ปกครองของประเทศมหาอำนาจ คือ แคว้นโกศล มีหลักฐานเป็นพุทธวจนะว่า “วาเสฏฐะ พวกศากยะทั้งหลายเป็นผู้ใกล้ชิดและอยู่ในอำนาจพระเจ้าปเสนทิโกศล” (11/54/91) และอีกแห่งหนึ่งว่า “ราชะชนบทข้างเขาหิมพานต์สมบูรณ์ด้วยความเพียรเครื่องหาทรัพย์เป็น “นิเกติโน” แห่งรัฐโกศล” (25/354/407)

คำว่า “นิเกติโน” สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงแปลว่า “เป็นถิ่น” แต่ในอรรถกถาไขความทำนองว่าเป็น “เมืองขึ้น” (อนุยนฺตา วสวตฺติโน)

5. พวกศากยะเป็นเผ่าเล็กๆ อยู่เชิงเขาหิมพานต์ ทิศอีสานของชมพูทวีปสมัยนั้น มิใช่ส่วนกลางหรือมัชฌิมประเทศปัจจุบันนี้คือประเทศเนปาล มีลัทธิความเชื่อประเพณีเป็นของตนไม่เหมือนคนอินเดียสมัยนั้น

มีความผูกพันทางสายเลือดสูง เช่น เวลาจะคลอดลูกจะต้องไปคลอดที่ตระกูลบรรพบุรุษ แต่งงานกันเองในหมู่พี่น้อง เพราะไม่ต้องการให้สายเลือด “อันบริสุทธิ์” ตนไปปะปนกับชนชาติอื่น

บูชากระดูกบรรพบุรุษ เช่น เมื่อเผาศพแล้วจะเอากระดูกบรรจุเจดีย์บูชา ไม่เอาลอยน้ำดังพวกคนอินเดียทั่วไป

ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะเช่นพวกอารยัน

ปฏิเสธพระเจ้า สันนิษฐานว่าลัทธิความเชื่อถือของพวกศากยะคือลัทธิ “สางขยะ” เป็นคำสอนของฤๅษีกบิล (ฤๅษีตนนี้เองที่ชี้ชัยภูมิพื้นที่ให้พวกศากยะสร้างเมืองชื่อเมืองว่า “กบิลพัสดุ์” ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน)

ปกครองผ่านรัฐสภา (ดังกล่าวข้างต้น) ดุจเดียวกับแคว้นวัชชี และแคว้นมัลละ เป็นเผ่านักรบ ชอบมวยปล้ำ ขี่ม้ายิงธนู ต่อสู้ตัวต่อตัว ดังปรากฏในพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะได้ฝึกปรือศิลปวิทยาการครบทั้ง 18 แขนง ตามแบบอย่างของเผ่าพันธุ์ของตน มิได้ไปศึกษายังตักสิลาอย่างที่นิยมกันสมัยนั้น

มีผิวเหลือง มิใช่ผิวขาวอย่างฝรั่ง ดังปรากฏพระสูตรหลายแห่งพรรณนาพระลักษณะของพระพุทธเจ้าว่า “สุวณฺณวณฺโณ (มีผิวดังทอง)”

จึงมีผู้สันนิษฐานว่า พระพุทธเจ้าคงจะมิใช่อารยันดังที่กล่าวในตำรา ถ้าเช่นนั้นทรงมีเชื้อสายอะไรเห็นจะต้องพิจารณาจากหลักฐานทางชาติพันธุ์

เมื่อพิจารณาเชื้อชาติของคนอินเดียที่สำคัญ จะเห็นว่ามีถึง 6 เชื้อชาติ เฉพาะที่เกี่ยวกับลัทธิศาสนาที่เกิดขึ้นหรือแพร่เข้ามายังอินเดียในระยะก่อนพุทธกาลมี 4 เชื้อชาติคือ เชื้อชาติมงโกล มิลักขะ ทัสยุ อารยัน (ไม่นับกรีกและมุสลิม ซึ่งเข้าไปหลังพุทธกาล)

1) เผ่ามองโกล กับ เผ่านิโกร อพยพเข้ามายังอินเดียก่อนใครๆ ทั้งสองเผ่าผสมพันธุ์กันขึ้นเกิดเป็นเผ่า โปรโต-ออสตราลอยด์ ซึ่งเป็นเผ่าพื้นเมืองของอินเดียก่อนพุทธกาลเรียกว่า “มิลักขะ” ส่วนนิโกรแท้นั้นมีจำนวนน้อย อาศัยอยู่ตามป่าเขา สมัยพุทธกาลเรียกพวกนี้ว่า “นาค” พวกนาคนี้กระจายมาถึงแหลมมลายูและตามเกาะแก่งต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ส่วนชนเชื้อชาติมงโกลบริสุทธิ์ อาศัยหลักแหล่งอยู่เชิงเขาหิมาลัย อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน พวกมงโกลไม่นิยมแต่งงานกับชาติอื่นนอกจากพวกเดียวกัน พวกนี้เป็นนักรบเร่ร่อนมาก่อน ปกครองกันเองแบบประชาธิปไตย ทุกคนทัดเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ มีสภาและมีการประชุมหารือเลือกหัวหน้าขึ้นปกครอง

2) เผ่ามิลักขะ เป็นเผ่าผสมระหว่างนิโกรกับมองโกล และคนพื้นเมืองอื่นๆ ในอินเดีย นักวิชาการเรียกพวกผสมพันธุ์ดังกล่าวว่าพวกโปรโต-ออสตราลอยด์ ผิวดำ หัวหยิก อยู่กระจายทั่วไปในอินเดีย

3) เผ่าทัสยุ (ฑราวิฑ) คือพวกที่อพยพมาจากริมทะเลสาบแคสเปี้ยน แต่มาอยู่อิหร่านเสียนาน พอมีกำลังเป็นปึกแผ่นแล้วก็รุกเข้ามาอินเดีย นักวิชาการเรียกพวกนี้ว่าฑราวิเฑียน (ดราวิเดียน) แต่พวกเปอร์เซียเรียกพวกนี้ว่า “ทหะ” หรือ “ทหยุ” ต่อมาเมื่อพวกอารยันเข้ามายังอินเดียได้ปราบปรามพวกนี้อยู่ในอำนาจจนนำมาใช้เป็นทาส จึงหมิ่นประมาทพวกนี้ว่าพวกทาส หรือทัสยุ พวกนี้ผิวดำแดง รูปร่างได้ส่วนคล้ายคลึงกับพวกมิลักขะ พวกอารยันดูไม่ออกว่าพวกไหนเป็นพวกไหน เลยเหมาเอาว่าเป็นพวกเดียวกัน ความจริงพวกฑราวิเฑียนหรือทัสยุนี้มีอารยธรรมสูงกว่าพวกอารยันด้วยซ้ำ ดังหลักฐานโบราณคดีที่ขุดพบคือ เมืองโบราณที่ “โมเหนโจดาโร” แขวงเมืองลัคเนา และที่ “ฮารัปปา” แขวงเมืองมอนต์โกเมอรี แคว้นปัญจาบ มีความเก่าแก่ระยะเดียวกับไอยคุปต์โบราณ

4) เผ่าอารยัน ผิวขาว ร่างสูงใหญ่ นักวิชาการเรียกว่าพวกนอร์ดิก พูดภาษาอินโด-อารยัน อพยพมาจากทิศตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่เข้ามาอยู่หลังพวกมองโกลและทัสยุ รุกเข้ามาครอบครองมีอำนาจเหนือพวกมิลักขะและทัสยุ ส่วนพวกมองโกลที่อยู่ห่างไกลไปถึงหิมาลัย ภัยรุกรานของพวกอารยันจึงไปไม่ถึง ทั้งพวกมองโกลก็เป็นนักรบที่เก่งกล้าไม่แพ้อารยัน

ลัทธิความเชื่อถือดั้งเดิมของอารยันเชื่อว่ามีพระเจ้าสร้างโลก เชื่อวิญญาณล่องลอยจากคนตายได้ อย่างเดียวกับพวกไอยคุปต์โบราณ ต่างเพียงแต่ว่าพวกไอยคุปต์เชื่อว่าสามารถรักษาร่างเดิมไว้มิให้เปื่อยเน่า วิญญาณจะหวนกลับเข้าร่างเดิมอีก แต่พวกอารยันเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ จึงสอนกันใหม่ว่า วิญญาณที่ล่องลอยไป เมื่อพบร่างใหม่ที่เหมาะสมจะเข้าสิงสู่ วิญญาณนี้เรียกว่า “ชีวะ” หรือ “อาตมัน” เป็นอมตะนิรันดร

5) เชื้อชาติกรีก เข้ามาหลังพุทธกาล (ประมาณ พ.ศ.213) อเล็กซานเดอร์มหาราช ตีอาณาจักรเปอร์เซียได้แล้วยกทัพข้ามฮินดูภูฏเข้ามาทางภาคเหนือของอินเดีย ยึดครองตักสิลาและแคว้นปัญจาบ เดินทัพเรื่อยมาจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ ช่วงที่กรีกมีอำนาจเหนืออินเดีย ได้นำความนิยมปั้นรูปเคารพมาเผยแพร่ด้วยจนเกิดการสร้างพระพุทธรูปในกาลต่อมา ลูกหลานกรีกสำคัญคนหนึ่งต่อมาได้นับถือพระพุทธศาสนา คือ พระเจ้าเมนานเดอร์ หรือมิลินท์ ได้โต้วาทะกับพระเถระนามว่านาคเสน รายละเอียดของการโต้วาทะระหว่างบุคคลทั้งสองมีบันทึกอยู่ในหนังสือชื่อ มิลินทปัญหา

6) ชนเชื้อชาติมุสลิม หมายถึงพวกที่นับถือศาสนาอิสลาม พวกนี้มาจากเปอร์เซีย ตุรกี อิรัก และอิหร่าน มุสลิมชื่อมูดหมัดโฆรีนำกองทัพมาตีอินเดียได้ตั้งวงศ์กษัตริย์มุสลิมปกครองอินเดียประมาณ พ.ศ.1735

มีผู้กล่าวว่าอาจเป็นไปได้ที่พระพุทธเจ้ามิใช่อารยัน

ศาสนาของพระพุทธเจ้าคัดค้านลัทธิความเชื่อดั้งเดิม ตลอดจนประเพณีพิธีกรรมบางอย่างของเผ่าของพระพุทธเจ้าก็แตกต่างจากของพวกอารยันในอินเดีย

จึงมีผู้เสนอว่าเผ่าศากยะของพระพุทธองค์น่าจะเป็นพวกมองโกล

ว่ากันอย่างนั้น ฝากพิจารณาด้วยก็แล้วกัน