หนังสือรำลึก ‘สุดท้าย’ ฐากูร บุนปาน สะพานเชื่อม สู่ความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ

“ฐากูร บุนปาน” จากไปเมื่อ 12 มกราคม 2564

และในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 อันเป็นวาระครบรอบวันเกิดของฐากูร บุนปาน มีพิธีฌาปนกิจขึ้นที่วัดเสมียนนารี

ในงานนี้ มีหนังสือ 4 เล่มถูกจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อรำลึก “สุดท้าย” ถึงฐากูร บุนปาน ซึ่งมีความสนใจและความสามารถรอบด้านผู้นี้

เล่มหนึ่ง เป็นประวัติของฐากูร บุนปาน

เล่มหนึ่ง เป็นบทบาทนักชิม และนักปรุงอาหาร ในนาม “เขียง มะขาม”

เล่มหนึ่ง เป็นบทบาทนักฟัง-นักวิจารณ์เพลง ในนาม “เขบ็ต หัวโต”

เล่มหนึ่ง เป็นบทบาทคอลัมนิสต์ โดยเฉพาะคอลัมน์ของดีมีอยู่ ในมติชนสุดสัปดาห์

เสถียร จันทิมาธร กล่าวถึงบทบาทของฐากูร บุนปาน ที่สะท้อนผ่านคอลัมน์ “ของดีมีอยู่” ในมติชนสุดสัปดาห์ ว่า

“…เป็นบทบาทที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงพลวัตและการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงในทางเทคโนโลยี

เทคโนโลยีอันส่งแรงสะเทือนอย่างไพศาล ต่อความคิดของผู้คน

ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าในทางการเมือง ไม่ว่าในทางวัฒนธรรม

เป็นการแสดงบทบาทของ ‘สะพานเชื่อม’ อย่างทรงพลัง…”

ฐากูร บุนปาน ที่ถูกเปรียบในฐานะ “สะพานเชื่อม” จึงน่าสนใจ

ด้วยเพราะเป็นสะพานเชื่อมอันหลากหลายให้กับสังคม

ซึ่งในหนังสือรวบรวมคอลัมน์ของดีมีอยู่ ของมติชนสุดสัปดาห์ ที่โดดเด่นเรื่องหนึ่ง

คือความพยายามของฐากูร บุนปาน ที่จะเป็นสะพานเชื่อมให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

และพยายามเรียกร้องให้สังคมก้าวไปสู่ความเท่าเทียมให้ได้

ดังที่ฐากูรเขียนไว้ในคอลัมน์ของดีมีอยู่ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ว่า

ปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบัน (หรือในช่วงหลายปีที่ผ่านมา)

ก็คือความเหลื่อมล้ำ

เหลื่อมอะไร ล้ำอะไร

1. เหลื่อมล้ำทางการเมือง

สิทธิและเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ ถูกคนส่วนน้อยริบเอาไปอย่างหน้าตาเฉย

แล้วก็ร่างกติกาใหม่ ที่หมายจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ (ที่ถ่างกว้างขึ้นไปทุกที) ดำรงอยู่ต่อไป อีกนานแสนนาน

ถามว่าจะเป็นจริงได้อย่างใจละหรือ

ลำพังอำนาจ จะกดหัวคนให้ก้มต่ำอยู่ไปได้นานแค่ไหน

การกดให้คนส่วนใหญ่ต้องสยบยอมหรือทำตามในระยะสั้น

จะส่งผลต่อเนื่องอะไรตามมาในระยะยาว

ถ้าวันหนึ่งอุณหภูมิของการเผชิญหน้าที่สั่งสมมาเรื่อยๆ ถึงจุดเดือด

ฝ่ายผู้มีอำนาจพร้อมไหม ที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในการรักษาอำนาจแบบ “สุดทาง”

ถ้าไม่กล้าใช้จะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าใช้อะไรจะเกิดขึ้น

2. เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

เอาสั้นๆ เฉพาะช่วง 4 ปีที่ผ่านมา-นี่จากตัวเลขของรัฐบาลเองด้วยนะครับ ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาเอง

ตั้งแต่ 2557-2560 จีดีพีไทยขยายตัวขึ้นมาคิดเป็นมูลค่ารวมแล้วประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ในช่วงเดียวกัน มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มสูงขึ้น 4 ล้านล้านบาท

แปลว่าอะไร

ก็แปลว่าบริษัทใหญ่หรือคนมีสตางค์ในประเทศนี้ มีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ขณะที่คนจน-คนชั้นกลางมีส่วนแบ่งน้อยลง

ก็แปลว่าเหลื่อมล้ำมากขึ้นนั่นแหละ

สังคมที่ฐานะของคนชั้นบนกับชั้นกลาง-ชั้นล่างถ่างกว้างออกไปทุกที จะหน้าตายังไง

คฤหาสน์กลางสลัมอยู่เป็นสุขสบายได้จริงหรือ

3. เหลื่อมล้ำทางโอกาส

ตัวอย่างที่ชัดเจนและกำลังเป็นดราม่าล่าสุดก็คือ

กรณีการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการศึกษาของระดับอุดมศึกษา

ที่จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์-เกษตร และมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 3-4 แห่ง ได้รับเงินอุดหนุนรวมกันแล้วมากกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 38 แห่งรวมกัน

ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

คำตอบตามความเห็นส่วนตัวก็คือ

เพราะทัศนคติที่เห็นคนไม่เป็นคนเท่ากัน

ทัศนคติที่คนชั้นสูงเหยียดคนชั้นล่าง

คนในเมืองเหยียดคนชนบท

คน (ที่นึกว่าเป็น) ไทยก็เหยียดคนรอบบ้านอีกต่อ

เมื่อเห็นคนไม่เท่ากันแล้ว

– (พวก) เอ็งก็ไม่ควรมีอำนาจเท่ากับ (พวก) ข้า

– (พวก) เอ็งก็ไม่ควรมีสตางค์เท่ากับ (พวก) ข้า

– (พวก) เอ็งก็ไม่ได้รับโอกาสเท่ากับ (พวก) ข้า

อำนาจจึงถูกริบ

สตางค์จึงถูกฉก

โอกาสจึงถูกฉวย

ปัญหาความคับแค้นทางจิตใจ ยากไร้ทางวัตถุ (ภาษาฝ่ายซ้ายตามสำนวนติดปากคุณเสถียร จันทิมาธร) ก็มากขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกวัน

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่อะไร

ไม่รู้-และไม่กล้าสรุป

รู้แต่โครงสร้างผุพังอย่างนี้ ตั้งอยู่ไม่ได้

ต้องปรับ ต้องแก้ ต้องรื้อกันขนานใหญ่

และไม่ใช่ด้วยอำนาจหรือความปรารถนาดีของคนกลุ่มน้อย (ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ายิ่งสร้างปัญหาและความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น) แต่ต้องด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องตรงกันของคนส่วนใหญ่

ประชาธิปไตยจึงสำคัญ

การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจึงสำคัญ

ในฐานะประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา

แต่ถ้าคิดว่ายังจะเอาความเหลื่อมล้ำทั้งหมดนี้ ซุกใต้พรมได้ต่อไป ก็เชิญตามอัธยาศัย

พังเร็วพังช้า พังมากพังน้อย

เราท่านทุกคนมีส่วนทั้งสิ้น

 

นั่นคือคำเตือนของฐากูร บุนปาน และพยายามเป็นสะพานเชื่อมให้ทุกฝ่ายในประเทศนี้ ลดความเหลื่อมล้ำ

แล้วสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น

มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเกิดสิ่งที่ฐากูร บุนปาน เขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม 2563

คอลัมน์ของดีมีอยู่ ว่า

…ไม่ต้องแปลกใจหรอกนะครับ

ถ้าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะถอยหลังไปอยู่เป็นประเทศด้อยพัฒนาที่สุดในกลุ่มอาเซียน

หรือเผลอๆ จะถอยไปอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่สุดของโลก

เพราะในขณะที่คนอื่นเขาเดินไปข้างหน้า

สังคมนี้กลับถูก “พลังงานมืด” (มีจริงๆ นะครับ ตามหลักฟิสิกส์-อย่าตีความกันเป็นอย่างอื่น) ดึงให้ถอยหลังกลับไปอย่างน้อย 50 หรือ 100 ปี

และโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวโลก

ทั้งในแง่ชีวิตความเป็นอยู่

ทั้งในแง่ของ “ความเป็นคน” ที่ครอบคลุมทั้งสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ และพลังในทางบวกทั้งหลาย

บอกได้ว่ายาก ถึงยากที่สุด

เพราะที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่คือความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง

ในทางเศรษฐกิจ ก็อย่างที่ทุกคนเห็น

ความสามารถในการแข่งขันในภาคเศรษฐกิจเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรหรืออุตสาหกรรม

เราหลุดโลกไปเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่ไม่มีความสามารถ ไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม และไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอที่จะรองรับ “เศรษฐกิจใหม่” อย่างเทคโนโลยีทั้งหลาย

ไม่ว่าจะเอไอ ไอโอที โทรคมนาคม หรืออื่นๆ

ที่พอจะประคองตัวไปได้ (ถ้าไม่เจ๊งระเนระนาดเพราะปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อนในรอบนี้) ก็คือภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

แต่ก็อีหรอบเดียวกัน

การเร่งตักตวงกอบโกยประโยชน์เฉพาะหน้า โดยไม่สนใจที่จะเสริมสร้างหรือรักษารากฐานสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม (หมายถึงชีวิตของชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่ของปลอมที่แค่ทำเลียนแบบขายนักท่องเที่ยว) ความสะอาด และความปลอดภัย

ปล่อยอย่างนี้ไปอีกไม่นาน

การท่องเที่ยวก็จะกินตัวเอง แล้วค่อยๆ เหี่ยวแห้งตายไปเหมือนการเกษตรและอุตสาหกรรม

ถึงตอนนั้นก็เอวัง

อันที่จริงถึงโครงสร้างเศรษฐกิจซวนเซจะพังมิพังแหล่ แต่ถ้าโครงสร้างทางการเมืองแข็งแรง

ก็ยังพอมีทางที่จะตะกายพ้นจากหลุมดำนี้ไปได้

แต่อนิจจา โครงสร้างการเมืองไทยนั้น “อุบาทว์” เสียยิ่งกว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

จึงนอกจากจะไม่ได้เป็นตัวช่วยแล้ว ยังกลายเป็นตัวถ่วงอีกต่างหาก

หรือใครคิดว่าสังคมที่ไม่มีหลักกฎหมาย ระบบการเมืองที่ใคร “หน้าด้านกว่า-กำปั้นใหญ่กว่า” ก็ยึดอำนาจไป

จะนำพาสังคม-คนส่วนใหญ่เดินไปสู่ความรุ่งเรืองไพบูลย์ได้บ้าง

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สรุปภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ว่าเป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ”

คือมีการทุ่มสรรพกำลังทุกอย่าง ดาหน้ากันออกมาทุกองค์กร และไม่ละอายที่จะใช้ทุกวิธีการ

จนไม่เหลือหลักการ บุคคล หรืออะไรต่อมิอะไรให้ยึดเหนี่ยวต่อไป

ถึงอย่างนั้นก็ยังเอาชนะพลังของความเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ทำได้มากที่สุดคือยื้อเวลา

ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็คือเพิ่มปัจจัยวิกฤตให้กับความวิกฤตมากขึ้น

ดังนั้น ยิ่งยื้อไปอีกนานแค่ไหน ก็ยิ่งสั่งสมปัจจัยและพลังของความเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้นเท่านั้น

ส่วนปัจจัยและพลังที่ว่านี้จะนำไปสู่อะไร

ไม่มีใครรู้

แต่ไอ้ตรงไม่รู้นี่แหละครับที่อันตรายนัก…

เหมือนแผ่นเปลือกโลกที่สั่งสมความเครียด รอเงื่อนไขและเวลาสุกงอมกลายเป็นแผ่นดินไหว

ส่วนจะเมื่อไหร่ หรือหลังจากนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ไม่รู้อีกนั่นแหละครับ

รู้แต่ว่าตอนนี้อยากกลับไปหาหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ชุด “สถาบันสถาปนา” ของไอแซ็ก อาซิมอฟ มาอ่านใหม่อีกรอบ

เพราะอนารยยุคที่ทอดรออยู่ข้างหน้าของสังคมนี้ดูมืดมนและยืดยาว

แม้อาจจะไม่ถึง 10,000 ปีเหมือนในนิยาย

แต่ก็ส่อเค้าจะกินเวลาและโกลาหลไม่น้อยกว่ากัน

คำถามคืออะไรจะเป็นจุดเปลี่ยน ที่จะย่นเวลาและความโกลาหลนี้ให้น้อยลงได้เหมือนสถาบันสถาปนา

หรือจะสมัครใจเดินถอยหลังเข้าหลุมดำกันอีกสัก 2-3 ชั่วอายุคน

เลือกกันได้นะครับ

 

นั่นคือสิ่งที่ฐากูร บุนปาน ได้พยายามทำจนกระทั่งวาระสุดท้าย

คือพยายามเป็นสะพานเชื่อมให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้

แม้วันนี้จะสายไปมาก แต่ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้อง “ทำ”