บีอาร์ไอ ในสายตาสื่อไทย ทำไมเป็นเช่นนี้?/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

บีอาร์ไอ ในสายตาสื่อไทย

ทำไมเป็นเช่นนี้?

 

“…ทําไมการรับรู้ของคนไทยผ่านสื่อไทย ไม่เข้าใจและถูกชี้นำไปตามทิศทางการแข่งขันของชาติมหาอำนาจ?…”

เป็นคำถามหลักของที่ประชุมเมื่อได้รับฟังผลการศึกษาเรื่องบีอาร์ไอ ในสายตาสื่อไทย คำถามนี้ถามทั้งบีอาร์ไอและประเด็นระดับโลก และควรถามไม่ใช่กับสื่อไทยเท่านั้น สังคมไทยก็ควรถูกสอบถามด้วย

จากงานศึกษาของรัฎดา ลาภหนุน และคณะ ในชุดโครงการวิจัย เศรษฐกิจแพลตฟอร์มและความเปลี่ยนแปลงในระเบียบเศรษฐกิจใหม่ภายใต้บีอาร์ไอ-อาเซียน สนับสนุนโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ ได้เสนอการรับรู้เรื่องบีอาร์ไอของจีนของคนไทยที่สะท้อนจากสื่อไทย

มีข้อค้นพบน่าสนใจดังนี้

บีอาร์ไอในสื่อหลักและสื่อออนไลน์ไทย

ผลจากการสืบค้นการเผยแพร่นำเสนอข่าวในสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ระหว่าง พ.ศ.2556-2563 พบจำนวน 230 ชิ้นข่าว แยกประเภทเป็นสื่อหลัก (Mainstream Media) ร้อยละ 43 สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ร้อยละ 26 สื่อโทรทัศน์ (TV) ร้อยละ 19 ผู้มีอิทธิพล (Influencer) ร้อยละ 11 นิตยสาร (Magazine) ร้อยละ 1 และวิทยุ (Radio) คิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 0

ส่วนปีที่มีการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องในประเด็น BRI เรียงลำดับจากมากที่สุดถึงน้อยที่สุด คือปี พ.ศ.2562 จำนวน 103 ข่าว ปี พ.ศ.2563 จำนวน 68 ข่าว 28 ข่าวในปี พ.ศ.2561 และ 24 ข่าวในปี พ.ศ.2560 6 ข่าว ในปี พ.ศ.2559 1 ข่าว ในปี พ.ศ.2557 ส่วนปี พ.ศ.2556 และ 2558 ไม่พบการนำเสนอข่าวเรื่องนี้แต่อย่างใด

สำหรับการวิเคราะห์ประเด็นข่าว พบว่า มีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ด้านการเมืองระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับโลกมากที่สุด จำนวน 90 ข่าว

รองลงมาเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจการค้า จำนวน 89 ข่าว

ถัดมาเป็นประเด็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ BRI จำนวน 32 ข่าว

ส่วนประเด็นเกี่ยวข้องด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พบจำนวน 10 และ 9 ข่าว ตามลำดับ

เมื่อจำแนกประเด็นข่าวที่สื่อไทยเผยแพร่ ตามน้ำหนักการสนับสนุนยุทธศาสตร์บีอาร์ไอ พบว่า เนื้อข่าวที่มีน้ำหนักการสนับสนุนยุทธศาสตร์บีอาร์ไอที่เป็นกลาง (Neutral) ร้อยละ 51 ข่าวเชิงสนับสนุน (Pro) ร้อยละ 40 และข่าวเชิงคัดค้าน (Con) ร้อยละ 9

ระหว่าง พ.ศ.2560-2561 พบภาพรวมการนำเสนอของสื่อ เป็นประเด็นในการให้ความรู้ความเข้าใจทั่วไป (Introduction) เกี่ยวกับยุทธศาสตร์บีอาร์ไอ มีการ รายงานข่าวถึงความร่วมมือ การหารือต่อรอง การสนับสนุน การแข่งขันแย่งชิงทางการเมืองทั้งในเวทีโลก เวทีอาเซียน และในประเทศไทย

พ.ศ.2562 พบประเด็นด้านเศรษฐกิจมีความโดดเด่นขึ้น ไล่เลี่ยกับประเด็นความร่วมมือการพัฒนาที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ทางการเมืองในหลายมิติ ซึ่งมีพื้นที่ข่าวใกล้เคียงต่อเนื่องจนถึง พ.ศ.2563

ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า สื่อมวลชนระดับกำกับนโยบาย ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ เห็นพ้องบีอาร์ไอเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ไม่สามารถปฏิเสธเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ทางใดทางหนึ่ง และยอมรับบีอาร์ไอเป็นเรื่องใหญ่ มีรายละเอียด มีความซับซ้อนสูงมาก

หากต้องการนำเสนอข่าวให้รอบด้านครอบคลุมทุกมิติ อาจเป็นงานยากสำหรับสื่อมวลชนยุคปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายปัจจัย

ส่วนประเด็นการเตรียมพร้อมของหลายภาคส่วนที่มีต่อยุทธศาสตร์บีอาร์ไอพบว่า ภาคสื่อมวลชนมีความตื่นตัว เห็นถึงความสำคัญของการรู้เท่าทัน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบบีอาร์ไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนภาคการเมืองระดับนโยบาย ภาครัฐระดับปฏิบัติ และภาคประชาชน ยังมีการเตรียมความพร้อมน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน

นอกจากนี้ ยังพบข่าว บีอาร์ไอมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีประเด็นที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากสื่อไทยและหลายภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงมีข้อเสนอทั้งจากสื่อและนักวิชาการชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการเตรียมตัวพร้อมรับยุทธศาสตร์สำคัญ นับตั้งแต่การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบีอาร์ไอ การกำหนดทิศทางข่าวที่ต้องคำนึงถึงภาคประชาชนมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอจากนักวิชาการให้สื่อต้องมีจุดยืนที่เข้มแข็งในการนำเสนอข่าวบีอาร์ไอ

 

ผลกระทบของบีอาร์ไอในแง่มุมของสื่อไทย

งานวิจัยนี้มองจากสื่อไทย พบข้อจำกัดหลายประการที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ บีอาร์ไอมีความสลับซับซ้อน อาจมีโฆษณาชวนเชื่อ การใช้อำนาจละมุน (Soft Power) เข้ามาเกี่ยวข้อง

และยังมีข้อจำกัดด้านแหล่งข่าว (Source) ที่ยังจำกัดอยู่เพียงแหล่ง 3 หลัก คือ สำนักข่าวทางการของจีน สำนักข่าวตะวันตก และนักวิชาการของไทยกลุ่มเล็กๆ จำนวนหนึ่ง

จึงเป็นปัจจัยทำให้ภาพที่สื่อไทยไม่สามารถชั่งน้ำหนัก หรือวิเคราะห์บีอาร์ไอได้อย่างตรงไปตรงมา

ภาพบีอาร์ไอที่สื่อสะท้อนออกมา จึงยังไม่แจ่มชัดมากพอในการทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญให้ทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เกิดความพร้อม ความเข้าใจอย่างรอบด้าน และรู้เท่าทัน

 

สื่อไทยและสังคมไทยในกระแสทุนนิยมโลก

สืบเนื่องจากงานวิจัยสื่อไทยข้างต้น ผมมีคำถามกับสื่อไทยในประเด็นระดับโลก แท้จริงแล้ว ประเด็นบีอาร์ไอสะท้อนว่าคนไทยยังสนใจประเด็นระดับโลกน้อยมาก แม้ว่าประเด็นระดับโลกกระทบต่อคนไทยและประเทศไทยโดยตรง

คล้ายเรื่องอาเซียน ทั้งๆ ที่ไทยเป็นสมาชิกก่อตั้ง ไทยเป็นจักรกลสำคัญในการผลักดันบทบาทอาเซียนในเวทีนานาชาติ และไทยให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากในฐานะเราเป็นประเทศเล็กที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดด้านการต่างประเทศ

แต่คนไทยก็รู้จักและเข้าใจอาเซียนน้อยอย่างน่าใจหาย

ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้ของสถาบัน องค์กรหรือหน่วยงาน ที่เสนอและผลิตนโยบายระหว่างประเทศ ก็น้อยอย่างน่าใจหายด้วย

ปี 2559 อาเซียนก้าวเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) ภาครัฐมีการเตรียมพร้อมการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอย่างมาก

มีการจัดประชุมเตรียมการ การค้นคว้าบทบาทอาเซียนต่อภาคส่วนต่างๆ

มีการก่อตั้งหน่วยงานการศึกษา ได้แก่ ศูนย์อาเซียนศึกษา เกิดขึ้นทั่วทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งในฝ่ายความมั่นคง หน่วยงานศึกษาและนโยบายของฝ่ายความมั่นคงด้านอาเซียนก็เกิดขึ้นและมีบทบาท ช่วงนั้นผู้ใหญ่ของเกือบทุกหน่วยงานมักเสนอว่า ทำอย่างไรคนไทยจะไม่ใช่รู้จักอาเซียนแค่ธงชาติ รู้จักอาเซียนแค่วันก่อตั้ง แม้ระดมงบประมาณก็แล้ว ผลิตสื่อมากมายก็แล้ว รวมทั้งผลิตการ์ตูนเกี่ยวกับอาเซียนก็แล้ว ความรู้อาเซียนแค่ธงชาติต่างๆ ก็ยังคงอยู่

เรื่องทำนองนี้คล้ายเรื่องจีน จีนศึกษา (Chinese Studies) คล้ายๆ อะไร…ศึกษาทั้งหลายในบ้านเรา

ดังนั้น สื่อไทยเสนองานเรื่องประเด็นโลก แค่บทนำ (introduction) ทั่วๆ ไป ไม่ลงลึก ย่อมแสดงถึงการรับรู้และระดับความเข้าใจของสังคมไทยต่อเรื่องระดับโลกไปด้วย

แหล่ง (source) ข้อมูลที่มาของความรู้ก็มาจากแค่หน่วยงานของรัฐ แหล่งข่าวตะวันตกไม่กี่แหล่งและผู้รู้กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ (เป็น ส.ว.กันหมดแล้ว) ไม่ใช่เรื่องแปลก หน่วยงานระดับชาติด้านนโยบายต่างประเทศย่อมมี แหล่งที่มาของความรู้จำกัดเฉกเช่นดียวกัน

สถานะของไทยจึงขึ้นๆ ลงๆ ในเวทีระดับโลกมาตลอด ขึ้นอยู่กับความบังเอิญแห่งการผลิตนโยบายของชนกลุ่มน้อยชาวไทยเวลานั้นนั่นเอง

แทนที่จะกล่าวถึงแค่สื่อไทย ควรกล่าวถึงสังคมไทยกับการรับรู้น้อยนิดต่อประเด็นระดับโลก ท่ามกลางประเด็นระดับโลกที่สำคัญต่อไทยมากขึ้นเรื่อยๆ