หนุ่มเมืองจันท์ : หลังโควิด-ชีวิตเปลี่ยน

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ / หนุ่มเมืองจันท์

 

หลังโควิด-ชีวิตเปลี่ยน

 

วันก่อนเพิ่งอ่านเรื่องที่ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ เขียนในเพจ “เขียนไว้ให้เธอ”

เป็นเรื่อง “ความคิด” ของคนที่เปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด

เขาบอกว่า “โควิด” ไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ไวรัส”

แต่เป็น “นาฬิกาปลุก” ขนาดใหญ่ของโลกอีกด้วย

เกิดการ “ตื่นรู้” ของคนในโลกนี้

“ตื่นรู้” เรื่องอะไรบ้าง

1. ความไม่แน่นอนเรื่อง “งาน” บางคนประสบกับตัวเอง บางคนเห็นจากข่าวหรือเพื่อนที่ได้รับผลกระทบ อาชีพที่คิดว่า “มั่นคง” อย่างกัปตัน แอร์โฮสเตส หรือแม้แต่ “หมอ”

เจอ “โควิด” รอบนี้ก็ยังสะเทือนเลย

2. เรื่อง “ความตาย”

ช่วงโควิดทำให้เราตระหนักรู้ชัดขึ้นว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ

มีคนจำนวนมากเสียชีวิตจาก “โควิด”

และเป็นการสูญเสียที่น่าเศร้า เพราะช่วงท้ายที่อยู่โรงพยาบาลไม่สามารถเข้าไปเยี่ยม หรือให้กำลังใจได้เลย

แม้แต่ในงานศพก็ต้องรีบจัดงาน รีบเผา

ไม่มีเวลาให้เตรียมใจเลย

“การ ‘ตื่นรู้’ ของคนจำนวนมากนี้ทำให้เกิด movement ในหมู่ฝรั่งจนเกิด movement ที่เรียกว่า F.I.R.E หรือย่อมาจาก Financially independence Retire Early

ในกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า F.I.R.E นั้นเขานิยามตัวเองว่าคือการมีอิสระ มีทางเลือกในการใช้ชีวิต มีเงินพอที่ชีวิตไม่ต้องผูกติดกับงาน ไม่ใช่ไม่มีงานชีวิตก็พัง เขาให้เงินทำงาน

เป็นการเกษียณโดยไม่ใช่อายุแต่ขึ้นกับจำนวนเงินที่ออมไว้อย่างเพียงพอเป็นหลัก คือเมื่อไหร่ที่จำนวนเงินพอก็เกษียณได้

โดยกลุ่มนี้มีสูตรง่ายๆ ในการเกษียณว่าถ้ามีเงินเก็บมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายไปได้ 25 ปีก็จะเกษียณตัวเอง ใช้ชีวิตตามใจปรารถนาได้”

กลุ่มนี้ตั้งคำถามกับชีวิตว่าทำไมต้องรอให้เกษียณก่อน จึงจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย

แต่ช่วงที่เก็บเงินต้องทำงานตามกฎระเบียบต่างๆ มากมาย

วิธีคิดของกลุ่มนี้คือพยายามเร่งเก็บเงินตั้งแต่ช่วงต้นๆ เพื่อให้ได้เงินมากพอแล้วก็ลาออกไปใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการ

ทำงานเท่าที่อยากทำ และทำในสิ่งที่ชอบ

ใช้เงินอย่างประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ

ทำกับข้าวกินเอง เสื้อผ้าไม่กี่ชุด

รถก็ใช้รถมือสอง

ในมุมหนึ่ง คือ การชนะใจตัวเอง

มุมหนึ่ง คือ การช่วยโลกไม่ให้บริโภคมากเกินไป

แต่มุมสำคัญที่สุด คือ เป็นชีวิตที่มี “ความสุข”

สุขมากกว่าชีวิตแบบเดิมๆ

 

ผมเชื่อว่า “โควิด” ครั้งนี้ทำให้ความคิดของคนเปลี่ยนไปจริงๆ

เปลี่ยนไปทุกระดับด้วย

กลุ่มคนทำงานเริ่มรู้ว่า “ความมั่นคง” ทางการเงินของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ว่าทำงานอะไร

หรือทำงานบริษัทอะไร

แต่อยู่ที่ “เงินเก็บ”

“โควิด” สอนให้รู้ว่า “เงินสด” คือ “พระเจ้า” จริงๆ

ไม่ว่าจะเป็นคนทำธุรกิจ

หรือคนธรรมดาทั่วไป

คนที่รอดในช่วงโควิด คือ คนที่มีภาระหนี้สินน้อย

ไม่ต้องผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือผ่อนอะไรเลย

ที่สำคัญต้องมี “เงินสด”

ใครมี “เงินสด” ในมือ คนนั้นรอด

และเมื่อเจอความไม่แน่นอนของ “ชีวิต”

ไม่รู้ว่า “พรุ่งนี้” กับ “ชาติหน้า”

อะไรจะมาก่อนกัน

คนจึงคิดแบบ F.I.R.E มากขึ้น

เก็บเงินให้เร็วที่สุด แล้ว “ใช้ชีวิต”

ไม่รอจนเกษียณ

แต่บางคนอาจคิดไปไกลกว่านั้น คือ ไม่รอให้เงินพร้อม

ใช้ชีวิตตั้งแต่วันนี้เลย

เพราะ “โควิด” สอนให้รู้ว่า “ความตาย” มาใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด

จะรอจนเงินพร้อม เราอาจตายก่อนก็ได้

เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ก็ใช้ชีวิตที่อยากใช้เลยดีกว่า

เริ่มตั้งแต่ “วันนี้”

ไม่รอ “พรุ่งนี้”

 

ในอีกด้านหนึ่ง “คนรวย” ที่ไม่กระทบกระเทือนจาก “โควิด” เรื่องเศรษฐกิจ

เพราะมี “เงินสด” มากพอ

แต่ที่ได้ยินมา เศรษฐีหรือมหาเศรษฐีก็เริ่มหวั่นไหวจาก “โควิด” เหมือนกัน

ธุรกิจของเขาไม่สะเทือน

แต่ความรู้สึก “มั่นคง” ในชีวิตสั่นคลอน

มีคนจำนวนมากที่ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนเสียชีวิตจาก “โควิด”

โรคระบาดทำให้เขารู้ว่ามีเงินมากเท่าไรก็ป้องกัน “ชีวิต” ไม่ได้

บางคนได้รับเชื้อโควิดจากคนทำงานบ้าน

จากลูกหลานที่มาเยี่ยม

เขาเห็น “ความตาย” ใกล้ตัวเองเข้ามาเรื่อยๆ

มีคนรวยหลายคนเปลี่ยนวิธีคิดใหม่

แทนที่จะมี “ความสุข” กับตัวเลขในบัญชี หรือตัวเลขผลกำไรของบริษัทตัวเอง

เขาเริ่มใช้เงินมากขึ้น

ชอบอะไร ซื้อ

อยากได้อะไร ซื้อ

ใช้เงินซื้อ “ความสุข” ให้ตนเอง

อย่าแปลกใจที่ช่วงนี้เรือยอชต์ หรือเครื่องบินส่วนตัวจะขายดี

ของสะสมราคาแพง ราคาพุ่ง

แม้แต่ NFT หรือสินทรัพย์ดิจิตอล ก็ราคาพุ่งแบบหาคำอธิบายไม่ได้

พวกเราคงไม่เข้าใจคนที่เงินเหลือใช้หรอกครับ

เพราะเราซื้ออะไรจะต้องคิดแล้วคิดอีกว่าคุ้มไหม

แต่คนที่มีเงินมากๆ ราคาที่ซื้อ คือ ราคาที่พอใจ

ถ้าคิดว่าชีวิตไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอีกนานเท่าไร

ของที่ “แพง” ในยามปกติจะกลายเป็น “ไม่แพง”

เป็น “ความรู้สึก” มากกว่า “เหตุผล”

ในขณะที่มี “คนรวย” อีกกลุ่มหนึ่งใช้เงินมากขึ้นเหมือนกัน

แต่ในอีกมุมหนึ่ง

ช่วงโควิดมีคนรวยจำนวนมากที่ลงทุนลงแรงช่วยเหลือคนยากจน หรือคนป่วยโควิด

เขาได้เสพ “ความสุข” ในอีกรูปแบบหนึ่ง

จากการยกมือไหว้

จากรอยยิ้ม

และจาก “คำขอบคุณ”

เขาเริ่มรู้ว่าเงินของเขามีค่ามากที่สุด

เมื่อไม่ได้ใช้เพื่อตัวเอง

แต่ใช้เพื่อผู้อื่น

ทำให้คนที่ขาดโอกาสได้โอกาส

ทำให้คนหิวได้ท้องอิ่ม

ทำให้คนที่เจ็บป่วยได้รับการรักษา

การทำให้คนอื่นมี “ความสุข”

แต่เขากลับมี “ความสุข” มากกว่า

ผมอยากให้มี “คนรวย” กลุ่มหลังแบบนี้มากขึ้น

เพราะ “น้ำ” ต้องไหลจาก “บน” สู่ “ล่าง”

“น้ำใจ” ก็เช่นกัน