เปิดตำนาน “ครูตุ้ย ยอดธง” ผู้เคยถูกลอตเตอรี่ “รางวัลที่หนึ่ง” แต่ “ใจป้ำ” แจกจ่ายเงิน “56 ล้าน” จนหมดเกลี้ยง!

หลายคนมีความฝันว่าอยากถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเชื่อว่าจะมีแต่ความสุขตามมา

“เป็นเรื่อง!” (รายการทีวีออนเพจ ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 20.30 น. ทางเพจข่าวสดออนไลน์) พาไปย้อนดูชีวิตของ “คนดวงดี” ผู้เคยถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ซึ่งเรื่องราวที่ตามมาหลังการถูกรางวัลนั้นมีหลากหลายแง่มุม

ทั้ง “สุข” และ “เศร้า” เคล้ากันไป

https://www.youtube.com/watch?v=hZVVnUrvCb8

12 ปีที่แล้ว ผลสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่หนึ่ง งวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 คือเลข “970577” ผู้ถูกรางวัลใหญ่มูลค่า 40 ล้านบาท บวกแจ๊กพ็อตอีก 16 ล้านบาท รวม 56 ล้านบาท ได้แก่ “ยอดธง ศรีวราลักษณ์” หรือที่รู้จักกันในนาม “ครูตุ้ย ยอดธง เสนานันท์” ครูมวยชื่อดังเจ้าของค่าย “ศิษย์ยอดธง”

ครูตุ้ยผู้ปลุกปั้นนักมวยไทย-สากลชื่อดังหลายราย รวมทั้ง “สามารถ-ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ” และ “ยอดสนั่น สามเคแบตเตอรี่” ก่อนจะสร้างตำนาน “56 ล้าน หมดภายใน 3 เดือน!”

ลูกชายของครูตุ้ย คือ “ครูต่อย อังคาร ศรีวราลักษณ์” เล่าถึงช่วงเวลาแรกๆ ที่พ่อถูกลอตเตอรี่ว่า ครูตุ้ยได้นำสลากที่ซื้อไว้มาให้ดูพร้อมผลรางวัลในหนังสือพิมพ์ และบอกตนว่าให้เงียบๆ เอาไว้

ข่าวดังที่เกิดขึ้นในระยะต่อมา ได้แก่ การที่ครูตุ้ยประกาศจะแจกจ่ายเงินรางวัลซึ่งได้รับจากการถูกลอตเตอรี่ จนผู้คนมากหน้าหลายตาแห่มาที่ค่ายศิษย์ยอดธงกันมืดฟ้ามัวดิน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

“พอตกกลางคืนมีมวย พ่อผมก็ไปที่เวทีมวย ไม่ทราบว่าข่าวรั่วกันไปยังไง หนังสือพิมพ์ไปลง แต่พ่อผมเขาพูดไว้แล้วว่าจะแจก ทำทานให้พวกนักมวยเก่า และชาวบ้านที่จนๆ พอเช้ามืดปั๊บ ข่าวกระจาย หนังสือพิมพ์ลง ทีนี้ครับ ไม่หวาดไม่ไหว ต้องจัดระเบียบให้ยืนเข้าแถวเลย ไปถึงหน้าค่าย ออกไปข้างนอก

“แล้วชาวบ้านละแวกนี้ ทั้งที่เป็นคนมุสลิม คนไทย ก็แจก ขั้นต่ำคนละห้าร้อย แจกไปเรื่อยครับ พอเงินหมดก็หยิบออกมา แลกไว้กระทั่งแบงก์ร้อย แบงก์พัน แบงก์ห้าร้อย คนไหนที่ดูแล้ว ลักษณะไอ้นี่หน่อย (ยากจนหน่อย) ก็จะให้เยอะหน่อย เป็นแบงก์พัน คนไหนไอ้นี่หน่อย (มีฐานะดีขึ้นมาหน่อย) ก็ให้แบงก์ห้าร้อย ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ก็ให้น้อยหน่อย” ครูต่อย ย้อนเล่าเหตุการณ์

ด้าน “นวลนารี ศรีวราลักษณ์” บุตรสาวของครูตุ้ย เล่าว่าช่วงระยะเวลา 2-3 เดือน หลังพ่อถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ตนเองแทบไม่ได้เจอหน้าผู้เป็นพ่อเลย เนื่องจากมีคนทั่วทุกสารทิศเดินทางมาหาครูตุ้ยเต็มไปหมด

ครูต่อยเล่าเพิ่มเติมว่าผู้คนที่มาขอรับเงินจากพ่อนั้น มีทั้ง “คนรู้จัก” และ “คนไม่รู้จัก”

“บางคนบอกว่าเป็นนู่นเป็นนี่ หลายอย่าง จำเป็นจะต้องไปทำนู่น มีลูกพิการ พ่อพิการ คืออ้างสารพัด มีแม้กระทั่งจะบอกว่ายังไง เป็น “มารศาสนา” ดีกว่า ปลอมเป็นพระมาก็มี นุ่งเหลืองห่มเหลืองมา ทำเป็นแม่พิการ แล้วก็มาคุย พ่อผมเขามองรู้ ก็เลยบอกไปว่าทีหลังไม่ต้องมาหลอก มีอะไรพูดกันมาตรงๆ

“คือ ขอใบสุทธิก็ไม่มี พอไม่ยอมรับว่าไม่เป็นพระ ก็ต้องพาไปโรงพัก ให้ลงบันทึกประจำวัน ผลสุดท้ายก็ยอมรับ ยอมรับเสร็จปั๊บ เขา (ครูตุ้ย) ก็บอกผมไม่เอาความนะ แต่ว่าเช่ารถมาเท่าไหร่ มาจากที่ไหน เช่ารถมาสองพัน ก็ให้เงินค่าแท็กซี่ไปสองพัน เดือดร้อนใช่มั้ย เอาไปคนละสองพันสามพัน คือให้กลับไป ขอร้องบอกอย่าไปทำกับคนอื่นแบบนี้”

นี่คือหนึ่งในเหตุการณ์ตัวอย่างที่ครูตุ้ยต้องเผชิญ ณ วันนั้น

ครูตุ้ย ยอดธง เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนเมื่อปี 2548 ว่าตั้งใจจะแจกเงินให้คนอื่นอยู่แล้ว โดยวางแผนเก็บออมไว้แค่ส่วนเดียว “เพราะเงินไม่ใช่ของเรา ตายแล้วก็เอาไปด้วยไม่ได้”

ในมุมมองของลูกๆ ผู้เป็นพ่อนั้นเคยแจกจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือคนอื่นมาตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งยังไม่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง

“ตั้งแต่ไม่ถูกหวยแล้ว มีเงินก็จะให้ บางทีเห็นคนเขาหาบของมาขาย ก็จะให้ แม้กระทั่งคนหาบจอบเสียม พวกมีดอะไรมา บางที (พ่อ) เหมาเลย เพื่อเขาจะได้ไม่เหนื่อย แล้วก็เอามีดจอบอะไรพวกนี้ไปแจกชาวบ้าน แม้กระทั่งเงินไม่มี ก็ต้องไปยืมเพื่อน เอามาให้คนที่ขอ เป็นลักษณะนี้ตลอด” ครูต่อยเล่า

“คือก่อนที่พ่อจะมีเงินเยอะๆ พ่อก็เป็นคนที่ให้อยู่แล้ว ก็มีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือเยอะอยู่แล้ว” ลูกสาวอย่างนวลนารีกล่าวทำนองเดียวกัน

หลังจากถูกรางวัลที่หนึ่งไม่นาน ก็มีข่าวปรากฏว่าเงินรางวัลของครูยอดธงนั้นถูกแจกจนหมดเกลี้ยง บางแหล่งระบุว่าภายใน “สองสัปดาห์” บางแหล่งชี้ว่า “สามเดือน” แต่ในความจริง ครูตุ้ยได้กันเงินบางส่วนเอาไว้ให้ลูกๆ ผู้มีพระคุณ ตลอดจนบรรดาศิษย์ในค่าย

อย่างไรก็ดี เงินส่วนที่ตั้งใจจะนำไปแจกจ่ายนั้น ก็ถูกใช้จนหมดจริงๆ “หมด” ถึงขนาดต้องหยิบยืมเงินที่แบ่งไปให้ลูก เพื่อนำมาแจกต่อ

ครูต่อยเล่าว่าผู้เป็นพ่อแบ่งเงินให้ลูกๆ ห้าคน คนละสองล้านบาท แล้วให้ภรรยาที่อยู่ด้วยสี่ล้านบาท ส่วนลูกศิษย์นั้นจะแบ่งเป็นสองอัตรา คือ คนละห้าหมื่นบาท หรือคนละสองแสนบาท แล้วแต่ความเหมาะสม

“เงิน (ที่กันไว้แจกจ่าย) หมดแล้ว บางทีเพื่อนพ่อมาขอ เขาบอกว่าเงินหมดแล้วจะทำไง พ่อโทร.มาหาผม ผมเอาโทรศัพท์ทิ้งไว้ในห้อง คุณพ่อพูดฝากข้อความไว้ “เงินแจกหมดแล้ว” จะให้ทำยังไงล่ะ ผลสุดท้าย พ่อให้คนไปตามผม ให้ไปกดเอทีเอ็ม เอาให้เพื่อนไป ครั้งละแสน ครั้งละห้าหมื่น” ลูกชายครูตุ้ยย้อนประสบการณ์

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่คนมาขอยืมเงินยี่สิบล้านบาทจากครูตุ้ย โดยอ้างว่าเพื่อนำไปลงทุน แล้วจะเอาเงินมาคืน ทว่า สุดท้าย ก็มีคนเห็นบุคคลรายนั้นไปเล่นการพนันในบ่อนต่างประเทศ และเงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้คืนให้ครูแต่อย่างใด

โชคชะตาดูเหมือนจะยังอยู่ข้างครูตุ้ย เมื่อปีถัดมา ครูถูกลอตเตอรี่รางวัลที่สอง มูลค่ารวมสองล้านบาท โดยมีลูกศิษย์ที่โชคดีได้รับส่วนแบ่งไปก่อนผลสลากจะออก คิดเป็นมูลค่าแปดแสนบาท

“ชุดนั้นถ้าตีเป็นเงินจริงๆ ต้องสองล้าน พอดีมีนักมวยเก่า คือ โอโรโน่ พ.เมืองอุบล มาขอเงิน ทางคุณพ่อผมเงินหมดแล้ว เลยให้ลอตเตอรี่ไป โอโรโน่เขามากันสี่คน รวมทั้งคนขับรถแท็กซี่ด้วย คุณพ่อก็ให้ไปคนละใบ บอกเอาลอตเตอรี่ไปละกัน เผื่อถูกรางวัล ก็ถูกจริงๆ ตกลงได้คนละคู่ ก็คู่ละสองแสน ทั้งหมดสี่คนก็แปดแสน ท่านก็เหลือแค่ล้านสอง” ครูต่อยบอกเล่า

เรื่องโชคดีของครูตุ้ย ยอดธง เสนานันท์ น่าจะจบลงอย่างสวยงาม หากพิจารณาจากสิ่งที่ครูเคย “ให้” คนอื่นเอาไว้ แต่ชีวิตจริงของครูมวยท่านนี้กลับไม่ได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมด

เมื่อวันหนึ่ง ครูล้มป่วยและต้องเข้าโรงพยาบาล ในห้วงเวลาซึ่งเงินสดที่ได้มาร่อยหรอลงไปแล้ว

“ค่ารักษาแพงมาก ครั้งแรกที่ป่วย เข้าไปปั๊บ คืนละห้าหมื่น พอท่านอาการดีขึ้น ท่านขอกลับบ้านกลับค่ายอย่างเดียว พอกลับมา ท่านก็ไม่ค่อยได้พักผ่อน จะไปดูมวยอย่างเดียว ชีวิตนี่อะไรๆ ก็ต้องเป็นมวย…

“ผลสุดท้าย ก็ต้องกลับไปที่โรงพยาบาลอีก พอรักษาค่อยยังชั่ว ขอกลับ พอกลับมา ครั้งหลังๆ อาการจะเริ่มทรุดมาก ทีนี้ ค่าใช้จ่ายก็จะแพง คืนละแสน สามคืนก็สามแสน เงินก้อนที่เก็บไว้มันก็ไม่มีแล้ว

“มีทรัพย์สมบัติของคุณพ่ออยู่อย่างเดียว คือ รถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ ก็ให้ญาติพี่น้องซึ่งทำงานบริษัทรถ ลองเอาไปประเมินราคาดู ก็ประเมินได้มาประมาณหกเจ็ดแสน ช่วงที่ท่านอาการหนักแล้ว ก็จะต้องพลิกตัว จ้าง (ผู้ดูแล) มาสองคน เดือนละหมื่นสี่ แล้วไหนจะค่าอาหาร ค่าอื่นๆ อีก” ครูต่อยเล่าเหตุการณ์ช่วงปัจฉิมวัยของบิดา

คําถามที่ทุกคนมี คือ ถ้าครูตุ้ยไม่แจกเงินรางวัลลอตเตอรี่ไปจนหมด ทุกอย่างจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่?

“เสียดาย แต่เราก็คิดว่าเงินส่วนนั้นมันไม่ใช่เงินของเรา มันเป็นเงินของคุณพ่อ ที่ท่านอยากจะใช้อะไร ท่านก็ควรจะได้ใช้” นวลนารี ผู้เป็นบุตรสาว แสดงความเห็น

ครูยอดธง เสนานันท์ อำลาโลกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ในวัย 75 ปี ส่วนเรื่องราวการแจกเงินหลายสิบล้าน ถึงวันนี้ ก็ยังมีคนจดจำได้ในหลากหลายแง่มุม

ครูตุ้ยเคยเขียนบันทึกส่วนตัวเอาไว้ว่า ตนเองถูกเงินรางวัล 56 ล้านบาท แต่มีคนมาขอความช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่ากว่าสองร้อยล้านบาท

“ทั้งเอาที่ดินมาขาย มาจำนอง มาขอกู้สารพัดจะมา บอกไม่มีเงินแล้ว บางคนยังไม่เชื่อ ให้เขาจนหมด โดยไม่มีดอก หนังสือทั้งตัวอะไรก็ไม่เอาทั้งนั้น ส่วนยืมก็ยืมไป ส่วนให้ทำทุนก็ทำไป ได้คืนบ้าง ไม่ได้คืนบ้างก็ไม่เป็นไร นึกเสียว่าเขาเดือดร้อน ยังไม่มีจะให้ ไม่ว่ากัน”