คนมองหนัง : ‘พลอย’ : แรงงานหญิงไทย และซ่องกลางป่าในสิงคโปร์

คนมองหนัง

ยิ้มเยาะ / คนมองหนัง

 

‘พลอย’ : แรงงานหญิงไทย

และซ่องกลางป่าในสิงคโปร์

 

“พลอย” เป็นภาพยนตร์สารคดีทดลองความยาว 51 นาที โดย “ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์” ซึ่งได้ฉายเปิดตัวในรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ 2020 และได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในสาย Forum Expanded

ก่อนจะกลับมาพบผู้ชมคนไทยในเดือนธันวาคมนี้

โครงเรื่องของหนังสารคดีเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ “คนไกลบ้าน” ซึ่งเป็นไดอารี่บันทึกเรื่องราวของแรงงานไทยหลายชีวิตในประเทศสิงคโปร์ โดยมี “ดร.พัฒนา กิติอาษา” (นักมานุษยวิทยาชาวอีสานผู้ล่วงลับ และเคยทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์) เป็นบรรณาธิการ

ดังนั้น เส้นเรื่องหลักของหนังจึงคล้ายจะบอกเล่าถึงชีวิตของ “พลอย” หญิงชาวบุรีรัมย์ ผู้ตัดสินใจเดินทางออกไปเผชิญโชคนอกแผ่นดินอีสาน

จุดหมายแรกของ “พลอย” นั้นอยู่ที่หาดใหญ่ ก่อนที่เธอจะข้ามแดนไปยังยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย แล้วได้งานค้าบริการทางเพศใน “ซ่องกลางป่า” ตรงบริเวณตะเข็บชายแดนสิงคโปร์

อย่างไรก็ดี ด้วย “ความเป็นหนังทดลอง” ภาพยนตร์เรื่อง “พลอย” จึงไม่ได้พาคนดูดั้นด้นไปเผชิญหน้ากับ “พลอย” ตัวจริง ทว่า เลือกจะประกอบสร้างชีวิตบางส่วนเสี้ยวของ “พลอย” ขึ้นมาจากองค์ประกอบต่างๆ อันกระจัดกระจาย

มีเพียงผลลัพธ์ของคดีความที่เกิดขึ้นหลังจาก “พลอย” ถูกตำรวจสิงคโปร์จับกุมเท่านั้น ซึ่งข้องเกี่ยวกับชะตากรรมจริงๆ ของเธอ

ขณะที่บันทึกว่าด้วยพันธุ์พืชในป่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านสายตา (เจ้าอาณานิคม) ตะวันตก, ฟิล์มภาพถ่าย, ปากคำของแรงงานหญิงชาวอาเซียนรายอื่นๆ และความเห็นของนักกิจกรรมการเมืองชาวสิงคโปร์

ต่างมีสถานะเป็นคู่เปรียบเทียบที่ย้อนแย้ง, ภาพสะท้อนคู่ขนาน และส่วนเติมเต็ม ของชีวิตหญิงไทยชื่อ “พลอย” แต่มิได้มีสายสัมพันธ์กับเธอโดยตรง

มีองค์ประกอบจำนวนหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีทดลองเรื่อง “พลอย” ที่น่าสนใจและชวนฉุกคิด

ประการแรก นี่คือหนังที่พูดเรื่อง “คน” และ “ชีวิตคน” อย่างเข้มข้นจริงจัง แต่กลับวางระยะห่างจาก “มนุษย์ผู้มีตัวตน” ไว้อย่างชัดเจน กระทั่งมีภาพและการเคลื่อนไหวของบุคคลจริงๆ ปรากฏในหนังน้อยมากๆ

โดยคนดูจะได้รับฟังเพียงเสียงของผู้ให้สัมภาษณ์บางราย และมองดูชีวิตผู้คนบางส่วนจากฟิล์มเนกาทีฟเป็นส่วนใหญ่

หมายความว่าหนังไม่ได้เจาะลึกชีวิต “คน” คนหนึ่ง ผ่านการสัมภาษณ์หรือตามติดชีวิตเขา/เธอ แต่เลือกจะประกอบสร้าง “ภาพแทนชีวิต” ของเขา/เธอ ขึ้นมา ผ่านการทำงานเชิงจดหมายเหตุ หรือการขุดค้นแสวงหาหลักฐานรายรอบใน “สื่อ” นานาชนิด

นี่จึงเป็นวิธีการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “คน” ที่แปลกใหม่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเกิดจากข้อจำกัดในการทำงาน หรือเกิดจากการคิดไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม

แต่ใช่ว่าวิธีการที่หนังเลือกใช้ จะส่งผลให้เรื่องราวของ “พลอย” มีลักษณะแห้งแล้ง ตรงกันข้าม ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับสามารถถ่ายทอดประเด็นการถูกกดทับออกมาได้อย่างน่าเจ็บปวด

นี่คือเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องไปขายบริการทางเพศในพื้นที่ “ป่าจริงๆ” ภายในประเทศขนาดเล็กๆ ซึ่งเต็มไปด้วย “ป่าที่เพิ่งปลูก/สร้าง” อันสวยงามดูดี โดยมีเหล่าลูกค้าเป็นแรงงานชายจากภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งถือเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสามของสิงคโปร์

มิหนำซ้ำ เมื่อ “พลอย” โดนจับกุม เธอก็ยังถูกบังคับขืนใจซ้ำโดย “ตำรวจรับจ้าง” ชาวกูรข่า

จึงกล่าวได้ว่า หนังสารคดีเรื่องนี้ได้นำเสนอหลายๆ ภาพของ “สังคมสิงคโปร์” ที่ถูก (นักท่องเที่ยว/นักธุรกิจ) มองข้ามไป

ไม่ว่าจะเป็นภาพ “ป่าจริงๆ” (ไม่ใช่ “ป่าคนเมือง”) ที่เปรียบเสมือน “โลกใต้ดิน” ของบรรดาแรงงานต่างชาติระดับล่าง ผู้ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุด และ/หรือหากินอยู่นอกขอบเขตกฎหมาย

นอกจากนี้ หนังยังให้ความสำคัญกับภาพการไปรวมตัวกันตามพื้นที่สวนสาธารณะยามบ่ายๆ วันอาทิตย์ ของบรรดาแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์

นี่ถือเป็นสิทธิในการปลดปล่อยความตึงเครียดและเสรีภาพจำนวนน้อยนิดที่พวกเขาและเธอได้รับ ก่อนที่สิทธิดังกล่าวจะระเหยหายไปในยุคโควิด (ซึ่งผู้ใช้แรงงานจำนวนมากต้องถูกกักบริเวณเพื่อกักกันโรค)

ขณะที่มาตรการบังคับควบคุมอันเข้มงวดข้ออื่นๆ ยังดำรงอยู่ไม่เสื่อมคลาย เช่น หลายคนอาจไม่ทราบว่าแรงงานหญิงชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบอาชีพ (เช่น เป็นแม่บ้าน) ในสิงคโปร์นั้น จะต้องเข้ารับการตรวจเลือดเป็นประจำ

ถ้ารัฐพบว่าใครติดเชื้อเอชไอวีหรือตั้งท้อง สตรีผู้นั้นจะมีความผิด และต้องถูกส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิดโดยทันที

 

นี่คือประเด็นหลักๆ ที่ผู้ชมหลายคนน่าจะพอจับต้องได้จาก “พลอย” ทว่า ก็ยังมีองค์ประกอบทางด้านสุนทรียศาสตร์อื่นๆ ของหนังที่น่าประทับใจ โดยอาจต้องพึ่งพาการตีความหรือประสบการณ์ภูมิหลังที่แตกต่างกันของคนดูแต่ละราย

ภาพยนตร์สารคดีทดลองเรื่องนี้เข้าฉายแล้วที่โรงภาพยนตร์ “doc club & pub.” ซอยศาลาแดง 1

โดย “พลอย” จะถูกจัดฉายควบกับ “วงษ์กลม” ภาพยนตร์สารคดีทดลองขนาดสั้นอีกเรื่องของประพัทธ์ ที่บอกเล่าถึงชีวิตของเยาวชนในประเทศญี่ปุ่นคนหนึ่ง ซึ่งมีแม่เป็นชาวไทยที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

เยาวชนรายนี้พยายามต่อสู้ทุกหนทางเพื่อให้ตนเองได้สิทธิอยู่อาศัยในประเทศที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมา แม้จะแพ้คดีในศาลครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตาม