‘ธนาธร’ ซัดตรงๆ ‘5 เหตุผล’ ที่ควรคัดค้าน ‘นิคมฯ จะนะ’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ธนาธร’ ซัดตรงๆ

‘5 เหตุผล’ ที่ควรคัดค้าน ‘นิคมฯ จะนะ’

 

สัปดาห์ก่อน ท่ามกลางความขัดแย้งตึงเครียดอันร้อนระอุระหว่าง “รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา” กับกลุ่มผู้ชุมนุม “จะนะรักษ์ถิ่น” ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ได้วิดีโอคอลล์สนทนากับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะมาอย่างละเอียดลออ

โดยธนาธรได้เปิดเผยเหตุผล 5 ข้อหลักๆ ที่จะทำให้สังคมไทยตระหนักว่า ทำไมพวกเราจึงควรคัดค้านนิคมฯ จะนะ

 

โจทย์ข้อแรกที่ธนาธรโยนออกมา ก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ไม่ได้ขาดแคลนพื้นที่ในการทำนิคมอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

“ผมยกตัวอย่างจากจุดที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะมาทางทิศตะวันตก 60 กิโลเมตร มีนิคมอุตสาหกรรมชื่อว่า Rubber City (นิคมอุตสาหกรรมยางพารา) อยู่ 1,218 ไร่”

“ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากจุดที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ 93 กิโลเมตร มีนิคมอุตสาหกรรมสงขลาหรือนิคมอุตสาหกรรมสะเดาอยู่ มีพื้นที่ 927 ไร่”

ทว่า จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ประธานคณะก้าวหน้ากลับได้พบว่านิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง ที่มีระบบสาธารณูปโภครองรับครบถ้วนนั้นอยู่ในสภาพ “ร้าง” ไม่ค่อยมีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุน เช่น นิคมฯ สะเดา ที่มีการใช้พื้นที่ไปเพียงราวสิบเปอร์เซ็นต์

ด้วยเหตุนี้ ตราบใดที่สองนิคมอุตสาหกรรมข้างต้นยังมีการใช้พื้นที่ไม่เต็มศักยภาพ จังหวัดสงขลาก็ไม่จำเป็นต้องมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่จะนะ

 

ปัญหาข้อที่สองในมุมมองของธนาธร ก็คือ ในแผนการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะนะ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” นั้น ได้กันพื้นที่โซนสีม่วงไว้เป็น “เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า”

ทั้งๆ ที่ปริมาณไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะ “ล้นเกิน”

“ปัจจุบัน เรามีกำลังไฟฟ้าสำรอง ณ สิ้นปี 2563 ถึง 58.8 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับปริมาณความต้องการ) เราไม่จำเป็นต้องมีพลังงานไฟฟ้าสำรองอีก ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก เรามีพลังงานไฟฟ้าสำรองเพียงพอแล้ว”

“ผมย้ำอีกครั้งนะครับ การมีพลังงานไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น เหตุผลที่ทำไมประเทศไทยต้องจ่ายค่าไฟมากกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ ก็คือ เรามีพลังงานไฟฟ้าสำรองล้นเกินครับ”

ธนาธรย้ำถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งมีปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์

“อย่าลืมนะครับ อุตสาหกรรมไฟฟ้าที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีนายพลนายทหารนายตำรวจเท่านั้นที่เข้าไปถือสัมปทานในอุตสาหกรรมไฟฟ้า มีแต่คนใกล้ชิดกับรัฐบาลทั้งนั้น”

“ดังนั้น ถ้าจะทำอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมเยอะแยะไปหมด ผมคิดว่าไม่จำเป็นในการจะต้องมีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างไฟฟ้าเพิ่ม”

 

เรื่องที่สาม จากการลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ธนาธรพบว่าทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ทะเล เช่น ปู กุ้ง กั้ง ฯลฯ ของจะนะนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก

แต่ถ้าเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้น สิ่งที่จะหายไปคือ ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นและวิถีชีวิตการทำประมงของชาวบ้าน ส่วนชายหาย-หาดทรายก็จะกลายเป็นชายเลน จนไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำได้

“ผมคิดว่าไม่คุ้มหรอกครับ ได้นิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครมาลงทุน เหมือนสะเดา เหมือน Rubber City มา แต่วิถีชีวิตประมง ซึ่งรายได้ดี ออกไปครั้งหนึ่งๆ ได้เงิน 2-3 พัน 5 พัน ก็จะหายไป”

ปัญหาใหญ่ข้อสี่ในทัศนะของอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็คือ เขาเชื่อว่ามีกลุ่มคน อันประกอบด้วยเครือญาตินักการเมืองและกลุ่มทุน ที่ได้ “ผลประโยชน์” จากโครงการนิคมฯ จะนะ

จุดเริ่มต้นของปัญหาอยู่ตรงการเปลี่ยนผังเมือง โดยในผังเมืองเดิมเมื่อปี 2559 พื้นที่ที่จะถูกใช้สร้างเป็นนิคมฯ คือพื้นที่สีเขียวสำหรับทำการเกษตร ทว่า ในผังเมืองใหม่ปี 2563 พื้นที่ดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีม่วงเพื่ออุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ธนาธรตั้งข้อสังเกตว่าหลายๆ ธุรกรรมซื้อขายที่ดินในพื้นที่สีม่วงนั้นน่าสงสัย โดยก่อนการเปลี่ยนแปลงผังเมือง ได้มีเครือญาตินักการเมืองใหญ่ ซึ่งเข้ามากว้านซื้อที่ดินในสามตำบลที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่จัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

แล้วต่อมา ก็มีการขายที่ดินเหล่านั้นให้บริษัทมหาชนเจ้าหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินสนับสนุนแก่พรรคพลังประชารัฐ

 

เหตุผลประการสุดท้ายที่ทำให้ประธานคณะก้าวหน้าเห็นว่าโครงการนิคมฯ จะนะเกิดขึ้นและดำเนินการอย่างไม่ชอบธรรมนั้นต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562

ในวันดังกล่าวมีการเปิดประชาพิจารณ์หรือเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการจัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่าพันนายที่ถูกเกณฑ์มาขัดขวางไม่ให้ประชาชนฝ่ายที่คัดค้านการสร้างนิคมฯ เข้าไปร่วมกระบวนการประชาพิจารณ์ด้วย

“ประชาพิจารณ์ที่เกิดขึ้นมันจึงเป็นประชาพิจารณ์ที่รับฟังความคิดเห็นแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้น แต่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์ด้วย”

ทั้งหมดนี้คือ 5 เหตุผลหลัก ที่ทำให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ยืนยันต่อสังคมไทยอย่างหนักแน่นว่า เขาไม่เห็นด้วยกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ