วิกฤติศตวรรษที่21 : สงครามเศรษฐกิจกับมหาสงคราม

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (30)

สงครามเศรษฐกิจกับมหาสงคราม

เมื่อกล่าวถึงมหาสงครามย่อมนึกถึงการเคลื่อนกำลังพลจำนวนนับแสน มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธร้ายแรงอื่น เป็นสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจและพันธมิตร ที่เปลี่ยนสภาพและข้อเท็จจริงบนพื้นที่ทั้งโลก นั่นเป็นสิ่งที่เห็นและประสบได้ง่าย รุนแรง และน่ากลัว

TOPSHOT – A Russian Proton-M rocket carrying the ExoMars 2016 spacecraft blasts off from the launch pad at the Russian-leased Baikonur cosmodrome on March 14, 2016. AFP PHOTO / KIRILL KUDRYAVTSEV / AFP PHOTO / KIRILL KUDRYAVTSEV

แต่ความจริงนั้นมีสงครามที่เป็นพื้นฐานที่ต่อสู้กันดุเดือด แต่เข้าใจได้ยากกว่า

นั่นคือสงครามเศรษฐกิจ สงครามเศรษฐกิจมีการคลี่คลายไปตามเหตุการณ์ เมื่อขึ้นศตวรรษที่ 21 มีลักษณะเข้มข้นทั่วด้าน เป็นไปทุกระดับยิ่งขึ้น

สงครามเศรษฐกิจในเบื้องต้นเป็นการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วอย่างรุนแรงลุกเป็นไฟ ได้แก่ บริเวณมหาตะวันออกกลาง

ที่กำลังดุเดือดทวีความรุนแรงเป็นข่าวมากขึ้น ได้แก่ ในทวีปแอฟริกา

ในระดับกลางเป็นการสงครามทางด้านการผลิต การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การจัดระบบโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก การส่งทุน แรงงาน

สำหรับสงครามเศรษฐกิจขั้นปลาย เป็นสงครามทางการค้า ภาษีศุลกากร การทำข้อตกลงและตั้งกลุ่มเศรษฐกิจ เป็นต้น ก่อให้เกิดความขัดแย้ง การเจรจา การทำข้อตกลงใหม่อย่างไม่รู้จบ

(FILES) This file photo taken on March 12, 2011 shows cars and debris littering an area of Sendai city, Miyagi prefecture after a monster tsunami unleashed by a massive quake wreaked destruction across northeast Japan and triggered an emergency at a nuclear power plant.
Japan is marking on March 11 the fifth anniversary of the 2011 quake and tsunami that claimed some 18,500 lives, flattened coastal communities and set off the worst atomic crisis in a generation. / AFP PHOTO / JIJI PRESS / JIJI PRESS / Japan OUT

สงครามเศรษฐกิจเป็นมวยหมู่ แบ่งได้ตามคู่ต่อสู้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

ก) สงครามเศรษฐกิจในลัทธิอาณานิคมใหม่ เป็นการต่อสู้ระหว่างประเทศมหาอำนาจเก่ากับประเทศกำลังพัฒนา

โดยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาณานิคมแบบเก่า ที่ใช้กำลังยึดครองดินแดนหรือประเทศอื่นมาเป็นเมืองขึ้น ดินแดนในอารักขา ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป เนื่องจากการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยของประเทศอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมอย่างกว้างขวาง

และประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตกที่ทำสงครามใหญ่สองครั้ง เพื่อแย่งชิงดินแดนหวังครองความเป็นใหญ่แต่ผู้เดียว ได้อ่อนแอลงมาก จึงได้แก้ไขการจัดระเบียบโลกใหม่ด้วยการสร้างลัทธิอาณานิคมแผนใหม่ขึ้น (ศัพท์อาณานิคมใหม่นี้ ใช้ตามประธานาธิบดี กวาเม เอนกรูมาห์ แห่งประเทศกานา เสนอเมื่อปี 1965 ถือว่าเป็นตัวแทนของผู้คับแค้นจากลัทธิอาณานิคม เขาเสนอการสร้าง “สหรัฐแห่งแอฟริกา” ขึ้น เขาถูกรัฐประหารปี 1966 โดยการสนับสนุนของตะวันตก ต้องลี้ภัยไปตายต่างแดน)

ลัทธิอาณานิคมใหม่นี้แอบซ่อนการใช้กำลังเพื่อล้มล้าง เปลี่ยนระบบไว้ข้างหลัง เบื้องหน้าใช้กลไกของทุนนิยม ได้แก่ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟและองค์การการค้าโลก เป็นต้น

โดยรวมคือใช้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ลัทธิโลกาภิวัตน์ การควบคุมสื่อและทางวัฒนธรรม ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องขึ้นต่อประเทศมหาอำนาจตะวันตก

ข) สงครามเย็นใหม่ มีความเห็นร่วมกันหลายกลุ่มนักวิเคราะห์สถานการณ์โลกว่า ช่วงปี 2014-2016 เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นใหม่หรือสงครามเย็นครั้งที่สอง (ดูคำ Cold War II ในวิกิพีเดีย เป็นต้น) ระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรและแกนรัสเซีย-จีน

ค) สงครามเศรษฐกิจชิงความเป็นใหญ่ในประเทศเจ้าอาณานิคมเก่า ประเทศเหล่านี้เคยรบกันเป็นสงครามโลกมาสองครั้งแล้ว คราวนี้เนื่องจากดุลกำลังเปลี่ยนไป สหรัฐอ่อนแอลง ก็กำลังทำสงครามกันอีกครั้ง

กรณีที่สะท้อนสงครามเศรษฐกิจในสงครามเย็นใหม่และในมหาอำนาจตะวันตกด้วยกัน ดูได้จากเหตุการณ์ปลายเดือนกรกฎาคม เมื่อสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาสหรัฐ ลงมติด้วยคะแนนท่วมท้นในการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจรอบใหม่ต่อรัสเซีย เด็ดปีกเศรษฐกิจสำคัญของรัสเซีย

พร้อมกันนั้นก็ตัดแยกความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านพลังงาน ระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป

นายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซียประกาศว่าการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐต่อรัสเซียครั้งนี้ เป็นการทำสงครามเศรษฐกิจเต็มรูปแบบต่อรัสเซีย

ส่วนสหภาพยุโรปประกาศจะตอบโต้ หากการแซงก์ชั่นดังกล่าวกระทบต่อผลประโยชน์ของตน

ในฉบับนี้จะกล่าวถึงสงครามเศรษฐกิจกับลัทธิอาณานิคมใหม่ในแอฟริกาก่อน

(FILES) This file photo taken on March 12, 2011 shows cars and debris littering an area of Sendai city, Miyagi prefecture after a monster tsunami unleashed by a massive quake wreaked destruction across northeast Japan and triggered an emergency at a nuclear power plant.
Japan is marking on March 11 the fifth anniversary of the 2011 quake and tsunami that claimed some 18,500 lives, flattened coastal communities and set off the worst atomic crisis in a generation. / AFP PHOTO / JIJI PRESS / JIJI PRESS / Japan OUT

สงครามเศรษฐกิจกับลัทธิอาณานิคมใหม่-กรณีแอฟริกา

แอฟริกาปัจจุบันมีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้นเป็นที่จับตาและเป็นข่าวมากขึ้น

โทรทัศน์ของสหรัฐ อังกฤษ รัสเซีย จีน เพิ่มรายการเกี่ยวกับแอฟริกาโดยตรง

ความสำคัญของแอฟริกาอยู่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก มีจำนวนประชากรเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และเป็นทวีปที่มีคนหนุ่มสาวมากที่สุด อัตราการเป็นเมืองยังต่ำอยู่

ที่สำคัญคือแอฟริกาเป็นทวีปที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงแห่งหนึ่งของโลก

ระหว่างปี 2000-2010 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี

คาดหมายว่าอนาคตทางเศรษฐกิจของแอฟริกายังคงแจ่มใส (ดูบทความของ Acha Leke และเพื่อน ชื่อ 3 reasons things are looking up for African economy ใน weforum.org 05.05.2016)

แอฟริกามีการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของตน มีรากฐานทางประชากร วัฒนธรรมและอารยธรรมของตน ที่จะงอกเงยจากอิทธิพลครอบงำภายนอกที่หนักหน่วงและยาวนานได้อย่างน่าทึ่ง

ในช่วงแรก มีการสร้างอาณาจักรโดดเด่นอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา ได้แก่ อาณาจักรอียิปต์โบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้ว

อาณาจักรคาร์เธจ ศูนย์กลางการค้าโบราณในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อกว่าสองพันปี (ล่มสลายด้วยอำนาจกรุงโรม)

และชาวเบอร์เบอร์ที่ตั้งถิ่นฐานทางแอฟริกาตอนเหนือ รับอิทธิพลจากอาหรับและศาสนาอิสลาม สามารถตั้งอาณาจักรใหญ่ ข้ามไปปกครองสเปนได้ในศตวรรษที่ 8 (ล่มสลายปลายศตวรรษที่ 15)

สำหรับทางใต้ทะเลทรายสะฮารา มีการตั้งอาณาจักรอักซุม ทางแอฟริกาตะวันออก บริเวณเอธิโอเปียปัจจุบัน (ราว 100 ปีก่อนคริสตกาล) จักรวรรดิมาลีทางแอฟริกาตะวันตก (ค.ศ.1230-1600) อาณาจักรซิมบับเว ทางแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ (คริสต์ศตวรรษ 12-14) อาณาจักรโยรูบา บริเวณประเทศไนจีเรียปัจจุบัน (ดำรงอยู่ถึงกลางศตวรรษที่ 18)

ตลอดช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน (ช่วงก่อนการค้าทาสข้ามแอตแลนติกของตะวันตก) แอฟริกาได้เป็นหุ้นส่วนทางการค้าและความสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง ศาสนายูดาห์ คริสต์และอิสลาม อารยธรรมกรีก โรมัน และจีน

ช่วงขยายตัวการค้าทาสจากพ่อค้าตะวันตก เริ่มจากพ่อค้าโปรตุเกสที่อยู่ใกล้กับแอฟริกาตะวันตกมาก เดินทางมาค้าขาย หวังจะได้ทองคำกลับไป แต่กลับมาได้การผูกขาดการค้าทาสในช่วงระหว่างปี 1440-1640 เป็นเวลาราวสองร้อยปี

การค้าทาสข้ามแอตแลนติกของตะวันตกเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากช่วง 1700-1800 เพื่อสนองการผลิตและการบริโภคในอเมริกาและยุโรป

ช่วงการรุมยึดเป็นอาณานิคมของตะวันตก (1880-1900) ต้นทศวรรษ 1880 ดินแดนที่ตกอยู่ในการปกครองของยุโรปมีนิดเดียว ตามบริเวณชายฝั่งและลึกเข้ามาเล็กน้อยระหว่างแม่น้ำใหญ่สองสาย ได้แก่ แม่น้ำไนเจอร์ และคองโก

แต่ฉับพลันตะวันตกได้เข้ายึดทั้งทวีปแอฟริกาเป็นเมืองขึ้น สืบเนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการได้แก่

ก) การเลิกการค้าทาสของอังกฤษ (ออกกฎหมายเลิกการค้าทาสปี 1807 และกฎหมายเลิกการมีทาสในอาณานิคมอังกฤษ 1833) เนื่องจากการเคลื่อนไหวเลิกทาสในหมู่ชาวอังกฤษ และการต่อต้านจากทาสเอง

ข) ระบบทุนนิยมต้องการแสวงหากำไรไปทั่วโลก ต้องการหากำไรจากทวีปนี้นอกจากการค้าทาส เกิดกระแสการสำรวจทวีปแอฟริกาขนานใหญ่ เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่เพาะปลูกอันกว้างขวางมาหาประโยชน์ สนองทองแดง ทองคำ ยางพารา กาแฟ น้ำตาล ไม้ เป็นต้น

ค) การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ เกิดมีมหาอำนาจใหม่ ได้จักรวรรดิเยอรมนีและอิตาลี ที่เข้ามาแข่งขันกับมหาอำนาจเดิมมีอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม เป็นต้น เพื่อสร้างอาณานิคมในแอฟริกา ทำให้สามารถผูกขาดการผลิตการค้าในพื้นที่นั้นๆ ได้สะดวก

ง) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้แก่ การสร้างเรือกลไฟเหล็กได้ เทคโนโลยีทางการทหารและการสงคราม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ เช่น ยาควินินต่อสู้ไข้มาลาเรีย

เหตุการณ์สำคัญที่เอื้อให้เกิดการรุมยึดเป็นอาณานิคมของตะวันตก ได้แก่ การประชุมเบอร์ลิน (1884-1885) สร้างกฎทั่วไปขึ้นในการตัดแบ่งแอฟริกาในหมู่ประเทศมหาอำนาจตะวันตก (รวมสหรัฐด้วย) กำหนดให้แม่น้ำไนเจอร์ และคองโก เสรีสำหรับการเดินเรือของทุกประเทศ และประเทศมหาอำนาจยุโรปจะยึดที่ใดเป็นอาณานิคมหรือพื้นที่ในอารักขา จะต้องมีความสามารถในการยึดครองและสร้าง “เขตอิทธิพล” ของตนได้อย่างชัดเจน

ในช่วงเวลาเพียง 20 ปี ทั่วทั้งแอฟริกาก็ตกเป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมของตะวันตก ยกเว้นเพียงประเทศไลบีเรีย (ปกครองโดยทาสอเมริกัน-แอฟริกัน) และเอธิโอเปีย ที่ถือว่าไม่ตกเป็นอาณานิคม (ดูบทความของ Alistair Boddy-Evans ชื่อ What Caused the Scramble for Africa? ใน thoughtco.com 18.04.2017)

ในช่วงเวลาสั้นๆ ของการค้าทาสข้ามแอตแลนติกและการกลายเป็นอาณานิคมในช่วงข้ามคืนนี้ ประวัติศาสตร์แอฟริกาเหมือนเขียนใหม่โดยตะวันตก

แต่แอฟริกาพ้นจากการเป็นอาณานิคมในทศวรรษ 1960 และค่อยๆ เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ของตนด้วยพลังแห่งความหลากหลายทางชนชาติและวัฒนธรรม การเพิ่มขึ้นของประชากรอัตราสูงอย่างต่อเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษ และความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและดินแดน

การเพิ่มขึ้นของประชากรแอฟริกา เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ตะวันตกให้ความสนใจและกังวลอยู่มาก

ในปี 1950 แอฟริกาทั้งทวีปมีประชากรเพียงสองร้อยล้านคนเศษ ราวครึ่งหนึ่งของประชากรจีน

แต่ในปี 2017 จำนวนเพิ่มไปถึง 1.2 พันล้านคนใกล้กับจีน อายุปานกลางก็ต่ำเพียง 19.5 ปี

ธนาคารโลกคาดว่าในปี 2050 ราวครึ่งของจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ในทวีปแอฟริกาซึ่งจะมีประชากรทั้งสิ้นถึง 2.5 พันล้านคน เป็นประชากรที่มีเยาวภาพ อายุปานกลางอยู่ที่ 25 ปี ซึ่งย่อมก่อปัญหาใหญ่ต่อรัฐบาลในการสนองโครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะที่จำเป็น เช่น การแพทย์ สาธารณสุขและการศึกษา ตลอดจนสร้างงานแก่ชาวแอฟริกันที่เพิ่มขึ้น

ความกดดันที่แน่นอนก็คือรัฐบาลในแอฟริกาจำต้องดำเนินนโยบายชาตินิยมทางทรัพยากรธรรมชาติในระดับหนึ่ง ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า ไม่ปล่อยให้ต่างชาติตะวันตกมาขุดเจาะไปง่ายๆ เหมือนเดิม

การเข้าแทรกแซงเพื่อชิงความได้เปรียบอาจก่อสงครามชิงทรัพยากร ไปถึงสงครามกลางเมือง ก่อกระแสผู้อพยพจากแอฟริกาไปยุโรปอย่างที่เป็นอยู่

ชาตินิยมทางทรัพยากรในแทนซาเนีย

ในเดือนกรกฎาคม 2017 รัฐบาลแทนซาเนียได้เรียกภาษีย้อนหลัง รวมค่าปรับและดอกเบี้ยจากบริษัทเหมืองแร่อะกาเซียมูลค่ามหาศาลถึง 190 พันล้านดอลลาร์ (เป็นภาษี 40 พันล้านดอลลาร์ ค่าปรับและดอกเบี้ย 150 พันล้านดอลลาร์ บริษัทเหมืองแร่อะกาเซียเป็นบริษัทสาขาของบริษัทบาร์ริก โกลด์ ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ทองคำใหญ่ที่สุดของโลก มีฐานในแคนาดา) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโฉมการทำเหมืองแร่ในแทนซาเนียใหม่

อุตสาหกรรมเหมืองแร่มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 3 ของจีดีพีแทนซาเนีย มีโครงการทำเหมืองแร่หลายชนิด ได้แก่ เพชร ยูเรเนียม ถ่านหิน และเหล็ก แต่ในขณะนี้กิจการเหมืองแร่ทองคำยังคงมีขนาดใหญ่ที่สุด ผูกขาดโดยสองบริษัท ได้แก่ อะกาเซียและแองโกลโกลด์ สามารถผลิตทองคำรวมกันในปี 2016 ถึง 37 ตัน โดยแทนซาเนียเป็นประเทศผลิตทองคำใหญ่เป็นอันดับสี่ในแอฟริกา

People look at the wreckage of a bus that had been transporting primary school pupils from Arusha to Karatu before plunging into a gorge, killing at least 29 children, two teachers and the driver, on May 6, 2017.
At least three survivors were pulled from the crash site by rescuers and rushed to hospital. The accident happened early on May 6 when the bus went off the road and into the Marera river gorge in Karatu district. The final year primary pupils — commonly aged between 12 and 14 years old — were on their way to sit mock examinations ahead of seeking places at secondary school. / AFP PHOTO / Filbert Rweyemamu

ในระยะใกล้นี้รัฐบาลแทนซาเนียได้ออกกฎหมายหลายฉบับคุมเข้มการทำเหมืองเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลมากขึ้น และทำให้กิจการเหมืองแร่สนับสนุนเป้าหมายอุตสาหกรรมแห่งชาติ เช่น ให้ต้องฝึกชาวแทนซาเนียให้ใช้ซับพลายเออร์ท้องถิ่นก่อน เป็นต้น การเจรจาเป็นไปอย่างล่าช้า ประธานาธิบดี จอห์น มากูฟูลี เดินเกมรุกแตกหัก ยื่นเรียกภาษีและค่าปรับดังกล่าว

ยอดเงิน 190 พันล้านดอลลาร์นี้ รัฐบาลแทนซาเนียอ้างว่ามาจากตัวเลขทองคำส่งออกของบริษัทที่ต่ำกว่าจริงมาก และคำนวณว่ารัฐต้องสูญเสียรายได้ไปเท่าใดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แล้วเรียกคืน แต่พิจารณาแล้วบริษัทอะกาเซียคงไม่สามารถจ่ายเงินยอดนั้นได้ และต้องนั่งโต๊ะเจรจาโดยด่วน ประธานาธิบดีมากูฟูลีประกาศว่า ถ้าหากบริษัทเหมืองแร่ไม่รีบมาเจรจา “ผมจะปิดเหมืองแร่ทั้งหมด และนำมาเป็นของชาวแทนซาเนีย” (ดูบทความของ Dan Paget ชื่อ All bets are off as Magufuli”s resource nationalism moves up a gear in Tanzania ใน theconversatin.com 28.07.2017)

กรณีของแทนซาเนียชี้ว่า การทำสงครามเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้ผูกขาดทำโดยสหรัฐเท่านั้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามเศรษฐกิจในแอฟริกาและละตินอเมริกัน