ยังไม่ทันปี่กลองเริ่ม ไฟเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กลับลุกโชน/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ยังไม่ทันปี่กลองเริ่ม

ไฟเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กลับลุกโชน

 

ไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งบอกว่า การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครจะเริ่มขึ้นเมื่อใด เพียงแต่การเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ล้วนผ่านพ้นไปแล้ว เหลือแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายจึงคิดว่า สิ่งนี้คงเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่นาน

การเร่งเปิดตัวของผู้สมัครฝ่ายต่างๆ จึงดูคึกคัก ราวกับเกรงจะตกขบวนรถไฟที่กำลังจะออก

แต่คนที่รู้อยู่ในใจแต่ไม่บอกใครกลับเป็นบุคคลคนเดียวที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มาตรา 142 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่เร่งออกมาในจังหวะสุดท้ายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 แล้ว มอบอำนาจการตัดสินใจว่าจะสมควรให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใดแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยในวรรคท้ายระบุว่า ในกรณีที่ไม่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงเป็นกุญแจดอกแรกที่จะไขไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงไปประชุมกันเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

จากวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว เรายังไม่ได้ยินเสียงปี่กลองใด แต่ผู้อาสาตนเองสมัครเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครกลับดูคึกคักยิ่ง

 

คุณสมบัติของผู้สมัครตามกฎหมาย

ตามมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 พ.ศ.2562) กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นอีกด้วย

ซึ่งเมื่อไปดูพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ในมาตรา 49 นอกเหนือจากเรื่องทั่วไป เช่น มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีแล้ว ใน (3) ยังระบุว่า ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้คนที่เป็นของท้องถิ่นจริง ไม่ใช่หิ้วกระเป๋าจากที่อื่นมาลงสมัคร

นอกจากนี้ ในมาตรา 50 ยังกำหนดลักษณะต้องห้ามอีกยาวเหยียดรวม 26 ข้อ เหมือนกับผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น ผู้สมัครต้องตรวจสอบให้ดีว่า เข้าข่ายการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเหล่านี้หรือไม่

 

ไม่ห้ามพรรคส่งผู้สมัคร

แต่กลับห้าม ส.ส.พรรคช่วยหาเสียง

เราเห็นพรรคการเมืองหลายพรรค ทั้งพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล จนถึงพรรคเกิดใหม่ เช่น ไทยสร้างไทย ที่แสดงท่าทีชัดเจนในการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร โดยบางพรรคมีการเปิดตัวผู้สมัครแบบคึกคักเอาจริงเอาจัง

นอกจากนี้ ผู้สมัครที่เปิดตัวมานาน เช่น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แม้จะบอกว่าเป็นผู้สมัครอิสระ แต่ยังเห็นสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองอย่างเช่น พรรคเพื่อไทย โดยไม่ยาก เนื่องจากเคยเป็นถึงหนึ่งสามชื่อที่พรรคเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี

แปลกแต่กติกาอันพิลึกพิลั่น ในมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กลับเขียนไว้เป็นข้อจำกัดว่า ห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หาก กกต.พบเห็นก็สามารถสั่งให้ยุติการกระทำนั้น

ดังนั้น พรรคส่งผู้ว่าฯ กทม. ได้ แต่ ส.ส. รัฐมนตรี ลงไปช่วยหาเสียงไม่ได้

ลุงตู่ ลุงป้อม จะพูดเชียร์ใครเป็นผู้ว่าฯ ก็ไม่ได้

คุณจุรินทร์ คุณพิธา แม้เป็นหัวหน้าพรรค ก็เอารูปขึ้นคู่ผู้สมัครไม่ได้

แต่หากคุณหญิงสุดารัตน์ คุณอภิสิทธิ์ หรือคุณธนาธร จะแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าสนับสนุนใคร หรือจะไปช่วยเดินหาเสียงก็ไม่ผิด เพราะไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

กติกาดังกล่าวจึงออกจะดูประหลาด และกลับไม่มีการเสนอแก้ไขโดยพรรคการเมืองทั้งๆ ที่กฎหมายดังกล่าวก็ใช้กันมากับการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายครั้งและทุกครั้งก็เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น

 

ต้นทุนของผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครนั้น กกต.เป็นผู้กำหนดวงเงินใช้จ่ายของผู้สมัคร โดยในอดีตที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี พ.ศ.2551 กำหนดวงเงินไว้ที่ 39 ล้านบาท ส่วนการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2556 ได้กำหนดวงเงินสูงถึง 49 ล้านบาท

จากการสรุปรายงานค่าใช้จ่ายจริงของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2556 ซึ่ง กกต.ได้ประกาศต่อสาธารณะ พบว่า ผู้สมัคร 4 รายแรกที่แสดงยอดค่าใช้จ่ายสูงสุด คือ 41 ล้าน 40.7 ล้าน 32.1 ล้าน และ 12.8 ล้านตามลำดับ

จำนวนเงินดังกล่าว สะท้อนถึงเงินต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ผู้สมัครไม่ว่าจะนามพรรคการเมืองหรือผู้สมัครอิสระ ต้องตระเตรียมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ซึ่งหากคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น วงเงินที่กำหนดคงอยู่ในระดับ 50 ล้านบาทต่อผู้สมัครหนึ่งรายเป็นแน่

แลกกับเงินเดือนของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครที่ 113,560 บาท รวม 4 ปี หรือ 48 เดือน เป็นเงิน 5.45 ล้านบาท จึงเป็นเครื่องหมายคำถาม ถามว่า อะไรคือสิ่งจูงใจที่ต้องใช้เงินมากหลายเท่าตัวเพื่อเข้าแข่งขันโดยไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

สำหรับพรรคการเมืองอาจมองว่า นี่คือฐานคะแนนเสียงสำคัญสำหรับการชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตกรุงเทพมหานครในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนเพื่อรักษาฐานการเมือง แต่ผู้สมัครอิสระ นอกจากเหตุผลว่า คือการเสียสละเพื่อประโยชน์ของคนกรุง หรือเพื่อเป็นฐานไต่เต้าทางการเมืองของตนต่อไปในอนาคต เหตุผลอื่นในด้านความคุ้มค่าในการลงทุนแทบมองไม่เห็น

 

วันเลือกตั้งที่เก็บงำเป็นปริศนา

เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง

แทนที่จะประกาศวันเลือกตั้งให้ทุกฝ่ายรับรู้และเตรียมตัว ให้คนกรุงเทพมหานครที่ห่างเหินการเลือกตั้งมากว่า 8 ปีได้เตรียมตัวเตรียมใจและมีโอกาสยาวๆ ในการไตร่ตรองเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนอย่างเหมาะสม คณะผู้มีอำนาจในบ้านเมืองกลับใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายที่ตัวเองเขียนเก็บงำวันเลือกตั้ง รอในจังหวะที่คาดว่าฝ่ายตนเองจะเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยไม่สนใจว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนหากเขาได้เลือกตั้งผู้บริหารที่ตรงกับความต้องการของเขาเอง

พฤติกรรมหลงและหวงอำนาจกระทั่งในการปกครองระดับท้องถิ่น มองทุกอย่างเป็นการเมืองที่มุ่งเอาชนะ ไม่ใยดีต่อการกระจายอำนาจเพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองในทิศทางที่ควรจะเป็น หากเป็นเรื่องจริง คงเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพมหานคร สมควรให้บทเรียนอย่าสาสมเมื่อวันเลือกตั้งมาถึง

การรีบประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่ากรุงทพมหานคร จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงดำเนินการโดยเร็ว ยกเว้นว่าในกมลสันดานนั้นไม่มีคำว่า “ยอมรับผลการเลือกตั้งของประชาชน” อยู่ในจิตใจเลยแม้แต่นิดเดียว