ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 ธันวาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
มุกดา สุวรรณชาติ
2564 สิ้น…แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ คสช.
เป้าหมายกับความจริง…ที่ตรงกันข้าม
2560-2564…ห้าปีที่เสียเปล่า
จากการรัฐประหารปี 2557 ความหวังว่าจะมีการเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนออกไปจากการขอเวลาอีกไม่นาน 2558-2560 แต่เมื่อเห็นรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ 2560 ที่ให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนมาเลือกนายกฯ ได้ ก็รู้ว่าประเทศชาติลำบากแล้ว
และการเลือกตั้งก็ยืดไปจนถึงปี 2562 ผลคือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
หลังเลือกตั้ง เหมือนหลังรัฐประหาร 3 พลเอก คือ ประวิตร ประยุทธ์ อนุพงษ์ ยังคงอำนาจ นายกฯ ก็คนเดิมการบริหารและปกครองก็เป็นแบบเดิม
เมื่อตั้งรัฐบาลผ่านไปไม่นานคนไทยก็รู้ว่าคงไม่มีอะไรจะเจริญขึ้น และเมื่อโรคระบาด covid-19 มาถึงประเทศไทยจึงได้เห็นว่าการบริหารการปกครองแบบนี้ มีโอกาสที่จะทำให้พวกเราพากันตายหมดจริงๆ
ตลอดปี 2563-2564 ชาวบ้านต้องอยู่ด้วยความหวาดผวากลัวติดเชื้อโรค กลัวไม่มีวัคซีน ที่สำคัญเศรษฐกิจพัง ผู้คนเป็นหนี้สินท่วมท้นล้นตัว รัฐบาลหาเงินไม่เป็น จากกู้ชาติกลายมาเป็นนักกู้เงิน แต่ที่จ่ายไปก็ไม่ได้ประโยชน์กลับมา รัฐบาลนี้จึงสร้างหนี้สินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ให้ลูก-หลานแบกรับกันต่อไป
มาย้อนดูว่าเขาทำผิดแผนพัฒนาฯ หรือเปล่า หรือว่าแผนที่เขียนไว้เลิศหรูสวยงามไม่ใช่แผนพัฒนาประเทศไทย แต่น่าจะเป็นประเทศในยุโรป
ดังนั้น เมื่อใกล้สิ้นปี 2564 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ปีที่จะสิ้นสุดลง จึงอยากประเมินผลว่าเป็นอย่างไร?
ที่จริง ประชาชนสามารถวัดได้ด้วยสายตา การรับรู้ข่าวสารและมองเห็นชีวิตจริงในสังคมทั้งของตนเองและคนรอบข้าง นักธุรกิจ คนทำงานก็สามารถวัดได้ด้วยการเจริญเติบโตของธุรกิจที่ทำอยู่
และก็พบว่าเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ คสช. มีอยู่แค่ในไฟล์และในกระดาษเท่านั้น ลองตัดมาให้ดูเล็กน้อย…
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 12 (2560-2564)
แผนฉบับนี้ร่างและนำไปปฏิบัติภายใต้นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์
กรอบหลักของการวางแผน ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ยึด “วิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
ยึด “เป้าหมายอนาคตประเทศไทย ปี 2579” ที่เป็นเป้าหมายในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเป็นกรอบในการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุใน 5 ปีแรก และเป้าหมายในระดับย่อยลงมา
(เป้าหมายปี 2579…ยุทธศาสตร์ศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเป็นกรอบ พวกท่านทำได้อย่างไร? ในเมื่อเชื้อโรคกลายพันธุ์เป็นรายเดือน เทคโนโลยีเปลี่ยนทุก 3 เดือน)
แผนนี้บอกว่าจะเปลี่ยนแปลงผ่านประเทศไทย จากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีความมั่นคง และยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาว “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของประเทศ
เป้าหมาย…(และความเป็นจริง)
การหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง…(ตอนนี้กลายเป็นติดกับดักรายได้ต่ำ)
(1) เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0… (ที่ได้ผลจริงตรงข้าม เช่น ปี 2563 -6.1)
(2) รายได้ประชาชาติต่อหัว (GNP Per Capita) ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 317,051 บาทต่อคนต่อปี
(ผลที่ได้คือจากปี 2560 ที่เคยได้ ประมาณ 215,000 บาท เพิ่มเป็น 234,800 บาท ในปี 2562 พอถึงปี2563 ลดเหลือ 225,846 บาท)
(3) ผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยร้อยละ 2.5 ต่อปี
(4) การลงทุนรวมขยายตัวไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยร้อยละ 8.0 ปริมาณการส่งออกขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ต่อปี
(ตัวเลขต่างๆ ทางเศรษฐกิจไม่มีอันไหนบรรลุเป้าหมาย)
การพัฒนาศักยภาพคนให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศและการสร้างสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ประชาชนทุกช่วงวัยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Security) และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น… (2-3 ปีนี้ชีวิตคนส่วนใหญ่ไร้ความมั่นคง มองไม่เห็นอนาคต)
การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
การกระจายรายได้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น…
(เมื่อสิ้นสุดแผนนี้จะทำให้คนจนลงอย่างไม่เท่าเทียม มี 2ระดับ คือจนมากไม่มีจะกิน กับอีกพวกคือจนในระดับยังมีกินแต่หนี้ท่วม)
การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค
(เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน)
การสร้างการเจริญเติบโต
ทางเศรษฐกิจและสังคม
ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพิ่มขีดความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการน้ำให้สมดุลระหว่างการอุปสงค์และอุปทานของน้ำ
(ดูเหมือนไม่มีการทำอะไรเพิ่มเติมเลย น้ำท่วมก็ยังเหมือนเดิม ที่เกิดภัยแล้งก็เกิดเหมือนเดิม ฝุ่นควันพิษมีมากขึ้น เบิกงบประมาณมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าซ้ำซากทุกปี)
การบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ
(1)การบริหารงานภาครัฐที่โปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วม
(จะมีหน่วยงานที่เป็นแบบนี้ได้สัก 0.5% หรือไม่ มีใครเคยพบบ้าง)
(2) ขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น
(เรื่องนี้ต้องบอกว่าพระเจ้าช่วยก็ทำไม่ได้ ที่บอกว่าโตไปไม่โกง กลายเป็นยิ่งโตยิ่งแก่ ยิ่งโกงมีไปทุกวงการ ทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นทางจนถึงศาล วงการสงฆ์ก็ไม่ละเว้น เอกชนก็มาร่วมแข่งโกง ยุคนี้มีมากที่สุด)
(3) มีการกระจายอำนาจที่เหมาะสม
(เรื่องนี้ไม่ทำเลย ทั้งยังถ่วงเวลา หลังจากรัฐประหารใช้เวลานานมากกว่า 6-7 ปีจึงจะยอมให้เลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่น แม้แต่ กทม.ที่เป็นเมืองหลวงยังไม่ยอมให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ จนถึงวันนี้)
ทีมงานต้องขอพอแค่ 2 หน้า อ่านต่อไปแล้ว สรุปว่าที่เขียนมามันไม่ใช่ประเทศไทย ไม่เชื่อลองไปศึกษาดู
5 ปีที่เสียเปล่า ในทัศนะของคนทำมาหากิน
ได้พบเพื่อนๆ ที่เป็นนักธุรกิจหลายคน วันนี้ดูมีสีหน้าวิตกกังวล เพื่อนที่รับราชการกลับดูยิ้มแย้มแจ่มใสดีกว่า เมื่อเข้าไปทักทายและมีเวลาพูดคุยก็ได้รับรู้ความยากลำบากของคนทำธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงกำไรหรือขาดทุน แต่พวกเขากังวลถึงอนาคต
“รู้สึกว่าประเทศของเราไม่ได้หมุนไปตามโลก เวลาของเราหยุดนิ่งมาสิบปีแล้ว ที่ผมกลัวคือมีคนดันให้ถอยหลังกลับ”
“ปี 2555 รู้สึกว่ากิจการเริ่มเดินหน้าไปได้ดี ผมคิดว่ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง การเมืองน่าจะสงบ ผมตัดสินใจขยายกิจการต่อ ไม่นึกว่าจะมีการเดินขบวน การประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2556 และตามด้วยการรัฐประหารในปี 2557 ธุรกิจทรุดตัวลง ถ้าดูจากยอดขายบริษัทเหมือนกับอยู่ในขาลงตลอด และยอดขายในปี 2548 ก็กลายเป็นจุดสูงสุด ซึ่งผมไม่มีวันกลับไปใกล้เคียงอย่างนั้นอีกเลย
คำถามของเราก็คือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองวันนี้กำลังทำอะไรกัน คนเรามีช่วงชีวิตยืนยาวเพียงหกสิบ เจ็ดสิบปี แต่ช่วงนาทีทองของธุรกิจ ไม่มีโอกาสยาวนานมากนัก แต่ตอนนี้คุณได้ทำลายช่วงเวลานาทีทองของเราให้เสียหายไปถึงสิบปี
ประเทศเราแม้ไม่เกิดสงครามกลียุคแบบในลิเบีย อิรัก หรือซีเรีย แต่มันเป็นสงครามเย็นที่ได้ทำลายเศรษฐกิจ สังคม ความยุติธรรม ความสามัคคี โดยที่คนจะได้ผลประโยชน์มีเพียงน้อยนิด ความรู้สึกของคนที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงชีวิต ไม่เพียงเห็นผู้มีอำนาจเป็นตัวถ่วง แต่กล่าวโทษไปถึงปัญญาชนคนที่ได้ร่ำเรียนมาสูงๆ เป็นนักวิชาการ เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่กลับไปเข้าร่วมกลุ่มปล้นประเทศ และความยุติธรรม
คนกลุ่มนี้กลายเป็นผู้ถ่วงรั้งความเจริญของประเทศไปอีกหลายสิบปี ทำความเสียหายให้กับคน 99.9% มีเพียง 0.1% เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์”