กีฬาฟุตบอลในไทย/เครื่องเคียงข้างจอ วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

กีฬาฟุตบอลในไทย

 

ตอนที่เขียนต้นฉบับนี้ คือหลังจากได้ชมเกมฟุตบอลซูซูกิ คัพ คู่ระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติเมียนมาจบลง ผลคือ ช้างศึกเอาชนะนักเตะตระกูลหม่องไปได้ 4-0 ประตู

นี่เป็นการแข่งขันแมตช์ที่สองของทีมชาติไทยในทัวร์นาเมนต์นี้ หลังแมตช์แรกที่เอาชนะทีมติมอร์-เลสเต ไปได้ 2-0 ประตู และกว่ามติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้จะวางแผง ทีมชาติไทยก็ได้แข่งแมตช์ที่ 3 โดยพบกับทีมชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งผลเป็นอย่างไรคงทราบกันไปแล้ว

ทีมชาติไทยชุดนี้จะมีแมตช์สุดท้ายในรอบแบ่งกลุ่ม พบกับเจ้าภาพ ทีมชาติสิงคโปร์ ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ แฟนฟุตบอลไทยคงติดตามชมกันทางหน้าจอช่อง 7 สีกันแน่นอน

 

สําหรับประวัติของการแข่งขัน “ฟุตบอลซูซูกิ คัพ” ที่เรียกขานกันในปัจจุบันนั้น มีที่มาดังนี้ หะแรกการแข่งขันนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน (ASEAN Football Championship) หรือเรียกย่อกันว่า อาเซียนคัพ เป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดย สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน หรือเอเอฟเอฟ (ASEAN Football Federation – AFF)

เริ่มการแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ.2539 ตอนนั้นใช้ชื่อว่า “ไทเกอร์คัพ” เนื่องจากมีผู้สนับสนุนหลักคือ เบียร์ไทเกอร์ จากประเทศสิงคโปร์

ภายหลังเบียร์ไทเกอร์ได้ยกเลิกการสนับสนุน จึงเปลี่ยนชื่อจากไทเกอร์คัพเป็นอาเซียนฟุตบอลแชมเปี้ยนชิพ แต่เปลี่ยนชื่อได้แค่ปีเดียวก็ได้ซูซูกิเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนใหม่ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ สืบมาจนถึงปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับว่าซูซูกิจะสนับสนุนไปอีกนานแค่ไหน หากมีสปอนเซอร์รายใหม่ ก็จะเรียกเป็นชื่อคัพของการแข่งขันไป

เหมือนศึก “คาราบาวคัพ” ของอังกฤษ ที่เป็น FA.Cup และมีคาราบาวแดงของไทยเป็นสปอนเซอร์ ในแมตช์ชิงของทุกปี เราจึงได้เห็นพี่แอ๊ด คาราบาว ไปร่วมชมและมอบถ้วยด้วยเสมอ

 

สําหรับซูซูกิ คัพ แล้ว ไทยเราถือว่าทำผลงานไว้ได้ดีสุดในชาติสมาชิก จากที่จัดการแข่งขันไปแล้ว 12 ครั้งนั้น ทีมชาติไทยสามารถคว้าถ้วยมาครองได้ 5 ครั้ง โดยมีสิงคโปร์เจ้าภาพครั้งนี้ตามมาติดๆ คือ 4 ครั้ง ซึ่งถ้าสิงคโปร์ชนะเลิศได้ในปีนี้ก็จะทำสถิติเท่ากับไทย ส่วนเวียดนามนั้นคว้าไป 2 ครั้ง โดยในปีนี้เวียดนามมาในฐานะแชมป์เก่าจากปีที่แล้วด้วย ส่วนทีมเสือเหลือง-มาเลเซียนั้นเพิ่งเคยสัมผัสถ้วยไปแค่ 1 ครั้ง

จากผลงานในช่วง 2 ปีให้หลังของเวียดนามที่ถีบมาตรฐานตัวเองขึ้นมาอย่างน่าเกรงขาม โดยผลงานล่าสุดคือการเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย แม้จะพ่ายต่อคู่แข่งในสายเดียวกันแบบหมดรูปโดยไม่มีสักแต้มเดียว แต่ก็ถือว่ายังประมาทหรือปรามาสมิได้

ตรงข้ามกับทีมชาติไทยที่ในช่วง 4-5 ปีหลังนี้ ผลงานตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย บางทัวร์นาเมนต์ตกรอบแรกด้วยซ้ำ และไม่เคยก้าวไปสัมผัสแชมป์ใดๆ ได้เลย

ทำให้ในการแข่งขันซูซูกิ คัพ ในปีนี้ ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่ม ไทยจึงถูกมองว่าไม่เท่าไหร่

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มจริงๆ ทีมชาติไทยก็ค่อยๆ ปรับจูนการเล่นจนเป็นทีมที่หลายชาติประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีผู้เล่นระดับเอเชีย อย่าง “ธีราธร บุญมาทัน” และ “ชนาธิป สรงกระสินธ์” ที่เล่นในเจลีก บวกกับ “ธนวัฒน์ ซึ้งจิตถาวร” ที่เล่นในทีมเลสเตอร์ซิตี้ ของลีกอังกฤษ ก็ทำให้ชั้นเชิงบอลของทีมชาติไทยน่ากลัวขึ้นมาทันที ดังจะเห็นได้จากผลงานที่ออกมา

นอกจากฟุตบอลซูซูกิ คัพแล้ว แมตช์การแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติไทยที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษยังมีกีฬาซีเกมส์ ที่ไทยก็เป็นแชมป์มามากที่สุดถึง 16 ครั้ง, กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ที่ไทยเราเคยเข้าถึงอันดับที่ 4 มาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน, ยังมีฟุตบอลคิงส์คัพ, กีฬาโอลิมปิก และการคัดเลือกฟุตบอลโลกอีกที่เป็นความฝันสูงสุดของชาติไทยเรา

ต้องยอมรับว่า ด้วยการเป็นกีฬามหาชนที่ได้รับความนิยมสูงสุดของแฟนกีฬาชาวไทย ทำให้ทุกครั้งที่ทีมชาติไทยลงแข่งขัน แฟนลูกหนังชาวไทยจะติดตามเชียร์แบบสุดสุด ยิ่งในโลกออนไลน์แล้วมีการแสดงความคิดเห็นกันต่างๆ นานจนเหมือนทุกคนเป็นโค้ชอย่างไรอย่างนั้น

“โค้ชคีย์บอร์ด” ที่เรียกขานกันก็ด้วยเหตุนี้

 

หากจะย้อนไปว่า แล้วการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเกิดขึ้นในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ต้องย้อนไปถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเลย

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศอังกฤษเป็นต้นกำเนิดกีฬาฟุตบอล ตอนที่อังกฤษได้เข้าชิงฟุตบอลแห่งชาติยุโรปเมื่อปี 2020 สื่อของอังกฤษต่างโหมประโคมว่า “Football is coming Home” เป็นการบอกว่าข้านี่แหละเป็นต้นแบบของฟุตบอล

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงส่งพระราชโอรส, ราชนิกุลหลายพระองค์ และข้าราชบริพารเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือประเทศอังกฤษ จึงมีผู้ที่ได้สัมผัสเสน่ห์ของเกม “ซ็อกเกอร์” ในดินแดนต้นแบบ เมื่อเดินทางกลับเมืองไทยจึงได้นำกีฬาชนิดนี้มาเล่นที่นี่ด้วย ท่านนั้นคือ “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)”

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือที่คนนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ครูเทพ” ท่านชื่นชอบในการกีฬามาก และได้แต่งเพลงกราวกีฬาขึ้นมา ที่ร้องกันว่า “…กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮาไฮ้ ฮาไฮ้…” น่ะครับ ที่คนไทยยุคปู่ย่ารู้จักเพลงนี้กันดี เวลามีการแข่งขันกีฬาทีไรจะเปิดเพลงกราวกีฬานี้ควบคู่ไปด้วยเสมอ

ตอนที่ท่านได้นำฟุตบอลเข้ามาเล่นในประเทศไทย ก็ได้เกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากมาย โดยหลายคนกล่าวว่า ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ไม่เหมาะสมกับประเทศที่มีอากาศร้อน เหมาะสมกับประเทศที่มีอากาศหนาวมากกว่า และเป็นเกมที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้เล่นและผู้ชมได้ง่าย

แต่กลายเป็นว่ากีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ได้ค่อยหมดไปจนกระทั่งกลายเป็นกีฬายอดนิยมที่สุดของประชาชนชาวไทย

ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยที่ท่านครูเทพได้ปลูกฝังให้มีการเล่นกีฬาฟุตบอลในระดับโรงเรียนอย่างจริงจัง จนได้รับความนิยมในไม่ช้า

 

สําหรับแมตช์การแข่งขันกีฬาฟุตบอลอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นครั้งแรกในไทยเมื่อวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2443 จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกายและใช้ในการประกอบงานพิธีต่างๆ การแข่งขันฟุตบอลคู่ประวัติศาสตร์ของไทยนี้เป็นการแข่งขันระหว่าง “ชุดบางกอก” กับ “ชุดกรมศึกษาธิการ” จากกระทรวงธรรมการ ผลการแข่งขันคือ “ชุดกรมศึกษาธิการ” เสมอกับ “ชุดบางกอก” 2-2 (ครึ่งแรก 1-0) นับว่าเริ่มต้นแบบสมานสามัคคีกันดี

ซึ่งในเวลาต่อมาครูเทพท่านได้วางแผนการจัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนอย่างเป็นทางการ พร้อมแปลกติกาฟุตบอลแบบสากลมาใช้ในการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนครั้งนี้ด้วย นั่นทำให้กีฬาฟุตบอลเป็นที่รู้จักและนิยมตั้งแต่เยาวชนกันเลย

เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงสานต่อกีฬาชนิดนี้ ด้วยว่าพระองค์ทรงมีความสนพระทัยกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงกีฬาฟุตบอลเอง และทรงตั้งทีมฟุตบอลส่วนพระองค์เองชื่อทีม “เสือป่า” รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินประทับทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลเป็นพระราชกิจวัตรเสมอมา

และในปี พ.ศ.2459 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งสยามขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน ซึ่งมีชื่อย่อว่า ส.ฟ.ท. และเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “THE FOOTBALL ASSOCIATION OF THAILAND UNDER THE PATRONAGE OF HIS MAJESTY THE KING” ใช้อักษรย่อว่า F.A.T. และสมาคมก็ได้จัดการแข่งขันถ้วยประเภทต่างๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ด้วย

จากความนิยมที่ว่าจึงเกิดมีสโมสรฟุตบอลขึ้นมา โดยผู้ที่รักและหลงใหลฟุตบอลตัวยงเป็นตัวตั้งตัวตี ซึ่งในช่วงแรกมักจะเป็นสโมสรฟุตบอลที่สังกัดอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ เช่น สโมสรฟุตบอลยาสูบ, สโมสรฟุตบอลทหารอากาศ, สโมสรเพื่อนตำรวจ หรือเป็นสโมสรของเอกชน เช่น สโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ, สโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย และก็เติบโตเรื่อยมาจนมีสโมสรใหญ่ๆ เกิดขึ้นในภูมิภาคหลายสโมสร

ความเป็น “นักฟุตบอลอาชีพ” ก็เข้มข้นขึ้น จากยุคแรกๆ ที่เงินเดือนนักเตะเพียงหลักพัน ก็มาถึงหลักแสนในปัจจุบัน และการเป็นนักเตะประจำสโมสรนี่เอง ที่ส่งผลให้ทีมชาติในทางอ้อม เพราะยิ่งฟุตบอลลีกแข็งแรง มีนักเตะที่มีคุณภาพมากเท่าไหร่ ก็เป็นตัวเลือกให้กับทีมชาติมากขึ้นว่าจะเลือกใครมาติดทีมชาติ ซึ่งก็ถือว่าเป็น “เกียรติประวัติ” ที่น่าภาคภูมิใจทีเดียว

เหมือนทีมชาติไทยชุดซูซูกิ คัพ เลือกได้ทั้งนักเตะเก่งๆ ในไทยลีกเอง หรือนักเตะเลือดไทยจากต่างแดนที่ทำผลงานโดดเด่น

 

มีคนเคยกล่าวว่า “การเมืองก็คล้ายกับฟุตบอล” คือ ต้องเล่นกันเป็นทีมจึงจะชนะ ทั้งชนะคู่แข่ง และชนะใจคนดู ตราบใดที่เกมฟุตบอลเล่นกันอย่างขาวสะอาด แม้จะมีปะทะกัน พุ่งเสียบกันบ้าง แต่ถ้าหนักในเกม ก็ยังทำให้เกมน่าดู คนดูก็สนุกที่จะเชียร์ แม้สุดท้ายทีมรักจะแพ้ แต่ถ้าเล่นเต็มที่สนุกกับเกม แพ้ก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะฟุตบอลก็ต้องมีแพ้ มีชนะ

การเมืองก็เช่นกัน ที่ต้องมีแพ้ มีชนะ ใครชนะก็ได้เป็นรัฐบาล ใครแพ้ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน หากรัฐบาลเล่นกันเป็นทีมเวิร์ก รับส่งกันแบบรู้ใจ ไม่มีแอบหมกเม็ด เหม็นขี้หน้ากันแต่อย่างใด เชื่อได้ว่ามีโอกาสเป็นรัฐบาลไปได้ยาวนาน ยิ่งถ้ามีผลงานยิงประตูได้สวยๆ ก็ได้ใจแฟนบอลไปอีก เหมือนรัฐบาลที่ทำดีก็จะได้ใจประชาชน

แต่ตอนนี้เกมฟุตบอลของการเมืองไทยดูแปลกแปร่งพิกล นักเตะในทีมเดียวกันก็เหมือนจะไม่กินเส้น ไม่ลงรอยนับถือกัน จังหวะที่ควรจะส่งลูกให้ก็ไม่ส่ง บางทีก็ส่งคืนหลังให้เสียเวลาซะยังงั้น

นี่ยังไม่นับนักเตะที่ยืมตัวมาจากสโมสรอื่นเพื่อมาเสริมทัพให้ทีมเราแข็งแรงขึ้น ที่ก็ต้องคอยปวดหัวว่า เอ็งจะเป็นทีมเดียวกับข้า หรือว่าเป็นนักเตะทีมคู่แข่งแฝงตัวมากันแน่

ที่น่าตลกคือ กัปตันทีมประกาศดังๆ ว่าไม่เอาลูกทีมคนนี้เพราะเล่นขัดกันเหลือเกิน จ้องแต่จะเตะรวบตัวกัปตันเสียเอง แต่โค้ชที่อยู่ข้างสนามตะโกนกลับมา ถ้าไม่เอาคนนี้แล้ว จะเอาใครมาเล่น ฉะนั้น จงเล่นต่อไป อย่าบ่น

พวกกองเชียร์ที่เชียร์อยู่ข้างสนามก็เลยงง เชียร์ไม่ถูก งงในงงซ้ำซ้อนเข้าไปอีก

ยิ่งตอนนี้มีข่าวว่า เกมอาจจะเตะไม่ครบ 90 นาที อาจจะมีเหตุให้เลิกแข่งกลางคันก็ได้ เพราะเห็นเหล่านักเตะพากันเดินสายขายตัวเองกับกองเชียร์กันคึกคักยามนี้

เริ่มต้นด้วยฟุตบอลทีมชาติไทย ไฉนมาจบลงที่การเมืองไทยไปได้ก็ไม่รู้ สวัสดีครับ