นครหลวงใหม่สระบุรี : เมืองหลวงใหม่ที่ถูกลืม/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

นครหลวงใหม่สระบุรี

: เมืองหลวงใหม่ที่ถูกลืม

 

เมื่อพูดถึงแนวคิดในการย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงเทพฯ ทุกคนคงนึกถึงโครงการย้ายเมืองหลวงของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปยังเพชรบูรณ์ ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่จากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผมคิดว่า แนวคิดการสร้างเมืองหลวงใหม่ในอุดมคติที่แท้จริงของ จอมพล ป. คือบริเวณพระพุทธบาท สระบุรี

หลักฐานสำคัญที่ยืนยันสมมุติฐานข้างต้น คือ เอกสารปึกใหญ่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เรื่อง “ปรับปรุงจัดตั้งพระนครหลวงใหม่” ที่ได้บันทึกโครงการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้ (ที่แทบจะถูกลืมไปหมดแล้ว) เอาไว้มากพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนที่ฉบับหนึ่งที่แทรกอยู่ในเอกสารชุดนี้ ที่ใช้ชื่อว่า “ผังนครหลวง” จัดทำขึ้นในราวปี พ.ศ.2485 ที่ได้ให้รายละเอียดของโครงการนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ต้องขอบคุณ คุณณัฐฐานิตย์ คะเชนทร์ มหาบัณฑิตจากสาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสเห็นเอกสารนี้ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้สนใจแผนที่ชุดนี้อย่างจริงจังมากนักในตอนแรก จนเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสกลับมาพิจารณามันอีกครั้ง เพื่อที่จะเขียนบทความให้กับหนังสือ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด กับการเมืองไทยสมัยใหม่” ที่มี อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคุณสฏฐภูมิ บุญมา เป็นบรรณาธิการ

ซึ่งทำให้ผมพบว่า แผนที่ฉบับนี้ ได้บันทึกความทะเยอทะยานและจินตนาการอันยิ่งใหญ่อย่างน่าเหลือเชื่อของ จอมพล ป.ที่มีต่อโครงการย้ายเมืองหลวงใหม่ในครั้งนั้น

ชนิดที่เมืองหลวงใหม่เพชรบูรณ์ไม่อาจเทียบได้

โครงการนี้เริ่มขึ้นราวเดือนเมษายน พ.ศ.2485 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นในชื่อ “คณะกรรมการสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างนครหลวงใหม่” มี พล.ท.มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

คณะกรรมการได้ทำการนำเสนอที่ตั้งให้รัฐบาลพิจารณา 2 พื้นที่ คือ บริเวณ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และบริเวณ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี แต่ดูเสมือนว่าจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก สุดท้าย จอมพล ป.ได้มีคำสั่งลงมาโดยกำหนดที่ตั้งเมืองหลวงใหม่ด้วยตัวเอง ความว่า

“…เมืองหลวงควรเอาพระพุทธบาทสระบุรีเป็นหลักเมือง แล้วกำหนดเอาแม่น้ำป่าสักกับแม่น้ำลพบุรีเป็นเขตต์ เพราะถ้าจะเอาที่มีน้ำก็ต้องเลือกเอาที่ลุ่ม ถ้าจะเอาที่น้ำไม่ท่วม ก็ต้องเอาที่ดอน และต้องหาน้ำมาจากที่อื่น…”

เมื่อตำแหน่งถูกกำหนดแน่ชัด การออกแบบและวางผังจึงเริ่มขึ้น และเป็นที่มาของแผนที่ “ผังนครหลวง” ฉบับดังกล่าว

“ผังนครหลวง” ถูกออกแบบให้มีพื้นที่มหาศาลมากถึง 406 ตารางกิโลเมตร โดยวางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านทิศเหนือของเมืองติดแนวภูเขาอันเป็นที่ตั้งของวัดพระพุทธบาท สระบุรี และถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธิน) ทิศตะวันตกมีแนวทางรถไฟสายเหนือเป็นเสมือนขอบเขตเมืองโดยมี 3 สถานีที่เชื่อมต่อเข้าสู่เขตเมืองคือ สถานีท่าเรือ สถานีบ้านหมอ และสถานีหนองโดน

ทิศใต้ใช้แนวแม่น้ำป่าสักเป็นขอบเขต ส่วนทิศตะวันออกใช้แนวถนนประชาธิปัตย์เป็นขอบเขต ซึ่งจากลักษณดังกล่าวจะทำให้เมืองหลวงใหม่แวดล้อมไปด้วยการคมนาคมที่ครบสมบูรณ์ทั้งทางรถไฟ ทางรถยนต์ และทางเรือ

นครหลวงใหม่แห่งนี้มีการวางผังอย่างทันสมัยและเป็นระเบียบ โดยการออกแบบแนวถนนเป็นตารางสี่เหลี่ยม พร้อมทั้งการเชื่อมต่อพื้นเข้าหากันด้วยการตัดถนนในแนวเฉียง 45 องศาจนเกิดเป็นเครือข่ายถนนแบบใยแมงมุมครอบคลุมพื้นที่เมืองทั้งหมด

จุดตัดระหว่างถนนแนวตรงกับแนวเฉียงจะถูกออกแบบให้เป็น node ของเมือง ซึ่งมีราว 10 จุด ซึ่งบริเวณจุดตัดดังกล่าวคงจะมีการออกแบบให้เป็นลานหรือสวนขนาดใหญ่ โดยอาจมีอาคารหรืออนุสาวรีย์ทำหน้าที่เป็นจุดหมายตา (landmark) ของเมือง

 

จากข้อมูลในแผนผัง พบการกำหนดตำแหน่งโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานีดับเพลิงกระจายตัวอย่างเป็นระบบอยู่ตาม node ต่างๆ ทั่วเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สมัยใหม่ด้านการวางผังเมืองที่เข้ามาอย่างชัดเจนภายหลังการปฏิวัติ 2475

Node ใหญ่ที่สุดของเมืองถูกออกแบบไว้ตรงแนวแกนหลักกลางเมืองที่วางตัวในแนวเหนือใต้ ประกอบไปด้วยพื้นที่กว้างขนาดใหญ่ เรียงรายด้วยสถานที่ราชการและอาคารสถานทูต

น่าเชื่อว่าบริเวณนี้จะถูกกำหนดไว้ให้เป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศ ที่สำคัญคือ แนวแกนนี้วางตัวทอดยาวเชื่อมตรงดิ่งไปสู่มณฑปพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง ซึ่งถูกกำหนดไว้ให้เป็นหลักเมือง ตามแนวคิดของ จอมพล ป.ที่ได้กำหนดไว้

น่าตั้งเป็นข้อสังเกตว่า พระพุทธบาท สระบุรี เป็นศาสนสถานที่คณะราษฎร และจอมพล ป.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยในปี พ.ศ.2476 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 1 ปี) คณะราษฎรได้มอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะยอดมณฑปพระพุทธบาทในลักษณะที่เสมือนสร้างใหม่

และต่อมาได้สร้างพระที่นั่งเย็นขึ้นบนฐานไพทีหน้ามณฑป ด้วยรูปแบบ “สถาปัตยกรรมไทยเครื่องคอนกรีต” แบบสมัยใหม่ ตามแนวทางของสถาปัตยกรรมคณะราษฎร

และใน พ.ศ.2479 รัฐบาลยังได้ทำการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาทและใกล้เคียงเพื่อประโยชน์ในทางพุทธศาสนา จนในที่สุด จอมพล ป.ก็มากำหนดให้พระพุทธบาทสระบุรีเป็นหลักเมืองของเมืองหลวงใหม่ในปี พ.ศ.2485

 

ย้อนกลับมาพิจารณาแผนผังนครหลวงใหม่สระบุรีอีกครั้ง น่าเชื่อว่า การออกแบบคงจะได้รับอิทธิพลทางความคิดในการวางผังเมืองตามแนวทาง The city beautiful movement ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในอเมริกาและส่งอิทธิพลไปทั่วโลกในช่วงระหว่างปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงราวกลางศตวรรษที่ 20 ที่เน้นการสร้างเมืองให้มีลักษณะสวยงาม อลังการ และเป็นระเบียบเรียบร้อยผ่านสิ่งก่อสร้างอันใหญ่โต ซึ่งส่วนใหญ่คือรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค

แต่ในกรณีนี้คงถูกสร้างขึ้นด้วยงานสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคแบบคณะราษฎรมากกว่า

นอกจากนี้ การวางผังจะมาพร้อมกับการเปิดพื้นที่ลานและสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ถนนกว้างๆ ที่ปลูกต้นไม้สวยงามทอดยาวไปตลอดแนวถนน โดยมีอาคารหรืออนุสาวรีย์สำคัญวางตัวที่ปลายถนนเพื่อเป็น landmark ของพื้นที่

การวางผังดังกล่าว นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังถูกเชื่อว่าจะช่วยสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคมและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมทางสังคมในที่สาธารณะที่เป็นอารยะให้เกิดขึ้นด้วย (หากสนใจ อ่านเพิ่มใน Naomi Blumberg and Ida Yalzadeh, “City Beautiful movement,” Encyclopedia Britannica, https://www.britannica.com/topic/City-Beautiful-movement)

ประเด็นนี้เราจะเห็นความสอดคล้องกับนโยบายรัฐนิยมของ จอมพล ป.ที่ต้องการสร้างพลเมืองไทยในยุคสร้างชาติที่มีความเป็นอารยะ

งานศึกษาที่ผ่านมา มักเน้นไปที่การแต่งกาย การสวมหมวก เลิกกินหมาก สวมรองเท้า ฯลฯ เป็นหลัก แต่ปัจจุบัน เริ่มมีงานศึกษาหลายชิ้นที่เริ่มชี้ให้เห็นว่า นอกจากการแต่งกายแล้ว การแสดงพฤติกรรมใน “พื้นที่สาธารณะ” ของพลเมืองไทยในสมัยสร้างชาติ ผ่านพื้นที่เมืองแบบสมัยใหม่ที่ถูกออกแบบวางผังตามแนวคิด The city beautiful movement คือเครื่องมือที่สำคัญมากของนโยบายรัฐนิยม

ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านแผนผัง นครหลวงใหม่สระบุรี แห่งนี้

 

แม้ปัจจุบันจะเหลือแผนผังเพียงแผ่นเดียว แต่จากภาพที่ปรากฏก็สะท้อนให้เราเห็นถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ของ จอมพล ป. ด้วยขนาดอันมหึมาของเมือง พร้อมทั้งถนนน้อยใหญ่ที่จะต้องถูกตัดขึ้นใหม่รวมกันมากกว่า 200 เส้น เพื่อสร้างโครงข่ายถนนใยแมงมุมมหาศาลที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ผังเมืองไทย

ยังไม่นับรวมสถานที่ราชการ สถานทูต โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงมหรสพ บ้านเรือน ร้านขายของ ตลาด และอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่อีกมากมายที่ตั้งอยู่ตรง node สำคัญของเมือง

อย่างไรก็ตาม ความฝันอันยิ่งใหญ่นี้ไม่อาจเป็นจริงได้ และโครงการต้องถูกยกเลิกไป

จอมพล ป.เปลี่ยนเป้าหมายการย้ายเมืองหลวงไปที่ “นครบาลเพชรบูรณ์” ในจังหวัดเพชรบูรณ์แทนในปลายปี พ.ศ.2486 โดยให้เหตุผลว่า เพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า มีภูเขาล้อมกำบังข้าศึก ในขณะที่สระบุรีเป็นพื้นที่โล่ง ข้าศึกษาสามารถเข้าถึงได้จากทุกทิศทาง แต่ก็ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สุดท้าย แนวคิดย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ก็ล้มเหลวอีกเช่นเดียวกัน

จากหลักฐานความยิ่งใหญ่ต่างๆ ที่กล่าวมา จึงทำให้ผมเชื่อว่า แนวคิดย้ายเมืองหลวงใหม่ตามความตั้งใจที่แท้จริงของ จอมพล ป. มิใช่เพชรบูรณ์ แต่คือบริเวณพระพุทธบาท สระบุรี

เพชรบูรณ์ เป็นเพียงความคิดที่เกิดขึ้นภายหลัง อันเนื่องมาจากสถานการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพาที่รุนแรงขึ้น

ส่วนนครหลวงใหม่สระบุรี แม้ว่าจะถูกออกแบบวางผังขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และสมบูรณ์แบบ แต่ด้วยบริบท ณ ช่วงเวลานั้น ทำให้โครงการนี้จำเป็นต้องถูกพับเก็บไป และแทบจะถูกลืมไปจนหมดสิ้นแล้วจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย