ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 ธันวาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ
ขับเสภาไม่ได้มาจากอินเดีย
แต่มาจากขับลำใน ‘โซเมีย’
ขับเสภามีต้นตอมาจากอินเดีย เป็นคำบรรยายของครูบาอาจารย์ปัจจุบันบอกนักเรียนนิสิตนักศึกษาในสถานศึกษาทั่วประเทศไทย โดยอ้างถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่าการขับเสภามาจากพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย เกี่ยวข้องการสวดบูชาพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า “เสวากากุ” หรือ “เศรไว” กับ “หริเศรไว” แต่ตรวจสอบหลักฐานในพระนิพนธ์ “ตำนานเสภา” แล้วไม่พบว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีอธิบายอย่างนั้น
บางทีอ้างว่าเสภามีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตามที่พบในกฎมณเฑียรบาลว่า “เสภาดนตรี” แต่ตรวจสอบแล้วคำว่า “เสภา” ที่พบในกฎหมายเหล่านั้นแปลว่าเจ้าพนักงานทำหน้าที่ต่างๆ ส่วน “ดนตรี” หมายถึงเครื่องมีสายบรรเลงอย่างเบาๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้อง “ตีกรับขับเสภา” แล้วมีปี่พาทย์รับตามที่รู้จักและเข้าใจทุกวันนี้
ครูบาอาจารย์ในสถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนขับเสภาและวิชาเกี่ยวข้องควรทบทวนข้อมูลข่าวสาร แล้วตรวจสอบหลักฐานเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือ มิฉะนั้น เท่ากับตบตาหลอกลวงนักเรียนนิสิตนักศึกษาให้เสียโอกาสและเสียพลังความคิดสร้างสรรค์
ขับเสภาไม่ได้มาจากไหน?
ขับเสภามาจากการละเล่นขับลําคําคล้องจอง ตามประเพณีของประชาชนในดินแดนต้นทางภาษาไทย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว (ครั้งนั้นยังไม่มีการติดต่อสัมพันธ์กับอินเดีย)
หลังจากนั้นอีกนานการละเล่นขับลําได้แตกแขนงเป็นขับซอและเล่นเพลงต่างๆ แผ่กว้างทั่วลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงถูกสร้างสรรค์เป็นขับเสภา (โดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดเกี่ยวข้องกับพิธีสวดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของอินเดีย)
“ขับ” เป็นคําในภาษาไท-ไต-ไทย-ลาว หมายถึงร้องเป็นทํานองอย่างเสรีไม่มีกําหนดสั้น-ยาว “เสภา” เป็นคํายืมจากภาษาสันสกฤต ซึ่งพบครั้งแรกในเอกสารราชการของคนชั้นสูงสมัยอยุธยาตอนต้น หมายถึงขุนนางข้าราชการ, พนักงาน, เจ้าหน้าที่ มีกิจกรรมอยู่ประจําศาลพิพากษาของวังหลวงและวังต่างๆ นอกจากนั้นยังหมายถึงสตรีมีตระกูลเป็นนางกํานัลประจําราชสํานักฝ่ายใน แล้วมีหน้าที่บรรเลงดนตรี-มโหรีและขับลําเห่กล่อมพระเจ้าแผ่นดินทรงบรรทม
สรุปแล้วขับเสภาไม่ได้มาจากอินเดีย ทั้งนี้เพราะขับเสภามีต้นตออยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์บริเวณ “โซเมีย” ทางตอนใต้ของจีนแล้วแพร่หลายไปลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพัฒนาการเป็นลําดับตั้งแต่ขับลํา, ขับซอ, ขับเสภา ดังนี้
1. ขับลํา
ขับลํา หมายถึงขับหรือลําคําคล้องจองเคล้าคลอด้วยเครื่องประโคมตีเป่า โดยเฉพาะปี่น้ำเต้าซึ่งเรียกในสมัยหลังๆ ว่าแคน เพื่อสื่อสารกับอํานาจเหนือธรรมชาติคือผีฟ้า (ต่อมาเรียกแถน) เป็นการละเล่นในพิธีกรรมของประชาชนต้นทางภาษาไทย (บางทีเคยเรียกตระกูลภาษาไทย-ลาว) เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนและต่อเนื่องทางเหนือของเวียดนาม อันเป็นหลักแหล่งของชาวจ้วงและชาวผู้ไท
ต้นทางภาษาไทย หมายถึงตระกูลภาษาไท-ไต หรือ ไท-กะได ซึ่งมีอายุเก่าแก่สุด ราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่บริเวณมณฑลกวางสีของจีน มีพรมแดนต่อเนื่องเวียดนามภาคเหนือ โดยทั้งหมดอยู่ใน “โซเมีย” (คือพื้นที่สูงในหุบเขาทางตอนใต้ของจีน)
2. ขับซอ
ขับซอแพร่หลายสมัยแรกๆ ทางลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาละวิน เป็นการละเล่นร้องเพลงทํานองต่างๆ ที่มีพัฒนาการสืบทอดจากประเพณีขับลําคําคล้องจองของประชาชนบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของจีนต่อเนื่องทางเหนือของเวียดนาม
[“ขับซอ” เป็นคําซ้อนในวัฒนธรรมลาวล้านช้าง-ล้านนา หมายถึงร้องเพลง ส่วน “ซอ” แปลว่าร้องเป็นทํานองเคล้าคลอด้วยเครื่องบรรเลง (ปรับปรุงจากคําอธิบายใน “พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2533)]
จากนั้นขับซอแพร่กระจายตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในจนถึงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (ต่อมาเป็นดินแดนรัฐสุพรรณภูมิ สมัยก่อนมีกรุงศรีอยุธยา) แล้วต่อยอดเป็นลําต่างๆ (เช่น ลําส่ง, ลําสวด) ขณะเดียวกันแตกแขนงเป็นเพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชาย (เช่น เพลงปรบไก่, เพลงครึ่งท่อน, เพลงเทพทอง, เพลงฉ่อย ฯลฯ) ในที่สุดแผ่ขยายทั่วลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ซึ่งเป็นดินแดนกรุงศรีอยุธยา ราชอาณาจักรสยาม)
ขับซอถูกยกย่องเป็นประเพณีราชสํานักกรุงศรีอยุธยา พบหลักฐานอยู่ในวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นเรื่องอนิรุทธคําฉันท์ พรรณนาการเห่กล่อมพระบรรทม มีร้องยอพระเกียรติเคล้าคลอด้วยเครื่องบรรเลงเสียงเบาหลายอย่าง ได้แก่ พิณ (ติ่ง), ปี่ (จุ่ม), แคน, ซอ (เครื่องสาย สะกดด้วย ทร เขมรเรียกตรัว)
ชุมชนราษฎรกรุงศรีอยุธยา มีขับซอและขับแคนในงานมงคล (เช่น แต่งงาน, ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ) พบในบันทึกของลาลูแบร์ (ราชทูตจากราชสํานักฝรั่งเศส) ว่ามีช่างขับและกรับ (ไม้ไผ่ผ่าซีกสองอัน) พร้อมเครื่องบรรเลงขับกล่อม
เพลงโต้ตอบแก้กันของหญิงชายเป็นการละเล่นไม่มีโครงเรื่องเป็นนิยาย ส่วนการละเล่นที่มีโครงเรื่องเป็นนิยายเรียกเพลงเรื่อง มีแบบแผนเริ่มด้วยบทไหว้ครู แล้วตามด้วยบทเกริ่น, บทประ (ทักทาย), บทผูกรัก (เกี้ยวพาราสี), บทสู่ขอลักหาพาหนี, บทชิงชู้ (ตีหมากผัว) แล้วจบด้วยบทลาจาก
สมัยอยุธยามีการละเล่นเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วยขับซอ, เพลงโต้ตอบ, เพลงเรื่อง (สมัยนั้นยังไม่มีขับเสภาอย่างที่รู้จักและเข้าใจทุกวันนี้) พบหลักฐานสําคัญอยู่ในกลอนอ่านเรื่องปาจิตกุมาร (แต่งสมัยกรุงธนบุรี) พรรณนาการละเล่นในงานพระเมรุศพท้าวพรหมทัตว่ามีเล่นเพลงเรื่องกล่าวถึงขุนแผนแค้นเคืองนางพิม (ในขุนช้างขุนแผน) และในกลอนไหว้ครูเสภาแต่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะเล่นขับเสภาต้องไหว้ครูเพลงปรบไก่และครึ่งท่อน เป็นต้น
3. ขับเสภา
ขับเสภาเริ่มสร้างสรรค์แพร่หลายในชุมชนขุนนางคนชั้นนําสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่แรกสถาปนา ซึ่งเป็นการละเล่นสืบทอดประเพณีขับซอสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ขับเสภาสมัยแรกไม่แพร่หลายในชุมชนชาวบ้านทั่วไป
ตีกรับขับเสภาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นการละเล่นสืบทอดประเพณีขับซอสมัยอยุธยา จึงเป็นจารีตของคนขับเสภาที่เพิ่งมีต้องทําพิธีไหว้ครูเพื่อสร้างความมั่นใจในตนเองและให้กลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง
ครูเสภา (ของคนขับเสภา) อยู่ในประเพณีขับซอสมัยอยุธยาที่แตกแขนงเป็นเพลงโต้ตอบกับเพลงเรื่อง (เช่น เพลงปรบไก่, เพลงครึ่งท่อน ฯลฯ) ดังมีบอกใน “กลอนไหว้ครู” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ บันทึกว่าเป็นบทเก่าที่จดจําตกทอดมา (อยู่ใน “ตํานานเสภา” พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2460) ดังนี้
๏ ที่นี้จะไหว้ตาครูสน เป็นนายประตูครูคนทุกแหล่งหล้า
ไหว้ครูมีช่างประทัดถัดลงมา ครูเพ็งเก่งว่าข้างสุพรรณ
จะไหว้ตาครูเหล่ชอบเฮฮา พันรักษาราตรีดีขยัน
ตาทองอยู่ครูละครกลอนสําคัญ ตาหลวงสุวรรณรองศรีที่บรรลัย
เมื่อครั้งพระจอมนรินทร์แผ่นดินลัน เสภาขับยังหามีปี่พาทย์ไม่
มาเมื่อพระองค์ทรงชัย ก็เกิดคนดีในอยุธยา
ทั้งปรบไก่ครึ่งท่อนกลอนไม่ขัด ข้าพเจ้าได้สันทัดพึ่งหัดว่า
ว่าไปมีใช่ไวปัญญา ครูชื่อว่ามาพระยานนท์
ใต้ภาพ
ขับเสภาไม่มาจากอินเดีย แต่มาจากขับลำคำคล้องจองของคนพูดภาษาตระกูลไท-ไต หรือไท-กะได ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนถึงภาคเหนือของเวียดนาม มีอธิบายพร้อมรูปถ่ายหลักฐานครบถ้วน ในหนังสือขับเสภามาจากไหน? พิมพ์จำหน่ายโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ปกหนังสือ ขับเสภามาจากไหน? วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558)