รอยร้าวในกองทัพ | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

กองทัพพม่าซึ่งขับรถไล่ชนผู้ประท้วงในย่างกุ้งจนถึงแก่ความตาย ในปี 64 จับคนมาเผาทั้งเป็นที่จังหวัดสะแกง กราดยิงผู้คนกลางถนนจนตายในเมืองใหญ่หลายแห่ง และคอยกำกับควบคุมการประท้วงของชาวกะเหรี่ยงที่เมืองพะยาก ฯลฯ ล้วนได้รับคำสั่งจากศูนย์กลางจุดเดียว อันเป็นสมองที่คอยสั่งการให้อวัยวะทั้งกองทัพเคลื่อนไหวไปอย่างสอดประสานกัน

มีเหตุให้เข้าใจอย่างนี้ได้มากพอสมควร เช่น แม้ว่าพม่าเป็นประเทศที่ประกอบขึ้นจากคนหลากหลายชาติพันธุ์ แต่กองทัพพม่าประกอบขึ้นจากคนชาติพันธุ์เดียวคือพม่า แม้แต่พลทหารก็เคยได้รายได้ที่เหนือกว่าประชาชนทั่วไป ไม่พูดถึงนายพลซึ่งรวยอู้ฟู่กว่านายพลของสิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม และส่วนใหญ่ของนายพลอินโดนีเซีย ยิ่งเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ยิ่งอู้ฟู่ไปกว่าเก่าเสียอีก

ท่ามกลางสำนึกที่เป็นอริของประชาชนต่างชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ชาติพันธุ์เดียวกัน และท่ามกลางความยากจนค่นแค้นที่แผ่ไพศาลไปทั่ว กองทัพพม่าย่อมดำรงอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นศัตรูทั้งอย่างออกหน้าและลับๆ เพราะฉะนั้น ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกองทัพเพื่อปกป้องตนเองจากความล่มสลายอย่างฉับพลันและรุนแรง จึงน่าจะเป็นธรรมดา

แต่ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ของกองทัพสมัยใหม่ของพม่าจนถึงเมื่อก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในกุมภาพันธ์ ปี 2564 กองทัพพม่าได้ผ่านความขัดแย้งภายในจนถึงขั้นใช้อาวุธ หรือหักกันโดยไม่ได้ใช้อาวุธอยู่บ่อยๆ ไม่ต่างจากกองทัพเพื่อนบ้าน คือไทย, ลาวก่อนปฏิวัติ, และกัมพูชาก่อนฮุนเซน

อังกฤษสร้างกองทัพแบบใหม่ขึ้นในพม่าจากกลุ่มชาติพันธ์ที่อังกฤษไว้วางใจ คือกะฉิ่นและกะเหรี่ยง (ชาติพันธุ์มีความสำคัญอย่างยิ่งแก่รัฐอาณานิคมทุกแห่ง ถ้าคิดอย่าง James Scott ใน Seeing Like a State ชาติพันธุ์เป็นหนึ่งในวิธีทำให้ข้าราษฎร “ง่าย” ต่อการ “อ่าน” ของรัฐ) และนั่นคือกองกำลังสำหรับควบคุมประชาชนชาติพันธุ์พม่า ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา อองซานสร้างกองทัพกู้ชาติขี้น ประกอบด้วยคนในชาติพันธุ์พม่าเกือบทั้งหมด ครั้นได้เอกราชแล้ว ก็รวมกองทัพอาณานิคมเดิมกับกองทัพกู้ชาติเป็นกองทัพแห่งชาติ

แต่ก็เป็นกองทัพแห่งชาติที่ขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะแม้แต่หน่วยทหารก็ยังไม่(ยอม)รวมเข้าด้วยกัน หน่วยพม่าก็หน่วยพม่า หน่วยกะเหรี่ยงก็หน่วยกะเหรี่ยง หน่วยกะฉิ่นก็หน่วยกะฉิ่น ไม่นานนักหน่วยกะเหรี่ยงก็กบฏเพราะไม่เห็นด้วยกับการจัดการทางการเมืองของรัฐพม่าใหม่ เกือบจะยึดย่างกุ้งได้ด้วยซ้ำ แต่ทหารหน่วยพม่าสามารถป้องกันไว้ได้ ตั้งแต่นั้นหน่วยทหารกะเหรี่ยงก็แยกตัวออกไปจากกองทัพแห่งชาติ

และเพราะการเมืองอีกเช่นกัน หลังจากนั้น หน่วยทหารพม่าบางหน่วยก็แยกตัวออกไปเป็นกองทัพประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ทำการสู้รบกับรัฐบาลและกองทัพแห่งชาติ ซึ่งถูกชาติพันธุ์พม่าผูกขาดไปแล้ว

หลังการยึดอำนาจของเนวินในปี ๑๙๖๒ ดูเหมือนความเป็นปึกแผ่นของกองทัพพม่าจะกลับคืนมา อย่างน้อยก็เพราะเนวินสามารถปราบหรือชะงักงันกองกำลังศัตรูมิให้คุกคามเอกภาพของรัฐพม่าได้หมด อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นกองทัพประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ หรือกองกำลังของชนส่วนน้อยอื่นๆ กองทัพพม่าจึงสะสมทั้งกำลังคนและอาวุธได้เหนือกองกำลังคู่แข่งอื่นๆ ได้อย่างสิ้นเชิง

แม้กระนั้น กองทัพพม่าก็ไม่เคยปราบการแข็งข้อของกองกำลังอื่นๆ ได้อย่างราบคาบสิ้นเชิงเลย

มรสุมที่โหมกระหน่ำมารอบด้านเช่นนี้น่าจะทำให้กองทัพพม่าหันมาปรองดองกันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น นั่นก็จริงบ้างเป็นบางส่วน แต่ที่จริงแล้ว ตลอดระยะเวลา ๒๖ ปีที่เนวินครองอำนาจ ได้เกิดกบฏหรือการแข็งข้อภายในกองทัพหลายครั้ง เช่นผบ.สส. อู ติน อูวางแผนยึดอำนาจในปี ๑๙๗๔ แต่ถูกจับได้เสียก่อน เช่นเดียวกับอ่องจี นายทหารอีกคนหนึ่ง จนเมื่อออกจากคุก ก็มากลายเป็นประธานพรรค NLD ในภายหลัง ยิ่งนโยบายหนทางแบบพม่าสู่สังคมนิยมนำความพินาศเสื่อมโทรมแก่เศรษฐกิจอย่างหนัก ก็ยิ่งทำให้ทหารบางกลุ่มเห็นเป็นโอกาสที่จะล้มอำนาจเนวิน

ส่วนหนึ่งของความทารุณโหดร้ายของระบอบทหารของเน-วินคงเกิดขึ้นเพราะผู้ครองอำนาจรู้ดีว่า อำนาจตนนั้นเปราะบางอย่างยิ่ง ไม่ใช่จากกองกำลังที่ประกาศตนเป็นศัตรู แต่จากภายในกองทัพพม่าเอง ดังนั้นจำเป็นต้องเด็ดหน่ออ่อนที่ไม่น่าไว้วางใจทั้งในและนอกกองทัพ ก็เด็ดมันเสียก่อนจะเติบใหญ่ขึ้น เด็ดผิดเด็ดพลาดก็ยังดีกว่าเผลอปล่อยให้หน่อศัตรูเหลือรอด

แม้แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เนวินหมดอำนาจในปี ๑๙๘๘ หลังการลุกฮือขึ้นของนักศึกษาประชาชนและพระภิกษุ ส่วนหนึ่งก็เพราะอำนาจสั่งการของเนวินเหนือกองทัพไม่เด็ดขาดเสียแล้ว เพราะบางส่วนของกองทัพตัดสินใจว่าวิธีสยบการเคลื่อนไหวของประชาชนที่น่าจะได้ผลกว่าคือยอมถอยก่อน และปล่อยให้ประชาชนร่าเริงกับชัยชนะชั่วคราว ก่อนที่กองทัพจะออกมาจัดระเบียบใหม่ด้วยคณะ SLORC หรือสภาฟื้นฟูกฏหมายและระเบียบแห่งรัฐ พร้อมทั้งสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๑๙๙๐ (นี่เป็นคำอธิบายของนักวิชาการพม่าศึกษาบางคน ไม่ใช่ทุกคน)

ผู้นำเผด็จการที่ไม่สามารถจัดการวิกฤตด้วยตนเอง ต้องยอมให้ลูกน้องจัดระเบียบเผด็จการขึ้นใหม่ ก็ไม่พึงหวังว่าลูกน้องจะคืนอำนาจกลับมาอยู่ในมือของตนใหม่ นี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าเนวินจะรู้อยู่แล้วหรือไม่ก็ตาม เพราะหลังจากนั้นเขาก็ต้องกลับไปนอนบ้าน รอวันสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น

นายพลที่เนวินมอบหมายให้ครองอำนาจต่อมาทั้งสองคนคือซอหม่องและขิ่นยุ้นต์ ไม่อาจสืบทอดอำนาจจากเนวินได้ในที่สุด แต่อำนาจกลับไปตกอยู่ในมือของธานฉ่วย ซึ่งเนวินไม่ได้มุ่งหมายจะใช้เป็นเครื่องประกันความปลอดภัยของตนเอง แม้ธานฉ่วยยังเคารพนับถือเนวินในระยะแรก แต่ก็พร้อมจะเอาเนวินสังเวยให้แก่ผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองในภายหลัง งานศพเนวินนั้นนอกจากญาติสนิทแล้ว แทบไม่มีใครไปร่วมงานเลย

วิกฤตที่สั่นคลอนอำนาจของธานฉ่วยอย่างแรงคือการปฏิวัติผ้าเหลืองใน ๒๐๐๗ และไซโคลนนากีสใน ๒๐๐๘ กองทัพเผด็จการที่ความชอบธรรมของหัวหน้าสั่นคลอนอย่างมาก ย่อมกระเทือนความปลอดภัยของกองทัพเอง กระบวนการปรับโครงสร้างการปกครองจึงดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งตามมา อำนาจของธานฉ่วยต้องถูกโอนมาแก่ลูกน้องคนสนิทคือเตงเส่ง

แต่ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของกองทัพกลับปรากฏให้เห็นชัดขึ้นในระบอบกึ่งเผด็จการ กองทัพที่ควบคุมการเมืองอยู่เบื้องหลังนั้นจะอยู่ในกำกับดูแลของใคร มีการแย่งชิงกันระหว่างประธานาธิบดีเตงเส่ง และประธานรัฐสภาชเวมานน์ ว่าที่จริง โอกาสทางการเมืองที่พรรค NLD และซูจีได้มา ก็เกิดขึ้นได้เพราะการแย่งอำนาจกันระหว่างนายพลของกองทัพนี่เอง

การต่อต้านรัฐประหารอย่างไม่หยุดหย่อนต่อเนื่องกันมา ๑๑ เดือนจนถึงปัจจุบัน เป็นวิกฤตอันใหญ่ที่กองทัพพม่าต้องเผชิญ บวกกับแรงกดดันนานาชาติ ที่แรงขนาดที่จีนต้องยอมให้อาเซียนประชุมกันโดยไม่มีผู้นำพม่าเข้าร่วม (เพราะดีแก่จีนมากกว่าไม่มีผู้นำมาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, และฟิลิปปินส์เข้าร่วม) ทำให้ – ผมเป็นอย่างน้อย – เชื่อว่า เอกภาพในกองทัพพม่าไม่อาจดำรงอยู่อย่างมั่นคงนัก มีข่าวเล็ดลอดออกมาถึงกลุ่มทหารหนีทัพ และการร่วมมืออย่างลับๆ ของบางส่วนในกองทัพเผด็จการมินอ่องหล่ายที่ให้แก่การก่อวินาศกรรมในจังหวัดสะแกง และอาจรวมถึงจังหวัดอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้เรายังไม่รู้ว่า ผบ.กองพลตามจังหวัดรอบนอกต่างๆ ฟังคำสั่งจากส่วนกลางอย่างเคร่งครัดเพียงไร

ข้อสรุปง่ายๆ ของผมก็คือ กองทัพที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองย่อมนำมาซึ่งความแตกแยกในกองทัพ ยิ่งยุ่งมากขนาดเข้ามายึดอำนาจแล้วบริหารบ้านเมืองเอง ก็ยิ่งแตกแยกมาก ประวัติการแทรกแซงการเมืองของกองทัพไทยก็มองเห็น แม้เรามักเผลอคิดว่ากองทัพไทยมีความเป็นเนื้อเดียวกันเสมอ

หลังการรัฐประหารของกองทัพใน ๒๔๙๐ ไม่นาน หนึ่งในนายพลผู้นำก็ถูกอัปเปหิออกไป ยังไม่พูดถึง”กบฏ”เสนาธิการ และแมนฮัตตัน แรงกดดันให้ผิน ชุณหวัณหลุดจากแม่ทัพบกเกิดขึ้นมาก่อนที่ผินจำเป็นต้องเกษียณออกไป โดยไม่อาจต่ออายุได้อีก ความขัดแย้งระหว่างกองกำลังทหารบกและตำรวจ เข้ามาแทนที่ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างทหารบกและทหารเรือ

แม้แต่ยึดอำนาจได้ที่ดูเหมือนเด็ดขาดของสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ เขาจำเป็นต้อง”เลี้ยง”ลูกน้องที่คุมกำลังไว้ด้วยวิธีต่างๆ เช่นตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ อธิบดีตำรวจ หรือตำแหน่งการเมืองเช่นสมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือค.ร.ม. ลือกันว่าเซนเชคเปล่าให้ก็มี ยิ่งตกมาถึงยุคถนอม กิตติขจร การจ่ายแจกก็ยิ่งจำเป็น ว่ากันว่าถนอมเป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้ประภาสยอมสละตำแหน่งผบ.ทบ.เสีย เพื่อให้กฤษณ์ สีห์วราได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเสียที เพราะอันตรายเต็มทน

แม้แต่การลุกฮือขึ้นล้มอำนาจของถนอม-ประภาสใน ๑๔ ตุลา บัดนี้ก็รู้กันแล้วว่า มีทหารบางหน่วยเข้ามาแทรกในสภาวะตึงเครียด เพื่อทำให้วิกฤตยิ่งวิกฤตหนักขึ้นไปอีก ยังไม่รวมถึงหน่วยทหารส่วนใหญ่เลือกจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งปราบของฝ่ายถนอม-ประภาส

การรัฐประหาร ๒๕๑๙ ทำให้ไม่มีรัฐบาลใดสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ครบวาระอีกเลย จนเมื่อเปรม ติณสูลานนท์ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ

พฤษภาเลือด ๒๕๓๕ ต้องใช้กำลังทหารหัวเมืองในการปราบปรามอย่างทารุณโหดร้าย ทำไมไม่เคลื่อนหน่วยทหารในและใกล้กรุงเทพฯ ก่อน?

จริงอยู่จะเปรียบกองทัพไทยกับพม่าไม่ได้ เพราะอย่างน้อยทหารทุกหน่วยได้รับงบประมาณโดยตรงจากส่วนกลาง ในขณะที่ทหารพม่าต้องหาแม้แต่อาหารเอง อันทำให้หน่วยทหารค่อนข้างเป็นอิสระในตัวเองมากกว่าไทย แม้กระนั้น สัญญาณแห่งความแตกร้าวภายในกองทัพก็ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ เมื่อกองทัพไทยเข้ามาแทรกแซงการเมือง

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า กองทัพของระบอบเผด็จการทุกแห่งต้องแตกแยกภายในเสมอไป เผด็จการหลายแห่งในโลกเป็นระบอบที่เกิดจากกลุ่มการเมืองภายนอกกองทัพ เข้ามายึดกุมอำนาจรัฐไปได้ จึงทำให้มีอำนาจในการควบคุมกองทัพไปด้วย พรรคนาซีมีกองกำลังต่างหากของตนเองที่เรียกว่าหน่วยเอสเอส ในขณะที่กองทัพเยอรมันเป็นอีกสถาบันหนึ่งต่างหากและสืบเนื่องบุคลากรและวัฒนธรรมมาจากกองทัพปรัสเซีย-ราชอาณาจักรเยอรมัน (และค่อนข้างเหยียดนายสิบฮิตเลอร์ด้วย)

ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงกองทัพของรัฐคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือเวียดนาม กองทัพเป็นเครื่องมือของพรรค ไม่ใช่องค์กรอิสระที่อาจแทรกแซงการเมืองได้เอง

และด้วยเหตุดังนั้น เครื่องมือของเผด็จการเหล่านี้จึงไม่จำเป็นต้องมีลักษณะแตกร้าวภายใน เหมือนเผด็จการทหาร ซึ่งตัวกองทัพเป็นผู้ยึดอำนาจรัฐไปเสียเองโดยตรง

กองทัพเผด็จการนั้น โดยตัวของมันเองก็เป็นเหตุบั่นรอนกำลังของตัวเองแล้ว ยิ่งหากต้องเผชิญวิกฤต ไม่ว่าจากภัยธรรมชาติ, ภัยการเมืองหรือเศรษฐกิจภายใน-ภายนอก ก็ยากจะรักษาอำนาจไว้ได้ ไม่จำเป็นว่ากองทัพต้องแตกแยกขนาดจับอาวุธขึ้นมาสู้กันเอง แต่ความไม่สามารถวางใจแก่กำลังของตนได้จริง ไม่ว่าจะเป็นกำลังของลูกน้องเก่า หรือลูกน้องใหม่ ทำให้ไม่สามารถใช้กำลังเท่าที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ มิ.ย. ๒๔๗๕ ตามรายงานของนายอองรี รูซ์ ทูตทหารฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ เล่าว่า พระยา-ศราภัยพิพัฒน์ ซึ่งเป็นทหารราชองครักษ์ระดับผู้บังคับการแผนก บอกแก่เขาว่า หน่วยทหารของเขามีอาวุธยุทธภัณฑ์พร้อม และตัวเขาก็พร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “แต่เขาไม่รู้จะคาดหวังกับใครได้” เนื่องจากไม่อาจไว้ใจเหล่าทหารในหน่วยได้เลย

ในยามวิกฤตนายทหารระดับบัญชาการยังไม่รู้ว่าใครเป็น(ของ)ใคร ในหมู่ทหารของตนเอง

ชะตากรรมของกองทัพเผด็จการที่ไหนๆ ในยามที่ต้องเผชิญวิกฤตก็คือ ขยับขับเคลื่อนไม่ออก เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใครนี่แหละครับ

แต่อย่าเพิ่งดีใจ ยิ่งไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ก็ยิ่งต้องใช้มาตรการเหี้ยมโหด และเด็ดขาดก่อนที่ความแตกร้าวในกองทัพจะเผยตัวออกมาอย่างเปิดเผย เผด็จการทหารจึงมีแนวโน้มที่จะเหี้ยมและละเมิดสิทธิในร่างกายของประชาชนเหมือนกันทุกแห่งในโลก เพราะต่างก็สำนึกในความอ่อนแอของตนอย่างดี