จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : เปรียบเปรย / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

เปรียบเปรย

 

คนไทยชอบเปรียบเปรย เวลาพูดถึงอะไรอย่างหนึ่งก็มักหาอะไรอีกอย่างมาเปรียบเทียบ

สุนทรภู่เป็นนายของภาษา ถ้อยคำและสำนวนเปรียบเทียบที่ใช้ล้วนเหมาะกับเนื้อหา ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” พระอภัยมณีเตือนนางสุวรรณมาลีให้ระวังความใกล้ชิดระหว่างหัสไชยกับพระธิดาทั้งสองจะเกินขอบเขตความเหมาะสม

 

“อันน้ำตาลหวานวางไว้ข้างมด                มดจะอดได้หรือน้องจงตรองดู

แต่เท้ามีสี่เท้ายังก้าวพลาด                       จะเสียชาติเสียยศได้อดสู

คำโบราณท่านว่าไว้เป็นครู                       เจ้าจงอยู่สอนสั่งระวังระไว”

 

สุนทรภู่นำสำนวน ‘น้ำตาลใกล้มด’ มาเปรียบเทียบเพื่อสื่อความหมายว่า หญิงชายใกล้ชิดกัน ยากห้ามใจมิให้รักกัน น้ำตาลอยู่ใกล้มด มดย่อมตอมน้ำตาลฉันใด หญิงอยู่ใกล้ชาย ชายย่อมอดใจไม่ไหวที่จะเกี่ยวข้องหรือมีสัมพันธ์ลึกซึ้งฉันนั้น

มดคือ หัสไชย น้ำตาลคือ สร้อยสุวรรณและจันทร์สุดานั่นเอง

 

น่าสังเกตว่าสุนทรภู่เปรียบเพศสัมพันธ์กับ ‘ผลไม้’ ไว้เป็นระยะๆ

ตอนที่พระอภัยมณีถูกเสน่ห์ของนางละเวงวัณฬาก็พยายามเกลี้ยกล่อมสุดสาครลูกชายให้เลิกล้มความคิดที่จะ “ลารักษาพรต เป็นดาบสอยู่ริมหิมพานต์” โดยชวนให้ลูกอยู่กรุงลังกาหากำไรชีวิต

 

“ขืนจะใคร่ไปบวชชวดมีลูก                     นุ่งหนังผูกคากรองทั้งต้องอด

อยู่ถิ่นฐานบ้านเมืองมีเครื่องยศ                ลองชิมรสลูกฝรั่งมั่งเป็นไร

อร่อยจริงยิ่งกว่ากินลูกลิ้นจี่                    จะหานางอย่างนี้หาที่ไหน

เขมรลาวชาวลครทั้งมอญไทย                  พ่อก็ได้ลองแล้วนะแก้วตา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

พระอภัยมณีลิ้มรสสาวฝรั่งเมืองลังกา คือ นางละเวงวัณฬามาแล้ว ติดอกติดใจกว่า ‘ลูกลิ้นจี่’ หรือสาวจีนเสียอีก จึงพยายามโน้มน้าวลูกชายให้ ‘ลองชิมรสลูกฝรั่ง’ หรือสาวฝรั่งพวกพ้องนางละเวง พ่อชี้ชวนลูกให้เปลี่ยนใจใช้ชีวิต ‘ทางโลก’ ดีกว่า ‘ทางธรรม’ เป็นไหนๆ

สินสมุทรลูกชายคนโตของพระอภัยมณีเมื่อถูกทำเสน่ห์ก็เดินตามรอยพ่อด้วยการสานสัมพันธ์แนบแน่นกับนางยุพาผกา ลูกเลี้ยงของนางละเวง เรื่องนี้ทำให้ชีวิตคู่ของสินสมุทรมีปัญหาตามมา เมื่อเข้าพิธีอภิเษกกับนางอรุณรัศมีแล้ว นางไม่ยอมเข้าหอ สินสมุทรถึงกับจนปัญญา จะแตะเนื้อต้องตัว เจ้าสาวก็ไม่ร่วมมือ ซ้ำยังตอบโต้ไม่ลดละ จงใจว่ากระทบไปถึงสาวอีกคนของสินสมุทร

 

“อย่าเลียมล่อคลอเคลียใช่เมียรอง ฉันเป็นน้องไม่ใช่อย่างนางยุพา”

 

สินสมุทรไม่ยอมแพ้ แก้ตัวทันควันว่านางอรุณรัศมีเท่านั้นคือ ‘ตัวจริง’

 

“สินสมุทรพูดคล่องว่าน้องแก้ว                      พี่ทิ้งแล้วลูกฝรั่งชังน้ำหน้า

จะเชยชมสมสองกับน้องยา                         อย่าขืนว่ารักฝรั่งเหมือนอย่างนี้

จะใคร่ให้ประจักษ์ว่ารักสุด                          ตรงพระนุชคู่เสน่ห์มเหสี”

 

ยืนยันว่า ‘ลูกฝรั่ง’ หรือนางยุพาผกานั้น สินสมุทรตัดสัมพันธ์เรียบร้อยแล้ว

 

สินสมุทรและสุดสาครต่างถูกเสน่ห์สาวฝรั่งกันทั่วถึง นางเสาวคนธ์คู่หมายของสุดสาคร ลีลาคารมไม่เบา ทั้งยังมีพี่เลี้ยงเป็นผู้ช่วยชั้นดี ดังจะเห็นได้จากนางเสาวคนธ์แสร้งพูดกับสี่พี่เลี้ยง ตั้งใจให้กระทบสัมพันธ์ล้ำลึกระหว่างสุดสาครกับนางสุลาลีวันโดยใช้ ‘ผลฝรั่ง’ หรือ ‘ลูกฝรั่ง’ เป็นตัวช่วย

 

“ทำห้ามสี่กัลยาอย่าว่าขาน

ช่วยกันหาฝรั่งมาตั้งพาน                            ติดบนท่านผู้รับสั่งจึงบังควร”

 

สุดสาครรู้ทันรีบแก้ตัวฉับพลัน

 

“พระชื่นชอบตอบว่าลูกฝรั่ง                       พี่นี้ชังกลิ่นฉุนให้หุนหวน

ถ้าแม้บนผลมะปรางสำอางนวล                  จะสงวนเชยชื่นทุกคืนวัน”

 

‘ฝรั่ง’ หรือ ‘ลูกฝรั่ง’ คือ นางสุลาลีวัน ‘ผลมะปราง’ คือ นางเสาวคนธ์ ลูกฝรั่งที่เคย ‘ชอบ’ กลายเป็น ‘ชัง’ ด้วยเหตุผลว่า ‘กลิ่นฉุน’ จนเวียนหัว สู้ ‘ผลมะปราง’ ผิวนวลงาม หรือนางเสาวคนธ์ก็ไม่ได้ จะถนอมไว้เชยชมตลอดเวลามิรู้เบื่อ

 

นอกจากใช้ ‘ผลไม้’ สื่อความหมายถึงหญิงที่มีสัมพันธ์ด้วย สุนทรภู่ยังนิยมใช้ ‘ข้าว’ สารพัดแบบ

ดังตอนที่ศรีสุวรรณ (น้องชายพระอภัยมณี) มุ่งหวังในตัว ‘นาย’ แต่กลับได้ ‘บ่าว’ ก่อนนาย แม้ศรีสุวรรณใช้อุบายเข้าหานางเกษรา (ธิดาเจ้าเมืองรมจักร) ที่ใจตรงกัน สัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นแค่กอดจูบลูบไล้ด้วยความรัก

แต่ที่คืบหน้าไปไกลโดยมิได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น คือ นางศรีสุดา (พี่เลี้ยงของนางเกษรา) เพราะนางแสดงออกชัดเจนว่ามีใจให้ สุนทรภู่เปรียบสัมพันธ์ครั้งนี้ของศรีสุวรรณกับ ‘การกินข้าวตัง’ ที่จำใจกินเพื่อให้คลายหิว

 

“ลงจากอาสน์นาฏออกนอกมู่ลี่                          พอพบศรีสุดาสมอารมณ์หวัง

เหมือนแสบท้องต้องฝืนกลืนข้าวตัง                   พอประทังประทับลมตรมอุรา”

 

ใน “นิราศพระประธม” มีความเปรียบเกี่ยวกับ ‘ข้าว’ เช่นกัน สุนทรภู่เปรียบการเล่นเพื่อน (สัมพันธ์สวาทระหว่างสตรีด้วยกัน) กับ ‘ข้าวเหนียวลาว’ ซึ่งรสชาติไม่คุ้นลิ้นเท่า ‘ข้าวเจ้า’ หรือเพศสัมพันธ์ระหว่างชายจริงหญิงแท้

 

“สงสารแต่แม่หม้ายสายสวาท                            นอนอนาถหนาวน่าน้ำตาไหล

อ่านหนังสือหรือว่าน้องจะลองใน                        เสียดายใจจางจืดไม่ยืดยาว

แม้นยอมใจให้สัตย์จะนัดน้อง                            มาร่วมห้องหายหม้ายทั้งหายหนาว

นี่หลงเพื่อนเหมือนเคี้ยวข้าวเหนียวลาว               ลืมข้าวเจ้าเจ้าประคุณที่คุ้นเคย”

 

เปรียบเรื่องรักๆ ใคร่ๆ สุนทรภู่ถนัดนัก