2503 สงครามลับ สงครามลาว (59)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (59)

 

อาสาสมัครเขมรเสรี

วันที่ 18 มีนาคม 2513 นายพลลอนนอลผู้ฝักใฝ่สหรัฐอเมริกาได้ทำการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลของเจ้านโรดมสีหนุสำเร็จ ประธานาธิบดีนิกสันได้รีบรับรองรัฐบาลใหม่นี้ทันที พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมหาศาลเพื่อให้นายพลลอนนอลจัดตั้งกองทัพอันมีกำลังพล 220,000 คนไว้สู้รบกับพวกเขมรแดงและกองทัพเวียดนามเหนือ

ฝ่ายกองทัพอากาศอเมริกันก็ช่วยระดมทิ้งระเบิดตามแนวชายแดนกัมพูชาเพื่อกวาดล้างทำลายกองทัพคอมมิวนิสต์อย่างหนักขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกันทั้งสหรัฐและนายพลลอนนอลก็ร้องขอให้ไทยจัดส่งกำลังอาสาสมัครในลักษณะเดียวกันกับ “ทหารเสือพราน” ที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งและเตรียมส่งเข้าไปปฏิบัติการในลาวเข้าปฏิบัติการในกัมพูชาด้วย

รัฐบาลไทยโดยการสนับสนุนจากสหรัฐในลักษณะเดียวกับโครงการทหารเสือพรานในลาวจึงดำเนินการตามคำขอ โดยใช้ชื่อโครงการ “อาสาสมัครเขมรเสรี-ขสส.” ซึ่งใช้พื้นที่ฝึกค่ายเขาไม้ปล้อง จังหวัดจันทบุรี

แต่ต่อมานายพลลอนนอลได้ยกเลิกคำขอนี้ โครงการ “อาสาสมัครเขมรเสรี” จึงล้มเลิกไป แต่เปลี่ยนเป้าหมายเป็นส่งกองกำลังที่ฝึกเสร็จแล้วนี้จำนวน 2 กองพัน เข้าไปปฏิบัติภารกิจในลาวแทนในนามของทหารเสือพรานตามโครงการเอกภาพ เมื่อปลายปี พ.ศ.2513

 

“คุณลักษณะ” ของทหารเสือพราน

เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มายังได้กล่าวถึง “คุณลักษณะ” ของ “ทหารเสือพราน” ไว้ดังนี้

กองพันทหารเสือพรานเป็นหน่วยกองโจร ที่มีการจัดให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบาก เป็นหน่วยเคลื่อนที่ด้วยเท้าและทางอากาศ สามารถปฏิบัติการเป็นอิสระ แยกปฏิบัติการเป็นกองร้อยและหมวดได้ ทำการรบนอกแบบและในแบบได้อย่างจำกัด ลักษณะการประกอบกำลังจัดในรูปกรมทหารราบเบา มีอำนาจการยิงได้สัดส่วน

‘หมวด’ เป็นหน่วยเล็กที่สุดที่ใช้ในภารกิจลาดตระเวนรบ ประกอบด้วยชุดทีมต่างๆ เช่น ส่วนโจมตี ส่วนระวังป้องกัน และส่วนสนับสนุน

‘กำลังพลประจำการ’ เป็นกำลังหลัก มีจำนวนเท่าที่จำเป็น ในหน่วยดำเนินกลยุทธ์หลักระดับกองพันทหารราบ มีกำลังประจำการเพียง 53 นาย (นายทหาร 9, นายสิบ 44, กำลังพลอาสาสมัคร 497 รวม 550 นาย)

การที่กำลังพลประจำการมีน้อย (เนื่องจากอัตราการจัดและงบประมาณ) นับเป็นสิ่งล่อแหลมประการหนึ่งในการปฏิบัติการรบติดพันและมีการสูญเสียกำลังพลประจำการ เมื่อใช้กำลังพลอาสาสมัครปฏิบัติหน้าที่แทนจะทำให้หน่วยมีประสิทธิภาพลดลงมาก

 

อาสาสมัคร

เอกสารฉบับเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงที่มาของกำลังพลและแนวความคิดในการใช้กำลังทหารเสือพรานไว้ดังนี้

“การจัดตั้งกองพันทหารเสือพรานตามนโยบายจัดหากำลังพลอาสาสมัครเป็นโครงการลับ โดยรับจากพลทหารปีที่สองซึ่งจะปลดประจำการใน 1 พฤศจิกายน 2513 และจากแหล่งอื่นๆ เป็นผู้ที่ผ่านการรบมาจากเกาหลีใต้หรือเวียดนามใต้มาแล้ว ซึ่งการจัดกำลังพลอาสาสมัครในขั้นแรกนั้นควรจัดไว้เพียง 6 กองพันก่อน โดยมีแนวความคิดในการใช้ 1 กองพันที่ไชยบุรี 3 กองพันที่จำปาศักดิ์-สีทันดอน และ 2 กองพันที่ทุ่งหิน ตามแผนของ ‘สกาย’ (ซีไอเอ) โดยมีแผนไว้ว่าหากได้รับการตกลง ให้นำ ขสส. (กองกำลัง ‘เขมรเสรี’ ซึ่งเตรียมไว้ปฏิบัติการในเขมร) เข้าปฏิบัติการในแขวงจำปาศักดิ์-สีทันดอน แล้ว จะสามารถนำกำลัง 3 กองพันทหารเสือพรานดังกล่าวไปผลัดเปลี่ยนไอวีพี (กำลังประจำการซึ่งจัดจากกรมผสมที่ 13 เข้าปฏิบัติการในทุ่งไหหินขณะนั้น) ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยกองพันทหารเสือพราน ทางฝ่ายเราก็มีการดำเนินการทางด้านการเมืองไปด้วยเสมอเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ”

จากเอกสารที่ไม่เปิดเผยทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การดำเนินการของไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติการในลาวนั้น มิได้เป็นเพียงการปฏิบัติตามความประสงค์ของซีไอเอไปเสียทุกเรื่องเท่านั้น แต่มีความคิดของตัวเองเป็นอิสระโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

เอกสารฉบับเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงที่มาของกำลังพลและแนวความคิดในการใช้กำลังทหารเสือพรานตามแนวความคิดทางยุทธการขณะนั้นไว้ดังนี้

“การดำเนินงานโครงการกองพันทหารเสือพราน ได้กระทำตามข้อพิจารณาการจัดตั้งกรมทหารเสือพราน ซึ่งนโยบายและแนวความคิดของผู้บังคับบัญชากำหนดไว้กว้างๆ 3 ประการ คือ สนับสนุนนโยบายป้องกันร่วมกันเพื่อผลทางการเมืองระหว่างประเทศ เสริมสร้างอิทธิพลและสร้างพื้นที่ส่วนระวังป้องกันออกไปนอกแนวชายแดนไทยหรือรบนอกประเทศ เป็นการใช้กำลังในลักษณะออมกำลัง มีภารกิจและงานของหน่วย 3 ประการ คือ

1) สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหาร ดำรงความมั่นคงของรัฐบาลประเทศที่สาม

2) สถาปนาความมั่นคงปลอดภัยและสร้างอิทธิพลในพื้นที่ส่วนระวังป้องกันทางยุทธศาสตร์นอกเขตแดนไทยซึ่งกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงในประเทศ

และ 3) เตรียมเป็นกองหนุนสำรองทั่วไปในความควบคุมของ ทบ.เมื่อสั่ง

มีขอบเขตและลักษณะของการปฏิบัติการ 3 ประการ คือ

1) จัดในรูปอาสาสมัครที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารของประเทศที่สาม กองทัพบกเป็นผู้ควบคุม

2) เป็นกำลังโจมตีเคลื่อนที่เร็วของกองทัพบกและหน่วยอาสาสมัครไทยสกัดกั้นการแทรกซึมของข้าศึกเข้าสู่ประเทศไทย

3) เป็นกำลังที่ใช้เสริมสร้างอิทธิพลในพื้นที่ไชยบุรี จำปาศักดิ์ สีทันดอน ตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาชั้นสูง

การจัดกำลัง การประกอบกำลัง และขั้นตอนการสร้างกำลัง คือ กำลังพลของกองพันทหารเสือพรานมีทั้งสิ้น 550 นาย แบ่งเป็นกำลังพลประจำการจากกองทัพบก นายทหาร 9 นาย นายทหารประทวน 44 นาย เมื่อเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ของหน่วยผสม 333 จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยผสม 333 ทุกประการ

ส่วนกำลังพลอาสาสมัครซึ่งรับจากทหารกองหนุนเป็นหลัก มีจำนวน 497 นาย กำลังพลที่จัดจากทหารกองหนุนนี้ทำสัญญาครั้งละ 1 ปี การทดแทนกำลังพลใช้วิธีสมัครใหม่ ผู้ประสงค์อยู่ต่อให้ทำสัญญาต่อครั้งละ 1 ปี”

อนึ่ง ควรรับทราบอย่างชัดเจนด้วยว่า การบังคับบัญชาและการสั่งการทั้งสิ้น กองกำลังทหารเสือพรานขึ้นตรงกับกองทัพบกโดยตรง มิได้ขึ้นกับซีไอเอหรือรัฐบาลลาวแต่อย่างใด

 

การรบที่บ้านห้วยทราย : บทพิสูจน์แรก

ทหารเสือพราน 2 หน่วยแรกที่เข้าสู่สมรภูมิลาวมาจาก “อาสาสมัครเขมรเสรี” เดิม คือกองพันทหารเสือพรานที่ 41 และกองพันทหารเสือพรานที่ 42 “บีซี 601” และ “บีซี 602” จากค่ายฝึกเขาหญ้าปล้อง ปราจีนบุรี เมื่อเสร็จสิ้นการฝึก ทหารเสือพรานทั้งสองกองพันนี้ก็เคลื่อนย้ายโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 จากสนามบินในค่ายจักรพงษ์ ปราจีนบุรี ไปยังสนามบินปากเซ แล้วเคลื่อนย้ายต่อโดยเฮลิคอปเตอร์เข้าพื้นที่ปฏิบัติการที่บ้านห้วยทรายบนที่ราบสูงโบโลเวน ห่างจากเมืองปากเซไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 20 ก.ม.

กองพันทหารเสือพรานทั้งสองเข้าที่ตั้งเรียบร้อยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2513 และเริ่มอพยพราษฎรประมาณ 40 ครัวเรือนออกจากพื้นที่ สร้างเครื่องกีดขวางโดยมีลำห้วย (ห้วยทราย) เป็นเครื่องกีดขวางธรรมชาติ และต่อมาได้ปรับปรุงพื้นที่กลางหมู่บ้านเป็นสนามบินขนาดเล็กเพื่อรองรับ ฮ.และเครื่องปอร์ตเตอร์ของแอร์อเมริกาด้วย

การเข้าสู่พื้นที่ของทหารเสือพรานจากไทยนี้คุกคามโดยตรงต่อกำลังทหารเวียดนามเหนือในพื้นที่ภาคใต้ของลาว เนื่องจากอยู่ไม่ห่างจากเส้นทางโฮจิมินห์ อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

เวียดนามเหนือจึงส่งกำลังขนาดใหญ่เพื่อทำลายล้างกองกำลังจากไทยหน่วยแรกนี้ทันที