ปริศนาโบราณคดี : พระอุปคุต VS พระบัวเข็ม ตกลงองค์เดียวกัน หรือคนละองค์? (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

คัมภีร์ที่กล่าวถึงพระอุปคุตฝ่ายบาลี

เรื่องราวของพระอุปคุต ไม่ได้ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด

โดยเฉพาะเมื่อตรวจสอบกับพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ 26 ว่าด้วย “เถรคาถา” ซึ่งมีรายชื่อพระเถระยุคพุทธกาลจำนวน 264 องค์ กับเล่มที่ 32-33 ว่าด้วย “อปทาน” มีรายชื่อพระเถระ 540 องค์ รวม 804 องค์ ปรากฏว่าไม่มีชื่อของพระอุปคุตเถระปรากฏอยู่เลย

จึงเป็นที่แน่ชัดว่าพระอุปคุตไม่ใช่หนึ่งในพระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังเช่น พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ฯลฯ เหตุเพราะพระอุปคุตเกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วกว่า 200 ปี

เอกสารทั่วไปมักระบุถึงหนังสือเล่มสำคัญ ที่มีอายุเก่าสุด ว่ามีกล่าวถึงเรื่องราวของพระอุปคุตอย่างชัดเจน นั่นคือ “อโศกาวทาน” คัมภีร์ภาษาสันสกฤต

ทำให้นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าผู้มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งคือ หม่องทินอ่อง (Muang Htin Aung) เชื่อว่า พระอรหันต์อุปคุต (Shin Upagote – Shin คือ ชินะ-ผู้ชนะ หมายถึงอรหันต์) เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างแท้จริง

 

01ปลีกวิเวกสู่บาดาล ถูกอาราธนาขึ้นมารับ “ทัณฑกรรม” ปราบมาร

ต่อมายังได้พบคัมภีร์ฝ่ายภาษาบาลีเล่มอื่นๆ ที่มีเรื่องราวพระอุปคุตด้วยเช่นกัน ประกอบด้วยเอกสาร 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก มีการกล่าวถึงพระอุปคุตโดยตรง มี 3 เล่ม (เป็นอย่างน้อย) คือ “โลกบัญญัติ” “ปฐมสมโพธิกถา” และอีกเล่มคือ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา”

กลุ่มที่สอง ไม่ได้กล่าวถึงพระอุปคุตโดยตรง แต่มีเรื่องราวของพระเถระในชื่ออื่นที่มีบทบาทคล้ายกับพระอุปคุตอย่างมาก พระเถระรูปนั้นมีชื่อว่า “อินทคุตต” ปรากฏใน ทีปวงส์ มหาวงส์ สมันตปาสาทิกา โลกทีปกสาร ถูปวงส์ และตำนานมูลศาสนา

กลุ่มแรก

โลกบัญญัติ เป็นคัมภีร์ที่รจนาด้วยภาษาบาลีอักษรพม่า แต่สถานที่รจนาไม่ใช่ในกรุงพุกาม แต่เป็นประเทศศรีลังกาในสมัยอนุราธปุระ ประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 พบในหมวดของ “มารวิภาค”

ส่วน ปฐมสมโพธิกถา พบในปริเฉทที่ 28 ว่าด้วย “มารพันธปริวัตต์” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์เป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ.2387 อันเป็นการเรียบเรียงมาจากต้นฉบับภาษาบาลีที่เคยปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

อนึ่ง ได้มีการพบปฐมสมโพธิฉบับอักษรธัมม์ล้านนาที่วัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อีกด้วย เรียกว่า “บาลีปถมสมโพธิ” ไม่ระบุผู้แต่ง แต่ระบุศักราชว่าจารใน จ.ศ.954 ตรงกับ พ.ศ.2135

ส่วนไตรภูมิโลกวินิจฉยกถานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นเมื่อ จ.ศ.1164 หรือ พ.ศ.2345

เนื้อหาที่กล่าวถึงพระอุปคุตในคัมภีร์ภาษาบาลีทั้ง 3 ฉบับนี้กล่าวตรงกันว่า พระอุปคุตคือผู้ที่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าจะเป็นผู้ทรมานพญามาร ให้ละพยศทิฏฐิ จนถึงกับพญามารได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นอนาคตพุทธเจ้าด้วยองค์หนึ่ง

โลกบัญญัติ และปฐมสมโพธิกถา กล่าวถึงประวัติของอุปคุตว่า อาศัยอยู่ในปราสาทแก้ว 7 ประการ ใต้น้ำมหาสมุทร ไม่ฉันอาหาร อยู่ได้ด้วยฌานสมาบัติ และผลสมาบัติ ทั้งชอบอยู่ลำพังองค์เดียว ไม่ชอบสมาคมกับพระภิกษุสงฆ์รูปอื่น จึงตัดสินใจบำเพ็ญสมณธรรมเสวยความสงบสุขกลางมหาสมุทรในปราสาท

ในบาลีปถมสมโพธิฉบับล้านนา กล่าวว่ามีพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ในมหาสมุทรจำนวน 4 องค์ ประกอบด้วยพระอุปคุตอยู่ในโลหะปราสาทสมุทรทิศใต้ 1, พระสารมัตตะอยู่ในปราสาทสมุทรทิศเหนือ 1, พระสกโสสาระอยู่ในปราสาทสมุทรทิศตะวันออก 1 และพระเมธาระอยู่ในโลหะปราสาทสมุทรทิศตะวันตก 1

ต่อมาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้มีการเฉลิมฉลองพระสถูป 84,000 องค์ แห่งชมพูทวีปอย่างยิ่งใหญ่ เป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ดังรายละเอียดที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงในตอนท้ายของบทความฉบับที่แล้ว

ด้วยความเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีกรรม จำเป็นต้องหาพระภิกษุผู้มีฤทธิ์มาคุ้มครองงานให้เป็นไปโดยสวัสดี แต่ไม่มีพระภิกษุรูปใดอาสามาทำหน้าที่ดังกล่าวนี้เลย กระทั่งสามเณรน้อยรูปหนึ่งวัย 7 ขวบได้ปรากฏตัวขึ้น

สามเณรน้อยนี้ทำหน้าที่คอยไล่กาไม่ให้บินป้วนเปี้ยนอยู่เหนืออาสนสงฆ์ของพระเถระ ได้เป็นผู้แนะนำว่าควรไปอาราธนา “พระกีสนาคอุปคุตเถระ” (พระอุปคุต) ผู้อยู่ใต้ท้องมหาสมุทร กำลังบำเพ็ญฌานสมาบัติอย่างเคร่งครัด

สามเณรน้อยวัย 7 ขวบผู้นี้ จะเป็นรูปเดียวกันกับตอนที่พระอุปคุตแปลงกายมาเป็นสามเณร 7 ขวบเดินบิณฑบาตในคืนเป็งปุ๊ด (เพ็ญพุธ) หรือไม่?

ที่ประชุมสงฆ์มีมติมอบให้พระภิกษุผู้ทรงอภิญญา 2 รูปไปอาราธนาพระอุปคุตขึ้นมาจากมหาสมุทร เมื่อพระอุปคุตขึ้นมาแล้ว คณะสงฆ์มีมติจะมอบ “ทัณฑกรรม” หรือบทลงโทษให้แก่พระอุปคุต โทษฐานที่ไม่ยอมอยู่ในสามัคคีอุโบสถกับคณะสงฆ์ แต่ไปอยู่หาความสบายเพียงผู้เดียว

ทัณฑกรรมที่ว่านี้ คือให้ทำหน้าที่ป้องกันภัยจากพญามารที่อาจมารังควานงานสมโภชพระมหาสถูป พระอุปคุตยินดีรับโทษทัณฑ์นั้น เพียงแต่ขอให้ได้ออกบิณฑบาตเพื่อฉันภัตตาหารก่อน จะได้มีพละกำลังในการต่อสู้กับมาร กระทั่งพระอุปคุตทำการปราบพญามารผู้ที่เคยรบกวนพระพุทธเจ้าตั้งแต่เมื่อครั้งพุทธกาลได้สำเร็จ

ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ไม่ได้กล่าวถึงพระอุปคุตอย่างละเอียดเหมือนปฐมสมโพธิกถา และโลกบัญญัติ แต่ปรากฏเรื่องราวของพระอุปคุตในตอนสุดท้ายของเรื่องที่ว่าด้วยพญามาร ว่าเหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงสั่งสอนพญามาร เพราะพญามารไม่ใช่พุทธเวไนย (บุคคลที่พระพุทธเจ้าสามารถโปรดได้)

แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า ภายหลังจากที่ปรินิพพานไปแล้ว จะมีพระสาวกรูปหนึ่งชื่อ กีสนาคอุปคุต จะเป็นผู้สามารถทรมานพญามาร จนพญามารมุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต

สรุป คัมภีร์บาลีทั้ง 3 เล่มนี้ เน้นบทบาทของพระอุปคุตว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายธรรมะ ที่เข้าปกป้อง

พระพุทธศาสนาจากฝ่ายอธรรมคือพญามาร

 

คัมภีร์บาลีกลุ่มที่สอง
ปรากฏนาม “อินทคุตต”

กลุ่มนี้ไม่ได้กล่าวถึงพระอุปคุตโดยตรง แต่กลับมีพระเถระนาม “อินทคุตต” ผู้มีเรื่องราวคล้ายคลึงกับพระอุปคุต เอกสารคัมภีร์กลุ่มนี้ได้แก่

ทีปวงส์ เป็นวังสะ หรือพงศาวดาร ที่เก่าแก่ที่สุดของลังกา ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้แต่ง

มหาวงส์ เป็นคัมภีร์ทีปวงส์ฉบับปรับปรุงใหม่ ผู้แต่งคือ พระมหานาม

สมันตปาสาทิกา เป็นอรรถกถาพระวินัยปิฎก รจนาหลังพระพุทธศาสนาล่วงไปได้พันปี โดย พระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชาวชมพูทวีป

โลกทีปกสาร รจนาโดยพระสังฆราชเมธังกร พระภิกษุชาวพม่า ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19

คัมภีร์ถูปวงศ์ รจนาโดยพระวาจิสสรเถระ พระเถระชาวลังกา ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-ต้น 19

ตำนานมูลศาสนา ร่วมรจนาโดยพระพุทธพุกาม กับพระพุทธญาณ แต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 20

คัมภีร์ในกลุ่มนี้ มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับบทบาทของพระอุปคุต แต่มีชื่อว่า “อินทคุตต” เป็นพระภิกษุผู้มีฤทธานุภาพมาก เมื่อสิ้นอาสวะแล้วได้รับมติจากคณะพระมหาเถระในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ให้ทำหน้าที่เป็น “นวกัมมาธิฏฐายี” หมายถึงผู้อำนวยการ หรือผู้ควบคุมการก่อสร้างศาสนสถาน โดยชื่ออาคารสถานที่ ระยะเวลา และบุคคลที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไปบ้างดังนี้

ในมหาวงส์ สมันตปาสาทิกา โลกทีปกสาร และตำนานมูลศาสนา ระบุว่า พระอินทคุตตทำหน้าที่ดูแลการก่อสร้าง อโศการาม หรืออโศกาวิหาร ที่พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น พร้อมวิหาร 84,000 หลัง กระจายทั่วชมพูทวีป 84,000 เมือง

ทีปวงส์ และถูปวงศ์ กล่าวถึงพระอินทคุตตเดินทางจากอินเดียไปร่วมพิธีสร้างพระมหาสถูปของพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัยที่กรุงอนุราชปุระ ลังกา โดยทำหน้าที่ยืนแวดล้อมพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัยร่วมกับพระเถระอีก 10 องค์ ให้พ้นภัยจากพญามารในขณะกำลังก่อสร้างเจดีย์ และขณะที่กำลังบรรจุพระบรมธาตุ พระอินทคุตตได้เนรมิตฉัตรทองแดงกางกั้นอากาศตลอดทั่วจักรวาลเพื่อป้องกันพญามาร

กล่าวโดยสรุป เรื่องราวของพระอินทคุตตเถระ ปรากฏในคัมภีร์บาลี บางฉบับมีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอโศกมหาราช บางฉบับเกี่ยวข้องกับพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัยแห่งลังกา แต่โดยรวมแล้วเน้นบทบาทว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ในการป้องกันมารและมีความสามารถในเชิงนวัตกรรมการก่อสร้างมหาสถูปได้สำเร็จ

ส่วน พระอินทคุตต จะใช่พระอรหันตเถระรูปเดียวกันกับพระอุปคุตหรือไม่นั้น ผู้รู้ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้สูง

ฉบับหน้าจะกล่าวถึงคัมภีร์ฝ่ายสันสกฤต ได้แก่ อโศกาวทาน และอวทาน-ศตก (อ่านอวทาน-สะตะกะ) ซึ่งฝ่ายนี้จะมีการย้อนอดีตชาติของพระอุปคุตไปจนถึงยุคที่เสวยชาติเมื่อครั้งพุทธกาลอีกด้วย