เกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจ ของสังคมการเมืองไทย/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

เกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจ

ของสังคมการเมืองไทย

 

สถาบันสำคัญของรัฐราชการซึ่งเพิ่มขยายบทบาทขึ้นตามลำดับจนมีฐานะหลักในสังคมการเมืองไทยจากการรัฐประหาร 2 ครั้งรอบ 15 ปีที่ผ่านมาย่อมได้แก่กองทัพ

คำถามคือจะอธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของกองทัพไทยด้วยหลักเหตุผลอย่างไรดี?

งานวิชาการระยะหลังที่พยายามเสนอคำตอบน่าสนใจเรื่องนี้ได้แก่งานของ Paul Chambers & Napisa Waitoolkiat, “The resilience of monarchised military in Thailand”, 2016 และงานของ Prajak Kongkirati & Veerayooth Kanchoochat, “The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand”, 2018 (https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/00472336.2016.1161060 & https://www.cambridge.org/core/journals/trans-trans-regional-and-national-studies-of-southeast-asia/article/prayuth-regime-embedded-military-and-hierarchical-capitalism-in-thailand/E94563EBE18DD73C5ED62F0FE5F9035E)

กล่าวโดยสรุป ขณะที่ประจักษ์กับวีระยุทธอธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของกองทัพใต้การนำของ คสช. ด้านหลักแล้วจากผลประโยชน์เชิงกลุ่มก้อนหมู่คณะของกองทัพ (corporate interests) ประกอบกับผลประโยชน์ส่วนบุคคล ครอบครัวและพวกพ้องของผู้นำทางทหารในอันดับรองลงไปนั้น

แชมเบอส์กับนภิสากลับเน้นหนักไปที่ฐานะบทบาทเฉพาะพิเศษของกองทัพไทยโดยเฉพาะตั้งแต่ยุคปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2500 เป็นต้นมาในฐานะ “ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (monarchised military, คำแปลข้างต้นได้แรงดลใจจากคำบรรยายพิเศษของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี อดีต รมว.ยุติธรรมและสมาชิก คสช. เมื่อครั้งครองยศพันเอกในตำแหน่งรอง ผบ.พล.1 รอ. แก่ ผบ.หน่วยระดับกองพันขึ้นไป ณ หอประชุมกิตติขจร เมื่อ 21 กันยายน 2550)

พอล แชมเบอส์ & นภิสา ไวฑูรเกียรติ, ประจักษ์ ก้องกีรติ & วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

หากมองจากมุมหลังประกอบกับการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ต่อจากนั้นแล้ว โอกาสที่ทหารไทยจะรวบอำนาจผูกขาดเชิงเดี่ยวได้เต็มรูปยาวนานและปราบปรามการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างโหดเหี้ยมไม่ยั้งมือดังที่เคยเกิดในอินโดนีเซียสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต (ค.ศ.1967-1998) ซูดานสมัยประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ (ค.ศ.1993-2019) หรือเมียนมาภายใต้ประธานสภาบริหารแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรีพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ในปัจจุบัน คงเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก ไม่ว่าจะประเมินค่าเช่นใดก็ตาม

(ข้อคิดเห็นดังกล่าวผมได้รับฟังจากครูเบ็น แอนเดอร์สัน ผู้ล่วงลับ ซึ่งสอดรับกับมุมมองของอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เคยเป็น ส.ส.สังกัดพรรคฝ่ายค้าน ดูนานาทรรศนะแตกต่างกันเรื่องนี้ได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_487460 & https://pacificaffairs.ubc.ca/perspectives/network-monarchy-as-euphoric-couplet/)

รัฐบาลของนายกฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีฐานะบทบาทสำคัญเป็นกุญแจปมเงื่อนในการรักษาระเบียบอำนาจปัจจุบันไว้ ตรงที่ถวายความจงรักภักดีและตอบสนองจุดประสงค์เพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างถึงที่สุด และสามารถประนีประนอมผลประโยชน์เชิงหมู่คณะของกองทัพเข้า กับฐานะบทบาทที่เป็น “ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ให้ควบคู่อยู่ด้วยกันได้ลงตัว ทั้งในแง่ทรัพยากรงบประมาณและการบริหารงานบุคคล

นอกจากนี้ เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์ยังคุมม็อบคณะราษฎรเยาวรุ่นและอื่นๆ อยู่ด้วยมาตรการนิติสงครามกับการปราบอย่างเฉียบแหลม (lawfare & smart repression) ต่างๆ อีกทั้งคุม/ขจัดปัดเป่าพรรคที่ขัดขวางอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำอย่างถึงรากถึงโคนในสภาได้

 

สรุปก็คือที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์รักษาระบอบประชาธิปไตยที่ปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำเอาไว้ได้นั่นเอง

ทว่า จุดอ่อนอยู่ตรงรัฐบาลไม่สามารถชี้นำและบริหารการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพในช่วงโควิด-19 ระบาดและเศรษฐกิจชะงักงันตกต่ำ ยังคุมแถวและบริหารความขัดแย้งในพรรคและนักการเมืองร่วมรัฐบาลในสภาได้ไม่ราบรื่นนัก และทั้งเดินนโยบายหลายอย่างที่เอื้อเฟื้อกลุ่มธุรกิจผูกขาดใหญ่มากกว่าจะรักษาลู่ทางการแข่งขันในตลาดไว้เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนระดับกลางและย่อยได้เติบโตบ้าง

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญน่าสนใจอีกมิติหนึ่งคือแบบวิถีการบริหารปกครอง (mode of governance) ที่ดูจะแตกต่างไปจากเดิม

ข้อวิเคราะห์ของดันแคน แม็กคาร์โก นักวิชาการชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย ในบทความต่อเนื่องที่ทิ้งช่วงห่างกัน 16 ปี (Duncan McCargo, “Network monarchy and legitimacy crisis in Thailand”, 2005 & “Network Monarchy as Euphoric Couplet”, 2021, https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/09512740500338937 & https://www.ingentaconnect.com/content/paaf/paaf/2021/00000094/00000003/art00007) ได้ชี้ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผมขอสรุปตีความตามที่เข้าใจว่า :

ขณะที่แต่ก่อนแบบวิถีการบริหารปกครองของไทยมีลักษณะไม่เป็นทางการ มีอำนาจจำกัด ไม่เป็นอัตตาธิปไตย เลือกเอาระบบแทนตนที่ควบคุมกำกับได้และบ่อนเบียนได้ มุ่งแสวงหาความร่วมมือเนื่องจากไม่สามารถครอบงำได้ทั้งหมด มีปีกปฏิรูปพลเรือนกับปีกอนุรักษนิยมของฝ่ายความมั่นคง การใช้อำนาจเป็นแบบกำกวม สับสน ลังเล เพื่อเปิดช่องให้ปัดปฏิเสธความรับผิดชอบได้

อุปมาเหมือนหนึ่งองค์พระประธานที่อยู่กลางอุโบสถโดยแผ่บารมีปกคลุมทั่วทุกหัวระแหงของวัด

มาในชั้นหลัง แบบวิถีการบริหารปกครองเป็นทางการมากขึ้น เป็นสถาบันมากขึ้น แผ่ขยายอำนาจออกไปครอบงำกว้างขึ้น มีแนวโน้มแบบอัตตาธิปไตย ลดทอนบ่อนเบียนระบบแทนตนลงมา ไม่ค่อยแสวงหาความร่วมมือ ใช้สั่งการบังคับเอามากกว่า ปีกอนุรักษนิยมของฝ่ายความมั่นคงขวาจัดขึ้นมาเป็นหลัก การใช้อำนาจเป็นแบบโดยตรงเอง ชัดแจ้งเด็ดขาดมากขึ้น โดยเน้นไปที่การควบคุมกลไกป้องกันความพร้อมรับผิด

อุปมาเหมือนหนึ่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยละเอียดอีกทั้งติดตามสอดส่องตรวจสอบไพร่พลให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเข้มงวดกวดขัน

 

สรุป

กล่าวได้ว่ากระแสปฏิรูปการเมืองจากเบื้องล่างได้เกิดขึ้นแผ่กว้างชัดเจนในรอบสองปีที่ผ่านมาและน่าจะดำรงอยู่ไปได้เรื่อยๆ ตราบที่การใช้อำนาจที่ก่อปัญหาของรัฐบาลและระบอบประยุทธ์ยังดำเนินอยู่

คำถามคงจะอยู่ที่จะหาแหล่งพักพิงและหล่อเลี้ยงบำรุงพลังการเมืองวัฒนธรรมเหล่านี้ในระยะยาวอย่างไร?

ประชาสังคมจะประคับประคองและขยับขยายกระแสพลังปฏิรูปจากเบื้องล่างอย่างไรต่อไปทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น?

ส่วนกระแสปฏิรูปจากเบื้องบน แนวทางปฏิรูปที่เป็นไปได้ซึ่งถูกเอ่ยถึงไว้ในงานอีกชิ้นของดันแคน แม็กคาร์โก ในทำนองที่อาจเรียกได้ว่า “14 ตุลาคม 2475” นั้น (https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/14672715.2021.1876522?journalCode=rcra20) ยังขาดเงื่อนไขปัจจัยที่จะช่วยให้สุกงอม อีกทั้งติดขัดตรงความหวาดระแวงหวั่นวิตกในหมู่ชนชั้นนำที่มีต่อพลังปฏิรูปจากเบื้องล่างในประเด็นล่อแหลมอ่อนไหวซึ่งถูกมองเป็นเรื่องเฉพาะในหมู่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะหาทางปรับแก้กันเองหลังช่วงเปลี่ยนผ่าน