อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (19)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (19)

 

การเลียนแบบอิหร่าน

ผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลอัฟกานิสถานคืออาคุนซาดา (Mullah Haibatullah Akhunzaela) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการแห่งศรัทธาชน (Commander of the Faithful) อันเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่กษัตริย์โมร็อกโกรักษาเอาไว้ด้วยการจัดตั้งผู้มีอำนาจสูงสุดทางศาสนามาเป็นผู้นำสูงสุด

อัฟกานิสถานหรือฏอลิบานได้นำเอารูปแบบของประเทศ อย่างเช่น สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ซึ่งทำการปฏิวัติในปี 1979 ที่เป็นเพื่อนบ้านมาเป็นตัวอย่าง

โดยหลังจากการปฏิวัติปี 1979 รัฐธรรมนูญของอิหร่านได้เปิดทางให้ผู้นำทางจิตวิญญาณ (Spiritual Leader) มีอำนาจโดยสมบูรณ์ ซึ่งทิศทางที่ผู้นำจิตวิญญาณแนะนำจะเป็นทิศทางของรัฐบาลซึ่งได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาปฏิบัติตาม

อะยาตุลลอฮ์ รูหุลลอฮ์ โคมัยนี (1990-1989) ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิวัติได้ทำให้อำนาจของสหรัฐที่หนุนหลังชาฮ์ (Shah) หมดไปและไม่เคยลังเลใจที่จะใช้อำนาจที่มีอยู่เข้าไปมีบทบาทอยู่ในสังคม

กรณีเดียวกันเกิดขึ้นกับอะยาตุลลอฮ์ ซัยยิด อาลี คอเมเนอี ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณในเวลาต่อมา

ในอิหร่านสภาผู้พิทักษ์การปฏิวัติ (Guardian Council) ได้รับการชี้นำโดยอะยาตุลลอฮ์ คอเมเนอี ซึ่งมีส่วนในการคัดเลือกผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีและผู้ที่จะเข้าสู่สภาหรือกล่าวสั้นๆ ได้ว่าอะยาตุลลอฮ์ คอเมเนอี สามารถทำให้ผู้สมัครประธานาธิบดีหมดสิทธิลงแข่งขันได้หากไม่มีคุณสมบัติพอเพียงต่อการดำรงตำแหน่ง

จนถึงเวลานี้ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเมื่อไหร่อัฟกานิสถานจะมีการเลือกตั้ง อาจเป็นไปได้ว่ารูปแบบของอิหร่านอาจจะถูกหรือไม่ถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งก็ได้

ที่ผ่านมาการเลียนแบบอิหร่านของอัฟกานิสถานอาจเป็นการเตือนถึงความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ของ Bush และแผนการที่ขาดความแยบยลในการปลูกถ่ายประชาธิปไตยแบบเจฟเฟอร์สัน (Jeffersonian) ให้กับอัฟกานิสถานหลังจากสหรัฐ “ส่งนาวิกโยธิน” มาที่นี้เพื่อโค่นรัฐบาลที่ท้าทายสหรัฐอยู่อย่างไม่จำเป็นและเป็นการยื่นคำขาดที่ขาดความฉลาดเป็นอย่างยิ่ง

 

สัดส่วนของรัฐบาลรักษาการ

การจัดสัดส่วนของรัฐบาลรักษาการได้รับการวิพากษ์จากชุมชนระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลรักษาการชุดนี้ไม่มีทั้งชีอะฮ์หะซาราหรือสตรีให้เห็นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ทั้งนี้ ผู้นำฏอลิบานออกมาโต้ว่าสตรีถูกห้ามมิให้ออกมาสู่พื้นที่สาธารณะในสมัยของท่านศาสดา ซึ่งการอ้างดังกล่าวเป็นความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าเคาะดีญะฮ์ (Kadijah) ภริยาของท่านศาสดา เป็นผู้นำในวิสาหกิจการค้าคนสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อที่เป็นมายาที่ได้รับการปลูกฝังกันมาโดยตะวันตกอันเป็นข้ออ้างในการรุกรานอัฟกานิสถานว่าสหรัฐเป็นผู้ก่อให้เกิดสิทธิสตรีในอัฟกานิสถานในปี 2001

นี่คือความผิดพลาดในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ทั้งนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญของอัฟกานิสถานปี 1964 ได้มอบสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิงไว้ให้โดยสมบูรณ์แล้ว

มีความพยายามที่ก้าวหน้าในการปลดปล่อยสตรีและเด็กอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัฐบาลนิยมคอมมิวนิสต์ซึ่งเข้าสู่อำนาจในปี 1978

ในความเป็นจริงสตรีของอัฟกานิสถานจะคงก้าวไปตามทิศทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่องได้หากประธานาธิบดีของสหรัฐอย่าง Carter (Jimmy Carter) และ Brizzinski (Zbiqniew Brezzenski) ที่ปรึกษาของเขาไม่เข้ามาแทรกแซงการเมืองของอัฟกานิสถานในปี 1979

ในการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการของอัฟกานิสถานสื่อและนักวิเคราะห์ทางการเมืองได้ออกมาย้ำว่ารัฐมนตรีบางคนตกอยู่ในรายชื่อการแซงก์ชั่นของสหรัฐ

นักวิเคราะห์ทางการเมืองจำนวนมากมีความแปลกใจต่อการแต่งตั้งคณะบุคคลดังกล่าว แต่ความแปลกใจของพวกเขาจะยิ่งแปลกใจยิ่งไปกว่านี้หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของผู้นำอิสราเอล ทั้งนี้ พวกเขาต่างก็เคยเป็น “ผู้ก่อการร้าย” มาก่อนทั้งสิ้นและพวกเขาก็ไม่ได้มาจากการปฏิวัติแต่อย่างใด พวกเขาต่างก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่กลายเป็นผู้สร้างสันติภาพในภายหลัง

ขอให้ดูกรณีการก่อการร้ายที่ปฏิบัติการโดยอิสราเอลในวันที่ 22 มิถุนายน ปี 1946 ที่โรงแรม King David อันเป็นเหตุการณ์ที่ฝ่ายบริหารของสหราชอาณาจักรที่พักอาศัยอยู่ในนครเยรูซาเลมถูกถล่มโดยผู้ก่อการร้ายจนนำไปสู่ความตายของผู้คน 99 คน

ผู้ปลุกเร้าให้เกิดการโจมตีครั้งนี้มาจากกลุ่ม Irgun ของอิสราเอล

ต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน ปี 1946 กองทัพของสหราชอาณาจักรได้เข้ายึดเอกสารจำนวนมาก และพบว่าการโจมตีด้วยระเบิดดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับองค์การก่อการร้ายอิสราเอลอีกองค์การหนึ่งคือ Haganah

ผู้นำในการเข้าโจมตีโรงแรมก็คือ Begin (Menachem Begin) ซึ่งได้กล่ายมาเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลระหว่างปี 1977 ถึง 1983

ในปี 2006 ได้มีการจัดประชุมในอิสราเอลเพื่อระลึกถึงวันครบรอบ 60 ปีของปฏิบัติการก่อการร้ายแห่งปี 1946 ซึ่งมี Netangahu เป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้าย Irgun เข้าร่วม

เอกอัครราชทูตของอังกฤษในกรุงเทลอาวีฟได้ออกมาประท้วงและถามนายกเทศมนตรีของนครเยรูซาเล็มว่าทำไมปฏิบัติการของการก่อการร้ายจึงถูกจัดเพื่อการระลึกถึงการครบรอบขึ้นมา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี Shamir (Yitzhak Shamir) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งในระหว่างปี 1983-84 และ 1966-92 ก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์การก่อการร้าย Haganah เช่นเดียวกัน

เขาเป็นผู้ลงนามสนธิสัญญา Oslo (Oslo Accords) กับยาซิร อะเราะฟาต หรือที่รู้จักกันในนามยัซเซอร์ อะเราะฟาต ในปี 1995 และเชื่อกันว่าการจากไปของอะเราะฟาตหลังจากนั้นไม่นานเป็นการถูกลอบวางยาพิษมากกว่าการจากไปตามปกติของปุถุชน อันเนื่องมาจากการลงนามสันติภาพดังกล่าว

 

ประชาคมระหว่างประเทศควรทำอะไร

คณะมนตรีความมั่นคงเป็นประชาคมระหว่างประเทศสูงสุด แต่คณะมนตรีความมั่นคง 5 ประเทศในเวลานี้เสียงแตกว่าด้วยอัฟกานิสถาน

จีนรวมทั้งรัสเซียในระดับหนึ่งได้เตรียมการที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลฏอลิบาน ในขณะที่สหรัฐสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสดูเหมือนจะต้องใช้เวลาตอบรับอยู่บ้าง

จึงมีการตั้งคำถามกันว่าแล้วอะไรคือนโยบายที่ถูกต้อง? และอะไรคือข้อดีและข้อเสียในการสร้างระบอบรัฐบาลฏอลิบาน

หากสหรัฐ ธนาคารโลกและองค์กรการเงินระหว่างประเทศยังคงใช้นโยบายบีบคั้นอัฟกานิสถานทางการเงินอะไรจะเกิดขึ้น?

มีสองสิ่งที่จะเกิดตามมา นั่นก็คือ

1. คนอัฟกานิสถานนับพันจะต้องตาย

2. จีน รัสเซีย ปากีสถานและกาตาร์จะเข้ามาอัฟกานิสถานพร้อมกองทุนที่มากขึ้น

กลุ่มอนุรักษนิยมในฏอลิบานจะมีความอนุรักษ์มากยิ่งขึ้นและต่อต้านความคิดใหม่ๆ ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลใดก็แล้วแต่ที่ได้รับการคุกคามจากภายนอกจะมีแนวโน้มที่จะฉุดรั้งเสรีภาพของประชาชนตนเอง

ตัวอย่างเช่น ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส การรุกรานที่มาจากออสเตรียและรัสเซียถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลของอาณาจักรแห่งความน่าหวาดหวั่นที่เกิดขึ้นตามมา

มีการพูดกันอยู่มากถึงสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นหรือมีการพูดอย่าวหลวมๆ ถึง “การยอมรับ” รัฐบาลฏอลิบาน จนถึงเวลานี้ยังไม่มีรูปแบบการปฏิบัติทางการทูตว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลให้เห็นแต่อย่างใด แต่ก็มีการทูตภาคปฏิบัติของสวิตเซอร์แลนด์ให้เห็น โดยสวิตเซอร์แลนด์จะให้การยอมรับรัฐแต่ยังไม่ให้การยอมรับรัฐบาล เป็นต้น

กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือหากมีรัฐบาลที่ใช้อำนาจหน้าที่อยู่ภายในดินแดนของประเทศหรือรัฐนั้นๆ สวิตเซอร์แลนด์ก็จะทำงานกับรัฐบาลดังกล่าว นี่เป็นแนวคิดที่สมเหตุสมผล

อินเดียก็เช่นกันได้เดินตามแนวทางนี้โดยอินเดียมิได้พูดคุยกับรัฐบาลแรกของฏอลิบาน ที่ผ่านมาอินเดียเคยให้การช่วยเหลือทางทหารกับพันธมิตรฝ่ายเหนือ ซึ่งต่อสู้กับฏอลิบานในทศวรรษ 1990

รัฐบาลอินเดียได้ยกปัญหานี้ขึ้นมาโดยมีแหล่งข่าวได้บอกว่าอินเดียอาจให้การยอมรับรัฐบาลฏอลิบาน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้อินเดียได้เลือกตัวเองให้มาอยู่กับปฏิบัติการที่มีต่ออัฟกานิสถานของกลุ่มประตะวันตก

ที่ผ่านมาเมื่อชาฮ์ของอิหร่านหนีออกมาจากอิหร่านและอิมามโคมัยนีเข้าสู่อำนาจในปี 1979 ได้มีความตึงเครียดให้เห็นอยู่ แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยกันในหมู่ผู้ทำงานอยู่ในสถานทูตอินเดียแต่อย่างใดในเรื่องที่ว่าอินเดียจะให้การยอมรับรัฐบาลอิหร่านและจะทำอะไรต่อไป

ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาอินเดียได้ส่งสารแสดงความยินดีกับอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี และติดต่อกับรัฐบาลของเขาต่อไป