จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (30) การปกครองในสมัยซ่ง (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (30)

การปกครองในสมัยซ่ง (ต่อ)

 

วาระที่กล่าวมานี้ย่อมสัมพันธ์กับการเลื่อนตำแหน่งอยู่ในตัว โดยการเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนจะแบ่งเป็นสามสาย

สายแรก เป็นการเลื่อนตามคุณสมบัติและผลงานของบุคคล และสามารถเลื่อนได้สี่ระดับด้วยกัน

สายสอง มีตำแหน่งที่เลื่อนได้ 11 ระดับ

สายสาม เลื่อนได้สามระดับ แต่หากเป็นขุนนางที่จัดอยู่ในกลุ่มนายกรัฐมนตรีหรือไจ่เซี่ยงจะเลื่อนได้สองระดับ

การเลื่อนทั้งสามสายนี้จะมีระดับสูงสุดของแต่ละสาย การที่จะเลื่อนให้สูงขึ้นไปกว่านี้ขึ้นอยู่ข้อกำหนดและเงื่อนไขในเวลานั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวโดยหลักแล้วจะต้องผ่านการสอบที่เรียกว่า ม๋อคัน โดยขณะที่ขุนนางดำรงตำแหน่งของตนในช่วงเวลาที่กำหนดอยู่นั้น จะมีขุนนางชั้นผู้ใหญ่เข้ามาทดสอบภูมิความรู้ความสามารถ

เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้วก็ยังต้องผ่านการทดสอบขององค์กรที่ดูแลงานด้านนี้อีกสององค์กร หากผ่านการทดสอบก็จะได้เลื่อนตำแหน่ง การทดสอบนี้จะมีขึ้นในทุกๆ สามปี และหากเป็นข้าราชการฝ่ายทหารจะมีขึ้นทุกๆ ห้าปี

 

พ้นไปจากการสอบแล้วก็คือ การสืบทอดตำแหน่งจากบุคคลภายในครอบครัว

ระบบนี้จะเอื้อให้ขุนนางสามารถนำบุตร พี่น้อง หรือญาติของตนมาดำรงตำแหน่งขุนนางได้ โดยขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่และระดับตำแหน่งของขุนนางคนนั้นด้วย

การนำเครือญาติเข้ามาเป็นขุนนางนี้มักเป็นขุนนางในท้องถิ่นระดับมณฑลและอำเภอ ขุนนางด้านการเงินการคลัง และขุนนางที่ทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบ

ควรกล่าวด้วยว่า ระบบการสอบขุนนางดังกล่าวทำให้เห็นไปด้วยว่า ในยุคนี้ย่อมจัดให้มีการสอบตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมา และการที่บุคคลจะมีความรู้ความสามารถที่จะสอบได้ย่อมต้องผ่านการศึกษามาด้วย โดยการสอบในท้องถิ่นจะแบ่งเป็นการสอบระดับหมู่บ้าน มณฑล และราชสำนัก

หากสอบผ่านระดับหมู่บ้านได้ก็จะมีสิทธิ์สอบระดับมณฑล และหากผ่านระดับมณฑลจึงมีสิทธิ์สอบระดับราชสำนัก

 

ส่วนในด้านการศึกษาได้มีการจัดตั้งสถานศึกษาขึ้นสามแห่งโดยสืบทอดจากสมัยถังคือ สำนักกุลบุตรแห่งรัฐ (กว๋อจื่อเจียน) มหาสิกขาลัย (ไท่เสีว์ย) และสำนักจตุรทวาร (ซื่อเหมินเสีว์ย)

โดยต่อมามหาสิกขาลัยได้เขามาแทนที่สำนักกุลบุตรแห่งรัฐ แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดสอบคัดเลือกขุนนาง ทำได้แต่เพียงจัดสอบนักเรียน โดยราชสำนักจะเป็นผู้กำหนดสัดส่วนนักเรียนที่สอบผ่านด้วยตัวเอง

นักเรียนในมหาสิกขาลัยจะแบ่งเป็นสามระดับ โดยระดับแรกจะเรียนหนึ่งปี ระดับที่สองกับระดับที่สามเรียนสองปี ระหว่างที่เรียนอยู่นั้นจะมีการสอบประจำเดือนและประจำปี และจะมีการสอบขุนนางแต่ละระดับไปด้วย การสอบระดับที่สามถือเป็นการสอบขั้นสุดท้าย

การสอบนี้จะมีอยู่สามระดับด้วยกันคือ ระดับสูงสุดจะได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางในตำแหน่งจิ้นซื่อ ระดับที่สองจะได้รับการยกเว้นการสอบระดับมณฑล และสามารถเข้าสอบระดับราชสำนักได้ทันที ในระดับสุดท้ายจะต้องไปสอบคัดเลือกเป็นขุนนางในระดับมณฑล

 

ระบบขุนนางที่โดดเด่นไม่น้อยในยุคนี้ก็คือ ระบบหลีกเลี่ยง (หุยปี้จือตู้) ระบบนี้มีขึ้นเพื่อมิให้กระบวนการได้มาซึ่งขุนนาง และการแต่งตั้งขุนนางในตำแหน่งต่างๆ เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ระบบนี้ถูกแบ่งเป็นสองส่วน

ส่วนหนึ่ง หลีกเลี่ยงมิให้มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติในการดำรงตำแหน่ง ในส่วนนี้หมายความว่า หากขุนนางคนใดมีเครือญาติที่ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกันแล้ว จะมีฝ่ายหนึ่งหลีกเลี่ยงที่จะไม่ดำรงตำแหน่งนั้น แล้วให้ไปดำรงตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันแทน

ซึ่งทำได้ในสามทางด้วยกันคือ สลับกับตำแหน่งของบุคคลอื่น ส่งตัวไปรับราชการนอกเมืองหลวง และปลดออกจากตำแหน่ง โดยตำแหน่งที่ได้รับหลังจากหลีกเลี่ยงแล้วจะต้องมีความสอดคล้องกับตำแหน่งเก่า

อีกส่วนหนึ่ง หลีกเลี่ยงมิให้การดำรงตำแหน่งก่อให้เกิดข้อครหาขึ้นได้ ซึ่งหมายความว่า ขุนนางที่ได้รับการแต่งตั้งอันเนื่องมาจากการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรีนั้น จะมิอาจดำรงตำแหน่งที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีได้

หากมีปัญหานี้ขึ้นจะต้องแจ้งเพื่อให้มีการเปลี่ยนไปดำรงตำแหน่งอื่นต่อไป

ระบบหลีกเลี่ยงนี้ยังมีรายละเอียดอื่นนอกเหนือจากจากที่กล่าวมา เช่น มิให้ขุนนางดำรงตำแหน่งในท้องถิ่นที่เป็นภูมิลำเนาเดิมของตน ห้ามมิให้ขุนนางท้องถิ่นซื้อที่ดินในท้องถิ่นที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ ห้ามมิให้ขุนนางแต่งงานกับหญิงสามัญชนในพื้นที่ที่ตนบังคับบัญชา

ห้ามมิให้ขุนนางอยู่ในพื้นที่ของตนต่อไปหลังครบวาระ หรือห้ามส่งขุนนางฝ่ายตุลาการไปพิจารณาคดีในพื้นที่บ้านเกิดของตน เป็นต้น

สำหรับระบบชั้นยศของขุนนางในยุคนี้แล้ว ยังคงสืบทอดระบบเก้าชั้นยศจากสมัยถัง แต่มีการปรับรายละเอียดของตำแหน่งขุนนางต่างออกไป

 

ส่วนเงินเดือนของขุนนางในยุคนี้มีหลายรูปแบบ คือมีทั้งที่จ่ายเป็นเงิน เสื้อผ้า เสบียงอาหาร ใบชา สุรา เกลือ เป็นต้น

ในช่วงต้นราชวงศ์เงินเดือนของขุนนางไม่สูงมากนัก จนถึง ค.ศ.1012 จึงได้มีการขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการเป็นครั้งแรกทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร แต่ขุนนางในระดับมณฑลและอำเภอยังคงมีเงินเดือนเท่าเดิม แต่จะได้รับพระราชทานที่ดินจำนวนหนึ่ง

การให้เงินเดือนจากที่กล่าวนี้ยังสัมพันธ์กับวันลากิจหรือลาป่วยอีกด้วย กล่าวคือ หากขุนนางคนใดลาครบ 100 วันแล้วยังไม่มาปฏิบัติงาน ทางราชสำนักก็จะหยุดจ่ายเงินเดือน

นอกจากนี้ หากขุนนางคนใดต้องไปดำรงตำแหน่งยังต่างถิ่น บุคคลในครอบครัวของขุนนางผู้นั้นสามารถรับเงินเดือนแทนได้ หรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาของขุนนางเสียชีวิต ขุนนางผู้นั้นสามารถหยุดงานเพื่อไว้ทุกข์ได้สามปี แต่หากเป็นข้าราชการทหารในกรณีเดียวกันจะลาได้ 100 วัน

หรือในกรณีเกษียณอายุ ข้าราชการพลเรือนจะเกษียณอายุ 70 ปี ข้าราชการทหารอายุ 80 ปี ที่ต่างกันเช่นนี้ก็เพราะข้าราชการทหารต้องเฝ้าระวังศึกที่อาจมาจากชายแดนอยู่เสมอ