จุดอ่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ บูมเมอแรง ทางความคิด ว่าด้วยจน-รวย และทางด่วน ความเท่าเทียม=เหลื่อมล้ำ?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จุดอ่อนของ พล.อ.ประยุทธ์

บูมเมอแรง ทางความคิด

ว่าด้วยจน-รวย และทางด่วน

ความเท่าเทียม=เหลื่อมล้ำ?

 

คําพูดตอนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างเป็นประธานพิธีมอบสิทธิบ้านเช่าโครงการเคหะสุขประชาร่มเกล้า ให้กับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา

ถึงความเท่าเทียมของคนไทย โดยเปรียบเทียบการใช้ทางด่วนกับถนนปกติ

“ความเท่าเทียม ทั้งด้านโอกาส คนไทยทุกคนจะต้องมีโอกาส จะใช้รถใช้ถนน ใช้สะพาน ใช้ประโยชน์อะไรก็แล้วแต่จากสาธารณูปโภคพื้นฐาน คนรวยก็ไปเสียเงินเอา คนมีรายได้น้อยก็ใช้เส้นทางข้างล่างเอา จะได้ไม่แออัด เป็นความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสการเดินทาง”

แค่ประโยคสั้นๆ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องยาว เนื่องจากสะท้อนถึงวิธีคิดและตัวตนผู้พูด ว่ามีความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม เหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมาช้านาน มากน้อยแค่ไหน

 

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หลายครั้งที่คำพูดบ่งบอกถึงวิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์สั่งการค่ายทหารทุกกรมกองปลูกผักชี เพื่อแก้ปัญหาผักแพง หรือสั่งการให้เตรียมรถบรรทุกทหารออกมาวิ่งรับ-ส่งสินค้าแทน หากกลุ่มรถบรรทุกประท้วงหยุดวิ่ง เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลพุ่งสูง

ล่าสุดยังเสนอแนะการแก้ปัญหาล็อตเตอรี่ราคาแพง “วิธีแก้ที่ง่ายสุด ก็อย่าไปซื้อเลขชุด”

จากคำพูดเสนอไอเดียแก้ไขปัญหาต่างๆ ช่วงที่ผ่านมา ในตอนแรก หลายคนเข้าใจอาจเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ขาดทักษะด้านการสื่อสารกับคนหมู่มาก

แต่กับกรณีพูดถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสเดินทาง ด้วยการเปรียบเทียบคนรวย-คนจน กับการใช้ทางด่วนกับถนนปกติ ได้ยกระดับความเข้าใจของสังคมว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เพียงขาดทักษะด้านสื่อสาร

แต่ยังขาดความเข้าใจถ่องแท้ในสิ่งที่ตัวเองพูด ซึ่งในที่นี้คือปัญหาความไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาคในสังคมไทย

ทำให้หลายคนวิเคราะห์ในทำนองคล้ายกันว่า อาจด้วยเพราะ พล.อ.ประยุทธ์เคยรับราชการทหารมานานกว่า 40 ปี ตำแหน่งสูงสุดเป็นถึงผู้บัญชาการทหารบก จึงทำให้ซึมซับกับวัฒนธรรมแบ่งชั้นวรรณะตามยศตำแหน่งในกองทัพ

เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงจะผ่านมากว่า 7 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมสากลได้

 

คนรวยขึ้นทางด่วน คนมีรายได้น้อยใช้ทางข้างล่าง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้ว่า คือสิ่งที่รัฐบาล คสช.และรัฐบาลชุดนี้ทำ เพื่อให้ประชาชนเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสการเดินทาง

คำพูดดังกล่าวถูกนำมาขยายความต่อๆ กันทั้งในและนอกโลกโซเชียล กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจาณ์กว้างขวางว่า เป็นเพราะขาดทักษะการสื่อสารที่ดีพอ หรือเป็นคำพูดที่กลั่นออกมาจากภายในใจ ด้วยเพราะเข้าใจผิดถึงปัญหา

พล.อ.ประยุทธ์ตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวเอากับสื่อ ว่า “คุณตีความอย่างนั้นได้อย่างไร เส้นทางถนนเส้นทางข้างล่าง ข้างเดียว การจราจรติดขัดไหม เขาก็มีการแยก นี่เขาเรียกว่าการเข้าถึงโอกาส คุณก็หาเรื่องทุกครั้ง ขี้เกียจพูด”

ยังไม่จบ พล.อ.ประยุทธ์พยายามอธิบายซ้ำในวันถัดมา ว่า

“ฉันพูดไปเองไม่ใช่หรือว่า อย่าหยิบคำพูดบางอย่างมาต่อกัน ถามว่าใครล่ะที่ทำ ก็อยู่แถวๆ นี้ ขอให้ฟังกันยาวๆ ว่าความหมายที่ผมพูดคืออะไร ไม่เช่นนั้นยุทธศาสตร์ชาติ ผมจะเขียนไว้ทำไม”

“ในเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การให้ความเป็นธรรม การเพิ่มขีดความสามารถ ทุกคนต้องร่วมมือกันตรงนี้ ผมพูดอธิบาย สื่อก็พยายามไปตัดต่อในส่วนที่เป็นประเด็น”

“ยืนยันไม่ได้แบ่งแยกคนจนกับคนรวย เหตุผลของผมคือทุกคนเข้าถึงโอกาสของตัวเอง ผมพูดถึงการช่วยกันในลักษณะที่ว่า ถ้าข้างบนไม่ติด ก็ช่วยแบ่งเบาไปบ้าง ข้างล่างก็จะได้ไม่ติดไม่ใช่หรือ”

“ขอร้องอย่าทำให้เป็นประเด็นในทุกเรื่อง นายกฯ หวังดีทุกครั้ง บางทีพูดมากไปก็ไปตัดตอน พูดน้อยไปก็บอกว่าพูดไม่รู้เรื่อง จะเอายังไงกับผม”

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ช่วยชี้แจงว่า คลิปที่นายกฯ พูด เป็นการตัดบางช่วงบางตอนของคำกล่าวทั้งหมดที่มีความยาว 12 นาที ในข้อเท็จจริง นายกฯ ต้องการยกตัวอย่างให้เห็นถึงความเท่าเทียม

ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีรายได้น้อยกว่าจะขึ้นทางด่วนไม่ได้ แต่ต้องการสื่อสารว่าทุกคนมีทางเลือกในการเดินทาง แต่คลิปที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์มีข้อสังเกต ว่าเกิดจากผู้ที่ไม่หวังดีเลือกตัดมาและเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์

ทำให้ผู้ไม่ได้ติดตามข่าวหรือคำกล่าวทั้งหมด เข้าใจผิด

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามแก้ไขความผิดพลาดจากการสื่อสารของตัวเอง ด้วยการโยนความผิดไปยังบุคคลอื่นโดยเฉพาะสื่อ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าตัดแค่คำพูดบางช่วงบางตอนมาเสนอ ทำให้คนเข้าใจผิด

อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคปัจจุบัน คำพูดของนายกฯ หรือใครก็แล้วแต่ ถูกตัดตอน ตัดต่อหรือไม่ อย่างไร ข้อจริงเท็จพิสูจน์ได้ไม่ยาก จากคลิปที่มีการบันทึกลงเผยแพร่เกลื่อนกลาดในโลกโซเชียล

“ผมนี่ร้อง oh my god เลย” โทนี่ วู้ดซัม กล่าวตอบคำถามในคลับเฮาส์ กลุ่มแคร์ คิด เคลื่อน ไทย ต่อเรื่องความเท่าเทียม ในความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ผู้นำมักเอาวัฒนธรรมของตัวเองมานำองค์กร

ตอนสมัย “ลุงตู่” เรียนเตรียมทหารเป็นอย่างไร เขามี 2 ประตู บันไดด้วย แบ่งกันชัดเจน ทางหนึ่งให้ทหารสัญญาบัตรใช้ อีกทางหนึ่งไว้ให้ทหารชั้นประทวนใช้ วิธีคิดนี้เลยติดมา ลุงตู่เลยบอกว่ามีตังค์ก็ใช้ทางด่วน ไม่มีตังค์ก็ใช้ทางข้างล่าง

“เพราะใช้วิธีคิดตามสภาพชีวิต ไม่ได้คิดเลยว่าคือการแบ่งแยกชนชั้น แต่เขาเคยชินกับการแบ่งยศ แบ่งขั้น เลยเอามาใช้กับเรื่องทางด่วน” พี่โทนี่ระบุ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า คำว่าความเท่าเทียมกัน ความหมายคือโอกาสที่ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

ความเท่าเทียมกันไม่ได้หมายความว่าประชาชน คนยากจนต้องยอมจำนน ทนรับกับบริการสาธารณะที่ไม่ดี แต่รัฐต้องจัดให้มีคุณภาพที่ทำให้ทั้งคนยากจน คนรวยมีโอกาสใช้อย่างเท่าเทียมกัน

ทางด่วนไม่ใช่การแยกชนชั้นวรรณะ แต่เพื่อทำให้การกระจายการจราจรมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่อยากประหยัดเวลาเดินทางสามารถจ่ายเงินเพื่อใช้ทางด่วนได้ ฉะนั้น ทางด่วนไม่ใช่ของคนรวย ทางด่วนไม่ใช่เรื่องการแบ่งชนชั้นวรรณะ

เราจะเห็นมุมมองที่ตลกและไม่เข้าใจเรื่องความเสมอภาค เพราะนายกฯ อาจเคยชินกับระบบทหาร

เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่เคยมีความเท่าเทียมกัน ทหารชั้นสัญญาบัตรกับทหารชั้นประทวนยังแยกห้องน้ำกัน การปฏิบัติก็ต่างกัน มีระบบคล้ายวรรณะแฝงในกองทัพ

“นายกฯ จึงอาจเคยชินกับระบบนี้” นายวิโรจน์กล่าวสรุป

 

เรื่องความเท่าเทียม เหลื่อมล้ำ ที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการใช้ทางด่วน มีหลายแง่มุมน่าสนใจ

นายเดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เท่าเทียม VS เหลื่อมล้ำ คุณประยุทธ์คงไม่เข้าใจวิธีคิดของคนอื่น ที่ได้ฟังคุณประยุทธ์พูด แล้วพาลหาว่า คนอื่น (โดยเฉพาะสื่อ) หาเรื่องตนเอง

ถ้าเราจะเริ่มทำความเข้าใจเรื่องนี้ อาจเริ่มจากการยอมรับว่าทางด่วนและทางทั่วไป มีความสะดวก มีค่าใช้จ่าย และมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

แต่ถ้าความแตกต่างกันนั้นทำให้คนบางคนใช้ได้ (คุณประยุทธ์เรียกว่า “คนรวย”) แต่คนบางคนไม่ได้ใช้ (คนจน) นั้นเรียกว่า “ความเหลื่อมล้ำ”

แท้จริงแล้วความแตกต่างระหว่างทางด่วนและทางทั่วไป ควรจะอยู่ที่วัตถุประสงค์ แต่คนทุกคน (ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน) ควรจะใช้ทางทั้งสองได้ แบบนั้นจึงเรียกว่าความเท่าเทียม

การคิดถึงความเท่าเทียม ทำให้รัฐบาลมีหน้าที่เพิ่มเติมอย่างน้อย 3 ประการ

1. ทำให้ทางด่วนไม่แพงเกินไป (เพราะคนจนก็จำเป็นต้องใช้ในบางช่วงเวลา)

2. ทำให้ทางธรรมดามีคุณภาพดีพอสำหรับทุกคน (ในยามที่ไม่เร่งรีบเป็นพิเศษ)

3. ทำให้ทุกคนมีรายได้ที่เพียงพอที่จะขึ้นทางด่วนได้ ในยามที่จำเป็น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคิดแบบคุณประยุทธ์ รัฐบาลคงไม่จำเป็นต้องทำภารกิจทั้ง 3 เลย เพราะคิดเอาเองว่าเป็นความเท่าเทียมกันที่แต่ละคนจะมีทางเลือกที่ไม่เท่ากัน หรือพูดในสำนวนแบบ Getsunova ว่า “เหลื่อมล้ำอย่างเท่าเทียม”

จึงเกรงว่า ถ้าสังคมไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มีความคิดแบบคุณประยุทธ์ เราคงไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมนี้ได้

เพราะนายกรัฐมนตรีดันมองว่า ความเหลื่อมล้ำคือความเท่าเทียมกันตั้งแต่แรก

จึงเห็นด้วยกับคุณผู้หญิงที่อุดรธานีว่า คุณประยุทธ์ควร

“เกษียณตนเองไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

 

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างคนรวยและคนจน

โดยเปรียบเทียบกับการเดินด้วยทางด่วนกับทางปกติ ตามที่สังคมเข้าใจคือ เป็นการตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่ไม่เข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ ทั้งที่ความเหลื่อมล้ำเป็นสารตั้งต้นของปัญหาหลายด้านในสังคมไทย

ไม่ว่าด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ แม้กระทั่งด้านการเมือง ดังนั้น หากผู้นำประเทศไม่เข้าใจแก่นแท้ของปัญหาความไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำ

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่สังคมจะอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ภายใต้ผู้นำประเทศที่อยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 7 ปี มองความเหลื่อมล้ำคือความเท่าเทียม

ประเทศชาติและชีวิตของประชาชนจะพัฒนาไปในทิศทางใด