ชนชั้นทางด่วน/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

ชนชั้นทางด่วน

 

เป็นประเด็นที่สร้างความหงุดหงิดทางจิตใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างมาก เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากคำพูดเรื่อง “คนมีเงินก็ใช้ทางด่วน คนไม่มีเงินก็วิ่งรถข้างล่าง” โดยยืนยันว่าโดนตีความในทางที่ผิด ไม่ได้มีเจตนาแบ่งแยกชนชั้น แต่เป็นการพูดถึงโอกาสในการเข้าถึงสาธารณูปโภค อะไรทำนองนั้น

แต่คนจำนวนมากมองว่า นี่คือทัศนคติของผู้นำประเทศ ที่ขาดความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แทนที่จะพูดแบ่งแยกชนชั้น คนรวยใช้ทางด่วน คนจนใช้ถนนข้างล่าง แต่ควรจะลงมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้คนทุกคน มีสิทธิ์ใช้ทางด่วนหรือใช้ถนนเท่าๆ กัน

ทั้งนี้ คำพูดที่เกิดปัญหาดังกล่าว เป็นคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ระหว่างเป็นประธานพิธี มอบสิทธิโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยอ้างถึงผลงานของรัฐบาลนี้ มุ่งความเท่าเทียมในด้านโอกาส จะใช้รถใช้ถนน ใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคพื้นฐาน คนรวยก็ไปเสียเงินขึ้นทางด่วน คนรายได้น้อยใช้เส้นทางข้างล่างเอา จะได้ไม่แออัด นี่คือความเท่าเทียมทางโอกาสในการเดินทาง

ประโยครวมๆ ของคำพูดที่เป็นประเด็นปัญหา เป็นเช่นนี้

ฟังดูแล้ว ไม่น่าจะเป็นการตีความในทางที่ผิด ไม่ได้ตีความเพื่อจ้องหาเรื่องโจมตีนายกฯ แต่เป็นทัศนะทางชนชั้นที่แน่นอน

ทัศนะทางชนชั้นดังกล่าว มีที่มาอย่างชัดเจน นั่นคือ การใช้ชีวิตในราชการทหารมาโดยตลอด เป็นระบบราชการที่เจ้านายเป็นใหญ่ ลูกน้องคือผู้รับใช้ ต้องฟังแล้วทำตามอย่างเดียว ไม่มีระบบโต้เถียงโต้แย้ง เหมือนแวดวงอื่นๆ

สำคัญที่สุด พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่อำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยการรัฐประหาร หลังจากม็อบ กปปส.ปูทางเอาไว้ทุกอย่าง แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยอมยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ ตามครรลองประชาธิปไตย ก็อ้างต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน เปิดทางให้รถถัง

กระบวนการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ด้วยม็อบและรัฐประหาร เป้าหมายสำคัญคือทำให้อำนาจการเมืองพ้นจากนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยปกติ มาสู่มือของตัวแทนกองทัพ ขุนศึกขุนนาง

5 ปีแรก เป็นรัฐบาลทหาร คสช.ปกครองประเทศ ต่อมาเลือกตั้งในปี 2562 ภายใต้กติกาที่เหลื่อมล้ำ ให้เสียง 250 ส.ว.จากการแต่งตั้ง มีอำนาจชี้ขาดผู้เป็นนายกฯ และรัฐบาล เหนือกว่าเสียง ส.ส.และเสียงประชาชนหลายล้านที่ไปเลือกตั้ง

นั่นก็คือ แม้จะเปิดให้เลือกตั้ง แต่นายกฯ ก็ต้องเป็นผู้นำจากการรัฐประหารเท่านั้น

**เป้าประสงค์สำคัญคือทำให้สังคมไทยกลับไปสู่ยุคอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง ไม่ยอมให้ก้าวไปสู่ยุคประชาธิปไตยเสรี**

ฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง ไม่เชื่อเรื่องประชาชนควรมีอำนาจการเมือง จึงกำหนดรูปแบบเป็นประชาธิปไตยเปลือกๆ แต่เนื้อแท้แล้ว จะไม่ยอมให้อำนาจประชาชนที่ไปเลือกตั้ง ที่ไปเลือกนักการเมืองที่เชื่อมั่นพึงพอใจนั้น ไม่ยอมให้อำนาจของคนส่วนใหญ่เหล่านี้สามารถกำหนดประเทศได้

เมื่อไม่เชื่อในเรื่องอำนาจควรอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่าอำนาจส่วนบนคือผู้ควบคุมกำหนดคนส่วนใหญ่ซึ่งถือเป็นส่วนล่าง

ย่อมเป็นผู้คนที่มีทัศคติทางชนชั้นในแง่ที่ว่า คนเราไม่สามารถเท่าเทียมกันได้ สังคมยังไงก็ต้องมีชนชั้น

คำกล่าวที่คนกลุ่มนี้มักนำมาใช้กันเสมอๆว่า นิ้วคนเรา 5 นิ้วยังสั้นยาวไม่เท่ากัน แล้วคนจะเท่าเทียมกันได้อย่างไร!?

 

จากนี้ไป เมื่อจะอธิบายว่าสังคมไม่สามารถเท่าเทียมกันได้ ไม่เพียงแค่คำพูดเดิมคือ “นิ้ว 5 นิ้วยังสั้นยาวไม่เท่ากัน” แต่อาจจะต้องเพิ่มเติมว่า “คนขับรถยังต้องมีวิ่งบนทางด่วนแบบเสียเงิน กับวิ่งข้างล่าง แบบคนไม่มีเงิน เพราะฉะนั้น คนเราจะเท่าเทียมกันได้อย่างไร”

เดิมทีคำพูดที่ว่า คนเรา 5 นิ้วยังไม่เท่ากัน แล้วคนจะเท่าเทียมกันได้อย่างไรนั้น เป็นคำที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคก่อนเก่า สมัยต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นแนวคิดสร้างสังคมปราศจากชนชั้น ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ดังนั้น การต่อต้านแนวคิดของสังคมคอมมิวนิสต์ จึงหยิบเรื่องธรรมชาติสร้างนิ้วคนเรามาไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น คนไม่มีทางเท่าเทียมกันได้

ถ้ามองว่า การยกนิ้วคน 5 นิ้ว มันเป็นมุขที่เก่าเกินไป จากนี้ ก็หันมาใช้ตัวอย่างล่าสุด รถวิ่งบนทางด่วนกับวิ่งข้างล่าง อาจจะใหม่กว่า

แล้วให้เครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำเสนอวรรคทองวรรคนี้ด้วย

พร้อมคำอธิบายเพิ่มเติมว่า เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกด้วยการรัฐประหาร จากนั้นเป็นนายกฯ สมัยที่สอง ด้วย 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นผู้ชี้ขาดเหนือเสียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

จะได้เข้าใจถึงพื้นฐานความเป็นของผู้พูดได้ชัดเจน จนเห็นถึงระบบคิด ทัศนคติทางชนชั้นและทางการเมือง

พูดให้ถึงที่สุดแล้ว การอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นที่เป็นรัฐบาลทหารจากการปฏิวัติ ซึ่งการเข้ามาและดำรงอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่ๆ ต่อมาแม้จะเปิดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เพื่อไทยได้รับเลือกตั้งมี ส.ส.เป็นอันดับ 1 แต่การจัดรัฐบาลก็ไม่อาจเทียบกับพลังประชารัฐได้ เพราะมีเสียง 250 ส.ว.รออยู่ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้เป็นนายกฯ ต่อไป ภายใต้กระบวนการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ดังนั้น จึงมักเปรียบกันว่า ไม่ใช่ผู้นำประชาธิปไตย แต่เป็นผู้นำเผด็จการ

แนวทางของเผด็จการนั้น คือ กลุ่มผู้ปกครองเป็นผู้กำหนดการเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ต้องปฏิบัติตาม โดยไม่มีสิทธิมีเสียง

เหล่านี้ยิ่งอธิบายถึงทัศนคติทางชนชั้นได้เป็นอย่างดี!

 

คนที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง คือคนที่ยอมรับว่า เสียงประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสินชะตากรรมประเทศ จะหันไปทางไหนเลือกไปในทิศทางไหน แล้วแต่กระแสสังคมในขณะนั้น ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งกำหนดได้

ที่สำคัญวิถีทางการเลือกตั้งนั้น คือ ความเท่าเทียมกันอย่างมากที่สุด เป็นรูปธรรมที่สุด

ในวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ว่าจะมหาเศรษฐีหรือคนเดินดินชาวไร่ชาวนา นาทีที่เดินเข้าคูหากาคะแนน ทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่าเทียมกัน

1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่าเทียมกัน คือ เป็นรูปธรรมประการหนึ่งที่เห็นได้ว่า ความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์มีอยู่จริง

ไม่ว่าในวันเลือกตั้ง คนเราจะเดินเข้าคูหาทั้งที่ 5 นิ้วของทุกคนสั้นยาวไม่เท่ากัน ก็มีเสียงเท่าเทียมกันคือ 1 เสียง ไม่ว่าจะขับรถมายังหน่วยเลือกตั้ง โดยวิ่งมาบนทางด่วนจ่ายเงิน หรือวิ่งข้างล่างเพราะไม่มีเงิน ก็เดินเข้าคูหาแบบมี 1 เสียงเท่าเทียมกัน!

แต่นักเผด็จการที่ไม่ยอมรับประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง คือ ผู้ที่ไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ที่สามารถมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากันได้

พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หนที่สอง โดยที่การเลือกตั้งซึ่งทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากันนั้น เลือกพรรคเพื่อไทย มี ส.ส.มาเป็นอันดับ 1

แต่การเข้ามาเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจาก 1 สิทธิ์ 1 เสียงที่เท่ากันของคนที่ไปลงคะแนนแล้ว กลับยังเอาอีก 250 ส.ว.เข้ามาแทรก เข้ามากำหนดอีก

เสียง 250 ส.ว.นี่แหละ คือการทำลายความเท่าเทียมกันของมนุษย์ในวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน

จึงไม่น่าแปลกใจที่คนเหล่านี้จะโหมประโคม 5 นิ้วคนเราไม่เท่ากัน รวมทั้งรถยังต้องวิ่งบนทางด่วนจ่ายเงิน และวิ่งข้างล่างแบบไม่มีเงิน เพื่อให้ทุกคนยอมจำนนว่าคนเราไม่สามารถเท่าเทียมกันได้!