อย่าประมาท ‘โอไมครอน’!/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

อย่าประมาท

‘โอไมครอน’!

 

นับตั้งแต่วันที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประกาศถึง “เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล” ตัวใหม่และตั้งชื่อให้ว่า “โอไมครอน” จนถึงขณะนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยในหลายประเทศทั่วโลก ยังคงคร่ำเคร่งอยู่กับการหาคำตอบที่แน่ชัดเกี่ยวกับเชื้อตัวนี้อยู่อย่างขะมักเขม้น

คำตอบของคำถามสำคัญที่ว่า โอไมครอนแพร่ได้เร็วแค่ไหน, ก่อให้เกิดอาการป่วยหนักมากน้อยเพียงใด และหลีกเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้มากน้อยแค่ไหน? มีผลผูกพันอย่างมากทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก

สำคัญขนาดทำให้เกิดการระดมกำลังกันศึกษาวิจัยชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษในเวลานี้ มีงานศึกษาวิจัยว่าด้วยโอไมครอน มากถึง 25 โครงการเป็นอย่างน้อย

เชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ มีการกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง และยังเป็นการกลายพันธุ์ในส่วนสำคัญอย่างโปรตีนหนามของไวรัสถึงกว่า 30 ตำแหน่ง

ทำให้มันก่อกระแสแตกตื่นไปทั่วโลกตั้งแต่เริ่มต้นเป็นข่าวพาดหัวในทุกประเทศ

 

ความแตกตื่นเพิ่งจะคลี่คลายลง เมื่อแอนโทนี ฟาวซี ที่ปรึกษาใหญ่ของทำเนียบขาว ออกมาให้ความเห็นว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับแสดงให้เห็นว่า โอไมครอนไม่ได้ร้ายแรงกว่าเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดหนักทั่วโลกอยู่ในเวลานี้

ที่สำคัญคือ โอไมครอนก่อให้เกิดอาการป่วยหนักได้น้อยกว่า ทำให้เชื่อกันว่า เป็นการดีเสียอีกที่มีโอไมครอนอุบัติขึ้น เพราะอาจเข้าไปแทนที่การระบาดของเดลต้า แต่ไม่ทำให้ป่วยหนัก หรือเสียชีวิตได้มากเท่า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นข้อมูลที่จำกัด ไม่เพียงเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ยังเป็นข้อมูลที่ได้จากการสังเกตกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ทำให้นักวิชาการหลายคนเตือนว่า อย่าประมาทเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ตัวนี้เป็นอันขาด

เพราะในเชิงวิชาการแล้ว เราแทบแน่ใจอะไรไม่ได้เลย จนกว่าผลการวิเคราะห์ในทางวิทยาศาสตร์จะปรากฏออกมาให้เห็น

ตัวอย่างเช่น เรายังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว โอไมครอนร้ายแรงน้อยกว่าเดลต้าจริงหรือไม่?

 

เมื่อมองไปที่แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ตรวจพบเชื้อตัวนี้ จะพบว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอนส่วนใหญ่แล้วเป็นคนในวัยหนุ่ม-สาว ซึ่งจากข้อมูลการติดเชื้อที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า เป็นกลุ่มอายุที่แสดงอาการป่วยน้อยไปจนถึงปานกลางเสียเป็นส่วนใหญ่

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เหตุผลที่ผู้ติดเชื้อโอไมครอน มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม-สาว?

แต่ที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วก็คือ โอไมครอนแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าแต่เดิมมาก

ข้อมูลเมื่อ 4 ธันวาคมของสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้ (เอสเอเอ็มอาร์ซี) ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มจากไม่ถึง 1,000 คน เมื่อ 29 พฤศจิกายน เป็นกว่า 3,000 คนในวันที่ 3 ธันวาคม โดยในช่วงระหว่างวันที่ 14-29 พฤศจิกายน มีผู้ติดเชื้อโควิดต้องเข้าโรงพยาบาล 166 ราย คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด

ศูนย์แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ของโรคติดเชื้อแห่งอังกฤษ นำข้อมูลการระบาดเบื้องต้นในแอฟริกาใต้มาคำนวณทางคณิตศาสตร์ พบว่า ค่าการแพร่พันธุ์ หรือค่า อาร์ที (Rt) ของเชื้อโอไมครอนอยู่สูงกว่า 3 ในขณะที่ค่าอาร์ทีของเชื้อเดลต้า อยู่ที่ 1.1 หรือต่ำกว่าเท่านั้น

 

นั่นนำไปสู่คำเตือนที่สำคัญของนักวิชาการอย่างอดัม คูชาร์สกี จากสำนักสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งอังกฤษ ที่ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบของโอไมครอนอาจเลวร้ายกว่าที่เราประเมินเบื้องต้นกันอยู่ในเวลานี้มาก โดยอาจจะก่อให้เกิดภาวะตึงตัวหรือขาดแคลนในระบบสาธารณสุขของประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง

คูชาร์สกีใช้สูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ถ้าค่าอาร์ทีของเดลต้าเท่ากับ 1.1, อัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.8 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเพาะเชื้อในตัวคนอยู่ที่ 6 วัน และมีจำนวนคนติดเชื้ออยู่ที่ 10,000 คน การติดเชื้อเดลต้าในช่วง 1 เดือนจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 129 ราย

ถ้าหากเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วง 1 เดือนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 193 ราย

แต่หากเพิ่มขีดความสามารถในการแพร่ระบาดขึ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้เสียชีวิตจากองค์ประกอบข้างต้นจะสูงถึง 978 ราย

สิ่งที่คูชาร์สกีพยายามจะบอกก็คือ ยิ่งมีการแพร่ระบาดได้เร็วมาก สัดส่วนของการเสียชีวิตก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัว สูงกว่าการที่เชื้อมีความรุนแรง และมีอัตราเสียชีวิตสูงขึ้นด้วยซ้ำไป

เพราะฉะนั้น อย่าได้ประมาทโอไมครอน ว่าทำให้เกิดอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเป็นอันขาดครับ!