ขีดวงล็อกเชื้อ ‘โอไมครอน’ หวั่นลามแผนฟื้นธุรกิจ ท่องเที่ยวสะดุดซ้ำ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ขีดวงล็อกเชื้อ ‘โอไมครอน’

หวั่นลามแผนฟื้นธุรกิจ

ท่องเที่ยวสะดุดซ้ำ

 

1 มกราคม 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปักธง “เปิดประเทศ” เปิดทุกประตูเข้า-ออก ทางบก-ทางน้ำ และทางอากาศ รับนักท่องเที่ยว-นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกมาลงหลักปักฐาน-ขยายการผลิต

ทว่า การกลายพันธุ์ของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” กลายเป็น “จุดเสี่ยง” ต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ”

การพบชายชาวอเมริกัน-ผู้ติดเชื้อ “โอไมครอน” รายแรกในประเทศไทย-หญิงไทยเดินทางกลับจากไนจีเรีย 2 ราย และการติดตามตัวนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยง กลายเป็นทางเลือก-ทางรอดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องตัดสินใจกำหนดทิศทางเดินหน้าเปิดประเทศ หรือล็อกดาวน์บางจุด แม้กระทั่งการพิจารณา “ปิดประเทศ”

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตั้งรับแบบเกาะติด ลงมือปรับมาตรการสกัดโควิด-19 สายพันธุ์ “ไอไมครอน” อย่างทันท่วงที-แบบไม่กะพริบตา

 

กระทรวงการต่างประเทศได้ “ระงับ” การลงทะเบียน “Thailand Pass” เป็นการ “ชั่วคราว” ใน 8 ประเทศแอฟริกา ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตีนี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว

สำหรับบุคคลจาก 8 ประเทศทวีปแอฟริกาที่ได้รับ QR code ไปแล้ว หากเดินทางถึงประเทศไทยก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ต้องกักตัว 14 วัน หากมีกำหนดเดินทางถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป ไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทย

ขณะที่คนไทย-ชาวต่างชาติที่มีประวัติพำนักหรือเดินทางจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแอฟริกาช่วง 21 วันก่อนเข้าไทยจะรับการลงทะเบียนและอนุมัติการเดินทางเข้าราชอาณาจักรเฉพาะในรูปแบบ Alternative Quarantine (AQ) เท่านั้น

สำหรับคนไทยที่พำนักอยู่ใน 8 ประเทศ “กลุ่มเสี่ยงสุด” และเดินทางกลับมายังประเทศไทย ผู้เดินทางทุกคนต้องเข้ารับการกักตัว 14 วัน โดยผู้ที่เดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป จะต้องกักตัว 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ถึง 3 ครั้ง

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ “ยกเลิก” มติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ที่ให้ตรวจด้วยวิธี Antigen Self-test Kit (ATK) ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 สำหรับผู้เดินทางประเภท Test and Go

มติ ครม. โดยการเสนอของ “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข ในฐานะ “รักษาการ รมว.สาธารณสุข” ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันได้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเกิดวามปลอดภัยมากที่สุดจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการและแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“จึงเห็นควรให้คงมาตรการตรวจหาเชื้อสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างเข้มงวด ด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ไว้เช่นเดิม” มติครม.วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ระบุ

 

นอกจากการ “ยกระดับ” การตรวจคัดกรองเชื้อโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน” ไม่ให้หลงหู-หลงตา เล็ดลอดเข้ามายังประเทศไทยแล้ว ยัง “กรองสามชั้น” เพื่อตรวจจับชาวต่างชาติ-คนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศแพร่ระบาดโอไมครอน

ชั้นแรก การเดินทางเข้าประเทศ 8 ประเทศแอฟริกา-กลุ่มเสี่ยงสูง

ชั้นที่สอง การเดินทางเข้าประเทศที่มีการระบาด 54 ประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มการแพร่ระบาดขยายวงกว้างไปยังหลายประเทศ

และชั้นที่สาม “ช่องทางธรรมชาติ”

“สิ่งที่เรากังวลมากที่สุด คือ ช่องทางธรรมชาติ เราไม่รู้ และเข้ามาภายในประเทศ เกิดการแพร่กระจาย และตรวจพบภายหลัง ยากต่อการติดตามหาต้นตอ”

รมช.สาธารณสุขระบุ

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน กลายเป็น “ดาบสอง” ซ้ำเติมธุรกิจสถานบันเทิง ผับ-บาร์ คาราโอเกะ หลังถูก “ล็อกดาวน์” ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564

แม้ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน-เกี่ยวเนื่องจะเข้าพบ ศปก.ศบค. และ ศปก.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (สธ.) หลายครั้ง แต่ผลที่ออกมาคือ การเลื่อนการเปิดออกไป “ไม่มีกำหนด”

“อาจต้องขยับออกไปบ้าง ต้องขออภัย อยากให้นึกถึงคนอื่นด้วย เห็นใจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวถือว่าสำคัญที่สุด แต่ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ก็จะล้มเหลวทั้งหมด รัฐบาลจะกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็น ไม่มีใครอยากทำตรงนี้ ขอขยับออกไปก่อน รอดูสักเดือนหนึ่งก่อน เรื่องนี้ต้องฟังหมอ และสาธารณสุข” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ลามไปถึงการจัดงานเคาต์ดาวน์-ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) ศบค. ได้เชิญผู้ประกอบการมาหารือถึงมาตรการการจัดงานปีใหม่ เน้นการจัดงานกลางแจ้ง-อากาศถ่ายเทได้ดี โดยจะมีการเข้าสู่ที่ประชุม “ศบค.ชุดใหญ่” ในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เพื่อพิจารณามาตรการจัดงาน

 

เสียงของผู้มีอำนาจในทำเนียบรัฐบาล-กระทรวงสาธารณสุขประสานเป็น “เสียงเดียว” กันว่าให้ตระหนัก แต่อย่าตระหนก แต่ยังหวั่นไหว หากซ้ำรอยโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า “เชื้อกลายพันธุ์รุ่นพี่” ที่ลามไปถึงแผนฟื้นธุรกิจ-ท่องเที่ยว “สะดุดซ้ำ”

“ขณะนี้เราไม่สามารถหายาหรือวัคซีนไปดักหน้าไวรัสกลายพันธุ์ได้ จึงจำเป็นต้องคงมาตรการการป้องกันด้านสาธารณสุขไปก่อน ส่วนเรื่องติดตาม ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจริงๆ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมใกล้เข้ามา ก็จะมีการทบทวนมาตรการ เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีและต้องตัดสินใจเร็วที่สุด” สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขระบุ

บทเรียนจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ระลอกเมษายน 2564 หลังจากหลายฝ่ายชะล่าใจ ปล่อยให้มีการเดินทางข้ามจังหวัด จนเกิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุหลักหมื่นคน-คนตายเป็นใบไม้ร่วง จนระบบสาธารณสุขแบกรับไม่ไหว

อย่างไรก็ดี ฟากธุรกิจยังหวังว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” อาจจะไม่ร้ายแรงกว่าที่คิด หลังจากพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยในวงจำกัด

ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องช่วยชีวิตทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล-โรงพยาบาลสนาม ยา-วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 เพียงพอต่อการยับยั้งการติดเชื้อไม่ให้แพร่ระบาดจนไม่สามารควบคุมได้ ไม่ถึงขั้นต้องล็อกดาวน์-ปิดประเทศ ใช้ “ยาแรง”

ยิ่งมูลค่าความเสียหายมหาศาล ต้นทุนที่เป็นรายจ่ายในการใช้ประคับประคองเศรษฐกิจ 25 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี 3.3 ล้านล้านบาทในการแก้ปัญหาโควิด-19 ทุกมิติ อัดฉีดเงินใส่กระเป๋าประชาชนโดยตรง 8.5 แสนล้านบาท-ใส่มือประชาชนโดยตรงกว่า 42.3 ล้านคน

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังต้องวางโจทย์ ตั้งหลัก ปิดประตู-ล็อกหน้าต่างประเทศไทย ไม่ให้การระบาดระลอกใหม่ของสายพันธุ์โอไมครอน ทำลายระบบเศรษฐกิจและสาธารณสุข ที่ทุกองคาพยพได้กอบกู้มาตลอดเกือบ 2 ปี