จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 10-16 ธันวาคม 2564

จดหมาย

 

ผู้อาวุโส (1)

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ ผ่านถึง “ญาดา อารัมภีร”

อายุผมเหลือน้อย พยายามติดตามร้อยกรอง

หน้าฤดูฟังเทศนา มหาเวสสันดรชาดก เริ่มตั้งแต่เดือน 10 ถึงเดือน 4 ก็พยายามติดตามสิ่งที่นักปราชญ์ท่านถ่ายทอดคุณค่าความเป็นมนุษย์ประเสริฐด้วยปัญญา พัฒนาสมอง มองไกล

พระคุณแม่ พระคุณพ่อ คือให้การศึกษา ที่ช่วยยกระดับจิตวิญญาณ สมอง สูงล้ำค่า คุณธรรม

สนใจอ่านร้อยกรอง ร้อยแก้ว เพื่อเร้าใจ และใช้กล่อมเกลาลูก-หลานเยาว์วัย ให้รักการอ่าน

อาศัยยามว่างอ่านมติชนสุดสัปดาห์ รับมานาน ถึงสายตาเริ่มเสื่อมมาก ก็พยายามอ่านร้อยกรอง ร้อยแก้ว เพื่อลดความเหงา

ช่วยเป็นยาชุบชีวิต

ผมทำนา แต่ชะตาดี แม่พาให้ติดอ่าน มรดกตกถึงลูก-หลาน

ทำให้ความคิดไม่ล้าหลัง หูหนัก

ปัจจุบัน เด็กคิด พูด เก่งมาก มองอนาคตได้ไกลมาก

ขอบคุณญาดา อารัมภีร ที่เขียนจ๋าจ๊ะวรรณคดีให้อ่าน

มติชนสุดสัปดาห์ยังแกร่งแรง

ขอบพระคุณ

นายสยาม สายทอง

คุณตาวัย 85 ย่าง

 

แม้อายุมาก เป็นชาวนา

แต่คุณตาเป็น “นักอ่าน”

และติดตาม “มติชนสุดสัปดาห์” มานาน

อ่านไปรษณียบัตรแล้วอบอุ่นใจ

ขอบพระคุณแทนญาดา อารัมภีร กับการติดตาม “จ๋าจ๊ะวรรณคดี”

หวังว่าคุณตาสยาม สายทอง จะมีเรี่ยวแรง

ติดตามโลกเก่าและเปิดรับโลกใหม่อย่างคึกคักต่อไป

 

 ผู้อาวุโส (2)

ความเห็นของผมเป็นเสียงนกเสียงกา

แต่หากได้ลงพิมพ์ก็คงจะเกิดประโยชน์สำหรับพรรคการเมืองที่ยึดติดอยู่กับวิธีการเก่าๆ และประชาชนผู้ใช้สิทธิที่ผูกพันอยู่กับความเป็นญาติมิตรกับนักการเมืองท้องถิ่นนิยม ไม่น้อย

ผมพยายามที่จะวิเคราะห์ว่าประเพณีต่อไปนี้มีที่มาอย่างไร

กล่าวคือ สมัยก่อนบ้านผมมีการแข่งขันมโนรา และหนังตะลุง

เวลามีงานเทศกาล วัดวาอารามใหญ่จะจัดให้มีการแข่งขันการแสดงหนังตะลุง

ที่ผมเคยเห็นตอนเด็กๆ บางวัดจะจัดให้มีการแข่งขันหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงถึง 7 โรงในคืนเดียวกัน

ตัวโรงปลูกยกพื้นสูงเป็นเพิ่งหมาแหงน หลังคามุงจาก พื้นฟากหรือไม้กระดาน ปลูกสร้างขึ้นเป็นการชั่วคราว ตั้งกระจัดกระจายกันไปห่างๆ

“นายหนัง” จะผูกเรื่องเป็นนิยาย ที่เล่นได้ยันสว่าง ใช้รูปหนังเป็นตัวละคร ที่ขาดไม่ได้คือตัวตลก

การแสดงจะมีไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องตามประเพณีโบราณ

ทุกโรงจะประชันกันสุดฝีมือและฝีปาก เพื่อเรียกคนดูให้ตรึงอยู่ที่หน้าโรงของตน

เมื่อถึงเวลาประมาณตี 2 จะถึงเวลาให้สัญญาณด้วยเสียงโพนของวัด

กรรมการจะประเมินจำนวนผู้ชมที่นั่งอยู่หน้าโรง แล้วตัดสินความมากน้อยของคนดูไปตามที่เห็น

โรงที่มีคนนั่งอยู่หน้าโรงมากที่สุดก็จะเป็นฝ่ายชนะไป

การที่สมัยหนึ่ง บางจังหวัดในภาคใต้ได้นายหนังตะลุงเป็น ส.ส.ก็น่าจะด้วยเหตุนี้

แม้ไม่ได้มีที่มาจากการแข่งขันหนังตะลุงก็ตาม

แต่แสดงให้เห็นได้ว่าการแสดงออกทางการพูดจะมีอิทธิพลต่อคะแนนเสียง

ไม่ว่าการพูดนั้นจะใช้โดยวิธีใดและโอกาสใดก็ตาม

แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป

พรรคการเมืองใหญ่ที่เล่นการเมืองในแนวหนังตะลุง

เริ่มมีคะแนนเสียงตกต่ำไปเรื่อยๆ และทำท่าจะลาโรงเอา

ยิ่งเมื่อได้เห็นการแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่

ที่วิจารณ์การเมืองได้ตรงเป้าตรงประเด็น ไม่ว่าจะเป็นลูกเต้าของฝ่ายใด

ประชาชนจึงวิเคราะห์เองได้โดยไม่คำนึงถึงว่าคนรุ่นใหม่ที่ว่าเป็นลูก-หลานของคนพรรคนั้นพรรคนี้

เพราะคนสมัยนี้ไม่ใช่คนโง่

เสียดายที่พรรคเก่าแก่พรรคหนึ่ง ที่คราวหนึ่งไปด่วนตัดสินให้พรรคตนเองเสียก่อนว่าอีกฝ่ายหนึ่งซื้อเสียง

จนมีแผ่นป้ายติดไว้ตามสถานีรถไฟแถวบ้านผมว่า “จริงหรือที่รวยแล้วไม่โกง” ลงเลือกตั้งไปก็แพ้จึงไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง

หันมาเล่นการเมืองนอกสภา จนมีขบวนการขัดขวางการเลือกตั้ง

มีฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน จนเกิดความรุนแรงและมีการปฏิวัติรัฐประหารติดตามมา

และที่ประชาชนคนดูเพิ่งจะรู้คือเขามีการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว

อันมีความหมายว่า ได้มีการสมคบกันสร้างสถานการณ์ไว้ก่อนแล้วนั่นเอง

นี่ถ้าพรรคที่ว่ายังเล่นการเมืองในสภาอยู่

เขาจะเป็นผู้พิสูจน์ให้สังคมทราบถึงข้อกล่าวหาในภายหลังมาตีแผ่ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หากสามารถพิสูจน์ได้โดยไม่ต้องถึงโรงถึงศาลจะมีหรือว่าฝ่ายรัฐบาลจะอยู่ต่อไปได้

ในขณะเดียวกันก็จะพลิกกลับสถานการณ์ให้พรรคของตนเด่นขึ้นในระบบรัฐสภาต่อไป

ผลจะตกมาถึงลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่

คือคนที่เราได้ยินได้ฟังในการอภิปรายในวาระเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อเร็วๆ นี้

คนแก่อย่างพวกผมขอฝากประเทศชาติไว้กับพวกคุณด้วยครับ

คนฅอน

 

มองได้คมคายเช่นนี้

อย่าเพิ่งรีบฝากประเทศให้ใครต่อใครเลย

ช่วยกันมอง

ช่วยกันเปรียบเทียบกันต่อไป

เพื่อให้รู้เท่าทัน “นัก-พรรค” การเมืองต่อไป

เลือกตั้งครั้งหน้า อะไรๆ จะได้ดีขึ้น?!?!