จุดยืนไทย บนจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

จุดยืนไทย

บนจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก

ประเทศไทยต้องวางตัวอย่างไรในภาวะที่สหรัฐกับจีนกำลังพันตูกันอย่างเข้มข้นในเกือบทุกเวที

เป็นหัวข้อใหญ่ที่ผมมีโอกาสตั้งวงเสวนากับผู้รู้ 3 ท่านเมื่อเร็วๆ นี้ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021

หัวข้อทางการคือ Cold War 2.0 : How Will Thailand Cope With Superpowers?

นั่นหมายถึงจุดยืนของประเทศไทยบนจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก

ผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมเปิดด้วยหัวข้อที่กำลังร้อนและตรงกับประเด็นที่วางเอาไว้ล่วงหน้าว่าที่ไทยไม่ได้รับเชิญจากสหรัฐ ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยหรือ Democracy Summit ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั้น มีความหมายต่อสถานภาพของไทยเราในเวทีโลกอย่างไร

เพราะไบเดนเชิญ 110 ชาติ แต่ไร้ชื่อประเทศไทย

คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกระทู้ของฝ่ายค้านว่า

นี่เป็นเกมการเมืองล้วนๆ และเป็นการที่ประเทศหนึ่งนำไปใช้เล่นงานอีกประเทศหนึ่ง

คุณดอนบอกว่า การเชิญหรือไม่เชิญไม่น่าจะสำคัญ ความจริงบางครั้งไม่เชิญก็ดี เพราะถ้าเชิญมา ไทยอาจต้องพิจารณาว่าควรไปหรือไม่ไป

ในความเห็นของผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศนั้น การเชิญอาจเป็น “ดาบสองคม” ด้วยซ้ำ

ท่านบอกว่าถ้าไม่ได้รับเชิญก็ไม่ต้อง “กระทืบเท้าด้วยความเสียใจ”

หรือถ้าได้รับเชิญก็ไม่ควรจะต้องลิงโลดใจ

ดร.สุรเกียรติ์มองว่าในอดีตเคยมีการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ซึ่งไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

ดร.สุรเกียรติ์บอกว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมการเชิญหรือไม่เชิญจึงเป็น “ดาบสองคม” และไม่ได้มองว่าเป็นข้อเสียอะไร

หากไทยได้รับเชิญก็สามารถไปพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยว่าแต่ละประเทศมีประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน

โดยประชาธิปไตยของไทยก็มีวิวัฒนาการมา 80 ปี มีการเปลี่ยนแปลง ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ เพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทย

แต่ที่บอกว่าไม่เชิญก็ดีแล้ว หรือเชิญก็อาจจะไม่ไป อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศบอกว่าไม่เห็นด้วยนัก

“เราควรนำมาวิเคราะห์กันมากกว่าว่าที่เขาไม่เชิญเราเพราะอะไร”

ดร.สุรเกียรติ์ตั้งข้อสังเกตว่า ดูจากรายชื่อประเทศที่ไบเดนเชิญ ก็มีประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย เช่น สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่น หรือนอร์เวย์

จึงน่าสนใจว่าทำไมเขาไม่เชิญเรา

ควรมาวิเคราะห์ว่าถ้ามีเหตุผลว่าไทยไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องอะไร เราก็จะสามารถแก้ไขได้

หรือเราคิดว่าเราดีแล้ว เขาไม่เชิญ เราก็ไม่ไป แล้วเราก็ไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ แบบนี้

อย่างนี้ ดร.สุรเกียรติ์มองว่าไม่ถูกต้อง

เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยของสหรัฐเองก็มีเรื่องต้องปรับปรุงและของไทยก็มีเรื่องที่ต้องแก้ไขอีกมากมาย โดยเฉพาะกระบวนประชาธิปไตยของเรา

 

ดร.สุรชาติบอกว่า เรื่องนี้โดยตั้งคำถามย้อนกลับว่า สหรัฐจะเชิญไทยไปเพื่ออะไร

“เราควรพิจารณาตัวเราเองว่าสถานะของไทยในวันนี้ เขาควรเชิญไหม”

ดร.สุรชาติมองว่า สหรัฐไม่เชิญเรา ถูกต้องแล้ว ส่วนที่บอกว่าไทยไม่อยากไป เป็นการสำคัญตัวเองผิด

พร้อมชวนตั้งคำถามอะไรคือจุดขายของไทยให้รัฐบาลสหรัฐเชิญ

เสริมด้วยข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้นำรัฐบาลสหรัฐคนไหนที่เดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วไม่แวะไทย คำถามคือเกิดอะไรขึ้น เพราะสหรัฐไม่เคยทิ้งไทย เมื่อมองในด้านจุดยุทธศาสตร์

“โจทย์ใหญ่ที่สุดของไทยในเวลานี้คือ เราจะสร้างจุดขายของรัฐไทยในเวทีโลกอย่างไร ปีนี้เราเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของศตวรรษที่ 21 สองทศวรรษผ่านไป คำถามเดิมคืออะไรคือจุดแข็งของไทย อย่าบอกนะครับว่าเราจะขายการรัฐประหารให้เป็นตัวแบบ” ดร.สุรชาติกล่าว

 

ดร.อาร์มกล่าวถึงประเด็นจุดยืนไทยว่าต้องรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจ

การรักษาสมดุลนั้นสามารถทำได้สองแบบ

แบบแรกคือการรักษาสมดุลเชิงตั้งรับ

ยกตัวอย่างเช่น เรากลัวว่าไปสนิทกับอเมริกา แล้วทำให้จีนโมโห หรือสนิทกับจีนแล้ว ก็กลัวทำให้อเมริกาโมโห

จึงไม่ทำอะไรเลย

ดร.อาร์มมองว่าการรักษาสมดุล ควรเป็นการรักษาสมดุล “เชิงรุก”

โลกทุกวันนี้เป็นโลกทวิภพ โลกสองขั้วอำนาจ มีมหาอำนาจที่ชัดเจนคือสหรัฐ ซึ่งยังเป็นผู้นำโลกอยู่ และจีนซึ่งเป็นเบอร์สองที่ขึ้นมาเร็วมาก

ขณะเดียวกันวันนี้จีนมีขนาดเศรษฐกิจขึ้นมาเป็น 70% ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐ มีประเทศ 2 ใน 3 ของโลกค้าขายกับจีน มากกว่าค้าขายกับสหรัฐ

“โจทย์ของผู้นำโลกเหมือนกันคือจะทำอย่างไร ถ้าจะสนิทกับสหรัฐ โดยที่ไม่ทำให้จีนโมโห การรักษาสมดุลเชิงรุกคือเราต้องเป็นเพื่อนกับทั้งสองห่วงโซ่ให้ได้ เป็นเพื่อนกับทั้งสองขั้วอำนาจให้ได้ แล้วก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองขั้วอำนาจก็ต้องการแสวงไทยเป็นเพื่อน…”

ซึ่งก็ย้อนมาสู่คำถามว่าอะไรคือจุดขายของเรา อะไรคืออำนาจต่อรองของเรา อะไรคือจุดอ่อนของเรา”

ธรรมชาติของการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร

ไม่ใช่เรื่องของความมั่นคงเพียงอย่างเดียว

แต่มีเรื่องของเทคโนโลยี มีมิติเรื่องเศรษฐกิจ อุดมการณ์ทางการเมือง คุณค่าทางการเมือง ซึ่งพัวพันกันไปหมด

โจทย์ทุกวันนี้มีความซับซ้อนขึ้นมาก

หากพูดถึงงานเลี้ยงทางการเมืองที่ไม่เชิญเรา แต่งานเลี้ยงเศรษฐกิจเขาอาจจะเชิญเราก็ได้ เพราะปัจจุบันทุกมิติเชื่อมโยงกันหมด

 

ดร.สุรเกียรติ์เสริมว่าจุดยืนไทยนั้นชัดเจนคือเราไม่ต้องการเลือกข้าง

ไทยต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐและจีน

เราต้องการให้เกิดความสมดุลในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐ หรือแม้แต่กับรัสเซีย ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นการ “รักษาสมดุลในเชิงรุก”

ไม่ใช่กลัวว่าเราคุยกับใครแล้วจะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ

สิ่งสำคัญคือเราต้องมียุทธศาสตร์ว่าจะสร้างสมดุลอย่างไร

นั่นคือการกระจายให้เกิดความพอดี

การเยือนของผู้นำหรือการประชุมในเวทีต่างๆ ควรมีการบริหารจัดการให้เกิดความพอดี กล่าวคือ มีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์

ความพอดีนี้จะนำไปสู่ประเด็นว่าเราต้องหาจุดขาย ไทยต้องอยู่ใน “จอเรดาร์” ของประชาคมโลก

เช่น เราคุยอะไรกับจีนที่ภูมิภาคอยากฟังแล้วได้ประโยชน์

“ยกตัวอย่างว่า สมมุติว่าเราคุยกับสหรัฐ ว่าเราจะช่วยเมียนมาในเรื่องมนุษยธรรมได้อย่างไร ก็อาจเปลี่ยนเป็นจุดขายของไทยได้ในเรื่องความร่วมมือ เพราะไบเดนกับ (รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแอนโทนี) บลิงเคนก็บอกเองว่าจะช่วยเมียนมาในเรื่องนี้ผ่านทางประเทศไทย”

 

ดร.สุรเกียรติ์ย้ำว่าในหลายกรณีไทยไม่ควรเลือกใช้ Quiet Diplomacy หรือการทูตที่ไม่เป็นข่าว

แต่ต้องใช้การทูตที่เป็นข่าว มีจุดยืนให้ประชาคมโลกได้เห็น

ไทยสามารถเป็นตัวเชื่อมที่ดึงอาเซียน สหรัฐ ญี่ปุ่น อียู เข้ามา เราจะอยู่ในจอเรดาร์

เราวางจุดยืนเชิงรุก เพราะเราคุยกับเมียนมาได้ แปลงเรื่องความสัมพันธ์กับเมียนมาให้เป็นสินทรัพย์ โดยสามารถเชิญหลายประเทศมาร่วมมือแก้ปัญหาได้

ไทยเป็นสะพานเชื่อมได้เหมือนกับอาเซียน เราสนิทกับอเมริกา สนิทกับจีน สนิทกับอาเซียน ประเทศมุสลิม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนบ้าน

(สัปดาห์หน้า : การทูตล่องหน)