จากสาวบ้านดุง ถึงสาวจะนะ เท่าเทียม (ปลอม)/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จากสาวบ้านดุง

ถึงสาวจะนะ

เท่าเทียม (ปลอม)

 

มีบทบาทของผู้หญิง 2 คนที่น่าสนใจ

หนึ่ง คือ หญิง (นามสมมุติ) อายุ 28 ปี แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ชาว อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

หนึ่ง คือ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนอายุ 19 ปี จากกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เจ้าของฉายาลูกสาวแห่งท้องทะเล

บทบาทที่น่าจะช่วยยืนยัน “ความผิดพลาดล้มเหลว” ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในรอบปี 2564 ในสายตาพรรคร่วมฝ่ายค้าน 9 ประการ

โดย 2 ใน 9 ประการคือ

1. ภาวะความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความบกพร่องติดกับดักการใช้อำนาจจนเคยชิน เช่น การพยายามใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล

6. รัฐบาลคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มุ่งใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ เองก็ขาดจิตสำนึกประชาธิปไตย ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เมื่อมีการแสดงออกทางการเมืองหรือการชุมนุมจึงมักเห็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ ยังมีเจตนาในการบิดเบือนการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง มาดำเนินคดีกับประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติ

ทำให้เกิดการดำเนินคดีกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม

 

ผู้หญิงคนแรกนั้น เป็นที่กล่าวขวัญจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา

โดยระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปสักการะปู่ศรีสุทโธและย่าประทุมมา ที่เกาะคำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

ภายหลังจากเข้ากราบสักการะปู่ศรีสุทโธแล้ว นายกฯ ได้เดินทักทายชาวบ้านที่มารอต้อนรับและให้กำลังใจ

ระหว่างนั้น “หญิง” ได้กล่าวกับนายกฯ ว่า

“อยากให้มาพัฒนาเยอะๆ แต่หากพัฒนาไม่ได้ ขอให้นายกฯ เกษียณไปเร็วๆ นะคะ”

ปฏิบัติการของ “หญิง” แห่งบ้านดุงดังกล่าว

ทำให้มีปฏิกิริยาตอบโต้จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ และแนวร่วมหนุนรัฐบาลทันที

โดยมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านดุง ได้ติดต่อ “หญิง” จะเดินทางมาหาที่บ้านเพื่อขอพูดคุยด้วย แต่เจ้าตัวไม่อนุญาตให้เข้ามาพูดคุยที่บ้าน ทางตำรวจ สภ.บ้านดุง จึงเชิญไปที่โรงพักเพื่อทำประวัติ แต่หญิงไม่รู้ว่าตนเองผิดอะไร ทำไมถึงต้องทำประวัติ จึงยังไม่เดินทางไปที่ สภ.บ้านดุง

ขณะที่แนวร่วมหนุนรัฐบาลคือ นายอานนท์ แสนน่าน อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย ได้นำรูปโปรไฟล์ของ “หญิง” ในเฟซบุ๊ก ไปเผยแพร่ และกล่าวหาว่าเธอเกี่ยวข้องกับการเมือง

ซึ่ง “หญิง” ได้ตอบโต้ว่า “ขอยืนยันไม่ได้เกี่ยวกับใครทั้งนั้น ไม่ได้เป็นสาวกใคร แต่จะเป็นสาวกของคนที่ทำงานได้…อย่างนายกฯ ชื่นชมท่านด้วยที่ตอนแรกที่เข้ามาทำ เพราะช่วงนั้นบ้านเมืองวุ่นวาย ท่านบอกขอเวลาอีกไม่นาน แต่นี่นานเกินแล้ว”

ส่วนเรื่องที่มีการกล่าวหาว่าเตรียมพร้อมมาอย่างดีเพื่อจะมาสร้างภาพถาม “นายกฯ” ต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อทำลายภาพลักษณ์เมืองอุดรนั้น

หญิงบอกว่าไม่เป็นความจริงแน่นอน ไม่ได้เตรียมความพร้อมอะไรเลย เมื่อไปถึงก็ไปยืนรอนายกฯ เหมือนกับคนอื่นๆ พอนายกฯ เดินทักทายประชาชนก็หาจังหวะเข้า และเห็นคนมาจัดเตรียมที่นั่งให้คุณยายพร้อมกับเตรียมคุณยายว่าถ้านายกฯ เดินมาให้คุณยายพูดเลยนะ จึงเดินเข้าไปยืนข้างหลังคุณยาย เพราะมั่นใจว่านายกฯ ต้องเดินมาทักทายคุณยายแน่นอน

“จุดประสงค์ของการไปเพราะอยากพูดคุยและแสดงจุดยืนว่านายกฯ ควรพักผ่อนที่บ้านและให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน แล้วถ้าไปพูดจาหยาบคายใครเขาจะคุยด้วย ไม่ได้ต้องการไปทำลายภาพลักษณ์เมืองอุดรอย่างที่มีคนพยายามจะใส่ร้าย…ยืนยันว่าไม่ได้รับงานใคร ไม่ได้เงินจากใครสักบาท ต้องเติมน้ำมันรถไปเองด้วย” หญิงระบุ

 

ทันทีที่มีกระแสข่าวว่า ตำรวจ สภ.บ้านดุง มาขอพูดคุยกับ “หญิง” และต้องการให้ไปทำประวัติ หลังจากมีเหตุการณ์ดังกล่าว

ทางตำรวจอุดรธานีและโฆษกรัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการดำเนินการตามกล่าวหา

แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครเชื่อ เพราะ “หญิง” เองก็ยืนยันว่ามีหลักฐานที่พร้อมแสดง

ทำให้เกิดคำถามขึ้นอย่างเซ็งแซ่จากฝ่ายต่างๆ

ถึงความ “เท่าเทียม” ในการแสดงออกทางการเมืองต่อผู้นำประเทศ

เพราะดูเหมือนในฝ่ายที่สนับสนุน หรือเชียร์ ได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นจากฝ่ายรัฐและแนวร่วม

ปล่อยให้เข้าถึงเนื้อถึงตัว ซึ่งไม่ใช่เพียง พล.อ.ประยุทธ์

ยังรวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่โชว์ความเป็นหนึ่ง เดินทางร่วมไปด้วย

ทำให้ปรากฏช็อตอันลือลั่น โดยขณะที่ พล.อ.ประวิตรลงพื้นที่พบปะประชาชนที่วัดป่าบ้านตาดร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์นั้น จังหวะที่ลงจากรถ มีหญิงสาวสูงวัย 2 รายปรี่เข้ามาหา โดยรายหนึ่งได้ก้มกราบเท้า พล.อ.ประวิตร พร้อมกับมีเสียงตะโกนว่า ท่านนายกฯ หล่อจังเลย สมาร์ต พร้อมกับอวยพรให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

ขัดเขินกันไปทั้งคนถูกกราบและผู้ร่วมคณะ จนในภายหลัง พล.อ.ประวิตรได้มาปัดว่าไม่เคยคิดเป็นนายกฯ

ตรงกันข้าม เมื่อมีกลุ่มประชาชนที่เห็นต่าง อาทิ กลุ่มอุดรไม่ทน มารวมตัวกันเพื่อต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์

กลับปรากฏว่า เจ้าหน้าที่พยายามเจรจาให้ออกจากพื้นที่ เมื่อไม่เป็นผล ก็ได้นำร่มดำมากาง และนำป้ายให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีมาปิดกั้นแทน

จึงไม่น่าประหลาดใจที่จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เท่าเทียม หรือการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานต่อประชาชน ที่เชียร์และไม่เชียร์ผู้นำประเทศ

 

ซึ่งการปฏิบัติแบบ “สองมาตรฐาน” นี้ มิได้เกิดเฉพาะกับสาวบ้านดุง

หากแต่เกิดกับ “สาวจะนะ”

อันเป็นสาวคนที่สองที่บอกในตอนต้นว่าน่าจับตามอง

นั่นก็คือ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนอายุ 19 ปี จากกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เจ้าของฉายา “ลูกสาวแห่งท้องทะเล”

เธอถูกนำไปเปรียบเทียบกับ “เกรต้า ธันเบิร์ก” สาวน้อยชาวสวีเดนที่ต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน

ด้วยการเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้าน “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบลในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มาตั้งแต่อายุ 17 ปี

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วระหว่างวันที่ 10-15 ธันวาคม 2563 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีการทำสัญญาบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกับรัฐบาลแล้ว

แต่ผ่านมาเกือบ 1 ปี รัฐบาลยังไม่มีท่าทีว่าจะดำเนินการทำตามข้อตกลงที่สัญญาไว้

ซึ่ง น.ส.ไครียะห์มองว่าผิดกับสัญญาที่เคยให้ไว้

จึงเดินทางมานั่งทวงสัญญาหน้าทำเนียบ ในเวลา 16.00 น.ทุกวัน

โดยยืนยันว่า จะอยู่จนกว่าจะได้คำตอบ

แต่ผ่านไปร่วมสัปดาห์ ไม่มีคำตอบจากรัฐบาล

ทำให้เมื่อ 6 ธันวาคม ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ ได้เดินทางมาสมทบ และปักหลักที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

พร้อมประกาศจัดตั้งหมู่บ้านลูกทะเลจะนะรักษ์ถิ่นบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

 

ปรากฏว่า ช่วงค่ำวันเดียวกันนั้นเอง ตำรวจได้เริ่มเข้ามากดดัน

ตั้งแต่การเจรจาให้ย้ายจากบริเวณถนนหน้าทำเนียบรัฐบาลไปฝั่งเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

แต่ทางกลุ่มปฏิเสธพร้อมแจ้งว่า หากมีการมาบังคับย้ายก็จะไม่ต่อสู้ แต่จะยกมือขอดุอาอฺ (ขอพรจากพระเจ้า) เท่านั้น

จนเวลา 21.22 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนก็ตัดสินใจเลือกใช้วิธีแตกหัก

โดยได้บุกเข้าควบคุมตัวประชาชนและนำตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหา โดยกันสื่อมวลชนและพยายามส่องไฟไม่ให้เห็นการปฏิบัติการ มีการรื้อป้ายผ้าและรั้วเหล็กออก

พร้อมควบคุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นรวม 37 คน เป็นหญิง 31 คน และชายอีก 6 คน ไปยังสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต

ทั้งนี้ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษก บช.น.ระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุม 1.ชุมนุมกีดขวางจราจร 2.เกรงว่าจะแพร่เชื้อโรค 3.เจ้าหน้าที่เจรจาหลายครั้งเพื่อขอให้ย้ายไปสถานที่อื่นแต่ก็ไม่ยอมย้าย 4.กลุ่มนี้เคยเรียกร้องครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2563 รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ และการชุมนุมก็ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง 5.การข่าวทราบมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมอาจจะทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงและก่อความไม่สงบ 6.การเข้าจับกุมไม่ใช่สลายชุมนุม เป็นการเจรจาก่อนเข้าจับกุม ไม่ใช้ความรุนแรง

 

ขณะที่มีรายงานข่าวขณะประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เกรงว่าหากให้ผู้ชุมนุมปักหลักอยู่ตรงนี้ จะมีคนมาเติมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องรีบดำเนินการ หากไม่รีบเคลียร์ก่อนจะทำให้จัดการยาก

“ผมฟังอยู่แล้วประชาชน ถ้าไม่ฟังก็ไม่ใช่ เพราะนี่คือกระบวนการประชาธิปไตย แต่ต้องดูกฎหมายด้วย ผมได้สั่งการไปแล้ว ไม่ได้ไปลงโทษอะไรกันมากมาย ให้ไปตักเตือนกันก็แค่นั้น” นายกฯ กล่าว

แต่ดูเหมือน น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ที่รอดจากการถูกจับกุม จะเห็นต่าง โดยได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ว่า

“เราขอยืนยันแม้จะถูกจับกุมอีกกี่ครั้ง เมื่อออกมาแล้วก็จะกลับมายังทำเนียบเหมือนเดิม ภารกิจนี้ขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขอยืนหยัดจนถึงที่สุด” น.ส.ไครียะห์กล่าว

และว่า “เราได้สารจากผู้ที่ถูกจับว่าเขาจะมาเจรจาไม่ดำเนินคดีกับพวกเรา แลกกับการไม่เรียกร้องเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะอีกต่อไป แต่พี่น้องทุกคนไม่ยอมรับ และพร้อมที่จะสู้คดี”

ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

“การตัดสินใจโดยลุแก่อำนาจของประยุทธ์ในครั้งนี้ แม้แต่ชาวบ้านก็ไม่เว้น ไม่มีการเจรจา ไม่มีการรับฟังชาวบ้าน นี่สะท้อนชัดว่า เรายังอยู่ในรัฐทหาร ไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย”

 

แม้จะมีเสียงติติงรัฐบาล

แต่ดูเหมือนว่า โมเดลหนึ่งที่รัฐบาลนี้มักยึดถือและกระทำต่อฝ่ายที่ต่อต้าน

นับตั้งแต่กลุ่มราษฎร กลุ่มเยาวชนปลดแอก มาจนถึงกรณีสถานการณ์ ‘ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง’ ที่อุดรธานี

รวมถึงล่าสุดคือการส่งหน่วยควบคุมฝูงชน (คฝ.) เข้าสลายการชุมนุมของชาวจะนะ

นั่นคือใช้อำนาจควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

โดยหวังว่าจะทำให้เกิดความสงบราบคาบ

แต่กระนั้นก็ยังเกิดคำถาม ว่าจะหยุด หรือยุติได้จริงหรือ

เพราะด้านหนึ่ง สังคมได้เห็นการปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวพร้อมการกู่ตะโกน “เรารักลุงตู่” ดังกระหึ่ม

แถมได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากฝ่ายรัฐ

ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการปฏิบัติต่อฝ่ายไม่เห็นชอบกับรัฐบาล

ถือเป็นการปฏิบัติแบบ “สองมาตรฐาน”

เป็นความ “เท่าเทียม” แบบ “ปลอม-ปลอม”

จึงไม่แปลกที่จะมีการต่อต้านที่ขยายตัวไปเช่นกัน

ไม่เว้นแม้แต่ “สาวบ้านดุง” กระทั่งมาถึง “สาวจะนะ”