ตัดคะแนนกันเอง… จะแพ้ต่อเนื่อง อย่าประมาท…คิดว่าจะชนะอย่างเดียว/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ตัดคะแนนกันเอง…

จะแพ้ต่อเนื่อง

อย่าประมาท…คิดว่าจะชนะอย่างเดียว

 

มีคำถามว่าถ้าฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันกับฝ่ายค้านสู้กันในเกมเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคร่วมฝ่ายค้านมีโอกาสแพ้ แล้วทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าปัจจุบันได้หรือไม่?

คำตอบคือ มีโอกาสแพ้และชนะเท่ากัน…

ถ้าสถานการณ์การเมืองยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คือรัฐบาลบริหารล้มเหลวจนถึงปีหน้า และการเลือกตั้งมีขึ้นตามที่วิเคราะห์ไว้ ว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังจากงบประมาณปี 2566 ผ่านสภา และมีจัดการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเสร็จสิ้นในปลายเดือนกันยายน 2565 จึงจะมีการยุบสภา

นั่นเป็นการชิงความได้เปรียบของฝ่ายรัฐบาล ที่จะเอามาชดเชยความล้มเหลวของฝ่ายตน

มีปัจจัยบอกเหตุที่จะมีความเป็นไปได้ที่จะแพ้หลายประการ

 

1.การขยายอำนาจของรัฐบาล

รัฐบาลชุดนี้สืบทอดอำนาจมายาวนาน 7-8 ปี มีเวลาขยายเครือข่ายอำนาจผ่านกลไกราชการ ซึ่งปัจจุบันผ่านกระทรวงมหาดไทย…ผู้ว่าราชการจังหวัด…นายอำเภอ ลงไปถึงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน และยังผ่านระบบงานของตำรวจ แถมยังมีทหารตามพื้นที่ต่างๆ

มีการขยายอิทธิพล บารมี ผ่านนักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่นทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. ซึ่งปัจจุบันงบประมาณต่างๆ ของท้องถิ่น ยังต้องผ่านความเห็นชอบของมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดดูแล

อบจ.มี 76 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง

อบต. 5,300 แห่ง

และยังมีเมืองใหญ่ที่เป็นเขตพิเศษ คือ กทม. และพัทยา

การเลือกตั้ง อบจ. เทศบาลและ อบต.ทั่วประเทศที่เสร็จสิ้นไป เท่ากับเป็นการวางข่ายงานให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบฝ่ายค้าน แม้พรรคฝ่ายค้านจะมีอิทธิพลอยู่กับการปกครองท้องถิ่นบ้าง แต่ก็มิได้มากกว่าฝ่ายรัฐบาล

ความได้เปรียบทางความนิยมของฝ่ายค้านจะอยู่ที่ กทม. เทศบาลนคร เทศบาลเมืองอีกจำนวนหนึ่ง

แต่ฝ่ายรัฐบาลจะได้เปรียบในการคุมพื้นที่ในเขต อบต.และเทศบาลตำบล

 

2.ความได้เปรียบจากการสะสมเสบียง

ในการศึกครั้งต่อไปฝ่ายรัฐบาลมีเสบียงมากกว่าหลายเท่า มีผู้ประเมินความได้เปรียบเสียเปรียบ ว่าจะต่างกันในอัตรา 40 ต่อ 10 ในเขตที่แข่งหนัก

ด้วยเหตุผลในข้อนี้รัฐบาล อาจจะดึงผู้สมัคร ส.ส.ฝ่ายตรงข้าม ในระดับเกรด A และ B ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการลดแลกแจกแถม ซึ่งจะมีขึ้นพอดีกับระยะใกล้การเลือกตั้งแบบไม่ผิดกฎหมาย

นอกจากนั้น อาจจะมีโครงการที่ใช้ในการหาเสียงถ้าได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง

 

3.สถานการณ์ร้าว… แต่ไม่แตก ของฝ่ายรัฐบาล

ประเมินได้ว่าการแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล ในช่วงการหาเสียงเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกพรรคต่างต้องการให้มี ส.ส.จำนวนมากเพื่อใช้ในการต่อรองเวลาร่วมรัฐบาล

แต่การแตกกันของพรรคแกนนำเช่นพลังประชารัฐ จะเป็นตัวแปรสำคัญ

ถ้าแตกกันจริงแบ่งเป็น 2 พรรคความเข้มแข็งของฝ่ายรัฐบาลจะลดลงเยอะทำให้การต่อสู้ในการหาเสียงฝ่ายค้านง่ายขึ้น

แต่เท่าที่ประเมินดูจนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้คงเป็นรอยร้าวที่ใช้ผลประโยชน์มาเชื่อมได้

พรรคแกนนำคงประนีประนอมกันได้ เพื่อผลประโยชน์ของทุกคนใน พปชร. และพรรคร่วม

ไม่มีใครอยากตีกันบนโต๊ะอาหาร

 

4.ตัวแปรสำคัญ คือฝ่ายค้าน ตัดคะแนนกันเอง

ถ้าหากแต่ละพรรคในฝ่ายค้านยังคงคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สำคัญคือจะต้องแข่งกันให้ได้ ส.ส.มากที่สุด คาดว่าการตัดเสียงกันเองโดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคขนาดกลางอย่างพรรคก้าวไกล จะเกิดผลเสียเป็นอย่างมาก เพราะทั้งสองพรรคมีกำลังความสามารถที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงครบทั้ง 400 เขต

เขตที่ฝ่ายตรงข้ามอ่อนมากแข่งกันเองไม่มีปัญหา

แต่เขตที่ฝ่ายตรงข้ามแข็ง อาจแพ้ตั้งแต่ลงสมัคร ประเมินกันว่า พื้นที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 80 เขตจะตัดคะแนนกันเอง จนแพ้พรรคฝ่ายตรงข้ามทั้งคู่

ถ้าสามารถสับหลีกกันได้ในเขตที่อันตราย ประมาณ 10% หรือ 40 เขตจะเป็นผลดีทั้งคู่ ถ้าทำไม่ได้เลย จะไปบริหารบ้านเมืองดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างไร?

การได้ ส.ส.เกิน 250 ของฝ่ายค้านชี้ขาดที่ตัวแปรนี้

 

5.พรรคเล็กที่เข้ามาเป็นตัวแทรก ก็มีผลให้แพ้หรือชนะได้

การเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบ แต่มีจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 100 คน โอกาสจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน จะต้องมีคะแนนถึง 360,000 และเมื่อพรรคการเมืองทุกพรรคมาเฉลี่ยคะแนนตรงนี้ พรรคเกิดใหม่มีโอกาสได้ ส.ส.เพียง 2-3 คนเท่านั้น

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้พรรคที่มีทุนน้อย ต้องคิดใหม่ เพราะถ้าทำพรรคต่อไปจะเหนื่อยมากและได้ ส.ส.ไม่กี่คน

ผลเสียตามมาก็คือ จะไปตัดคะแนนพรรคที่เป็นแนวร่วมกันเอง แม้จะส่งไม่หมดทั้ง 400 เขต เพียงส่งแค่ 100 เขตหรือจังหวัดละคน ก็ใช้เงินไม่น้อย

ถ้าพรรคที่เป็นแนวร่วมเกิดไปมีคะแนนสูสีกับคู่แข่ง แพ้ชนะกันอยู่ 500-1,000 คะแนน แล้วพรรคใหม่ไปตัดคะแนนพวกเดียวกันมาจำนวนหนึ่ง จากที่จะชนะก็กลับกลายเป็นแพ้ได้

นี่คือสภาพการณ์ที่พรรคเล็กซึ่งไม่มีเขตพื้นที่เป็นฐานที่มั่นของตัวเอง หรือพรรคที่เกิดใหม่ต้องตัดสินใจ เช่น พรรคเสรีรวมไทย พรรคกล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคเส้นทางใหม่ ฯลฯ

 

6.กรรมการอาจทำให้ผู้สมัครถูกจับแพ้ฟาวล์

หรือถ้าหนักกว่านั้นคือยุบพรรค

การมีพรรคสำรองยังจำเป็น

ถ้าแพ้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

 

ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ ส.ส.ไม่เกิน 230 ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะได้เกินครึ่งเพียงแค่ 2-3 คน ก็จะสามารถไปดึงเอาพรรคอื่นๆ เข้ามาร่วม ทำให้คะแนนเสียงมีถึง 270 ตั้งรัฐบาลได้ไม่ยาก (อาจจะใช้วิธีเก่า คือใช้กล้วยเป็นอาวุธ ดึง ส.ส.มาเพิ่ม)

เมื่อฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลสามารถ มีเสียง ส.ส.เกิน 270 จะถือเป็นการพ่ายแพ้ครั้งสำคัญทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายค้าน การพลิกเกมให้กลับมาประชาธิปไตยแบบสากลจะยากยิ่งขึ้น

1. เป็นการแพ้การเลือกตั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

2. การเป็นรัฐบาล หรือร่วมรัฐบาลของฝ่ายค้านเป็นไปไม่ได้เลย อีกฝ่ายจะบอกว่าพวกเขาตั้งรัฐบาลไม่ต้องใช้ ส.ว.ก็ได้

3. แม้ ส.ว.หมดอายุในเดือนพฤษภาคมปี 2567 ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีขึ้น เพราะเขาจะตั้งคนชุดใหม่ที่เป็นพวกของเขาทั้งหมดขึ้นมาอีก

4. ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญผ่านสภาก็จะยิ่งเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิม เพราะการแก้รัฐธรรมนูญยังมีมาตราที่เขียนไว้ว่าจะต้องมี ส.ว.อย่างน้อย 84 คนยอมรับการแก้ไข การเมืองก็จะกลับไปเหมือนหลังปี 2562

5. ถ้าการต่อสู้ในสภามีน้ำหนักน้อย และไม่เพิ่มแรงกดดันให้ฝ่ายรัฐบาล ต้องยอมประนีประนอมด้วย

6. การต่อสู้นอกสภาก็จะได้รับแรงกดดันหนักมากขึ้น

ทั้งหมดนี้จะต้องพิสูจน์ในวันเลือกตั้งจริงว่า พรรคการเมือง… นักการเมือง และประชาชนจะเข้มแข็งเหมือนปี 2554 หรือไม่?