โอไมครอนมาแล้ว ผวา ทุบ ศก.ไทย ไม่ทันฟื้นฟูต้องเยียวยาอีกรอบ/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

โอไมครอนมาแล้ว

ผวา ทุบ ศก.ไทย

ไม่ทันฟื้นฟูต้องเยียวยาอีกรอบ

 

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 (ศบศ.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ว่า ตอนนี้โชคดีที่ในประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้

แต่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่น่าวางใจ!!

และที่สุดไทยก็พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว ตามการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา

ประเด็นนี้ “บุรินทร์ อดุลวัฒนะ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” แสดงความเห็นว่า โควิดสายพันธุ์โอไมครอนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงแรง เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลง เช่นเดียวกับราคาทองที่ปรับเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เพราะความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง สร้างความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จึงมีแรงซื้อเข้ามามากขึ้น

ขณะที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ก็ปรับตัวลดลง ในประเทศไทย วันที่ 2 ธันวาคม ดัชนี SET Index ปรับลดลงราว 1.17% อยู่ที่ 1591.84 จุด เทียบกับวันที่ 26 พฤศจิกายน เงินทุนต่างชาติมีแรงขายสุทธิ 1.72 หมื่นล้านบาท หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหรือการเปิดประเทศปรับตัวลดลงมากที่สุด

ขณะที่ค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เห็นได้จากดัชนีค่าเงิน EMCI ที่จัดทำโดยบริษัท J.P. Morgan เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีเศรษฐกิจที่เปราะบางและมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดหากมีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อีกระลอกหนึ่ง ซึ่งเป็นเพราะว่ากลุ่มประเทศนี้มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าถ้าหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ หรือสหราชอาณาจักร

สำหรับมุมมองต่อประเทศไทย “บุรินทร์” ให้ความเห็นว่า แม้จะมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ราว 72% ซึ่งมากกว่าสหรัฐ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ประเทศไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก ถ้าหากมีการแพร่กระจายของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่อาจจะต้องปิดประเทศและปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยในตอนนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 33.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการอ่อนค่าลงมากกว่า 11% ตั้งแต่ต้นปีนี้ และเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

 

ธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบหนักและธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในประเทศไทย ได้แก่ ธุรกิจด้านประกันภัย ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Nikkei Asia ระบุว่ามีบริษัทด้านประกันภัยกว่า 16 บริษัทที่รายงานผลประกอบการออกมาขาดทุน และมี 10 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศผลประกอบการออกมาขาดทุนรวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,800 ล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 3

ในช่วงเดือนกันยายน จำนวนผู้ถือกรมธรรม์โควิดอยู่ที่ 39.8 ล้านคนจากจำนวนประชากรไทยทั้งสิ้น 69.8 ล้านคน เบี้ยประกันภัยสะสม 11,250 ล้านบาท และยอดสินไหมทดแทนสะสมมีมากถึง 9,400 ล้านบาท อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

โดยปัญหาเกิดจากการที่บริษัทเหล่านี้มีการขายประกันโควิด-19 ในรูปแบบเจอจ่ายจบ ซึ่งจะคุ้มครองกรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก็จะสามารถนำใบรับรองแพทย์ไปเคลมรับเงินประกันแบบก้อนเดียวได้ ในระยะถัดไปหากมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย ก็คาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง

 

อีกธุรกิจที่ต้องจับตาคือ การท่องเที่ยวและการบริการ จะถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอกจนเกิดความเสี่ยงทำให้ปิดประเทศอีกครั้ง ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประเทศไทยเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน จนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 130,000 แสนคน ยังน้อยกว่ามากหากเทียบกับตัวเลขก่อนการระบาด

ความกังวลที่เกิดจากไวรัสสายพันธ์โอไมครอน ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวลทั่วโลก ว่าวัคซีนที่ฉีดไปจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ และทำให้ความเชื่อมั่นในการเดินทางในช่วงปลายปีลดลงอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีรายงานว่าอาการของผู้ได้รับเชื้อไวรัสจะไม่รุนแรง

แต่ ณ วันนี้ยังคงเร็วไปที่จะสรุปผลกระทบทั้งหมดได้ แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคงเป็นภาคที่เสียหายมากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่กลับไปเผชิญกับการล็อกดาวน์อีก เพราะอัตราการฉีดวัคซีนของไทยที่เพิ่มขึ้นมามากจะเป็นปัจจัยสำคัญให้ประชาชนจะไม่มีการป่วยหนัก ถึงแม้ว่าจะได้รับเชื้อโควิด

เป็นความเห็นที่รัฐบาลเองปฏิเสธไม่ได้ ต้องจับตาว่า “โอไมครอน” จะทำให้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยสะดุดลงหรือไม่ หลังจากลุยเยียวยาใช้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ไปกว่า 2.6 แสนล้านบาท และหลังเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เวลานี้เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟู ภายใต้งบประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเปิดให้หน่วยงานรัฐส่งโครงการเสนอของบประมาณไปที่สภาพัฒน์ หรือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ยกตัวอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม ล่าสุดหลายกรมกำลังจัดทำโครงการเสนอของบฟื้นฟูดังกล่าวกับสภาพัฒน์ เน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอี อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ของบประมาณ 100 กว่าล้านบาทเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีฟื้นกิจการ สนับสนุนให้ได้มาตรฐาน มอก.เอส ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและบริการ ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวระดับชุมชนผ่านหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ซีไอวี) ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ของบฯ เกือบ 1,000 ล้านบาท อาทิ โครงการประหยัดพลังงานสำหรับโรงงานเอสเอ็มอี และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) อยู่ระหว่างจัดทำโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเช่นกัน

เหล่านี้เป็นเพียงน้ำจิ้มของความคึกคักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากหน่วยงานรัฐ แต่หาก “โอไมครอน” ทำให้โควิด-19 ไทยกลับมาย่ำแย่อีก มีหวังยังไม่ทันฟื้นฟู ประเทศไทยอาจต้องกลับไปเยียวยาครั้งใหญ่อีกรอบ ภายใต้งบประมาณที่แสนจำกัด…

เรื่องนี้รัฐบาลต้องรับมือให้ดี!!