หอมกลิ่นความฝัน/เครื่องเคียงข้างจอ วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

หอมกลิ่นความฝัน

 

เหมือนเป็นโครงการแลกเปลี่ยนโดยบังเอิญ เมื่อผมโทร.หาน้องที่สนิทชิดเชื้อที่ชื่อ “จุ้ย” หรือ “ศุ บุญเลี้ยง” นักคิด นักเขียน นักดนตรี คนนั้น

“พี่จะส่งหนังสือเรื่องสั้นชุด ว้าวุ่น…วาย ไปให้อ่านนะ” เขาก็ถามกลับมาว่า

“ผมส่งหนังสือใหม่ของผมไปให้ พี่ได้รึยัง?”

วันรุ่งขึ้นผมก็พบมันวางอยู่บนโต๊ะทำงานที่บริษัท รอให้เปิดอ่านอยู่ แน่นอนครับ ผมเปิดอ่านในคืนต่อมา และใช้เวลาอีกหนึ่งวันก็อ่านรวดเดียวจบ

 

จุ้ยบอกว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรกของเขา ซึ่งทำให้ผมค่อนข้างประหลาดใจ เพราะเขาคล่ำอยู่ในวงอักษรมานาน มีผลงานออกมาก็หลายเล่ม ซึ่งหนักไปทางเรื่องสั้น แต่เมื่อเป็นนิยายเรื่องแรกที่เขาเขียน จึงมีนัยให้อยากอ่านมากขึ้น

ยิ่งมีคำโปรยไว้มุมบนซ้ายของปกว่า “นวนิยายชวนดม” ตามทักษะในการเล่นสนุกกับคำของจุ้ย ก็ทำให้ต้องเปิดไปอ่านตั้งแต่คำนำกันเลย

ที่จุ้ยใช้ว่านวนิยายชวนดมล้อกับชื่อหนังสือ “หอมกลิ่นความฝัน” นั้น ก็เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกาแฟของคนที่อยู่รายล้อมกระบวนการชงกาแฟให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำสักถ้วย

คนที่ว่านี้เป็นหลากหลายตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะ “ปู” หญิงสาวที่ฝันอยากเป็นเจ้าของร้านกาแฟ, “ชิ” เพื่อนสาวของปูที่ขึ้นดอยไปส่งเสริมให้คนบนดอยปลูกกาแฟแบบออร์แกนิก และ “โน่” ชายหนุ่มผู้บริหารของบริษัทที่ให้บริการด้านต่างๆ เกี่ยวกับกาแฟ โดยเฉพาะการเทรนนิ่ง

แค่ชื่อตัวละครหลัก จุ้ยก็เล่นล้อกับกาแฟ “คาปูชิโน่” แล้ว และเมื่ออ่านจนจบเล่ม นวนิยายผสมสาระของกาแฟเล่มนี้ก็มีโทนไปทาง “คาปูชิโน่” ไม่น้อย ด้วยความที่มีความนุ่ม หวาน มัน ดื่มได้คล่องคอ ไม่เข้มแบบเอสเพรสโซ่ หรือขึงขังแบบอเมริกาโน่

เรื่องจะเล่าสลับไปมาระหว่าง “ปู” และ “ชิ” ให้เห็นถึงชีวิตที่มีกาแฟเป็นหัวใจของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร ปูนั้นฝันอยากมีร้านกาแฟ แต่ขอเริ่มต้นด้วยกาแฟเคลื่อนที่เล็กๆ ก่อน โดยการซื้อรถกาแฟเคลื่อนที่เพื่อจะได้ขับไปขายในที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก แน่นอนที่ในใจคงคิดถึงความอิสระเสรี ตามประสาคนหนุ่ม-สาวที่มักฝันในทางนี้ทั้งนั้น

ไม่น่าเชื่อว่าอุปสรรคที่ตามมากับการทำรถขายกาแฟจะมีหลากหลายมุมให้คนอ่านได้พลอยลุ้นไปด้วยว่าเธอจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นประเภทของลูกค้าที่มาสั่งเครื่องดื่มที่ไม่เหมือนกับที่ตั้งใจ จากกาแฟกลายเป็นนมอุ่นๆ ซะมาก หรือสถานที่ขายที่ผิดกฎระเบียบของเจ้าของสถานที่เข้า รวมทั้งอุปกรณ์การชงกาแฟที่พังขึ้นมาจนทำให้เธอได้พบกับ “โน่”

ตอนที่ปูหอบเอาเครื่องชงกาแฟที่ซื้อจาก “คอฟฟี่เมจิค” เพื่อไปให้ซ่อม แต่ได้รับการปฏิเสธจนเกือบจะทุบเครื่องโชว์ เหมือนคุณป้าทุบรถที่เกิดเป็นข่าวขึ้นมาแล้ว โน่ที่เป็นผู้จัดการใหญ่และมีจิตวิทยาพอที่จะเข้ามาสงบจิตใจของเธอให้เย็นลง เชื้อเชิญขึ้นไปปรับทัศนคติ เอ้ย ปรับความเข้าใจกันในห้องแอร์เย็นๆ ได้

บทพูดของโน่ทำให้คนอ่านเห็นได้ว่า โน่รู้เรื่องเครื่องชงกาแฟ วิธีการชงกาแฟประเภทต่างๆ และปัญหาที่มักเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งผู้เขียนคือจุ้ย บอกว่าเขาต้องอาศัยความรู้จากคนใกล้ชิดที่เปิดร้านขายกาแฟจริงๆ เพื่อเป็นข้อมูลมาเขียนแบบรู้จริง

นอกจากนั้น เขายังต้องค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟผ่านหนังสือต่างๆ เป็นตั้ง ยิ่งศึกษาก็ยิ่งสนุกกับการเรียนรู้ จนข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟที่อัดแน่นนั้นสามารถทำให้เขาเปิดร้านกาแฟได้จริงๆ เลย

นอกจากค้นคว้าจากหนังสือ เขายังลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้การทำกาแฟให้เห็นจริง โดยการบุกขึ้นไปถึงดอยช้าง จ.เชียงราย และได้เจ้าของไร่นำชม ให้ความรู้ และสาธิตให้เห็นจริงๆ ซึ่งข้อมูลการปลูกกาแฟบนดอย และบรรยากาศของไร่กาแฟนั้นถูกนำมาเขียนถึงกับการเล่าเรื่องของชิ”

 

ชิส่งกาแฟจากดอยคำหอมให้เพื่อนของเธอไว้ชงให้ลูกค้า เป็นกาแฟออร์แกนิกแท้ๆ ที่เธอกระตุ้นให้ชาวบ้านที่เป็นชนกลุ่มน้อยทำ แทนที่จะใช้ปุ๋ยเคมีเหมือนเคย แน่นอนที่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ตลาด” แค่ลูกค้าชื่อปูคนเดียวหรือลูกค้ารายย่อยๆ ไม่กี่รายคงไม่พอที่จะสร้างรายได้ให้กับคนปลูกได้เพียงพอ

จากเพื่อนที่ซื้อเครื่องชงจาก “คอฟฟี่เมจิค” ชักนำให้ชิได้ลองเสนอเมล็ดกาแฟของเธอให้โน่ได้ลิ้มลอง ถึงกระนั้นเธอก็ไม่ได้เจอกับตัวเขาเสียที ทำได้แค่ฝากเมล็ดกาแฟให้เขาได้ลองชิม

ในขณะที่เธอพยายามขยายตลาด ปูก็ต้องขายรถกาแฟนั้นทิ้ง เพื่อหาเงินก้อนมาซื้อร้านกาแฟริมทะเลแห่งหนึ่งที่เธอไปพบเข้าโดยบังเอิญ และตกหลุมรักในทันที พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้เป็นเจ้าของร้านกาแฟในฝัน ณ ร้านเล็กๆ แห่งนี้

ในที่สุดเธอก็สามารถเป็นเจ้าของร้านที่ว่านี้สำเร็จ พร้อมปัญหาจากกระบวนการทำร้านก็ตามมามากมาย ในขณะที่ชิก็สามารถเจอตัวโน่ได้สำเร็จ พร้อมเชิญชวนให้เขาขึ้นไปสัมผัส “ความจริง” บนดอยที่เธอทำงาน

ที่บนดอยนอกจากข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟที่ชายหนุ่มได้รับแล้ว ยังมีเสน่ห์ของวิถีชีวิตของคนบนที่สูงที่เขาประทับใจ รวมทั้งเขายังได้สัมผัสกับเสน่ห์ของหญิงสาวที่ดูเก๋แปลกๆ คนที่ชื่อ “ชิ” นี้อีกด้วย

โน่รับปากว่าจะผลักดันให้เจ้าของบริษัทรับกาแฟของเธอไปขาย พร้อมทำแคมเปญเพื่อสังคมเพื่อสร้างแบรนด์ให้กับ “คอฟฟี่เมจิค” ด้วย

แต่ด้วยวิถีของธุรกิจที่มีตัวเลขกำไรเป็นตัวตั้ง ความคิดของเขาจึงถูกปฏิเสธ นั่นทำให้เขาพบว่า มันไม่ใช่วิถีทางของการทำงานที่เขาฝันไว้ เขาค้นพบความเป็นตัวตนที่ซ่อนอยู่ในความฝันว่า เขาน่าจะทำอะไรเพื่อคนอื่นได้มากกว่านี้

และนั่นทำให้เขาลาออกจากบริษัท เพื่อมาทำตามความฝันของตนเอง

 

ทั้งจากโน่ ปู และชิ สะท้อนให้เห็นโลกของคนหนุ่ม-สาวที่มีความฝัน มีพลัง มีความกล้าได้กล้าเสียที่จะเผชิญชีวิตและอุปสรรค ซึ่งก็ตรงกับคนหนุ่มสาวในทุกยุคสมัย โดยเฉพาะเมื่อตัวผู้เขียนคือ “ศุ บุญเลี้ยง” เองนั้นได้ชื่อว่าเป็นนักฝัน และนักปลุกระดมความฝันให้กับใครต่อใครมานักแล้ว ผ่านงานเขียน งานเพลง และการพูดของเขา เขาจึงเล่าเรื่องความฝันของตัวละครได้อย่างมีชีวิตชีวา

และที่บอกว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นคาปูชิโน่นั้นก็มาจากลีลาการเขียนของจุ้ย ที่ใช้คำได้อย่างมีลูกเล่น มีเสน่ห์ กระชับไม่เยิ่นเย้อ แต่มีความลึกซึ้ง เช่นที่เขาบรรยายถึง “โน่” ไว้ว่า

“ใครก็ตามถ้าเข้ามาพัวพันในแวดวงการค้าขาย เขาเลือกเฟ้นกับการคบและค้า สำหรับธุรกิจนะ เงินย่อมสำคัญ แต่คนสำคัญกว่า เพราะทั้งกิริยารับ-จ่ายเงิน ล้วนแล้วแต่ต้องมีคนเป็นประธาน”

 

นอกจากนั้น จุ้ยยังเขียนถึงเหตุการณ์ได้สนุก มีเกร็ดให้ผู้อ่านนึกภาพตามได้อย่างขำขัน เช่น เมื่อบรรยายถึงการทำงานในรถคาร์เฟ่ของปู เขาเขียนว่า

“หัวของเธอเคยโขกกับหลังคาอยู่บ่อยๆ บางคนชมว่าแม่ค้าโพกผ้าสวย หารู้ไหมว่า บางทีภายใต้ผ้าสีสวยแอบมีหัวโนซ่อนอยู่ และถ้าเผื่อรีบร้อนจะมีธุระสำคัญขึ้นมา รถคาร์เฟ่ของเธอก็ไม่อาจเร่งทำเวลาให้ได้ดังใจ ตำรวจอย่าหวังว่าจะได้ค่าปรับเรื่องขับรถเร็ว บางทีเลี้ยวแรงไปหน่อยแก้วตกแตกกระจาย”

ครั้นถึงบทที่ถ้าเป็นหนังหรือซีรีส์ คนดูคงลุ้นตามและมีอารมณ์ฟินจิกหมอน เขาก็เขียนได้โรแมนติกแบบไม่ยัดเยียด

โน่จับโถน้ำผึ้งในมือชิให้เทลงอย่างเดิม โดยไม่ต้องสัมผัสโดนมือกัน ความอุ่นก็ถ่ายเทไปทั่ว

“บางคนดื่มกาแฟแล้วใจสั่น” ชิชวนแขกคุย

“ปกติผมดื่มก็ไม่สั่นนะ แต่วันนี้ไม่ค่อยปกติ”

หลายคนที่อ่านบอกว่าเหมือนกำลังดูหนังผสมอ่านนิยาย ที่เป็นเช่นนี้นั้น จุ้ยเล่าให้ฟังว่าเดิมทีเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อจะเป็นบทหนังเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ที่ผู้คนหันมาสนใจดื่มกาแฟและเปิดร้านกาแฟกัน แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้โปรเจ็กต์หนังต้องแท้งไป และเขาก็ได้ทำคลอดความฝันเสียใหม่ ให้จากหนังกลายเป็นหนังสือเล่มนี้

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมการเดินเรื่องของเขาจึงตัดเป็นฉากๆ แบบจบจากตัวละครตัวนี้ปั๊บ ก็ไปเล่าถึงตัวละครอื่นต่อตามแบบสไตล์การทำหนังมากกว่านวนิยายทั่วไป

 

ด้วยความที่เขามีภาพทั้งเรื่องที่เป็นหนังอยู่ในหัวจนทะลุปรุโปร่งแล้ว เมื่อต้องลงมือเขียนเป็นนิยาย เขาจึงใช้เวลาเพียงเดือนเดียวในการเขียนมันออกมา และใช้เวลาเดือนกว่าๆ ในการรีไวส์ผลงานให้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นการแก้บทพูดของตัวละครให้เหมาะสมกับแคแร็กเตอร์เสียเป็นส่วนใหญ่

ในเรื่องมีตัวละครที่เป็นพี่สาวของปู ได้นึกพูดกับตัวเองในใจในวันเปิดร้านกาแฟ “เฉลียงริมเล” ของน้องว่า “ที่ไหนมีกาแฟที่นั่นมีกลิ่น มีทั้งกลิ่นของความฝัน กลิ่นของความรัก”

หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน มีทั้งความกลมกล่อมชวนอ่านของตัวอักษร และความหอมของกาแฟที่คละเคล้าอยู่ในทุกบรรทัด จนต้องหากาแฟมาดื่มไปด้วยยามอ่าน และที่แน่ๆ มีความรักในการเป็น “นักถ่ายทอดความฝัน” ของผู้เขียนอยู่เต็มเปี่ยม

เชิญชวนให้หามาดื่ม เอ้ย มาอ่านกันครับ “หอมกลิ่นความฝัน” ของศุ บุญเลี้ยง