กร “กด” 60

อีกเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะอ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าวแล้ว

สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะจำเลยคดีนี้ ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้มากนัก

นอกจากมอบหมายให้ทนายความไปยื่นเอกสารแถลงปิดคดีด้วยลายลักษณ์อักษร ประมาณ 64 หน้า ต่อศาล

โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะคล้ายและอิงกับเอกสารคำแถลงปิดคดีด้วยวาจาที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีเมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

แต่มีการขยายความและประเด็นการแถลงปิดคดีให้ครอบคลุมทุกประเด็นมากขึ้น

หลังจากนี้ มีแต่การรอคอยอันทรมาน และระทึกใจ

จะผ่อนคลายลงบ้างก็ด้วยการเข้าวัดเข้าวา

อย่างเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปถวายสังฆทานพระจำนวน 9 รูป ที่วัดนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม

พร้อมกับรับ “พระรอด” จากพระครูธีรพัฒนาภรณ์ เป็นขวัญกำลังใจให้แคล้วคลาดปลอดภัย รอดพ้นทุกอย่าง

จริงหรือไม่ วันที่ 25 สิงหาคม ก็คงได้ทราบกัน

ในขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคลื่อนไหวอะไรได้ไม่มากนัก

แต่ขณะเดียวกัน ในฝั่งตรงกันข้าม ทั้งที่โดยเปิดเผย และไม่เปิดเผย กลับมีการเคลื่อนไหว “มาก” เป็นพิเศษ

ทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กองทัพ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รวมกระทั่งแม้แต่องค์กรอิสระ อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ประกาศปัดฝุ่น แผนกรกฎ 52 มาใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยเฉพาะวันอ่านคำพิพากษา วันที่ 25 สิงหาคม

ซึ่งตอนนี้แผนกรกฎ 52 ที่ปรับเป็นแผนกรกฎ 60

ถูกมองว่าเป็นแผน กร “กด” 60 เรียบร้อยแล้ว

เพราะมีเป้าหมายที่จะ “กด” ฝ่ายตรงข้าม ให้ “สงบราบคาบ”

รูปธรรมที่เด่นชัดก็คือ การสกัดไม่ให้มวลชนเข้ามาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขนาดลงไปตามไล่บี้รถตู้ไม่ให้รับจ้างขนคนเข้ามา โดยขู่ที่จะปรับเงินสูงถึงคันละ 5 หมื่นบาท

ขณะที่ สตง. ก็แข็งขันเป็นพิเศษ ด้วยการออกจดหมายไปถึงกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม

ขอให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่อาจจะนำไปใช้สนับสนุนมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 25 สิงหาคม

ด้าน กสทช. ก็มีมติสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องพีซทีวีของกลุ่ม นปช. และคนเสื้อแดง เป็นเวลา 30 วัน โดยระบุเนื้อหาบางรายการผิดหลักเกณฑ์ของ กสทช.

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นการสกัดไม่ให้ นปช. และคนเสื้อแดง ใช้สื่อทีวีปลุกระดมคนเข้ามาชุมนุม

ขณะที่ คสช. แม้ด้านหนึ่งจะบอกว่าไม่ห้ามมวลชนเข้ามาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์

แต่ก็พยายามเน้นว่าอยากให้เป็นการให้กำลังใจในที่ตั้งมากกว่า

ในท่ามกลางปรากฏการณ์ “กด” อย่างหนักดังกล่าว

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาแฉว่า ขณะนี้รัฐบาลบล๊อกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถบัส รถรับจ้าง ต่างถูกควบคุมหมด

แกนนำ นปช. ในพื้นที่เองก็ถูกบล๊อกเช่นกัน จนใครจะไปให้กำลังใจ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ตอนนี้ทางที่ดีคงต้องซื้อตั๋วโดยสารเอง ต่างคนต่างไป เพราะขณะนี้เหมือนว่าได้มีการบล๊อกการสนับสนุนทั้งจากอดีต ส.ส. อดีตแกนนำ แม้จะใช้เงินของตัวเองก็ตาม

“ยอมรับว่าการสกัดกั้นนี้สร้างอุปสรรคแก่ประชาชนไม่น้อย แต่นั่นก็จะสร้างความโมโหแก่ประชาชน เมืองไทยเราเกิดรัฐประหารหลายรอบ ยังไม่เคยมีครั้งใดที่บีบคั้นประชาชนมากเท่าครั้งนี้”

“แม้กระทั่งในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ไม่ได้บีบประชาชนมากเท่านี้ เพราะจัดการกับฝ่ายการเมืองก็ยังต้องให้เกียรติและอำนวยความสะดวกให้พอสมควร วันนี้ประหนึ่งว่า คสช. ยังไม่เชื่อมั่นอำนาจของตัวเอง ถ้า คสช. คิดรักษาความสงบแค่เพียงชั่วคราว ก็จะประสบความสำเร็จ แต่การคิดเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นไปอย่างต้องการ ด้วยรัฐประหาร ย่อมจะไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน เพราะตั้งเป้าที่ยิ่งใหญ่เกินไป” นางธิดากล่าว

เช่นเดียวกับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า ขณะที่ตัวจำเลยคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ดูสงบนิ่ง เยือกเย็น

แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจกลับดูร้อนรนเหมือนคนรู้ตัวว่ากำลังทำผิดหรือไม่

“ทั้งแจ้งดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็น ปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวี หรือตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ้างว่ามีความเคลื่อนไหวใช้งบประมาณขนคนมาให้กำลังใจจำเลย ซึ่งถ้าพิจารณาด้วยเหตุผล เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีเรื่องแบบนี้ มีคนสงสัยว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ สตง. ชงให้รัฐบาลตบเพื่อกดดันผู้นำท้องถิ่นมากกว่า” นายณัฐวุฒิกล่าว

ส่วนในประเด็นที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่ามีการใช้งบฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการนำประชาชนมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น

ปรากฏว่า อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยออกมารุมกระหน่ำอย่างหนัก

เช่น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย บอก ในฐานะที่เป็น ส.ส.ต่างจังหวัด ไม่เชื่อว่าจะมีใครทำเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ส่วนที่จะมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เป็นเรื่องความผูกพัน ความรักใคร่และความสงสารอดีตนายกฯ อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างท่วมท้น

ด้าน นายสุรสาล ผาสุข อดีต ส.ส.สิงห์บุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา อปท. ถูกกำกับดูแลการใช้งบประมาณอย่างเข้มงวด ทุกวันนี้ระวังกันตัวลีบ ไม่กล้านำงบประมาณมาใช้ประโยชน์ตรงนี้แน่ กระดิกตัวยังไม่ได้เลย จึงขอเรียกร้องให้ สตง. เปิดเผยชื่อ อปท. ที่อ้างว่าทำเช่นนั้นออกมาให้ชัดเจน

 

“อย่าทำให้สังคมไขว้เขว เพราะไม่ยุติธรรมกับ อปท. ทั่วประเทศ”

น่าสังเกตว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล อปท. ได้ออกมายืนยันเองว่ากระทรวงมหาดไทยยังตรวจสอบไม่พบและยังไม่มีรายงานเข้ามาว่ามีการทำผิดในพื้นที่ใดบ้าง

ซึ่งสะท้อนให้เห็นกลิ่นอาย “ทางการเมือง” ในกรณีนี้ คละคลุ้ง แน่นอนมีเป้าหมายที่จะกดฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้เคลื่อนไหวได้น้อยที่สุด

แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นเพียง “หลักฐาน” ลอยๆ ก็ตาม

อย่างกรณีเงิน อปท. หลังจากมีเสียงซักไซ้มากๆ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก็ออกมายอมรับว่าเป็นการออกหนังสือเตือนตาม “โซเชียลมีเดีย” ที่มีผู้ไปโพสต์ว่าแม่ถูกหลอกว่าจะพาไปกิจกรรมหนึ่งแต่กลับถูกพาไปศาลฎีกาในวันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดี สตง. จึงออกหนังสือเพื่อเป็นการ “ปราม” เท่านั้น

แต่ดูเหมือนว่า ภาพอีกฝ่าย “ติดลบ” ไปเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงตอบโต้จากฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ นปช. และคนเสื้อแดง

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นเรื่องการขอความร่วมมือ เพราะกิจกรรมบางลักษณะ อาจทำให้สังคมมองออกไปได้ในหลายแง่มุม

ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศโดยทั่วไปให้มีความเรียบร้อยมากที่สุด การจะดำเนินกิจกรรมอะไรต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงไปเกี่ยวโยงทางการเมือง

ส่วนการที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ไปสกัดมวลชนนั้น ก็จำเป็นต้องเข้มงวดต่อการเดินทางในบางลักษณะบางกลุ่ม และบางกรณี

เพื่อไม่ต้องการให้บางบุคคลอาศัยสถานการณ์หยิบไปใช้ให้มีผลในมุมทางการเมืองได้ โดยเฉพาะข้อกังวลเกี่ยวกับกรณีการขนการเกณฑ์คนไปทำกิจกรรมใดๆ ดังนั้น ขอให้เชื่อ เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุมีผล ยืนยันว่าไม่ได้ห้ามการให้กำลังใจ แต่ไม่อยากให้มีการขยับหรือเคลื่อนไหวอะไรผิดไปจากความเป็นธรรมชาติที่ควรเป็นมากกว่า

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกฯ บอกว่า จะเคลื่อนอะไรก็เคลื่อนไป ไม่ได้ห้ามอยู่แล้ว แต่อย่าทำผิดกฎหมาย

“คนรักคนชอบก็มี บอกอย่างเดียวว่าอย่าทำผิดกฎหมาย อย่าละเมิดศาล หรือทำให้เกิดความวุ่นวาย ไปละเมิดสิทธิคนอื่นเขาจะเดือดร้อน ทำให้รถติดขัด อยากไปก็ไปเถอะ แต่อย่าให้มีการจ้างวาน เดี๋ยวผมจะถามคนที่มาว่ามาด้วยอะไร ผมจะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงถามดู รวมกันมาหรือเปล่า หรือมาด้วยตัวเอง หรือใครไปเกณฑ์ให้มา ต้องถามกัน มากันอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกต ในท่ามกลางการประโคมข่าวถึงการระดมคน และเคลื่อนไหวใหญ่โตของฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น

ในการประชุมของหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมถึงกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) 4 กองทัพภาค และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ซึ่งมี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม

ประเมินสถานการณ์ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ปรากฏว่าทิศทางแตกต่างไปจากแผน “กด” ฝ่ายตรงข้ามค่อนข้างมาก

โดยมีการประเมินว่า จะมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 1-2 พันคน

ซึ่งส่วนใหญ่จะเดินทางมาจากจังหวัดปริมณฑล อาทิ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และอยุธยา

ส่วนพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน หน่วยงานด้านความมั่นคงจับตากลุ่มแกนนำในพื้นที่ที่อาจจะมีการเคลื่อนไหวชักชวนคนมาให้กำลังใจซึ่งจะมาในรูปแบบของการเดินทางอาศัยโดยรถตู้ โดยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเกือบ 1 แสนบาทต่อ 1 คัน และอีกช่องทางหนึ่งจะมาจากรถไฟฟรี ที่จะเดินทางมาก่อนวันตัดสินอย่างน้อย 2-3 วัน โดยจะมีการนัดกันบริเวณดอนเมือง และหลักสี่

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ได้เป็นห่วงถึงจำนวนคนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจ

เพียงแต่ห่วงมือที่สามจะมาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายเท่านั้น

ซึ่งก็แตกต่างจากภาพที่ประโคมกันออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งก็คงพอเข้าใจกันได้

นั่นคือสร้างให้น่ากลัว

เพื่อที่จะมีความชอบธรรม ในการ “กด” ฝ่ายตรงข้ามลงให้ราบคาบ

และให้รับชะตากรรมไปอย่างเซื่องๆ