คุยกับทูต มูฮัมหมัด ไตยญาบ ปากีสถานกับการทูตฝ่ายทหาร (ตอนจบ)

 

คุยกับทูต มูฮัมหมัด ไตยญาบ

ปากีสถานกับการทูตฝ่ายทหาร (ตอนจบ)

 

ปากีสถานและไทยมีความคล้ายคลึงกันในทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

ไทยเป็นประเทศที่เชื่อมโยงระหว่างเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชีย

ขณะที่ปากีสถานตั้งอยู่ที่จุดตัดพรมแดนตะวันออกกลาง เอเชียกลาง จีน และเอเชียใต้

ปากีสถานและไทยจึงสามารถทำหน้าที่เป็นประตูสู่กันและกันในภูมิภาคของตน

พันเอกมูฮัมหมัด ไตยญาบ (Colonel Muhammad Tayyab) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย

 

พันเอกมูฮัมหมัด ไตยญาบ (Colonel Muhammad Tayyab) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย เล่าว่า

“การทูตโดยฝ่ายทหาร หมายถึงการดำเนินการใดๆ ตามกรอบนโยบายของรัฐโดยการใช้ทรัพยากรและความสามารถของทหารที่รัฐนั้นๆ มีอยู่อย่างสันติ ปราศจากความรุนแรง (soft power) ทั้งโดยการเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น อันเป็นการลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน”

“สำหรับกองทัพปากีสถาน หนึ่งในวันที่สำคัญที่สุดคือ วันป้องกันประเทศ (Defence Day) เราเฉลิมฉลองวันนี้ในวันที่ 6 กันยายนของทุกปีเพื่อรำลึกถึงความสำเร็จในการป้องกันมาตุภูมิของเราจากอินเดียในปี 1965 เราเฉลิมฉลองวันนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่เหล่าทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยต่อสู้อย่างกล้าหาญและเสียสละ วันนี้ยังช่วยให้เราเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาที่ไม่ว่าโอกาสจะยากลำบากเพียงใด เราจะลุกขึ้นต่อสู้กับความท้าทายทั้งหมดเพื่อปกป้องประเทศและประชาชนของเรา”

“การทูตโดยฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ของทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนในการฝึกและประสบการณ์ ด้านต่อต้านการก่อการร้าย การเยือนในระดับสูง ความร่วมมือในด้านรักษาสันติภาพและการป้องกันประเทศ”

“ปากีสถานให้ความสำคัญในความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศก่อตั้งขึ้นเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ทั้งปากีสถานและไทยเคยเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือซีโต้ (SEATO) ในปี 1954”

“การเสด็จฯ เยือนปากีสถานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระหว่างวันที่ 11-22 มีนาคม 1962 นับเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานและไทย”

“นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ เยือนประเทศปากีสถานในฐานะผู้แทนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามครั้ง”

 

ความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างปากีสถานและไทย

“เรียกได้ว่ามีความมั่นคง มีการปรึกษาหารือทางการเมืองระดับทวิภาคี ซึ่งเพิ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยทั้งสองประเทศได้หารือกันในหัวข้อต่างๆ เพื่อความร่วมมือกัน โดยนโยบาย ‘มองตะวันตก’ ของไทย และ ‘วิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก’ ของปากีสถานเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน”

“ในแง่ของการค้า การเจรจาเพื่อข้อตกลงการค้าเสรีกำลังดำเนินอยู่ หวังว่าบทสรุปจะนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ”

“ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศกำลังขยายตัวและอยู่ในทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาปากีสถานและไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศอันเป็นกรอบที่ครอบคลุม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศที่แข็งแกร่งของทั้งสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น นับย้อนไปตั้งแต่ครั้งที่ได้มีความร่วมมือกันในองค์การความมั่นคง SEATO”

“การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการติดต่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็มีความเข้มแข็งเช่นกัน ปากีสถานต้อนรับนักศึกษาไทยจำนวนหนึ่งที่กำลังศึกษาสาขาวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของปากีสถาน”

พันเอกมูฮัมหมัด ไตยญาบ (Colonel Muhammad Tayyab) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย

“ไทยกับปากีสถานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1951 นับถึงวันนี้ได้ 70 ปีแล้ว ปากีสถานได้ให้ยืมวัตถุทางพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งสำหรับนิทรรศการคันธาระ (Gandhara exhibition) ซึ่งมีแผนที่จะจัดประมาณปลายเดือนมีนาคม ปี 2022 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ”

“นโยบายของนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน (Imran Khan) มุ่งเน้นการพัฒนาบนพื้นฐานของความเชื่อมโยงพันธมิตร และความสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน ปากีสถานเป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างโลกอิสลามกับวัฒนธรรมและอารยธรรมอื่นๆ เราเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เรากำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ เพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนในอัฟกานิสถาน”

นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้มีความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกัน เพราะได้มีการประชุมความร่วมมือระดับทวิภาคีด้านวัฒนธรรมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom) เมื่อต้นปีนี้ระหว่าง รมว.วัฒนธรรมของไทย กับ รมว.มรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

โดยทั้งสองประเทศเห็นตรงกันในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งในเมืองตักศิลาของปากีสถาน เป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาอารยธรรมของชมพูทวีป มีความเจริญรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนา มีการเก็บรวบรวมพระพุทธรูปสำคัญ และพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

ตลอดจนมีแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ที่สำคัญของโลก และมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วกว่า 10 แห่ง

 

 

การวางรากฐานทางนโยบายสันติภาพของปากีสถาน มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (Muhammad Ali Jinnah) บิดาผู้ก่อตั้งปากีสถานกล่าวว่า

“เราพร้อมที่จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ในหมู่ประชาชาติต่างๆ ในโลก ปากีสถานจะไม่มีวันหยุดการสนับสนุนทั้งด้านวัตถุ และจริยธรรมต่อผู้คนทั่วโลกที่ถูกกดขี่ และจะรักษาหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ” ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปากีสถานยังคงยึดมั่นในหลักการชี้นำของบิดาผู้ก่อตั้งนี้

“ผมได้มารับหน้าที่ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2020 ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในโลกที่ต้องต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของ Covid-19 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีการประชุมทวิภาคีที่จัดขึ้นในระดับผู้นำทางทหารระดับสูง นอกจากนี้ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดโดยกองทัพไทย ซึ่งรวมถึงแบบฝึกหัด การบรรยายสรุป การสัมมนา และการลงพื้นที่”

 

“การพักผ่อนในยามว่างของผมคือเล่นกีฬา ได้แก่ เทนนิส ฟุตบอล หรือไต่เขา ที่ประทับใจที่สุดคือการได้เดินทางไปยังภาคใต้ของประเทศไทยพร้อมครอบครัว โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากกองทัพอากาศไทยผู้จัด ซึ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนได้อยู่บ้าน”

“ด้วยเหตุที่ปากีสถานและไทยเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน มีการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งมีความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านการป้องกัน การรักษาความปลอดภัย และงานด้านข่าวกรอง ปากีสถานกำลังแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะผู้สนับสนุนหน่วยรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ จากบทบาทและความสำเร็จของเราในการต่อสู้กับการก่อการร้าย”

“ในขณะเดียวกัน ผมมีความประทับใจในความเป็นมืออาชีพของกองทัพไทยมาก และเห็นว่ากองทัพไทยเป็นหนึ่งในกองทัพที่ดีที่สุดในโลก เท่าที่ผมประสบมา”

“ด้านภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับประเทศปากีสถานได้ครอบคลุมการปฏิบัติการประมาณ 40 แห่งในอัฟกานิสถานและอาซาดแคชเมียร์ ปากีสถานเข้าร่วมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1947 โดยกองทัพปากีสถานมีจำนวนทหารสูงมากที่สุดในหน่วยรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ”

 

“หากพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวในปากีสถาน เรามีสถานที่น่าสนใจหลายแห่งทั่วประเทศให้เลือกตามฤดูกาล จากเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลกทางตอนเหนือไปจนถึงทะเลอันเงียบสงบและแนวชายฝั่งทะเลอารเบียน (Arabian Sea) อันงดงาม หรือจะเลือกการปีนเขา เดินป่า เล่นสกี จนถึงการชุมนุมรถในทะเลทราย ปากีสถานเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ศิลปหัตถกรรม อาหาร และเรามีธรรมเนียมการต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอบอุ่นเสมือนอยู่บ้าน”

“อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปากีสถานนับเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือด้านส่งกำลังบำรุง (Thailand-Pakistan Joint Logistics) ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีเดียวระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปากีสถานที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และขยายขอบเขตความร่วมมือที่เป็นไปได้เพื่อประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย”

พันเอกมูฮัมหมัด ไตยญาบ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย มีความคาดหวังว่า

“เราร่วมกันทำงานเพื่อมิตรภาพ ความรักสามัคคี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ผมจึงมั่นใจว่า ความสัมพันธ์ของชาวไทยและปากีสถาน (Pak-Thai relations) นับวันจะยิ่งพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องและลึกซึ้ง”