“เจ้าสัวเจริญ” ราชันเทกโอเวอร์ ผ่าจิ๊กซอว์ซื้อ KFC ต่อยอดธุรกิจ เลิกผูกเฉพาะเหล้า-เบียร์

ตอกย้ำความเป็นตัวจริงเสียงจริงของการเป็น “ราชาเทกโอเวอร์” อีกครั้ง เมื่อเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้ทุ่มเงินกว่า 1.13 หมื่นล้านบาท ซื้อกิจการแฟรนไชส์ “เคเอฟซี” ล็อตสุดท้ายที่มีอยู่กว่า 240 สาขา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผันตัวเป็นผู้ให้บริการแฟรนไชส์ ตามนโยบายของบริษัทแม่

ดีลครั้งนี้ “เจริญ” วางยุทธศาสตร์ไปที่การต่อยอดภายในเครือ “ไทยเบฟ” เจ้าของอาณาจักรเหล้า-เบียร์มูลค่าหลายแสนล้านบาท ที่ต้องการทะยานไปสู่กลุ่มธุรกิจ “น็อนแอลกอฮอล์” ด้วยสปีดที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่เสียเวลาในการลองผิดลองถูก

แถมได้แบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มร้านอาหารจานด่วน หรือ QSR มาครอบครองทีเดียวกว่า 200 สาขา

 

อีกด้านหนึ่งถือเป็นการเสริมทัพกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในเครือ ทั้งโออิชิ และฟู้ดออฟเอเชีย ที่รับผิดชอบในกลุ่มร้านอาหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่ร้านอาหารญี่ปุ่น มีสาขารวมกันอีกกว่า 200 สาขา และจะช่วยเป็นตัวเร่งส่งที่ผลักดันให้ “ไทยเบฟ” กลายเป็นอาณาจักรร้านอาหารที่มีสาขารวมกว่า 500 สาขา

ครอบคลุมทั้งอาหารญี่ปุ่น 7 แบรนด์ ร้านอาหารไทย จีน อาเซียน รวมถึงเบเกอรี่ และศูนย์อาหารอีก 5 แบรนด์

นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและลูกค้าในหลายๆ โอกาส และหลากหลายกำลังซื้อ ตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงระดับบน เพราะใครๆ ก็เข้าถึงเคเอฟซีได้ ในขณะที่แบรนด์อาหารญี่ปุ่นหรืออื่นๆ นั้นมีราคาต่อหัวที่ค่อนข้างสูงกว่ามาก อย่างโออิชิ บุฟเฟ่ต์ อยู่ที่ 569 บาทต่อคน หรือโออิชิ แกรนด์ ที่ราคากระโดดไปที่ 895 บาทต่อคน

นี่ยังไม่พูดถึงฐานลูกค้าและเน็ตเวิร์กของเคเอฟซีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงโนว์ฮาวในการบริหารระดับอินเตอร์แบรนด์ ดังที่ “นงนุช บูรณะเศรษฐกุล” รองประธานอาวุโส กลุ่มธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ระบุเอาไว้ว่า “ดีลครั้งนี้จะทำให้ไทยเบฟ เข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ไทยเบฟ ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมร้านอาหารได้อย่างรวดเร็ว”

จากนี้ไป ภาพการซินเนอร์ยี่ “จิ๊กซอว์” ตัวใหม่ของ “เจ้าสัวเจริญ” จะเริ่มมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

หากย้อนกลับไปเมื่อในอดีต จะพบว่าทุกครั้งที่ “เจริญ” คิดจะซื้ออะไร สิ่งนั้นต้องเป็นการลงทุนที่สามารถสร้างแวลู สร้างผลกำไร ฯลฯ ให้มากกว่าเม็ดเงินที่ใส่ไปหลายเท่า

และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การนำของใหม่ ธุรกิจใหม่ ที่ซื้อมาต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจที่มีอยู่เดิมได้อย่างลงตัว และสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลกำไรให้ธุรกิจนั้นๆ ได้อย่างมิรู้จบ

ดังเช่นดีลที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเทกโอเวอร์ “โออิชิ กรุ๊ป” จากเจ้าพ่อชาเขียว ตัน ภาสกรนที เมื่อปี 2549 ด้วยเม็ดเงินกว่า 3,000 ล้านบาท ครั้งนั้นเจริญได้แบรนด์ชาเขียวอันดับ 1 ในตลาด และฐานลูกค้าของโออิชิมาครองอีกเพียบ

หรือหลังจากนั้นไม่นาน ไทยเบฟ ก็เข้าซื้อกิจการของ “เสริมสุข” อดีตคู่บุญของค่ายน้ำดำอย่างเป๊ปซี่ ที่ปัจจุบันหันมาทำเครื่องดื่มโคล่าภายใต้แบรนด์ของตัวเองอย่าง “เอส” และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ทรงพลังอันดับต้นๆ ในไทย ด้วยเน็ตเวิร์กร้านค้าย่อยกว่า 3 แสนราย เมื่อปี 2554 อีก 6,400 ล้านบาท

รวมถึงอภิมหาดีลในแวดวงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มระดับภูมิภาค เมื่อปี 2556 ด้วยการซื้อกิจการของ “F&N” บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีขุมทรัพย์ทั้งแบรนด์และเครือข่ายการกระจายจำหน่ายขนาดใหญ่ในสิงคโปร์และมาเลเซีย ด้วยมูลค่าสูงถึง 3.36 แสนล้านบาท

นำมาซึ่งการซินเนอร์ยี่ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ไทยเบฟ ใช้เครือข่าย F&N บุกทำตลาดชาเขียวโออิชิ ตลอดจนเบียร์ช้างในตลาดสิงคโปร์ หรือการที่ไทยเบฟ เลือกนำตราสินค้าที่แข็งแกร่งในพอร์ต F&N อย่าง 100 พลัส เข้ามาตีตลาดเกลือแร่ในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นต้น

นี่เป็นเพียงรูปธรรมส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับไทยเบฟฯ อย่างเป็นกอบเป็นกำ ยังไม่รวมถึงราคาหุ้นไทยเบฟ ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่นับวันก็จะมีมูลค่ามากขึ้นเป็นเงาตามตัว

หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่า ดีลการไล่ซื้อกิจการของ “เจ้าสัวเจริญ” ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ล้วนเป็นการซื้อธุรกิจ “น็อนแอลกอฮอล์” ทั้งสิ้น

เป็นการบาลานซ์พอร์ตโฟลิโอของไทยเบฟ จากเดิมที่มีเหล้าเบียร์เป็นรายได้หลัก ก็เริ่มขยับสัดส่วนของน็อนแอลกอฮอล์มากขึ้น จากปี 2549 ไทยเบฟ ไม่มียอดขายจากกลุ่มนี้อยู่เลย ก็ขยับขึ้นมามีสัดส่วน 7% หลังจากซื้อธุรกิจของโออิชิในปี 2551 จนกระทั่งในปีที่ผ่านมาไทยเบฟฯ มีรายได้จากกลุ่มน็อนแอลกอฮอล์อยู่ 13%

 

นอกเหนือจากการเคลื่อนตัวของทัพไทยเบฟฯ ดังกล่าว อีกด้านหนึ่ง “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” หรือบีเจซี ในฐานะที่เป็นผู้ผลิต จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ก็จะเป็นหมากสำคัญในการกว้านซื้อกิจการที่เป็น “ช่องทางจำหน่าย” ของมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศรายนี้

ที่ผ่านมา บีเจซีได้ใช้เงินกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อเข้าซื้อกิจการของ “บีสมาร์ท” ร้านสะดวกซื้อในเวียดนาม เมื่อปี 2556

และอีก 2 ปีถัดมาก็ได้ซื้อธุรกิจขายส่งในเวียดนาม “เมโทร แคช แอนด์ แครี่” ด้วยเม็ดเงินถึง 2.8 หมื่นล้านบาท และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต”

และเมื่อปีที่แล้วกับดีลยักษ์ 1.2 แสนล้านบาท ที่เข้าซื้อกิจการของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั้งหมดในไทย

นั่นเพราะเขาตระหนักดีว่า ลำพังเพียงธุรกิจเหล้า-เบียร์คงไม่สามารถสร้างการเติบโตต่อจากนี้ได้มากนัก เนื่องจากรัฐบาลพยายามควบคุมการบริโภคสินค้าประเภทนี้ทั้งทางตรง ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บภาษีสูงลิ่ว ข้อจำกัดในการโฆษณา หรือแม้กระทั่งการรณรงค์ให้งดเหล้าเข้าพรรษา ก็ทำให้ยอดขายเหล้า-เบียร์ช่วงดังกล่าวซบเซาอยู่ไม่น้อย

และไทยเบฟ ก็มีสัดส่วนของธุรกิจนี้สูงถึง 87% ของรายได้ทั้งหมด (งบการเงินปี 2559) หากมีเหตุการณ์อะไรก็ตามที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้สินค้ากลุ่มนี้ ย่อมส่งผลกระทบไปทั้งพอร์ตแน่นอน

ในขณะที่ทิศทางของน็อนแอลกอฮอล์นั้นกลับมีแนวโน้มการเติบโตที่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือเครื่องดื่ม ล้วนมีการบริโภคเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา การเติม “แบรนด์พอร์ตโฟลิโอ” ในเซ็กเมนต์นี้ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ไทยเบฟฯ กำลังปลุกปั้นไปให้ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้

ตามที่ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ย้ำมาตลอด ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า เขาต้องการสร้างการเติบโตให้กับบริษัท โดยพุ่งเป้าไปที่การขยายธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์ ให้มีสัดส่วน 50% ภายในปี 2563

ซึ่งจะมาจากการเติบโตทั้งการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) และการเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) เช่น การเข้าซื้อกิจการ การร่วมทุน ฯลฯ ซึ่งเร็วกว่า และเห็นผลลัพธ์ที่เป็นยอดขายเข้ามาทันที

 

สําหรับเจ้าสัวเจริญ ที่แม้จะมีกระแสเงินสดหมุนเวียนอยู่ในมือจำนวนมาก แต่ด้วยความที่เป็นคนมีเครดิตทางการเงินดีเลิศ สถาบันการเงินต่างๆ ก็พร้อมจะปล่อยกู้ให้ และไม่ใช่เรื่องยาก

แต่การใช้ “ทางลัด” ที่ว่า ก็อาจนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ถึงการครอบงำของกลุ่มทุนที่มีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของระบบนิเวศค้าปลีกในบ้านเรา

“เจริญ” จะ “ดีล” กับภาพลักษณ์ในเชิงนี้อย่างไร คงเป็น “ดีล” ที่สำคัญไม่แพ้กัน