ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 ธันวาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
เผยแพร่ |
สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ชุมชนกับผลกระทบ ‘อีอีซี’
“โอไมครอน” ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ เป็นประเด็นที่ชาวโลกเฝ้าจับตาว่ามีพิษร้ายแรงแค่ไหน แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าหรือเปล่า และนักวิจัยสามารถคิดค้นพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้เร็วหรือไม่
ถ้ามีพิษร้ายแรง แพร่ระบาดเร็วและยังไม่มีวัคซีนเจ๋งออกมาปราบ แน่นอนว่า สถานการณ์โลกจะปั่นป่วนหนักหนาสาหัสกว่านี้
ตอนนี้ชาวโลกก็ทำได้แค่ภาวนาให้ “โอไมครอน” เป็นแค่ไวรัสกระจอกๆ ไร้พิษสง
เมื่อวันศุกร์ที่แล้วติดตามดูการถ่ายทอดสดการนำเสนอรายงานผลการศึกษาเรื่องปัญหาที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ของคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อสภาผู้แทนฯ และคลิกไปดูรายงานฉบับเต็มในเว็บของรัฐสภา
ต้องชื่นชมการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ที่ศึกษาและลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล นำกลับมาจัดทำเป็นรายงานได้อย่างละเอียด
อย่างที่ทราบ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งหวังให้โครงการ “อีอีซี” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย จะทำให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้า มีการตั้งเป้าลงทุนสำหรับโครงการนี้สูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท
จากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าวพบว่า นโยบายอีอีซีมีปัญหาและเกิดช่องโหว่ทั้งในเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ผลกระทบกับชุมชน
อย่างเช่นโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จ.ชลบุรี การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะถมทะเลหน้าอ่าวบางละมุงเพื่อทำท่าเรือ 1,445 ไร่ กันเป็นพื้นที่บ่อเก็บดินเลน 1,800 ไร่ และพื้นที่สำหรับอนาคตอีก 880 ไร่ ขุดลอกร่องน้ำโดยรอบพื้นที่และสร้างเขื่อนกันคลื่น ยาว 3,100 เมตร
ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการที่ดินฯ พบว่า การท่าเรือฯ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งบางละมุงถึงอ่าวนาเกลือที่เกิดจากการนำดินถมไปในทะเล เพียงแค่ 2 กิโลเมตร ทั้งที่พื้นที่ก่อสร้างนั้นกินระยะทางถึง 9 กิโลเมตร ข้อมูลที่ได้จึงไม่ครบถ้วน
ส่วนผลการศึกษาการถมทะเล 3,000 ไร่ของบริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น ในพื้นที่อ่าวอุดมภายใต้โครงการอีอีซี ชี้ว่าถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจะมีผลกระทบกับชุมชนบ้านอ่าวอุดม ชุมชนอื่นๆ รวมไปถึงอ่าวนาเกลือ เมืองพัทยา และเกาะสีชังซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ห่างจากพื้นที่ถมทะเลเพียง 7 กิโลเมตร
คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้มีการศึกษาศักยภาพและขีดจำกัดการรองรับการพัฒนาโครงการตามกระบวนการศึกษาด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) ไม่ใช่แค่ทำประเมินผลสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
นอกจากนี้ประชาชนควรเข้าไปมีส่วนร่วม ตามหลักการ “ธรรมนูญชุมชน” ของประชาชนอ่าวอุดม
รายงานของคณะกรรมาธิการฯ พูดถึงชุมชนอ่าวอุดมว่าในอดีตเป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน ออกเรือจับปลาตามฤดูกาล
เมื่อความเจริญย่างกรายเข้ามา มีการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนก็เกิดขึ้น ชาวประมงจำนวนหนึ่งทิ้งอาชีพหันไปเป็นลูกจ้างในโรงงานและท่าเรือ
สิ่งแวดล้อมในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปด้วย มีขยะมากขึ้น มีสารพิษที่ปล่อยออกจากโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งควันพิษน้ำเสีย ชาวอ่าวอุดมเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ
สภาพความเปลี่ยนแปลงเป็นไปทางเลวร้าย กลายเป็นสถานการณ์บีบบังคับให้ชาวชุมชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง ด้วยสุมหัวเรียนรู้ที่มาของชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คุณค่าของมรดกชุมชน ศึกษาผลกระทบและทางแก้ปัญหา การอยู่ร่วมกันในอนาคต มีการจัดตั้งเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้คนในชุมชน
การผนึกกำลังอันเหนียวแน่นของชุมชนนำไปสู่การจัดตั้งธรรมนูญชุมชนบ้านอ่าวอุดม เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เป็นการหลอมรวมระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับชุมชนท้องถิ่นในการวางกติกาเพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน มีสุขภาวะที่ดี
หลังจากนั้นได้เกิดแนวคิดต่อยอดมาเป็นการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อดูแลชาวชุมชนในกรณีเจ็บป่วยและเสียชีวิต ปรับปรุงพื้นที่ในโรงงานอุตสาหกรรมให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ชาวชุมชนและเจ้าของโรงงานร่วมกันประชุมหารืออย่างน้อยเดือนละครั้ง
รายงานของคณะกรรมาธิการฯ ยังระบุถึงปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียจากอุตสาหกรรมและชุมชนสู่สาธารณะ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อีอีซี และมีกรณีฉุกเฉินด้านมลพิษบ่อยครั้งในพื้นที่
ปัจจุบัน ในเขตอีอีซีมีโรงงานอุตสาหกรรม 9,900 โรงงาน ผลิตของเสียอุตสาหกรรมปีละ 5.1 ล้านตัน ส่งไปกำจัดร้อยละ 49 ของปริมาณทั้งหมด แต่มีโรงงานรับกำจัดกากของเสียอันตรายในพื้นที่เพียง 1 แห่ง
ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียตามสถานที่สาธารณะและมีแนวโน้มปริมาณกากของเสียที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการลักลอบทิ้งที่รุนแรงขึ้น
การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนและน้ำเสียชุมชนต่างๆ ที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้มีการตกค้างสะสมของขยะประมาณ 2 ล้านตัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำจัดได้เพียงร้อยละ 34 จากปริมาณที่เกิดขึ้นรวมวันละ 4,300 ตัน หากไม่เพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง ภายในปี พ.ศ.2580 จะเกิดขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน จะเกิดการตกค้างจากการกำจัดและสะสมตามสถานที่ต่างๆ ประมาณ 80 ล้านตัน
รายงานเสนอแนะรัฐบาลให้นำกลไกและเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้มากกว่านี้ อาทิ มาตรการด้านการเงินและการลงทุน มาตรการด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม
กล่าวโดยสรุปผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการดังกล่าวนี้ จึงประเด็นที่รัฐบาลต้องรีบนำไปปรับปรุงทบทวนอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่แก้ไขจะเกิดปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน