สุจิตต์ วงษ์เทศ : หัวลำโพงมีคนบนรถไฟไปมา นั่นแหละ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

หัวลำโพงมีคนบนรถไฟไปมา

นั่นแหละ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’

 

สิ่งใดที่ยังไม่ตาย สิ่งนั้นอนุรักษ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำให้ตายเสียก่อนเพื่อเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์

สถานีรถไฟหัวลำโพงไม่ต้องทำให้ตายโดยปิดบริการ และไม่ต้องปิดการเดินรถไฟชานเมืองกับรถไฟสายสั้นๆ แต่จัดเป็น “พิพิธภัณฑ์รถไฟ” ได้เต็มรูปแบบอย่างมีชีวิตชีวา พร้อมเปิดบริการเท่าที่เลือกสรรตามปกติ ซึ่งยิ่งเพิ่มเสน่ห์สังคมมีสีสันพิสดารด้วยซ้ำ

รถไฟไทย (รฟท.) ที่ดำเนินกิจการอยู่หัวลำโพงจนปัจจุบันแท้จริงแล้วเป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” ด้วยตนเองอยู่แล้ว ทั้งนี้ ตามทัศนะของคนในประเทศให้ความสำคัญขนส่งมวลชนระบบราง และมีบริการรถไฟความเร็วสูงในชีวิตประจำวันนานมากแล้ว

 

สังคมก้าวหน้า ผู้มีอำนาจไม่ล้าหลัง

สังคมที่เติบโตก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผู้มีอำนาจบริหารประเทศล้วนมีสมองสติปัญญาแหลมคมลึกซึ้ง บุคคลเหล่านั้นไม่ทำลายประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของตนและของมนุษยชาติ (แม้แต่คิดจะทำลายก็ไม่มี) มีแต่จะรักษาไว้อย่างดีวิเศษพร้อมกับปรับใช้เพื่อสนองวิถีชีวิตสมัยใหม่ก้าวหน้า มีตัวอย่างทั่วยุโรปและอเมริกาบรรดาสถานีรถไฟเก่าถูกพิทักษ์รักษาตามหลักวิชาอนุรักษ์อย่างมีชีวิตชีวา และสนองวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้ทุกวันนี้

สำนึกเหล่านี้มีขึ้นจากการสั่งสมทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งความรับผิดชอบต่อตนเองและคนอื่นของผู้มีอำนาจโดยชอบธรรม (มิได้มีอำนาจจากการแต่งตั้งของกลุ่มไม่ชอบธรรม) ซึ่งตรงข้ามบางสังคมที่ผู้มีอำนาจเป็นพวกปากว่าตาขยิบ ซึ่งเห็นจากมักฟูมฟายโหยหาประวัติศาสตร์ แต่ทำลายความเป็นประวัติศาสตร์ เช่น พวกอนุรักษนิยมไทย

 

อนุรักษนิยมไทย

พวกอนุรักษนิยมไทยถนัดฟูมฟายโหยหาความเป็นไทยและเชิดชูบูชาประวัติศาสตร์จากพระราชพงศาวดาร ขณะเดียวกันชื่นชอบและเชี่ยวชาญการทำลายโบราณวัตถุโบราณสถานโดยเฉพาะสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพยานหลักฐานเรื่องนี้มีมากกระจายนานแล้วอยู่ทั่วประเทศ แต่มีกรณีตัวอย่าง 50 ปีมาแล้ว ราว พ.ศ.2510 นักปราชญ์สยาม นามปากกา น. ณ ปากน้ำ เขียนบอกไว้ดังนี้

“พูดถึงอยุธยาแล้วรู้สึกว่าเป็นความผิดพลาดของทางราชการอย่างฉกรรจ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีการประมูลอิฐจากวัดต่างๆ ไปขายเสียมากต่อมาก จนแม้ในรายการรับเหมาของกรมโยธาเทศบาล ครั้งหนึ่งก็มีระบุไว้ในสัญญาว่าให้เอาอิฐหักจากอยุธยา ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายอยุธยาให้ยับเยิน แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการลักลอบขุดอิฐโบราณไปขายอยู่เนืองๆ ควรที่ทางราชการจะสอดส่องดูแลหาทางแก้ไขเสีย บางแห่งรื้อของโบราณทิ้งอ้างว่าเพื่อปฏิสังขรณ์ แบบนี้ก็เป็นการทำลายเช่นกัน” [จากหนังสือ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนอยุธยา ของ น. ณ ปากน้ำ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510) สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2558 หน้า 348]

วัดร้างอยุธยาเป็นโบราณสถาน แต่ถูกราชการดูแลที่ดินวัดร้าง (ซึ่งไม่ใช่กรมศิลปากร) ปล่อยเช่าที่ดินให้เอกชนรื้ออิฐวัดร้างไปขาย เมื่อขรรค์ชัย บุนปาน ได้ทุนมูล นิธิฯ ไปสำรวจโบราณสถานอยุธยาราว 50 ปีมาแล้ว คราวนั้นผมเดินเข้าวัดร้างในอยุธยาที่ถูกรถไถทำลายเหี้ยนหลายย่าน บรรดาชาวบ้านบอกตรงกันทุกแห่งว่า ส.ส. อยุธยาคนหนึ่งสมัยนั้นได้สัมปทานรื้ออิฐเก่าวัดร้างไปขาย

ทุ่งหลวง พื้นที่สีเขียวจากโคลนตะกอนที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันออกของตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และต่อเนื่องจังหวัดอื่นๆ หลายจังหวัด มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปไกลถึงก่อนสมัยอยุธยา ขณะเดียวกันเป็น “แก้มลิง” รับน้ำสมัยปัจจุบัน จึงถูกกำหนดเป็นเขตสีเขียว ไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างโรงงาน แต่แล้วพวกอนุรักษนิยมไทยพากันทำลายโดยออกกฎหมายยกเลิกเขตสีเขียวแล้วเอาที่ดินใช้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อกอบโกยเฉพาะหน้า แล้ว “โอนน้ำหลาก” ไปท่วมทางตะวันตกให้ชาวบ้านทนทุกข์ทรมานจนทุกวันนี้

สถานีรถไฟเก่าบางแห่ง ถูกทำลายไม่ไยดี แม้หน่วยงานของรัฐราชการรวมศูนย์มีหน้าที่อนุรักษ์โดยตรงก็ไม่นำพา โดยบอกว่าไม่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ ซึ่งเท่ากับปากว่าตาขยิบให้ทำลายของดีมีอยู่อย่างย่อยยับ

พิพิธภัณฑ์แบบสากล

บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง มีพื้นที่กว้างขวางกลางเมืองซึ่งหาไม่ได้อีกแล้ว จึงควรแบ่งพื้นที่บางส่วนก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ “แบบสากล” (ไม่ใช่ “แบบไทยๆ”) ด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย (ไม่ไทย, ไม่อาคารทรงไทย) ซึ่งควรอยู่กลางเมืองเพื่อสนองความสะดวกให้คนส่วนมากเข้าชม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ใกล้สนามหลวง) เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุของ “ผู้ดี” คนชั้นนำ “แบบไทยๆ” ตัวอาคารข่มขู่สามัญชนชาวบ้านเหมือนจะเหยียดว่าพวกชาวบ้านสามัญชนดูไม่รู้เรื่องหรอก ดังนั้น โดยทั่วไปเรียก “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ” เต็มไปด้วยเศียรพระ, องค์พระ, แขนพระ, ขาพระ และศิวลึงค์กับฐานโยนี ทั้งหมดนี้ไม่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่แสดงความเป็นมาของประเทศไทยในแง่พื้นที่และวิถีกินขี้ปี้นอนของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ที่ส่วนมากเรียกตนเองว่าไทย

เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์การจัดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ว่าเป็นแบบประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ไม่เป็นประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาน่าเข้าชม บรรดานักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะของรัฐราชการรวมศูนย์จะประสานเสียงตอบโต้ทำนองเดียวกันว่า “ถ้ามีเงินก็ทำได้ไม่แพ้ต่างประเทศทางตะวันตก แต่ไทยไม่มีเงิน จึงไม่ได้ทำ”

ซึ่งแท้จริงแล้วถึงมีเงินไม่อั้นกองพะเนินเทินทึกมอบให้ทำ ก็ทำไม่ได้อย่างยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น ฯลฯ เพราะประเด็นหลักไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องวิธีคิด ตราบใดที่ยังอยู่ในวิธีคิดแบบอาณานิคมเมื่อศตวรรษที่แล้ว (สมัยยอร์ช เซเดส์ ยังมีชีวิต) ตราบนั้นต่อให้มีเงินทองกองท่วมหัวเตรียมไว้ก็ทำไม่ได้ และขืนทำไปก็ได้ผลออกมาเป็น “แห่งชาติ” อย่างเดิมเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งหาลูกค้าเข้าชมแทบไม่พบ หรือที่พบก็กวาดต้อนมา เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น แต่ในชีวิตจริงไม่มีใครอยากเข้าพิพิธภัณฑ์ “แห่งชาติ”

หัวลำโพง หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตด้วยตัวเองนานแล้ว ซึ่งควรสืบทอดต่อไป ขณะเดียวกันควรแบ่งพื้นที่ซึ่งมีว่างทางทิศเหนือสร้างพิพิธภัณฑ์ “แห่งชาติ” แบบสากลให้คนทั่วไปเข้าชมสะดวก (ภาพจาก https://www.matichon.co.th/local/news_3062518)