ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 สิงหาคม 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | นิตยา กาญจนะวรรณ [email protected] |
เผยแพร่ |
วันภาษาไทยแห่งชาติได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีก ๑ ครั้ง เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ทุกครั้งสื่อก็จะต้องตามสัมภาษณ์ครูภาษาไทยว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในภาษา โดยคาดหวังไว้ก่อนว่าครูภาษาไทยจะต้องตำหนิสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ด้วยคำถามชี้นำว่า
“คำที่เกิดขึ้นใหม่ๆ นี่ทำให้ภาษาวิบัติไหม”
โดยเฉพาะคำที่เด็กรุ่นใหม่สร้างขึ้น
ผู้เขียนคอลัมน์ “มองไทยใหม่” ก็เคยมีคนมาสัมภาษณ์ และได้บันทึกไว้เล่าสู่กันฟังในคอลัมน์นี้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๖ ถึงปีนี้ก็นับได้เป็นปีที่ ๑๔ แล้ว ด้วยคำถามและความคาดหวังเหมือนเดิม
ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็น เยาวชนและประชาชน ในหัวข้อ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” จากกลุ่มตัวอย่าง ๓,๓๐๖ คน ทั่วประเทศ
โดยผลสำรวจพบว่า คำศัพท์ที่วัยรุ่นกำลังนิยมใช้ในปัจจุบันมีลำดับดังนี้ ร้อยละ ๓๙.๔๔ ลำไย หมายถึง “รำคาญ” ร้อยละ ๓๖.๘๖ ตะมุตะมิ หมายถึง “น่ารักน่าเอ็นดู” ร้อยละ ๓๖.๒๓ นก หมายถึง “อ่อยเขาแต่เขาไม่เอา” ร้อยละ ๓๔.๖๗ จุงเบย หมายถึง “น่ารักแสดงความแอ๊บแบ๊ว” ร้อยละ ๓๔ เท/โดนเท หมายถึง “โดนทิ้ง” ร้อยละ ๓๓.๖๑ อิอิ หมายถึง “เสียงหัวเราะ” ร้อยละ ๓๓.๑๒ เปย์/สายเปย์ หมายถึง “ชอบจ่ายให้” ร้อยละ ๒๗.๒๘ เตง/ตะเอง/ตัลเอง หมายถึง “ตัวเอง” และร้อยละ ๒๖.๐๖ มุ้งมิ้ง หมายถึง “น่ารัก”
ในเวลาใกล้เคียงกัน รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา ก็แถลงในประเด็น การใช้ภาษาไทยกับการเมือง : การอุปลักษณ์และความแย้งย้อน ยุคประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า
“ภาษาไทยมีบทบาทสำคัญในการ “สื่อสาร” สร้างอุดมการณ์ และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายประเทศไทย 4.0 และนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซ่อนเงื่อนโยงใยไม่สิ้นสุด ผ่านการสร้าง “อุปลักษณ์” (Metaphor) ที่ไม่เป็นเพียง “ถ้อยคำเปรียบเทียบที่แล่นวูบ” เท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยศิลปะชั้นเชิงของการประดิดประดอยภาษา ที่เกิดจากสร้าง “ความคิดเชิงอุปลักษณ์” (Conceptual Metaphor) อันหลายหลาก ภายใต้วิธีคิด วิธีการ กระบวนการ และการปฏิบัติการทางการเมืองที่ลึกซึ้ง และแยบยล”
คำที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างก็มีเช่น การต้านโกง เกษตรอุตสาหกรรม คนดี ความปรองดองสมานฉันท์ ความสุขและการคืนความสุข ทวงคืนผืนป่า เทคโนโลยีดิจิทัล นักการเมือง/นักเลือกตั้ง ประชารัฐ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ยุทธศาสตร์ชาติ โรดแม็ป (Road Map) เศรษฐกิจสร้างสรรค์
ในแง่ภาษาศาสตร์ การสร้างคำทั้งในฝ่าย “เด็ก” และในฝ่าย “ผู้ใหญ่” ล้วนตั้งอยู่ในแนวคิดอันเดียวกันคือ “การสร้างคำเพื่อการสื่อสารอย่างใดอย่างหนึ่ง”
ส่วนคำใดจะประสบความสำเร็จ สามารถใช้สื่อสารได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้างคำหรือไม่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้ใช้ภาษาในสังคมนั่นเอง
บางคำอาจจะหายไปจากความนิยม บางคำอาจจะติดอยู่ในภาษา เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนานแสนนานนั่นเอง