อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ / ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ / DEPRESSION การบำบัดและเติมเต็มชีวิตด้วยศิลปะ

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

DEPRESSION

การบำบัดและเติมเต็มชีวิตด้วยศิลปะ

 

ในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา ศิลปินเอกของโลกหลายคนไม่ได้เริ่มต้นทำงานศิลปะมาตั้งแต่แรก หากแต่ประกอบวิชาชีพอื่นมาก่อนที่จะมาเป็นศิลปิน

ไม่ว่าจะเป็น วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ ที่ประกอบอาชีพครูสอนภาษา, คนขายหนังสือ, นักเทศน์, หมอสอนศาสนา และนายหน้าค้างานศิลปะมาก่อนที่จะผันตัวมาเป็นศิลปินอาชีพตอนอายุเกือบ 30 ปี

หรือ อ็องรี รูสโซ ที่ทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานกฎหมายท้องถิ่น และพนักงานตรวจสอบสินค้าในสำนักงานศุลกากร กว่าจะหันเหมาเป็นศิลปินอาชีพเต็มตัวก็ตอนที่อายุย่างเข้า 49 ปีเข้าไปแล้ว เรียกได้ว่าสำหรับการทำงานศิลปะ เริ่มต้นช้าแค่ไหนก็ยังไม่ถือว่าสายเกินไป

เช่นเดียวกับการเริ่มต้นของ ปวเรศวร์ (โด้) โชคแสน ที่ถึงแม้จะเล่าเรียนศิลปะจากวิทยาลัยเพาะช่าง ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 แต่เขาก็เบนเข็มหันไปทํางานในแวดวงโฆษณาเป็นเวลายาวนานกว่าค่อนชีวิต

จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาตัดสินใจเกษียณตัวจากการทำงานประจำหันมาเป็นศิลปินอิสระเต็มตัว

  และเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง เขาเพิ่งเปิดตัวในฐานะศิลปินหน้าใหม่หมาดๆ กับนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของเขาที่มีชื่อว่า DEPRESSION นั่นเอง

ปวเรศวร์กล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ให้เราฟังว่า

“ผลงานในนิทรรศการนี้ จริงๆ แล้วเราทำขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้แสดงนิทรรศการอะไร เราแค่อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อตัวเอง ให้เราได้รู้สึกผ่อนคลายกับชีวิตการทำงานประจำในบริษัท ที่ใช้ชีวิตทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับซ้ำซากจำเจทุกวัน เราก็หาวิธีที่จะทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความจำเจนี้สักชั่วขณะหนึ่งก็ยังดี ก็เลยเกิดความคิดว่าอยากจะกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้ง”

“ก่อนหน้านี้เราเรียนจบด้านประติมากรรมมาจากวิทยาลัยเพาะช่าง แต่ในช่วงหลังที่ได้ไปดูงานของเพื่อนๆ ที่แสดงนิทรรศการตามหอศิลป์ต่างๆ ส่วนใหญ่เขาทำงานจิตรกรรมกัน เราก็มาคิดว่างานจิตรกรรมสามารถจบได้เร็ว ขั้นตอนน้อยกว่าและไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะเหมือนงานประติมากรรม เราสามารถทำในพื้นที่เล็กๆ ในบ้านเราได้ ก็เลยเลือกทำงานจิตรกรรม”

“ก็ทำมาเรื่อยๆ วาดรูปทุกวัน ในช่วงเวลากลับจากที่ทำงานและวันหยุด จนวันหนึ่งได้ไปดูงานนิทรรศการกับศิลปินรุ่นพี่ คุณหริธร (อัครพัฒน์) และพรรคพวก ดูเสร็จก็ลงมานั่งพูดคุยกัน คุณหริธรเขารู้ว่าเรากลับมาทำงานศิลปะ เขาก็ถามว่าเราอยากมีนิทรรศการเป็นของตัวเองไหม?”

“เราก็ถามตัวเองว่า เราทำได้เหรอ? เราสามารถมีนิทรรศการเป็นของตัวเองได้เหรอ? แต่โอกาสมาถึงแล้ว ถ้าถามว่าอยากทำนิทรรศการของตัวเองไหม เราก็ต้องอยากทำแน่นอนอยู่แล้ว”

 

 

ด้วยแรงยุยงส่งเสริมจากศิลปินรุ่นพี่ที่เขาเคารพรัก ประจวบกับเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้ปวเรศวร์ตัดสินใจทำในสิ่งที่เขาไม่เคยแม้แต่จะกล้าคิดมาก่อน

“พอรู้ว่าจะได้ทำนิทรรศการ เราก็ยังปฏิบัติตัวเหมือนเดิม คือวาดภาพทุกวันๆ จนมาช่วงหนึ่งที่แม่ของเราไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาล ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสเอาการ เพราะต้องดูแลแม่และครอบครัว ไปพร้อมๆ กับการทำงานประจำและวาดภาพไปด้วย เพราะเราเป็นเสาหลักของบ้าน”

“พอหลังจากแม่เสียชีวิต ก็เลยคิดว่าเราควรจะหันมาจริงจังกับอะไรสักอย่าง เพราะชีวิตไม่มีความแน่นอนอะไร พอคิดได้อย่างนี้ เราก็เลยตัดสินใจลาออกจากการทำงานประจำ เพื่อหันมาจริงจังกับการทำงานศิลปะเลยดีกว่า”

“เราก็อยู่บ้านทำงานมาเรื่อยๆ ประจวบกับช่วงนั้นโรคโควิด-19 ระบาดหนักมาก ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ ออกไปไหนไม่ได้ การลาออกจากงานประจำก็ต้องแลกกับภาวะการเงินที่ฝืดเคือง ต้องดิ้นรนหารายได้พิเศษมาหล่อเลี้ยงครอบครัวและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ชีวิตมีแต่รายจ่าย รายรับแทบไม่มี”

“โชคดีที่ยังพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง แต่ข้อดีก็คือ เรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น มีเวลาทำงานได้เต็มที่ ก็ใช้ช่วงเวลาตรงนั้นพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มุ่งมั่นสร้างผลงานออกมาอย่างเต็มที่ ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าการทำนิทรรศการครั้งนี้จะประสบความสำเร็จไหม และเราเองก็ไม่ได้คาดหวังอะไร”

“แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ เรารู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำนิทรรศการของตัวเองในชีวิตสักครั้งหนึ่ง อีกคนที่ต้องขอบคุณก็คือ คุณตะวัน วัตุยา ที่ช่วยผลักดันให้นิทรรศการครั้งแรกของผมเกิดขึ้นได้”

“การได้กลับมาทำงานศิลปะทำให้ชีวิตเรามีความหมายขึ้น ทำให้เราสนุกกับตัวเอง ได้ทดแทนอะไรบางอย่างที่เคยขาดหายไป ความสุขที่เราเคยโหยหา ค่อยๆ หวนกลับมาหาเรา เพราะเราได้ทำในสิ่งที่เรารักทุกวัน การทำงานศิลปะทำให้เราผ่อนคลาย พอวาดเสร็จก็ถ่ายรูปโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย มีเพื่อนมาคอมเมนต์โต้ตอบในเฟซบุ๊ก ทำให้รู้สึกว่ายังมีคนสนใจงานของเราอยู่ด้วย”

“เป็นความรู้สึกดีๆ เหมือนเป็นพลังงานบวกที่ส่งกลับมาหาเรา ทำให้เรารู้สึกสดชื่น”

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของปวเรศวร์ มีลักษณะและองค์ประกอบที่ดูคล้ายภาพนิ่งจากภาพยนตร์ หรือภาพถ่ายสแนปช็อต ที่แสดงภาพชีวิตประจําวันของผู้คน แบบที่เราเห็นตามสื่อสังคมออนไลน์

หากแต่ถ่ายทอดออกมาด้วยสีสันฉูดฉาด จัดจ้าน ท่วงทีลีลาฝีแปรงอิสระ สดใหม่ ไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมของสำนักหรือสถาบันไหน

ไม่แม้แต่จะยึดติดกับการถ่ายทอดความเป็นจริงออกมาอย่างเคร่งครัดแต่อย่างใด

“เรื่องราวที่ถ่ายทอดในผลงานชุดนี้ ส่วนใหญ่ได้มาจากสื่อในอินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย นอกจากนั้นก็มีภาพที่ผมถ่ายเอง อย่างภาพวิถีชีวิตของแม่ค้าในตลาด ที่ผมถ่ายตอนไปจ่ายตลาดตอนเช้า หรือภาพถ่ายเพื่อนๆ หรือศิลปินรุ่นพี่ ตอนผมไปงานเปิดนิทรรศการต่างๆ ผมก็หยิบเอาภาพถ่ายพวกนี้มาใช้เป็นต้นแบบในการวาดภาพ แต่เอามาแต่งเติมสีสันตามความคิดของตัวเองโดยไม่ได้ยึดตามหลักความเป็นจริง ใช้การดูภาพต้นแบบให้เป็นภาพจำในหัวแล้วเอามาบรรเลงเอง โดยไม่ต้องเหมือนภาพต้นฉบับเป๊ะๆ แต่ถ่ายทอดออกมาด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า”

   “ส่วนสไตล์การทำงาน ผมได้อิทธิพลจากศิลปินที่เป็นไอดอลของผมอย่างเดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) และ อองรี มาติส (Henri Matisse) ผมชอบบรรยากาศในภาพวาดของมาติส และชอบสีสันในผลงานของฮอกนีย์”

 

นอกจากศิลปะจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ผู้คนได้รับรู้แล้ว ในหลายครั้ง ศิลปะก็เป็นเครื่องมือระบายความอึดอัดขัดข้อง และบำบัดความหดหู่เศร้าหมองของทั้งผู้ทำและผู้ชม ดังเช่นชื่อของนิทรรศการครั้งนี้ ที่ศิลปินใช้การวาดภาพเป็นเสมือนหนึ่งการบำบัดความรันทดหดหู่ในชีวิตที่ผ่านมาของเขา

“ชื่อนิทรรศการ DEPRESSION คิวเรเตอร์เป็นคนตั้งให้ อาจเป็นเพราะเขาคงมองเห็นความหดหู่ของเรา ที่เคยต้องใช้ชีวิตแบบซ้ำซากจำเจมานาน เหมือนอยู่ในความมืดมิด เราอยากจะออกไปหาแสงสว่าง หรือธรรมชาติที่สดใส พอออกไปไหนไม่ได้เราก็เที่ยวทิพย์ผ่านการวาดภาพเสียเลย การทำงานศิลปะสำหรับเราคือการบำบัดความเครียดและความหดหู่เหล่านี้”

“เวลาคนอื่นวาดภาพ เขาอาจจะวาดด้วยความรู้ ทักษะ หรือชั้นเชิง แต่เราไม่เป็นแบบนั้น เพราะถ้าเรามัวแต่ยึดติดกับทักษะเมื่อไหร่ งานของเราจะฟ้องออกมาเลยว่ามันเครียด มันแข็ง มันไม่สนุก”

  เราชอบวาดภาพด้วยความสุข เหมือนที่คุณหริธรเคยบอกเราว่า ‘คุณจะวาดอะไร หรือทำอะไรก็ได้ ที่ทำแล้วมีความสุข วาดแล้วมีความสุข สนุกกับมัน นั่นแหละคืองานศิลปะของคุณ’ เราก็เลยทำงานด้วยความสนุก ใช้ความสุขวาดภาพของเราออกมา ถึงตอนนี้ก็คงมุ่งมั่นทำงานต่อไป เพราะเราตั้งใจไว้แล้วว่าจะเดินทางสายนี้แล้ว”

 

นิทรรศการ DEPRESSION โดยปวเรศวร์ โชคแสน คิวเรทโดยตะวัน วัตุยา จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 5-28 พฤศจิกายน 2564 ที่ พาเลท อาร์ทสเปซ (Palette Artspace) ชั้น 4 (ติดรถไฟฟ้าบีทีเอสทองหล่อ)

เปิดทุกวันตั้งแต่ 10.00-18.00 น. (ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม)

สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 09-4914-5697

อีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากพาเลท อาร์ทสเปซ