สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง/กระทือ ลืมกันไปหรือยัง?

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

กระทือ

ลืมกันไปหรือยัง?

 

กระทือ นับเป็นพืชพื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber zerumbet (L.) Roscoe ex Sm.

แต่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าในแถบปาปัวนิวกินีมีหลักฐานการใช้กระทือมามากกว่า 10,000 ปีแล้ว แสดงว่าเป็นพืชโบราณชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายและสืบต่อมาอย่างยาวนาน

กระทือมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษหลายชื่อ เช่น Champoo or Shampoo ginger

ชื่ออังกฤษนี้แสดงให้เห็นว่ามีภูมิปัญญาในการนำเอากระทือมาใช้ในการสระผม

หรือเรียกกระทือว่า bitter ginger ก็แสดงให้เห็นว่ากระทือสามารถนำมากินได้แต่ก็นับเป็นผักที่มีรสขม

หรือเรียกว่า pinecone ginger ที่สื่อว่ากระทือมีรูปร่างของดอกคล้ายลูกสน

สำหรับภาษาไทยนั้นบางคนเห็นว่า ที่เรียกว่ากระทืออาจมาจากวลี “อีดอกกระทือ” หมายถึง คนที่ไม่สวย เปรียบกับดอกกระทือซึ่งมีดอกไม่สวย (แต่บางคนก็ว่าสวย) ไม่หอม รสยังเผ็ดจัดจ้าน ต้นก็มักเกิดใกล้ๆ โคลนตมหรือที่ชื้นแฉะนั่นเอง

แต่ในความจริงกระทือและดอกกระทือ คือ พืชสมุนไพรที่มีเสน่ห์ชนิดหนึ่ง

 

กระทือเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี เปลือกนอกของเหง้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง

ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม มีรสขม ขื่น ปร่า และเผ็ดเล็กน้อย ต้นจะโทรมในหน้าแล้งแล้วจะงอกขึ้นใหม่ในหน้าฝน

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือที่เรียกว่าหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย และในพื้นที่มีความชื้นพอสมควร ถ้าได้แสงแดดส่องตลอดวันยิ่งดี

กระทือพบมากทางภาคใต้ ตามป่าดงดิบ ริมลำธารหรือชายป่า หรือดินที่ร่วนซุย ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ติดผลราวเดือนตุลาคม

กระทือเป็นอาหารที่มีการนำส่วนดอกและเหง้ามากินเป็นผักหรือใส่ในน้ำพริก

ทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน นิยมนำเหง้าไปแกงกับปลาย่าง ส่วนหน่ออ่อนและเนื้ออ่อนในลำต้น ช่อดอกอ่อน ก็นำมากินเป็นผักสดได้

บางท้องถิ่นทางใต้ก็นิยมนำหน่ออ่อนหรือต้นอ่อนมาทำแกงเผ็ด แกงไตปลา หรือนำไปต้มจิ้มกินกับน้ำพริกก็อร่อย

เคล็ดลับอย่างหนึ่งคือ เนื้อเหง้าของกระทือมีรสขม ดังนั้นต้องนำมาหั่น และขยำกับเกลือนานๆ เพื่อขจัดความขมก่อนนำมากินหรือปรุงเป็นอาหาร

 

สรรพคุณทางยา

เหง้ากระทือ ใช้บำรุงน้ำนมสตรีให้บริบูรณ์ ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิด แก้ไอ บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ และหากนำเหง้ามาแช่น้ำดื่มช่วยแก้ร้อนในด้วย

ถ้านำเอา เหง้าหมกไฟ แล้วมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้บิด ปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยอาหารให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียดและบำรุงน้ำนมได้เช่นกัน

และถ้าใช้หัวกระทือรวมกับหัวไพล เผาไฟคั้นเอาน้ำกิน ใช้แก้บิด แก้ปวดเบ่ง แก้พิษเสมหะ แก้ปวดมวน แก้แน่นได้เช่นกัน สำหรับส่วนของราก มีรสขมขื่นเล็กน้อย แก้ไข้ตัวเย็นแต่รู้สึกร้อนภายในได้

ใบ รสขมขื่นเล็กน้อย ขับลม ขับเลือดเสียในมดลูก ขับน้ำคาวปลา

ดอก รสขมขื่น แก้ผอมเหลือง แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวเย็น ไข้จับสั่น

เกสร รสเฝื่อนปร่า แก้ลม บำรุงธาตุ ต้น มีรสขมขื่น ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้

ตำรายาไทยใช้กระทือใน “พิกัดตรีผลธาตุ” มีเหง้ากระทือ เหง้าไพล หัวตะไคร้หอม สรรพคุณบำรุงไฟ แก้ไข้ตัวร้อน แก้กำเดา

และปัจจุบันในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร มีตำรับยาตามองค์ความรู้ดั้งเดิม “ยาเลือดงาม” ซึ่งมีส่วนประกอบของเหง้ากระทือ และสมุนไพรอื่นๆ หลายชนิดนั้น เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

สุภาพสตรีหลายท่านที่มีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน แนะนำให้ลองใช้ตำรับยาดั้งเดิมนี้ดู

 

ในมุมการศึกษาวิจัย พบว่าสารสกัดกระทือด้วยเมทิลแอลกอฮอล์ สามารถนำมาใช้ป้องกันและกำจัดเหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งพบว่าใช้ได้ดีกว่าขมิ้นชัน ขิง และไพล นอกจากนี้ ในการศึกษาวิจัยใหม่ ซึ่งศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลองของสารบริสุทธิ์ 4 ชนิดที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ได้แก่ (1) zerumbone, (2) 3-O-methyl kaempferol, (3) kaempferol-3-O-(2, 4-di-O-acetyl-?-L-rhamnopyranoside) และ (4) kaempferol-3-O-(3, 4-di-O-acetyl-?-L-rhamnopyranoside) พบว่าสารเหล่านี้มีฤทธิ์ระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่าสารซีรัมโบน (zerumbone) มีฤทธิ์ลดการอักเสบและลดการบวมได้ดีที่สุด

ในช่วงปี ค.ศ.2020-2021 มีงานวิจัยหลายชิ้น เช่น การศึกษาของ Roohollah Ahmadian, Roja Rahimi & Roodabeh Bahramsoltan (2020) จากมหาวิทยาลัยในประเทศอิหร่าน และ Nitida Pastor, Maria Carmen Collado and Paolo Manzoni (2021) กลุ่มนักวิจัยจากประเทศอิตาลี ที่สนับสนุนว่าสารสกัดในกลุ่ม คีมเฟอรอล (kaempferol) ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งที่ได้จากกระทือ สามารถต้านไวรัสและต้านการอักเสบได้เป็นอย่างดี

กระทือที่ชื่ออาจไม่ไพเราะ แต่จากหลักฐานสนับสนุนเหล่านี้แสดงให้เห็นศักยภาพของกระทือ เราควรฟื้นฟูอาหารที่ปรุงมาจากกระทือ และจัดการความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับยาสมุนไพรกระทือ เพื่อรับมือกับไวรัสต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของเรา

ที่ไม่ควรลืมคือเรื่องการอนุรักษ์สายพันธุ์กระทือด้วย เนื่องจากในขณะนี้มีผู้ปลูกน้อยลงมาก จนคนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักพืชชนิดนี้กันแล้ว กระทือปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามได้และเป็นอาหารและสมุนไพร ของดีจากโบราณด้วย