จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 3-9 ธันวาคม 2564

จดหมาย

 

เสียงคน “ถูกไล่”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

คือขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก

ที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน

เป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือเอ็นจีโอ ที่เข้ามามีบทบาทในประเทศประเทศไทย

ทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

แต่ถึงกระนั้นหลายคนก็ยังคงมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

จึงถือโอกาสพาทุกคนมาทำความรู้จักกับองค์กรของเรา

 

แอมเนสตี้เข้ามามีบทบาทในไทยจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

เป็นความทรงจำอันมืดมนของใครหลายๆ คน

เหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวไทย

เพราะจดหมายนับแสนฉบับที่ถูกส่งมายังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุม

มาจากผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลก

พ.ศ.2536 เป็นครั้งแรกที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างจริงจัง

มีการเลือกตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่สนใจสิทธิมนุษยชนแขนงต่างๆ ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

และจดทะเบียนในฐานะสมาคมตามกฎหมายไทยภายใต้ชื่อ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ร่วมทำงานพัฒนาสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือจากผู้สนับสนุนทุกคนในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2546

 

สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนยังคงมีความเข้าใจผิดที่ว่าตั้งอยู่ ณ สหรัฐอเมริกา

แอมเนสตี้มีจุดกำเนิดมาจากปีเตอร์ เบเนนสัน ทนายความชาวอังกฤษผู้เขียนบทความเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองคนที่โดนรัฐบาลเผด็จการจับติดคุกเพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ

ดังนั้น สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

เงินสนับสนุนของแอมเนสตี้

บางคนมีความเข้าใจผิดที่ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รับเงินมาจากรัฐบาลต่างประเทศ

แต่ในความเป็นจริงเงินทุนสำหรับการจัดกิจกรรม

มาจากการรับบริจาคของบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน และค่าสมัครสมาชิกในแต่ละปี

เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร

และปฏิเสธที่จะรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือแหล่งทุนอื่นๆ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง หรือลัทธิใดๆ

เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น

เนื่องจากมีพันธกิจเพียงเพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบใด แอมเนสตี้ก็ยังต้องทำงานเพื่อเรียกร้องหรือกดดันให้ประเทศนั้นๆ ยกระดับและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน

โดยไม่มองว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย

รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งหรือว่ารัฐประหาร

เพราะทุกระบอบการปกครองล้วนมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีสมาชิกและผู้สนับสนุนกว่า 10 ล้านคน ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

มีสำนักงานกระจายตัวอยู่กว่า 70 ประเทศ

ยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันทางด้านสิทธิมนุษยชน

การที่เรามีสำนักงานกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศ จึงสามารถทำให้ทราบได้ว่าสถานการณ์ของโลก ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 6 ทศวรรษ

หากนับเป็นตัวเลขของอายุคนเราก็คงเป็นคนหนึ่งที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยสุดท้ายของชีวิต และเป็นวัยที่ทุกอย่างเริ่มเชื่องช้าลง

แต่ยังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อให้สิทธิมนุษยชน เกิดความเท่าเทียม ทำให้เกิดความสำเร็จมากมาย

อาทิ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลกในปี 2520

หรือล่าสุดเคลื่อนไหวช่วยฆาลิด ดราเรนี นักข่าวชาวแอลจีเรียได้รับการปล่อยตัว หลังจากถูกคุมขังเพียงเพราะทำหน้าที่รายงานข่าวเมื่อปี 2563

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

จะยังคงทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับบุคคลที่ถูกละเมิด

เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีความเท่าเทียม

ไม่ควรมีใครถูกกดให้ต่ำลง

แอมเนสตี้

อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

จะขับไล่ใคร องค์กรไหน

ให้พ้นดินแดนแห่งนี้

ลองเปิดตากว้างๆ

รับรู้ รับฟัง โดยรอบด้าน

จะได้ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล

นี่คือ ข้อมูลส่วนหนึ่งจากองค์กรที่กำลังจะถูกไล่