2503 สงครามลับ สงครามลาว (58)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (58)

 

ทดแทนทหารประจำการ

ผลจากการปิดบังข้อมูลของระบบราชการไทยทำให้เกิดความเข้าใจว่า การส่งกำลังเข้าไปปฏิบัติการในดินแดนราชอาณาจักรลาว เป็นการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศลาว

และยังทำให้ความมุ่งหมายสำคัญของรัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่เป็นที่รับทราบไปด้วย นั่นคือการป้องกันมิให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ขยายพื้นที่การสู้รบเข้ามาในดินแดนไทย

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในลักษณะ “พรรคพี่พรรคน้อง” กับฝ่ายสังคมนิยมทั้งจีนและเวียดนามเหนือ รวมทั้งลาวฝ่ายซ้ายซึ่งให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน

การส่งกำลังทหารประจำการที่มีลักษณะเป็นหน่วยรบอย่างสมบูรณ์แบบเข้าไปปฏิบัติการลับในลาว เริ่มต้นด้วย “โครงการวีพี” เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2513 ใช้กำลังจากกองทัพภาคที่ 2 (กรมผสมที่ 13) โดยเข้าปฏิบัติการในเขตกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 บริเวณทุ่งไหหิน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อยับยั้งการขยายตัวของฝ่ายคอมมิวนิสต์

นโยบายที่คณะกรรมการ คท.มอบให้แก่หน่วยผสม 333 ในเบื้องต้นที่สถานการณ์ยังไม่รุนแรงนักนั้นมีเพียงให้ปฏิบัติงานในเรื่องการข่าว การจัดชุดครูฝึกทำการฝึกและจัดตั้งประชาชนลาวในท้องถิ่นให้สามารถจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

แต่เมื่อมีการจัดตั้งโครงการวีพี จึงทำให้ต้องขยายขอบเขตภารกิจให้กว้างขวางขึ้น เริ่มตั้งแต่การใช้หน่วยกำลังประจำการจาก กรมผสมที่ 13 ดังกล่าว

 

โครงการเอกภาพ

เพื่อมิให้เกิดสุญญากาศในพื้นที่การรบหลังการถอนกำลังกรมผสมที่ 13 กลับไทย โดยความเห็นชอบของสหรัฐ คณะกรรมการ คท.จึงมีมติให้จัดทำ “โครงการเอกภาพ” ขึ้นเพื่อให้มีกำลังรบในรูปอาสาสมัครพลเรือนเพื่อใช้ปฏิบัติงานนอกประเทศไทยในลักษณะปกปิด

เรียกกำลังพลอาสาสมัครตามโครงการนี้ว่า “ทหารเสือพราน – ทสพ. : BATTALION PANTHER – BP)”

เอกสารที่ไม่สามารถระบุที่มายังกำหนดด้วยว่า กองกำลังตามโครงการเอกภาพนี้ “ถือว่าเป็น ‘หน่วยที่ทำการรบนอกประเทศเพื่อป้องกันราชอาณาจักรลาวหรือแผ่นดินอื่นอันเป็นประเทศที่สามโดยตรงเท่านั้น’ ส่วนความมุ่งหมายหรือนโยบายแฝงของคณะกรรมการ คท. ยังต้องการใช้กำลังนี้ ‘สกัดกั้นป้องกันการคุกคามของฝ่ายคอมมิวนิสต์ต่อผืนแผ่นดินไทย’ โครงการเอกภาพนี้จึงมีจุดมุ่งหมายปฏิบัติการนอกประเทศและกว้างขวางกว่าโครงการวีพี”

เพราะนอกจากจะใช้กำลัง ทสพ.ผลัดเปลี่ยนกับกำลังของกองทัพประจำที่ทำการรบอยู่ในพื้นที่ซำทอง-ล่องแจ้ง ในเขต ทชล.ภาค 2 ตามโครงการวีพีแล้ว

โครงการเอกภาพยังมุ่งหมายปฏิบัติการในสาธารณรัฐกัมพูชาเพิ่มขึ้นอีกด้วยเพื่อผลในการป้องกันราชอาณาจักรไทย

 

ลอนนอลปฏิวัติ

พ.ศ.2513 สถานการณ์ในราชอาณาจักลาวและสาธารณรัฐกัมพูชากำลังอยู่ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ

กัมพูชาเกิดการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลชุดเจ้าสีหนุโดยนายพลลอนนอลซึ่งส่งผลให้เหตุการณ์ในลาวตอนใต้ที่มีพรมแดนติดกับเขมรทวีความรุนแรงขึ้น

เนื่องจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้เส้นทางโฮจิมินห์เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และส่งกำลังเข้าปฏิบัติการผ่านลาวตอนใต้และเขมร ซึ่งสหรัฐเห็นว่าเป็นผลเสียหายอย่างยิ่งหากปล่อยให้เวียดนามเหนือใช้เส้นทางโฮจิมินห์ได้เช่นนี้

หลังการขึ้นสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีนิกสัน สหรัฐต้องการมอบภารกิจป้องกันประเทศของแต่ละประเทศให้เป็นหน้าที่ของประเทศนั้นๆ ดำเนินการเอง ไม่ให้ประเทศอื่นเข้าไปแทรกแซง

นโยบายของสหรัฐต้องการให้ความช่วยเหลือเฉพาะทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการป้องกันประเทศมากกว่าการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง จึงต้องการที่จะถอนทหารอเมริกันออกจากเวียดนามใต้ทั้งหมด รวมทั้งยังไม่ต้องการส่งทหารสหรัฐเข้าไปในลาวและเขมรอีกด้วย

แต่การที่ฝ่ายเวียดนามเหนือยังคงใช้เส้นทางโฮจิมินห์เพื่อส่งกำลังลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ สหรัฐจึงจำเป็นต้องหาวิธีการยับยั้งฝ่ายเวียดนามเหนือด้วยการใช้กำลังจากประเทศอื่นโดยสหรัฐพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

การจัดตั้งกองพันทหารเสือพรานนี้ ฝ่ายไทยรับผิดชอบในการจัดหากำลังพล การฝึก และการปฏิบัติการ ส่วนสหรัฐจะให้การสนับสนุนเช่นเดียวกับที่ได้สนับสนุนโครงการลับของไทยในลาว

 

ทหารเสือพราน : เพื่อลาวและกัมพูชา

เฉพาะเพื่อรองรับสถานการณ์ในลาว ในชั้นต้นสหรัฐขอให้ไทยจัดตั้ง 6 กองพันทหารราบเสือพราน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ตอนใต้ของลาวและเข้าผลัดเปลี่ยนกำลังกองทัพประจำการ กรมผสมที่ 13 ส่วนในกัมพูชานั้นให้จัดตั้ง 3 กองพัน เรียกว่า “อาสาสมัครเขมรเสรี – ขสส.”

ขณะนั้น รัฐบาลไทยกำลังจัดทำแผนป้องกันการคุกคามจากนอกประเทศในส่วนที่ติดกับลาวและเขมร ประกอบด้วย “โครงการสามัคคี” ทางเหนือของลาว และ “โครงการผาสุก” ทางใต้ของลาวซึ่งติดกับเขมรไว้แล้ว

เมื่อสหรัฐสนับสนุนโครงการเอกภาพ รัฐบาลไทยจึงประสงค์จะยุบโครงการทั้งสองของไทยนี้เสียเพื่อมิให้เกิดการซ้ำซ้อน

แต่ขอให้ 4 กองพันทหารราบเสือพรานเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ทางเหนือคือไชยบุรี และทางใต้คือจำปาศักดิ์ และสีทันดอน

ส่วนอีก 2 กองพันที่เหลือให้ไปปฏิบัติการในพื้นที่ราบสูงโบโลเวนซึ่งติดกับเวียดนามใต้และมีเส้นทางโฮจิมินห์ตั้งอยู่ตามข้อเสนอของสหรัฐ

รัฐบาลไทยได้ยกเหตุผลในการปฏิบัติการทางภาคเหนือของลาวว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะจีนได้สร้างถนนสาย 42 เข้ามาเกือบจะชิดพรมแดนไทยอยู่แล้ว อันเป็นสิ่งบอกเหตุว่าจีนมีแผนที่จะขยายอิทธิพลลงมาทางใต้สู่ประเทศไทย

ข้อเสนอนี้ได้รับการพิจารณาจากสหรัฐเป็นอย่างดีและตกลงกันได้ โดยในชั้นต้นให้จัดตั้งทหารเสือพรานเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 6 กองพันเป็น 14 กองพัน ประกอบด้วย 13 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่

โดยให้ไทยรวม “โครงการสามัคคี” และ “โครงการผาสุก” และต่อมาเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงจากนายพลลอนนอลจึงให้แปรสภาพทหาร “อาสาสมัครเขมรเสรี – ขสส.” 3 กองพันซึ่งเตรียมส่งเข้าปฏิบัติการในกัมพูชา เป็นให้นำกำลังไปใช้ปฏิบัติการสกัดกั้นการส่งกำลังตามเส้นทางสายโฮจิมินห์ทางตอนใต้ของลาว

รวมทั้งเพื่อเพิ่มเติมกำลังทหารเสือพรานในพื้นที่ ทชล.ภาค 2 ทุ่งไหหิน และเข้าทดแทนกรมผสมที่ 13 ซึ่งจะต้องได้รับการผลัดเปลี่ยนต่อไป

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่การรบรุนแรงมากยิ่งขึ้น สหรัฐจึงอนุมัติให้ขยายการจัดตั้งทหารเสือพรานขึ้นเป็น 36 กองพัน (33 กองพันทหารราบ และ 3 กองพันทหารปืนใหญ่) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2514 ให้จัดตั้งเพิ่มขึ้นจาก 14 กองพัน เป็น 24 กองพัน (22 กองพันทหารราบ และ 2 กองพันทหารปืนใหญ่) และจะได้เพิ่มงบประมาณให้จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีกตามโครงการเอกภาพในปีต่อๆ ไป

โดยหน่วยผสม 333 เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหากำลังพล สถานที่ฝึกและอำนวยการปฏิบัติการรบ

กล่าวโดยสรุปแล้ว ทหารเสือพรานจึงถือกำเนิดมาเพื่อเข้าทดแทนกำลังทหารประจำการจากกรมผสมที่ 13 ที่มีแผนจะถอนกำลังกลับใน พ.ศ.2514 เป็นหลัก ขณะที่ยังคงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมหน่วยกำลังรบที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยรัฐบาลลาวในการรับมือทหารเวียดนามเหนืออีกด้วยนั่นเอง

ทั้งหมดนี้คือที่มาและวัตถุประสงค์ของหน่วยทหารเสือพรานอันเป็นส่วนสำคัญของแผนการป้องกันประเทศที่รัฐบาลยุคนั้นมีวัตถุประสงค์สำคัญสูงสุดคือป้องกันมิให้สงครามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ลุกลามเข้ามาในดินแดนประเทศไทย