อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (4)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (4)

 

วิมานแก่งเสี้ยน (2)

หนีน้ำ 25 ตุลาคม-11 ธันวาคม 2554

เรื่องราวตอนนี้เป็นรายละเอียดที่ขยายเรื่องราวที่เกิดในช่วงที่น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ปลายปี 2554 ที่คนในกรุงเทพฯ ต่างหาทางหลบน้ำออกไปที่ต่างๆ กันมาก

เราเองก็ต้องพาอาจินต์หนีน้ำไปด้วย และในที่สุดแม้น้ำจะไม่ท่วมบ้านเรา แต่การไปของเราก็ไม่เสียเปล่า ตรงกันข้ามมันนำสิ่งดีๆ เข้ามาสู่ชีวิตเรามากมาย

เราได้อยู่ในธรรมชาติแท้ๆ ที่เราจากไปตั้งแต่เด็ก

ได้รู้จักชีวิตธรรมดาแบบชาวบ้านๆ ที่แสนบริสุทธิ์ สงบ สบาย ง่ายๆ

ได้เห็น ได้สัมผัสใกล้ชิดกับชีวิตต่างๆ ที่แสนจะธรรมชาติ โดยอยู่ท่ามกลางลมฟ้าอากาศที่โปร่งโล่ง

เห็นฤดูกาลต่างๆ อย่างใกล้ชิด จนฉันรู้สึกเหมือนได้กลับสู่ชีวิตดั้งเดิมของมนุษยชาติอย่างแท้จริง (แม้จะไม่ทั้งหมด)

25 ตุลาคม ยายแก่คนหนึ่งขับรถพาตาแก่ที่แก่กว่าออกไปจากบ้านสุทธิสาร ไปบนถนนรัชดาภิเษก ข้ามสะพานพระราม 7 เข้าจรัญสนิทวงศ์ เลี้ยวขวาออกสิรินธร ไปถึงสะพานข้ามแยกอะไรสักอย่างหนึ่งที่ตลิ่งชัน

เราก็สวนกับน้ำที่กำลังเริ่มบ่าเข้ามาที่คอสะพาน ฉันก็ขับลุยน้ำที่ยังตื้นๆ ออกไปอย่างไม่ตื่นเต้นอะไร แต่พอตกกลางคืนจึงรู้ว่าน้ำท่วมสูงจนปิดถนนไปแล้ว ก็เลยเริ่มรู้สึกขึ้นมาว่าเราช่างโชคดีอะไรอย่างนี้

ออกช้ากว่านี้หน่อยอาจมาไม่ได้แล้วก็ได้

มาถึงก็จัดของจัดบ้านที่ก็ยังเก็บงานไม่เสร็จดี กว่าจะจัดของเข้าตู้ ซึ่งยังไม่ทันติดบานกระจกก็จะตีสองแล้ว

บ้านสุทธิสารก็มี ยศ-วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ ลูกศิษย์คนเด็กที่สุดของอาจินต์พาแฟนมาอยู่เฝ้าให้ ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะคอนโดที่เขาอยู่ก็ถูกน้ำท่วม

มาอยู่ที่นี่ ฉลองก็เอาคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งมาให้เล่น อาจินต์เพลิดเพลินกับคอมพ์ทั้งวัน เบื่อคอมพ์ก็เล่นวิทยุ ดูทีวี อ่านหนังสือ เขียนอะไรขยุกขยิกไปตามเรื่อง

ฉันเองก็เพิ่งรู้จักการใช้ air card ที่นี่ เนื่องจากบ้านเราตรงนี้ตอนนั้นยังไม่มีระบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ต้องใช้ air card

อยู่มาสักอาทิตย์ กลัวอาจินต์จะเหงา เราก็พากันออกไปดูโลกภายนอกเสียที พาไปกินข้าว ซื้อของกินมาตุนไว้บนภูเขา

ไปที่ไหนก็เจอคนเข้ามาทักเหมือนเคย

วันนี้ที่โลตัส คนมาทักพาไปนั่งศูนย์อาหาร ให้ฉันไปหาซื้อของกินกลับบ้านตามสบาย แล้วเขาก็จัดการซื้อของกินบริการดูแลอาจินต์อย่างดี

แล้วก็เจอเนาวรัตน์-เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นคนเมืองกาญจน์ วันนี้เขามากับประภัสสร เสวิกุล ซึ่งก็หนีน้ำจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่นี่ด้วย

พูดคุยกันแล้วเขาก็ชวนอาจินต์ไปกินอาหารริมแม่น้ำแควใหญ่

อาจินต์ก็ไม่เหงานัก ความจริงก็ไม่เคยเหงา ถามทีไรก็…สบายมาก…ทุกที

 

ในขณะที่หาของเล่นให้อาจินต์ไม่เหงา จัดให้อยู่ในที่สะดวกสบายตามชอบ

ฉันเองก็เริ่มทำความรู้จักกับที่นี่ไปเรื่อยๆ

บ่ายสามเป็นต้นไปทุกวันจะมีตลาดนัดที่นั่นบ้างที่นี่บ้างเปลี่ยนไปแต่ละวัน

ฉันเห็นแม่ค้าตลาดนัดแล้วนึกถึงตลาดสดบ้านนอกสมัยเด็ก ใครปลูกอะไรได้นิดๆ หน่อยๆ ก็เอามาวางขาย

พูดกันง่ายๆ ฉันชอบตลาดแบบนี้มากกว่าตลาดสดใหญ่กลางเมืองซึ่งเราต้องไปนานๆ ที เพราะตลาดนัดชานเมืองไม่มีของบางอย่าง ซึ่งเราจะหาได้ในตลาดสดในเมืองเท่านั้น

เดินตลาดนัดที่นี่แล้วก็นึกถึงแม่ค้าที่ตลาดห้วยขวาง มันช่างผิดกันลิบลับเสียเหลือเกิน

ที่ห้วยขวาง ฉันเคยถูกแม่ค้าด่าลับหลังเพียงเพราะฉันยืนดูของนาน หยิบดูแล้วไม่ซื้อ พอเดินห่างมาแล้วคนที่ไปกับฉันหันมาบอกว่าแม่ค้าด่า เออ ไม่ได้ยินก็แล้วไป

มีอย่างหนึ่งที่อาจินต์อยากกินแล้วเราไม่รู้จะหากินที่ไหน ก็คือก๋วยเตี๋ยวแห้ง บะหมี่แห้งธรรมดา เราไม่รู้ว่ามีตรงไหนที่มันจะอร่อยสักหน่อย

ฉลองผู้เป็นเจ้าถิ่นนึกอยู่นาน วันหนึ่งก็มาหาพาไปร้านที่เพิ่งเปิดใหม่ ร้านของอาจารย์สุมาลี อาจารย์แกเป็นอาจารย์สอนวิชาคหกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอะไรสักแห่งที่นี่ ลืมไปแล้ว

แกชอบทำอาหารมากกว่าการสอน แกจึงลาออกจากราชการมาเปิดร้านเล็กๆ ริมถนนเส้นที่จะไปลาดหญ้า

ไปถึงอาจารย์ก็เป็นแฟนหนังสือของอาจินต์อีกด้วย เลยเป็นลูกค้ากันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

จนสิ้นอาจินต์ วันทำบุญให้อาจินต์ที่บ้าน แกก็จองรายการอาหารหลายอย่างมาทำให้

ตอนนั้นร้านนี้ยังไม่มีชื่อร้าน เขาทำขายทั้งขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ทำ steak ด้วย อาจินต์เลยบอกว่าก็ตั้งชื่อเสียเลยว่า…ปัง เตี๋ยว เต๊ก…

แล้วมันก็ชื่อนั้นมาจนวันนี้

 

ปลายปี ตะป๊อดก็พาครอบครัวมาเยี่ยม ตลอดปีที่แล้วที่ฉลองดูแลการสร้างบ้าน ตะป๊อดจะเทียวไปเทียวมาคอยช่วยดูแลโดยไม่ได้ขอร้อง น้องชายเขาอีกคนมาช่วยดูแลเรื่องเดินไฟ

ชีวิตของฉัน ชีวิตของคนเราอยู่ได้ด้วยคนแวดล้อมช่วยเหลือได้พึ่งพาอาศัยคนอื่นตลอดมา แม้บางคนไม่ใช่ญาติพี่น้อง อย่างอาจินต์ไม่ค่อยมีญาติ แต่ความเป็นอาจินต์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาแฟนหนังสือที่มีทั่วสารทิศ ก็มีแต่คอยช่วยอำนวยความสะดวกทุกๆ เรื่องที่ทำ บางอย่างที่บางคนทำให้นั้นมากกว่าที่ลูกหลานแท้ๆ จะทำให้ได้ด้วยซ้ำ

พอตะป๊อดมา อาจินต์ก็ได้ไปเที่ยวที่ที่อยากไป สมัยที่อาจินต์ยังเด็ก คุณพ่อของอาจินต์เคยมาเป็นนายอำเภอที่นี่ อาจินต์เคยมาหาคุณพ่อและได้ไปเที่ยวพระแท่นดงรัง ได้ไปปราสาทเมืองสิงห์ อาจินต์เป็นคนจำเรื่องเก่าๆ รักของเก่าๆ พอมาอยู่ที่นี่นานหน่อยก็นึกอยากไปดูในที่ที่เคยไป

29 พฤศจิกายน ฉลองกับตะป๊อดพาเราไปพระแท่นดงรัง อาจินต์เดินดูแล้วทำท่างงๆ มันไม่มีอะไรเหมือนเดิม ซึ่งฉันไม่แปลกใจ กี่สิบปีแล้วก็ไม่รู้ จะเหมือนเดิมอยู่ได้อย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม ฉันเห็นอย่างหนึ่งที่หลวงพ่อทำไว้ดีทีเดียว คือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ท่านได้รวบรวมของใช้ในการดำรงชีพของคนรุ่นเก่าๆ ที่นี่ไว้ได้มากพอสมควร

นี่คือคุณูปการของวัดของพระดีๆ

 

ขากลับจากพิพิธภัณฑ์ เราแวะหาข้าวเย็นกินกันที่ร้านครัวดอกปีบ อยู่ริมน้ำบรรยากาศสงบเงียบ แต่กลิ่นส่าจากโรงงานน้ำตาลทำให้เสียบรรยากาศไปหน่อย

แล้วเราก็นั่งรถเลียบริมน้ำมาเรื่อยๆ ฉลองพาดูชีวิตชาวบ้านที่ไม่ค่อยเป็นชาวบ้านแล้ว

พาดูแม่น้ำที่อาจินต์อยากเห็น อาจินต์บอกว่าไม่ใช่ของเดิมเลย แล้วก็ผ่านวัดแสนตอ ระหว่างทางจากวัดแสนตอพระอาทิตย์ดวงโตกำลังลับเงาไม้ แล้วก็เข้าถนนใหญ่ กลับบ้าน

วันรุ่งขึ้น เราไปกินก๋วยเตี๋ยวอร่อยของอาจารย์สุมาลีอีกมื้อ ขากลับ เจ้าถิ่นเขาพาเราไปแวะดูสะพานข้ามแม่น้ำแคว แล้วก็อย่างเดิมแหละ มันไม่เหมือนเดิมเอาเสียเลย

สะพานข้ามแม่น้ำแควในความทรงจำของฉันซึ่งไม่นานมากเท่าของอาจินต์มันก็ไม่เป็นอย่างนี้

ในใจฉัน บรรยากาศก่อนขึ้นสะพานนี้ที่ดูเปลี่ยวๆ มีแพะสามสี่ตัวเดินเล็มหญ้าอยู่ท่ามกลางป่าครึ้มๆ ยามพลบออกจะน่ากลัวด้วยซ้ำ

แต่ตอนนี้หรือ? มันกลายเป็นศูนย์การค้ารกๆ ไปด้วยแผงขายของนักท่องเที่ยวระเกะระกะอยู่จนเกือบชิดตีนสะพาน

โอ้…ผู้บริหารท้องถิ่นเขาไม่คิดบ้างหรือว่า ตลาดแบบนี้มันไม่ควรจะอยู่ใกล้สถานที่ประวัติศาสตร์ถึงเพียงนี้ กันที่ออกไปให้สถานที่มันดูกว้างขวางสง่างามสมศักดิ์ศรีของประวัติศาสตร์ของจังหวัดหน่อยไม่ได้หรือ

กลับถึงบ้านก็เพลีย อาจินต์ก็ขึ้นบ้านพักผ่อน พวกเราก็แยกย้ายกันทำโน่นทำนี่ ตกเย็นกินข้าวแล้วก็ลงมานั่งเล่นหน้าบ้าน มีเสาไม้บ้านเก่าที่เรายกมาทำบ้านนี้เหลืออยู่ต้นหนึ่ง มันคดงอเล็กน้อยและมีรอยแตกบางส่วนเขาจึงคัดออก ฉันเลยให้เขาเอามาวางริมทางเดินหน้าบ้านแทนเก้าอี้สนามได้อย่างดี เป็นเก้าอี้หรือม้านั่งที่แข็งแรงยาวตั้งแปดเมตร

นั่งๆ อยู่บนม้านั่งแปดนิ้ว ตะป๊อดเดินช้าๆ ยกนิ้วโป้งประคองอะไรมาอย่างหนึ่งยื่นให้ดู

โอ้…แมลง

เหมือนตั๊กแตนที่ผอมมีแต่กระดูก สีเหมือนกิ่งไม้แห้ง ฉันถ่ายรูปมันอย่างไม่นับจำนวน ดูมันขยับคองึกงัก เคลื่อนไหวตลกๆ พอมันโดดไปขึ้นต้นโมกริมระเบียงแล้ว ตัวมันก็กลืนไปกับกิ่งโมกเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของกิ่งโมก

มันเป็นแมลงตัวแรกที่ทำให้ฉันต้องคอยมองหาแมลงต่างๆ บนข้างฝาระเบียงบ้านทุกคืน และก็ได้รูปถ่ายแมลงสวยแปลกนับพันรูปที่มาเล่นไฟยามค่ำคืน บางตัวก็เกาะอยู่จนเช้า บางตัวก็ถูกจิ้งจกงับเสียตั้งแต่กลางคืน

คืนนั้น กว่าจะเล่นกับตั๊กแตนจนเบื่อมันก็ดึกดื่นมากแล้ว

และฉันก็สนุกกับนาฏกรรมบนฝาผนังยามค่ำคืน หลังอาจินต์หลับแล้วอยู่หลายปี ก่อนที่มันจะหายไปเลยโดยไม่รู้สาเหตุในอีก 4-5 ปีต่อมา

 

รุ่งขึ้น 1 ธันวาคม เราก็พาอาจินต์ออกไปตามหาโบราณสถานในความทรงจำของอาจินต์อีก คราวนี้เราพากันไปปราสาทเมืองสิงห์ มันเป็นแหล่งโบราณคดีที่กรมศิลป์ได้เข้ามาดูแลแล้ว มีรั้วรอบขอบชิด เข้าประตูไปเป็นสนามหญ้ากว้างใหญ่ ตัดหญ้าไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ตัวปราสาทนั่นสิ หาไม่เห็นมันเหลือเพียงส่วนหนึ่งซึ่งเล็กนิดเดียว รายล้อมด้วยสนามหญ้า ซึ่งดูแล้วเหมือนสวนสาธารณะมากกว่าโบราณสถาน อาจินต์เห็นแล้วก็นิ่ง ไม่พูดไม่จา

เย็นนี้ ฟ้าสวยยามตะวันตกดิน

ยามค่ำ พระจันทร์ก็ลอยสวยอยู่กลางฟ้าเป็นรูปเดือนเสี้ยว

เรานั่งม้ายาวคุยกันไปมองฟ้าไป ใครไม่รู้ถามขึ้นว่า…นี่มันข้างขึ้นหรือข้างแรม

เออ…ฉันจำได้ว่าอาจินต์เคยอธิบายว่าให้ดูว่าพระจันทร์หันส่วนที่เว้าไปทางไหน ทางนั้นจะเป็นทิศตะวันออก (อาจจำผิด)

แต่วันนี้ ตะป๊อดเราโพล่งคำเดียว ง่ายและเด็ดขาดไปเลย…ข้างขึ้นเดือนหงาย

งั้นวันนี้ก็ข้างขึ้นสิ

เราหนีน้ำกันมาจนพอแล้ว น้ำท่วมก็ลดแล้ว ภารกิจของฉันปลายปีนี้ถึงปีหน้ารออยู่มากมายก่ายกอง เราก็ได้เวลากลับกรุงเทพฯ แล้ว

11 ธันวาคม เราก็กลับ

บ้านกรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม แต่หนังสือท่วมถึงเพดาน วีระยศขนเอาหนังสือที่อยู่ต่ำกว่าระดับเอวของเขา จากทุกตู้ออกวางบนโต๊ะตู้ตั่งเตียงสารพัดชนิด แม้แต่ของใช้บางอย่างที่เขากลัวเสีย เขาก็เอาไปผูกติดไว้กับเหล็กดัดที่หน้าต่างให้พ้นระดับน้ำที่อาจท่วม

เห็นแล้วพูดไม่ออก ตื้นตันมาก

ใต้ภาพ

รูป 2-บางวันพระอาทิตย์ตกไม่สวย หันกล้องไปทางพระจันทร์หลังกิ่งสำโรงก็ไม่ผิดหวัง