‘โอไมครอน’ เขย่าเศรษฐกิจไทย เอกชนผวา โควิดรอบใหม่ ‘ล็อกดาวน์’ ประเทศ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘โอไมครอน’ เขย่าเศรษฐกิจไทย

เอกชนผวา โควิดรอบใหม่

‘ล็อกดาวน์’ ประเทศ

 

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 หรือ “โอไมครอน (Omicron)” ที่ถูกรายงานพบเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้ โดยมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่งและมีข้อบ่งชี้ว่า พบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ที่ไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเรามากกว่า 10 ตำแหน่ง

ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์ “เดลต้า (Delta)” ที่ครองโลกอยุ่ในปัจจุบัน มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

ส่งผลให้เกิดความกังวลกันไปว่า โอไมครอนอาจจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นภูมิที่เกิดจากการฉีดวัคซีนไปแล้วก็ตาม

 

แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะจัดให้โควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) เนื่องจากมีจำนวนการกลายพันธุ์ที่สูงมากจนน่าวิตก ซึ่งหมายถึง มี “ความเสี่ยง” ที่อัตราการติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้จะสูงขึ้นมากกว่าสายพันธุ์ในปัจจุบัน

แต่หลายประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ตัดสินใจประกาศให้ประเทศที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและเป็นประเทศต้นทางที่พบการกลายพันธุ์ 8 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา, เอสวาตีนี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564

ประกอบกับ “วัคซีน” ที่ใช้จัดการกับโควิด-19 ในปัจจุบัน เริ่มมีความไม่แน่นอนในแง่ของประสิทธิภาพที่อาจจะลดลง ล่าสุดทั้งทางบริษัท Pifzer และ Moderna ผู้ผลิตวัคซีนประเภท mRNA ที่ใช้จัดการกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเอง ได้ออกมาแสดงความเห็นแล้วว่า เบื้องต้นวัคซีนประเภท mRNA ไม่มีทางที่จะมีประสิทธิภาพต่อเชื้อโอไมครอนในระดับเดียวกับที่ใช้กับเชื้อเดลต้า นั่นหมายถึง ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันจะ “ลดลง” แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะลดลงมากน้อยแค่ไหน

ข้อกังวลที่ตามมาก็คือ จำนวนผู้ป่วยและผู้ที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโอไมครอนจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การระบาดของโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป และนั่นหมายถึง ผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดการระบาดใหญ่

 

ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการประชุมเพื่อทบทวนประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

โดย กกร.จะต้องรอประเมินสถานการณ์จากการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ว่ามีความรุนแรงและมีผลตอบรับกับวัคซีนปัจจุบันอย่างไร “ซึ่งผลการศึกษาขณะนี้ยังไม่ได้ออกมาชัดเจน”

จากที่ก่อนหน้านี้ กกร.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวในกรอบ 0.5-1.5% ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มจะขยายตัว 12-14% เงินเฟ้อขยายตัว 1.0-1.2% ภายใต้เงื่อนไขสำคัญที่ว่า จะไม่มีการระบาดของโควิด-19 ซ้ำเพิ่มเติมเข้ามาอีก และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ

สอดคล้องกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” เป็นอย่างมาก และต้องการ “ข้อมูล” ที่ชัดเจนมากกว่านี้ในแง่ของการแพร่กระจายและมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

“เราไม่ต้องการให้รัฐบาลกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ในขณะนี้อีก เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างวางมาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มที่แล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนในอีก 1-2 สัปดาห์จึงจะมีการพิจารณาทบทวนประมาณการเศรษฐกิจกันอีกครั้ง ส่วนภาคการลงทุนระหว่างประเทศยังต้องประเมินเพราะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศจะดำเนินการอย่างไร หากนักลงทุนในประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรปยังเปิดประเทศ เราก็น่าจะดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้”

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ภาพของ “โอไมครอน” ตอนนี้ยังเห็นไม่ชัดเจน และ WHO เองก็ยังเห็นไม่ชัดเจน ยังต้องการเวลาในแง่ผลกระทบของไวรัสตัวนี้ก่อนว่ามีความรุนแรงมากน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างไร คาดว่าจะมีการประเมินเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งต่อไป

 

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยนั้น ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 1.5% และปี 2565 จะขยายตัว 4.2% ภายใต้สมมุติฐานกรณี base case การเปิดเมืองไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นนับจากปลายไตรมาส 2/2565

แต่ทว่าหากขั้นเลวร้าย (worse case) มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาเพิ่มสูงขึ้นมาก กระทั่งต้องใช้มาตรการปิดเมืองคุมแบบเข้มงวด รวมถึงราคาน้ำมันแพง อาจทำให้ GDP ปีนี้ขยายตัวลดลงเหลือ 1.3% และปีหน้า 2565 ขยายตัว 3.6%

ในส่วนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านค้า-ร้านอาหารในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่เพิ่งกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มลงนั้น นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เริ่มการแพร่ระบาดในแอฟริกา-ยุโรป และตอนนี้ยอมรับว่ามีผลในแง่จิตวิทยาของความรู้สึก ผู้คนเริ่มกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า หากมีสถานการณ์โควิดโอไมครอนระลอกใหม่ในประเทศเข้ามาอีก จะส่งผลกระทบให้การลงทุนหยุดชะงัก คาดว่าต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปียอดผู้ติดเชื้อใหม่จึงจะลดลง

โดยภาคอสังหริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนเพราะ “รายได้ของคนลดลง” ในขณะที่โควิด 2 ปี (2563-2564) ที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอจนทำให้ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

 

ล่าสุดการประชุม ครม.ในวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการติดตามและหารือมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 “โอไมครอน” อย่างใกล้ชิด โดยทางกระทรวงสาธารณสุขจะประเมินมาตรการการเปิดประเทศอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติให้การเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารอื่นๆ ให้กลับมาตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ตามเดิม ส่วนการเปิดสถานบันเทิงที่จะเลื่อนเปิดเป็นวันที่ 16 มกราคม 2565 นั้น หากภายในประเทศยังไม่มีข้อมูลว่ามีเชื้อโอไมครอนเข้ามาในประเทศไทยก็ยังคงกำหนดการเดิม แต่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า ในหลายๆ ประเทศได้ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยจากเรื่องของโอไมครอนไปแล้วเพราะ “ไม่มีใครกล้าเสี่ยง” ทุกประเทศออกประกาศห้ามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศในแอฟริกาเข้าประเทศ

“มาตรการของ ศบค.ที่จะให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR แล้วให้ใช้การตรวจ ATK แทนสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม test & go (กักตัว 1 คืน) ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยให้นักท่องเที่ยวใช้การตรวจแบบ RT-PCR ต่อไป อาจส่งผลกระทบบ้าง การกลับไปใช้ RT-PCR เป็นแนวทางที่จะทำให้คนไทยปลอดภัยและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาก็ปลอดภัยด้วย คาดว่ามาตรการเหล่านี้จะใช้เวลาในการประเมินสถานการณ์สัก 14 วันเช่นกัน” นายศิริปกรณ์กล่าว

แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยจะลดลงเหลือเพียงวันละประมาณ 4,000-5,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังเปิดประเทศได้ครบ 1 เดือน

แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอไมครอน” กำลังทำให้ “ความหวัง” ที่เศรษฐกิจของไทยกำลังฟื้นตัวตกอยู่ในความเสี่ยง

ท่ามกลางความกังวลสูงสุดของภาคธุรกิจที่เกรงว่า หากเชื้อมีความรุนแรง การระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวาง และ “วัคซีน” ที่มีอยู่ในปัจจุบันใช้ไม่ได้ผลขึ้นมาแล้ว ประเทศไทยอาจจะต้องกลับมาดำเนินการ “ล็อกดาวน์” แบบเข้มข้น

หรือเท่ากับ “ต้องนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง”