ล่าชื่อขับไล่แอมเนสตี้ สะท้อนจุดยืนรัฐบาลไทย ต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ในระบอบประชาธิปไตย/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ล่าชื่อขับไล่แอมเนสตี้

สะท้อนจุดยืนรัฐบาลไทย

ต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน

ในระบอบประชาธิปไตย

 

ท่าทีปฏิกิริยารัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต่อการเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กำลังเป็นประเด็นร้อนแรง

โดยเฉพาะท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่แสดงออกแข็งกร้าว

อาจด้วยเพราะบทบาทแอมเนสตี้ในการร่วมเรียกร้องปล่อยตัวนักกิจกรรมและแกนนำผู้ชุมนุมทางการเมือง

จึงถูกมองเสมือนศัตรูของรัฐบาล ไม่ต่างจากกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ประชาชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนฝ่ายค้านและบางพรรคการเมืองที่คิดต่างจากรัฐบาล

เห็นได้จากในกรณี “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร

เมื่อแอมเนสตี้เปิดแคมเปญ Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก เชิญชวนสมาชิกผู้สนับสนุนจากทั่วโลก เขียนจดหมายหลายล้านฉบับส่งให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้รับรู้ว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง

พร้อมกันนั้นยังให้เขียนจดหมายอีกฉบับถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน นำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ

ปีนี้ “รุ้ง ปนัสยา” ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้เป็นครั้งแรก

บทบาทของแอมเนสตี้สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลไทยและเครือข่ายอำนาจ

ปฏิกิริยาแรกมาจากนายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี มือไม้ของ พล.อ.ประยุทธ์

รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวจัดแคมเปญ ล่ารายชื่อ 1 ล้านคนไทย ขับไล่แอมเนสตี้ ไม่ให้มาแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย

ขับไล่ทั้งที่แอมเนสตี้ได้ชื่อเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากล ทำกิจกรรมส่งเสริม ปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมืองทั่วทุกมุมโลก

ท่าทีรัฐบาลและเครือข่ายผู้สนับสนุนอำนาจในการเข้าชื่อขับไล่ จึงเป็นเครื่องสะท้อนได้ดีถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

อยู่ในยุค “รุ่งเรือง” หรือ “ตกต่ำ” ขนาดไหน

แทนที่จะหยิบยกข้อเรียกร้องมาพิจารณาตรวจสอบและแก้ไข แต่รัฐบาลกลับเลือกใช้วิธีตรวจสอบผู้เรียกร้องเสียเอง ด้วยเหตุเพียงเพราะมีกลุ่มบุคคลที่ได้รับการจัดตั้งจากคนในรัฐบาลเองออกมาขับไล่

ท่าทีต่อแอมเนสตี้เช่นนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ รัฐบาลกำลังจะทำให้ไทยถูกมองจากนานาอารยประเทศว่า

ไทยเป็นประเทศที่ไม่ใส่ใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่

 

การเคลื่อนไหวขับไล่แอมเนสตี้อย่างเป็นรูปธรรม

เริ่มจากกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน และกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นัดรวมตัวยังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านมือขวาอย่างนายเสกสกล อัตถาวงศ์

เป้าประสงค์ต้องการให้รัฐบาลตรวจสอบ ใช้กฎหมายจัดการกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และขับไล่ออกจากประเทศ โดยอ้างว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันหลักของชาติ

นายเสกสกล ตัวแทนนายกฯ หลังจากรับหนังสือ ยังปราศรัยดุดันว่า ตรวจสอบข้อมูลแอมเนสตี้กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้ว พบมีการจดทะเบียนองค์กรไม่ถูกต้องกับวัตถุประสงค์ จึงขอให้เพิกถอนใบอนุญาตองค์กร

หลังจากนี้จะล่าชื่อ 1 ล้านคนทั่วประเทศ ขับไล่พ้นจากประเทศไทย

กดดัน 2 แนวทาง 1.กดดันด้วยกฎหมาย เพื่อจัดการกับแอมเนสตี้ด้วยการเอาเข้าคุก หรือเอาออกนอกประเทศ หรือยุบองค์กร 2.กดดันด้วยพลังของประชาชนให้หยุดการกระทำที่ทำอยู่

“ขอสัญญากับมวลชนว่า ถ้าไล่แอมเนสตี้ออกนอกประเทศไม่ได้ ผมจะลาออกจากตำแหน่ง”

ต่อมา วันที่ 29 พฤศจิกายน เป็นคิวกลุ่มภาคีประชาชนปกป้องสถาบัน และประชาชนของพระราชา มาตามคำเชื้อเชิญของเพจเฟซบุ๊ก “เชียร์ลุง” รวมตัวกันบริเวณหน้าเซ็นทรัลสีลมคอมเพล็กซ์ เดินขบวนรณรงค์ ล่าล้านรายชื่อขับไล่แอมเนสตี้

เคลื่อนตัวไปตามถนนสีลม และซอยละลายทรัพย์ มีขบวนเชิดสิงโต ร่วมถือป้ายข้อความขับไล่ มีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 50 คน

มีการแจกกระดาษติดคิวอาร์โค้ด เว็บไซต์รณรงค์ลงชื่อไล่แอมเนสตี้ ช่วงหนึ่งส่งกระดาษให้ชายที่นั่งอยู่ริมถนน แต่ชายคนดังกล่าวไม่รับ

ทั้งยัง “ชูสามนิ้ว” เป็นสัญลักษณ์ตอบกลับทันที

 

อย่างไรก็ตาม ที่น่าจับตาคือท่าทีของผู้นำรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความเห็นต่อบทบาทของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ว่า

กำลังให้ตรวจสอบทางกฎหมาย เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยที่รับจดทะเบียนองค์กรไว้ ถ้าผิดก็ต้องยกเลิก เป็นแรงกดดันพอสมควร ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอยู่แล้วในการมาให้ร้ายประเทศของเรา

เมื่อได้ไฟเขียวจากท่านผู้นำ ฝ่ายตำรวจก็ออกมารับลูก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ไม่ว่ากลุ่มองค์กรหรือบุคคล ถือเป็นอำนาจหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะตรวจสอบ

ไม่เลือกปฏิบัติ หากมีความผิดอาญาต่างๆ หรือมีความเคลื่อนไหวชัดเจนจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ประเด็นเกี่ยวกับแอมเนสตี้ ยังถูกขยายเข้าไปถึงที่ประชุมวุฒิสภา

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภากล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยต้องไม่เป็นม้าอารีต่อสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศ ไทยเป็นประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่ให้ความเมตตามนุษย์ร่วมโลกมาอาศัยทำมาหากิน

แต่ช่วงหลังถึงเวลาที่รัฐบาลต้องคัดเลือกคนต่างชาติที่ร่วมมือกับคนไทยเนรคุณแผ่นดิน

เห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากออกมาขับไล่แอมเนสตี้ เมื่อสืบทราบน่าจะเป็นองค์กรเถื่อนและอาจไม่ได้จดทะเบียนโดยสมบูรณ์

สิ่งที่อยากเสนอรัฐบาลคือ ต้องคัดกรององค์กรต่างๆ หากพบเห็นเป็นประจักษ์ว่าองค์กรดังกล่าวรับเงินต่างชาติแล้วทำผิดวัตถุประสงค์ เป็นภัยต่อความมั่นคง รัฐบาลต้องใช้กฎหมายดำเนินการ

ทั้งหมดคือท่าทีอันแข็งกร้าวของรัฐบาลและเครือข่ายผู้มีอำนาจ

ต่อบทบาทของแอมเนสตี้ ประเทศไทย

 

มีการตั้งข้อสังเกตการเคลื่อนไหวต่อต้านขับไล่แอมเนสตี้

เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ 2 เหตุการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยระดับสากล

ไม่ว่าการเดินทางไปเยือนเมียนมาของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย

ซึ่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 25 พฤศจิกายน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามต่อกรณีดังกล่าว

ว่าการไปเยือนเมียนมาอย่างลับๆ ล่อๆ ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทย จนอาจนำไปสู่ประเด็นที่ไทยไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย 110 ประเทศ ซึ่งสหรัฐเป็นเจ้าภาพ

กระนั้นก็ตาม นายดอนชี้แจงตอบกระทู้ของฝ่ายค้านว่า การไปเมียนมาไม่เกี่ยวโยงกับการที่ไทยไม่ได้รับเชิญร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย เพราะการประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ที่ต้องการเล่นงานกันและกัน

“ไม่เชิญไม่แปลก บางเรื่องดีใจที่ไม่ได้รับเชิญ แต่หากเชิญ เราต้องพิจารณาว่าจะไปหรือไม่ เพราะเป็นดาบสองคม” รมว.การต่างประเทศระบุ พร้อมย้ำถึงท่าทีไทยต่อการทำรัฐประหารในเมียนมาว่า ได้แนะนำรัฐบาลทหารเมียนมา

ต้องหยุดความรุนแรงและปล่อยนักโทษทางการเมืองโดยเร็ว

คำพูดของนายดอนต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เมื่อฟังแล้วก็ต้องนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ภายในประเทศไทยตอนนี้ไม่ได้

เมื่อเปรียบเทียบก็จะเห็นชัดและรู้ซึ้งถึงความรู้สึก “หัวร่อมิออก ร่ำไห้มิได้” นั้นเป็นอย่างไร แล้วก็รู้สึกทึ่งกับความกล้าของตัวแทนรัฐบาลไทย ที่ได้ให้คำแนะนำกับรัฐบาลเมียนมาเช่นนั้น

แน่นอนไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลเมียนมามองเหตุการณ์รัฐบาลไทยใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปรามการชุมนุม จับกุมแกนนำคนรุ่นใหม่ ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นนิสิตนักศึกษา สั่งฟ้อง ฝากขัง ส่งเข้าเรือนจำ ไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัวออกมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็นนั้น

ด้วยความรู้สึกอย่างไร

 

นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลไทยเปิดศึกกับองค์กรแอมเนสตี้ ว่า

แอมเนสตี้คือองค์กรระดับสากล อิงกับระบอบประชาธิปไตยประเทศต่างๆ ไม่ควรขับไล่ออกจากประเทศ ไม่เช่นนั้นโลกจะมองการกระทำนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะมีแต่ประเทศที่เป็นเผด็จการแท้จริงที่คิดทำอย่างนั้น

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า

แอมเนสตี้เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีสมาชิกกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุกคามแอมเนสตี้อย่างไม่เป็นธรรม จะทำให้ไทยถูกมองจากนานาอารยประเทศว่าเป็นประเทศไม่ใส่ใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นความอัปยศและน่าอับอายในเวทีโลก

นอกจากนี้ สิ่งที่แม้กระทั่งประชาชนในสังคมไทยเองคาใจก็คือ

ในขณะที่รัฐบาลไทยปลาบปลื้มกับบทบาทตัวแทนเจรจากับรัฐบาลเมียนมา อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่กลับพยายาม “ด้อยค่า” เวทีประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย 110 ประเทศ ที่ไทยตกขบวนไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม

และเมื่อรวมเข้ากับอาการกระเหี้ยนกระหือรือในการต่อต้านขับไล่องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ ก็ยิ่งทำให้มองออกได้ชัดเจน

แท้จริงแล้วรัฐบาลไทยมีทัศนคติอย่างไรต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย